กล้วยช่วยลดอันตรายจากความดันเลือดสูง

กล้วย

ผลกล้วยสุกอุดมไปด้วยน้ำตาลธรรมชาติ 3 ชนิด คือ ซูโครส ฟรักโทส และกลูโคส และมีเส้นใยอาหาร ให้พลังงานทันทีและอยู่ได้นาน เป็นอาหารของแบคทีเรียพวกโพรไบโอติกที่ช่วยการดูดซึมสารอาหารในลำไส้ใหญ่ ผลกล้วยใช้เป็นอาหารได้ทั้งสุกและดิบ ช่อดอกที่เรียกว่าหัวปลีอุดมด้วยคุณประโยชน์ทางโภชนาการ เหง้า ลำต้น ใบ

ผลกล้วยดิบ
ผลกล้วยดิบ ผลรูปรี ผิวเรียบ เปลือกสีเขียว

กล้วยเป็นพืชล้มลุก ลำต้นอยู่ใต้ดิน เรียกว่า เหง้า ส่วนลำต้นบนดินเกิดจากกาบใบมาหุ้มซ้อนกันเป็นลำต้น ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่และยาว ผิวใบด้านบนเรียบเป็นมัน ท้องใบมีสีนวล ดอกออกเป็นช่อ เรียกว่า หัวปลี แต่ละช่อย่อยประกอบด้วยใบประดับขนาดใหญ่ที่มีสีม่วงแดงหุ้มอยู่  ผลรวมกันเป็นเครือ แต่ละเครือจะมีหลายหวีมารวมกัน กล้วยมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันปลูกมากกว่า 130 ประเทศทั่วโลก กล้วยแบ่งตามการกินผลออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  1. กล้วยกินผลสุก มีทั้งกล้วยมีเมล็ดและไม่มีเมล็ด มีทั้งสุกปอกกินได้เลย เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่

  2. กล้วยปรุงผลสุก หรือ plantain ต้องนำผลสุกไปผ่านความร้อนก่อนจึงจะกินได้เช่น กล้วยหักมุก

กล้วยเป็นพืชสารพัดประโยชน์ แต่บทความนี้จะกล่าวถึงประโยชน์ในด้านสุขภาพเท่านั้นค่ะ

ผลกล้วยเป็นอาหารยอดนิยมอันดับ 1 ของโลก กล้วยธรรมดาเป็นผลไม้ที่มียอดขายอันดับ 1 ในโลก กล้วยหอมเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ เพราะสามารถหาซื้อได้ตลอดปี พันธุ์ที่จำหน่ายคือพันธุ์คลาเวนดิช ปลูกในทวีปอเมริกาใต้ ส่วนประเทศเขตร้อน เช่น ในทวีปอเมริกาใต้และประเทศอินเดียจะใช้ผลกล้วยกลุ่มแพลนเทน (กลุ่มกล้วยหักมุก) ที่มีแป้งมากเป็นอาหารหลักเหมือนที่ชาวยุโรปกินมันฝรั่งเป็นอาหาร และพบว่ามีรสชาติคล้ายคลึงกัน ผลกล้วยอุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร ธาตุโพแทสเซียม แมงกานีส วิตามินซี และบี 6 แต่มีไขมันอิ่มตัว โคเลสเตอรอลและธาตุโซเดียมต่ำ การกินกล้วยสุก 1 ผล (160 กรัม) ให้พลังงาน 140 แคลอรี เหมาะสำหรับคนทุกวัย

เซลล์ประสาทสมองและระบบประสาทอื่นๆ ใช้สารเคมีที่เรียกสารนำกระแสประสาท (neurotransmitter) สำหรับการสื่อสารระหว่างกัน สารเคมีเหล่านี้ถูกปลดปล่อยจากปลายเซลล์ประสาทหนึ่งๆ เมื่อได้รับกระแสประสาทเดินทางผ่านช่องว่าง (gap) ไปสู่เซลล์ประสาทอีกเซลล์หนึ่งเพื่อเปลี่ยนสภาพเยื่อหุ้มเซลล์ปลายทางให้ทำหน้าที่ต่อไป ซีโรโทนินเป็นสารเคมีข้างต้นชนิดหนึ่ง สร้างมาจากกรดอะมิโนทริปโทเฟนซึ่งร่างกายได้มาจากอาหาร พบซีโรโทนินได้ในสมอง กระแสเลือด และชั้นเยื่อบุกระเพาะอาหารและระบบทางเดินอาหาร

