กระถิน การปลูกเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์

กระถิน

ชื่ออื่นๆ : กระถิน, กระถินไทย, กระถินบ้าน (ภาคกลาง) กะเส็ดโคก กะเส็ดบก (ราชบุรี) ตอเบา, สะตอเทศ, สะตอเบา (ภาคใต้) ผักก้านถิน (เชียงใหม่) ผักหนองบก (ภาคเหนือ)

ต้นกำเนิด :

ชื่อสามัญ : White Popinac, Lead Tree

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leucaena leucocephala (Lam.)

ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE – MIMOSOIDEAE

ลักษณะของกระถิน

กระถิน เป็นไม้ยืนต้นอายุหลายปี มีรากแก้วลึก ลำต้นเป็นพุ่ม ใบเป็นใบรวมแบบ Bipinnate ดอกเป็นแบบ Head มีสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เติบโตได้ดีในดินที่มีการะบายน้ำดี ไม่ทนต่อสภาพดินกรด ทนแล้งได้ดี ปรับตัวได้ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง กระถินที่ปลูกเพื่อนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ได้แก่ กระถินยักษ์ (giant type) เป็นกระถินที่มีการผสมพันธุ์และพัฒนาจนได้พันธุ์ที่มีลำต้นใหญ่ มีความสูงมากกว่า 5 เมตร ทนต่อสภาพแวดล้อม และโรคแมลงได้ดี เป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เนื่องจากใบกระถินมีโปรตีนสูง จึงใช้เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกสำหรับนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสัตว์ ลดการใช้อาหารข้น สามารถลดต้นทุนในการผลิตสัตว์ นอกจากนี้ยังช่วยให้มีการใช้พื้นที่แปลงพืชอาหารสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เช่นแร่ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดิน เนื่องจากกระถินมีระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปในดิน สามารถดูดแร่ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดินชั้นล่าง ซึ่งลึกกว่ารากหญ้านำมาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้จุลินทรีย์ในปมรากของกระถิน สามารถตรึงไนโตรเจนที่มีอยู่ในอากาศมาให้พืชใช้ได้ และเนื้อไม้ของกระถินสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษในอุตสาหกรรม การทำไม้ค้ำยัน ไม้ใช้สอย และใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อีกด้วย

ต้นกระถิน
ต้นกระถิน ไม้พุ่ม ใบประกอบแบบขนนก

การคัดเลือกพื้นที่

กระถินสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง การระบายน้ำดี และมีหน้าดินลึก แต่การเจริญเติบโตของกระถินจะลดลง ถ้าปลูกในดินที่มีความสมบูรณ์ต่ำและเป็นดินกรดจัด จึงควรเลือกพื้นที่ปลูกในดินที่มีความเป็นกรด-ด่าง (pH) มากกว่า 5.5 มีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมเพียงพอ

การเตรียมดิน

เตรียมดินให้ละเอียด ร่วนซุย โดยไถบุกเบิกครั้งแรกช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนเมษายน ขณะดินมีความชื้นเหมาะสมหรือหน้าดินมีความชื้นลึกประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อกลับหน้าดิน และกำจัดวัชพืชที่ปกคลุมดิน ปล่อยทิ้งไว้ 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นไถพรวนดินอีก 2-3 ครั้ง เพื่อทำลายวัชพืชที่ขึ้นมาใหม่ และปรับสภาพแปลงให้ราบเรียบ

การเลือกเมล็ดพันธุ์

ปัจจุบันสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการขยายพันธุ์และดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์กระถินยักษ์ลูกผสมสายพันธุ์ K 636 เพื่อนำมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกสำหรับใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากกระถินพันธุ์ K 636 ให้ผลผลิตและคุณภาพใบสูง ต้านทานโรคเพลี้ยไก่ฟ้า มีการฟื้นตัวหลังการตัดหรือหลังจากเพลี้ยไก่ฟ้าเข้าทำลายได้อย่างรวดเร็ว โดยเมล็ดพันธุ์กระถิน 1 กิโลกรัมจะมีจำนวนเมล็ดประมาณ 15,000 – 25,000 เมล็ด

การเตรียมเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก

เนื่องจากเมล็ดพันธุ์กระถินมีเปลือกหุ้มเมล็ดหนา น้ำซึมผ่านได้ยาก ทำให้การงอกของเมล็ดไม่สม่ำเสมอและล่าช้า ก่อนปลูกจึงควรเตรียมเมล็ดพันธุ์ โดยการนำเมล็ดห่อผ้าเตรียมไว้ ต้มน้ำให้เดือดและยกลงปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 3-5 นาที เพื่อให้อุณหภูมิน้ำลดลงเหลือประมาณ 80 องศาเซลเซียส นำเมล็ดแช่น้ำที่เตรียมไว้นานประมาณ 5-10 นาที ส่วนอีกวิธีหนึ่ง ทำได้โดย นำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำ 1 คืน หลังจากนั้นนำมาผึ่งลมในที่ร่มให้เมล็ดแห้งสนิท แล้วจึงนำไปปลูก

ดอกกระถิน
ดอกกระถิน ดอกออกแบบช่อกระจุกแน่น

การปลูก

  1. วิธีการหยอดเมล็ดเป็นแถว
    นำเมล็ดพันธุ์กระถินที่ผ่านการเตรียมเมล็ดแล้ว มาปลูกโดยหยอดเมล็ดเป็นแถว ใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 50-75 ซม. และระยะระหว่างต้น 25-30 ซม. ปลูกหลุมละ 2-3 เมล็ด ไม่ควรกลบดินลึกเกิน 1.5 ซม. ซึ่งการปลูกด้วยวิธีการนี้ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ไร่ ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน วิธีนี้จะมีความสะดวกในการปฏิบัติ มีค่าใช้จ่ายต่ำ แต่ต้องให้ความสำคัญในการควบคุมวัชพืชในระยะแรกหลังการปลูก
  2. วิธีการเพาะกล้าในถุง
    ควรเตรียมการเพาะกล้าก่อนปลูกประมาณ 3 เดือน โดยนำเมล็ดที่ได้จากการเตรียม มาเพาะในถุงเพาะชำ หยอดเมล็ด 2 เมล็ดต่อถุง เมื่อต้นกล้าสูงประมาณ 30-40 ซม.หรืออายุกล้าประมาณ 3 เดือน สามารถย้ายลงปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ ใช้ระยะปลูกเช่นเดียวกับการปลูกด้วยวิธีการหยอดเมล็ด ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งการปลูกด้วยวิธีนี้ต้นกล้าจะมีเปอร์เซ็นต์การอยู่รอดสูง ตั้งตัวได้เร็วสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้ดี แต่จะมีค่าใช้จ่ายในส่วนการเพาะกล้าเพิ่มขึ้น
  3. วิธีเพาะกล้าในแปลง
    ถ้าต้องการปลูกกระถินในพื้นที่ 1 ไร่ ต้องเตรียมแปลงเพาะกล้าในแปลงขนาด 150 ตารางเมตร ทำการเพาะกล้าโดยโรยเมล็ดกระถินเป็นแถว ใช้ระยะระหว่างแถว 30 ซม. และระยะระหว่างต้น 5 ซม. ย้ายกล้าปลูกเมื่อต้นกล้าสูงประมาณ 50 ซม. จึงถอนต้นกล้า ริดใบ ตัดยอด และตัดรากฝอยบางส่วนทิ้ง ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า การเปลือยราก (Bare root) ต้องนำไปปลูกในแปลงทันที ขณะที่ดินมีความชื้นเหมาะสม ข้อควรระวัง ขณะถอนและขนย้าย ต้องไม่ให้ปมรากขาด วิธีการนี้การเตรียมกล้าและการขนย้ายปลูกจะสะดวกกว่าการเพาะกล้าในถุงเพาะชำ แต่เปอร์เซ็นต์การอยู่รอดอาจจะต่ำกว่า

การใส่ปุ๋ย

ในปีแรกใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 50 กก./ไร่ เป็นปุ๋ยรองพื้นก่อนปลูกโดยโรยตามแถวที่จะปลูก สำหรับในดินที่มีอินทรียวัตถุต่ำควรใส่ปุ๋ยคอก (การใช้ปุ๋ยคอกควรใส่ก่อนปลูกพืชอย่างน้อย 4 สัปดาห์) หรือปุ๋ยหมักอัตรา 2-4 ตันต่อไร่ แล้วพรวนดินกลบ เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ส่วนในปีต่อๆไป ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 20-50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่ตามแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ ควรใส่ปุ๋ยในช่วงต้นฤดูฝนขณะที่ดินมีความชื้นเหมาะสม

กำจัดวัชพืช

ควรกำจัดวัชพืชอย่างน้อยเดือนละครั้ง ในช่วง 2-3 เดือนแรกของการปลูก เพื่อให้กระถินเจริญเติบโตและตั้งตัวได้ดีในช่วงแรกของการปลูก โดยเฉพาะการปลูกด้วยวิธีการหยอดเมล็ดเป็นแถว และหลังจากนั้นกำจัดวัชพืชตามความเหมาะสม

การเก็บเกี่ยวผลผลิตและการใช้ประโยชน์

การตัดกระถินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์ ควรตัดครั้งแรกเมื่อกระถินมีอายุหลังการปลูกอย่างน้อย 3-4 เดือน และตัดครั้งต่อไปทุกๆ 2 เดือนในช่วงฤดูฝน หรือ ทุกๆ 3 เดือนในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งขนาดต้นและขนาดกิ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 ซม. ตัดสูงจากพื้นประมาณ 20-30 ซม. ผลผลิตกระถินจากใบรวมกิ่งก้าน ให้ผลผลิตน้ำหนักสดประมาณ 15-20 ตัน/ไร่/ปี หรือเป็นผลผลิตน้ำหนักกระถินแห้งประมาณ 6-8 ตัน/ไร่/ปี โดยในปีแรกของการปลูกผลผลิตกระถินอาจจะไม่สูงมากให้ผลผลิตน้ำหนักสดประมาณ 10-15 ตัน/ไร่/ปี หรือเป็นผลผลิตน้ำหนักกระถินแห้งประมาณ 4-6 ตัน/ไร่/ปี แต่ในปีต่อไปจะได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นจากการแตกกิ่งที่มากขึ้น

คุณค่าทางอาหาร

คุณค่าทางอาหารสัตว์ของใบกระถิน มี

  • โปรตีนสูง 25.91 เปอร์เซ็นต์
  • ไขมัน 6.51 เปอร์เซ็นต์
  • เยื่อใย 10.52 เปอร์เซ็นต์
  • เถ้า 11.09 เปอร์เซ็นต์
  • ADF 22.28 เปอร์เซ็นต์
  • NDF 28.96 เปอร์เซ็นต์
  • Lignin 9.28 เปอร์เซ็นต์
  • TDN 76.05 เปอร์เซ็นต์

หากเป็นใบกระถินสับรวมกิ่งก้าน

  • โปรตีน 15.17 เปอร์เซ็นต์
  • ไขมัน 1.56 เปอร์เซ็นต์
  • เยื่อใย 31.57 เปอร์เซ็นต์
  • เถ้า 13.73 เปอร์เซ็นต์
  • ADF 36.00 เปอร์เซ็นต์
  • NDF 51.52 เปอร์เซ็นต์
  • Lignin 11.72 เปอร์เซ็นต์
  • TDN 45.82 เปอร์เซ็นต์

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=11789&SystemType=BEDO
http://nutrition.dld.go.th
https://www.flickr.com

Add a Comment