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 งานวิจัยเกี่ยวกับซีโรโทนิน พบว่า สารนี้ควบคุมการนอนหลับ ความอยากอาหาร การควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ความยืดหยุ่นของหลอดเลือด การหลั่งฮอร์โมนบางชนิด และการรับรู้ความเจ็บปวด ดังนั้น สารซีโรโทนินจึงเกี่ยวข้องกับร่างกายหลายสภาวะ อาทิ ปวดศีรษะไมเกรน ซึมเศร้า และนอนไม่หลับ ปัจจุบันเป็นที่เชื่อกันทั่วไปว่าอาการซึมเศร้าของคนเรานั้นเกิดจากปริมาณสารนำกระแสประสาทไม่สมดุล พบว่าการมีสารซีโรโทนินในปริมาณต่ำเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งในการเกิดอาการซึมเศร้านี้ ปัจจุบันมีการศึกษาหญิงที่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอดบุตร พบว่ากลุ่มที่แสดงอาการซึมเศร้า (post-partum blue) มีปริมาณกรดอะมิโนทริปโทเฟนในสมองต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่แสดงอาการทางคลินิก จึงเป็นข้อมูลสนับสนุนความเชื่อที่ว่า การกินอาหารที่มีกรดอะมิโนทริปโทเฟนจะช่วยลดอาการซึมเศร้าลงได้ส่วนหนึ่ง กล้วยสุกมีกรดอะมิโนทริปโทเฟนในปริมาณสูงกว่าอาหารโปรตีนอื่นๆ จากการสำรวจแบบสอบถามในกลุ่มผู้มีอาการซึมเศร้า พบว่าคนกลุ่มนี้จำนวนมากรู้สึกดีขึ้นหลังการกินกล้วยสุก เชื่อว่ากรดอะมิโนทริปโทเฟนในผลกล้วยถูกเปลี่ยนเป็นสารซีโรโทนินที่ช่วยให้เกิดอาการผ่อนคลาย ทำให้มีอารมณ์ผ่องใสและรู้สึกมีความสุขนั่นเอง

บทความที่ได้จากมหาวิทยาลัยอะลาบามา ประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวว่า นักวิจัยได้พบว่าถ้าบุคคลใดๆ มีสารซีโรโทนินในปริมาณที่สูงขึ้นจะมีความอยากอาหาร น้อยลง ดังนั้น ถ้ากินกล้วยสุกนอกจากจะอารมณ์ดีแล้วอาจจะช่วยควบคุมอาหารได้อีกด้วย ถ้าคุณมีรูปร่างที่ดีสมส่วนคุณคงจะไม่ซึมเศร้าอีกอย่างแน่นอน เมื่อร่างกายมีสารซีโรโทนินมากขึ้น นอกจากจะรู้สึกผ่อนคลายแล้วก็จะเกิดอาการง่วงนอน ดังนั้น การกินกล้วยน้ำว้าสุกเป็นของว่างหลังอาหารเย็นก็อาจช่วยให้บางคนเอาชนะอาการนอนไม่หลับได้

ผลกล้วยสุก
ผลกล้วยสุก เปลือกผลเป็นสีเหลือง

ผลกล้วยสุกกับความดันเลือดสูง

การศึกษาด้านระบาดวิทยาและการป้องกันโรคจำนวนมากพบว่า การกินอาหารที่มีโพแทสเซียมมีผลลดค่าความดันเลือด องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกาได้ประกาศแล้วว่า “อาหารที่มีโพแทสเซียมสูงและมีโซเดียม (เกลือ) ต่ำ อาจลดความเสี่ยงจากโรคความดันเลือดสูงและหลอดเลือดแตกได้” กลุ่มผู้มีความดันเลือดสูงที่ได้รับโพแทสเซียมมีความดันเลือดที่ลดลงทั้งความดันช่วงบน (ไดแอสโตลี) และช่วงล่าง (ซิสโตลี)

แหล่งของโพแทสเซียมที่ดีที่สุด คือ ได้มาจากอาหาร โพแทสเซียมช่วยการทำงานของหัวใจและควบคุม สมดุลของน้ำในร่างกาย ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมักดื่มกาแฟ กินแป้งและอาหารหวาน และมักจะเป็นโรคความดันเลือดสูงในเวลาต่อมา บุคคลเหล่านี้ขาดโพแทสเซียมทำให้ร่างกายสะสมกรดส่วนเกินและสารพิษต่างๆ ไว้ กรดส่วนเกินเหล่านี้ขัดขวางการย่อยและการเผาผลาญอาหารของร่างกาย ผู้ที่ร่างกายมีปริมาณโพแทสเซียมต่ำมักมีปริมาณโซเดียมสูง ถ้ากินเกลือและอาหารเค็มมากเท่าไร ก็ควรจะต้องได้รับโพแทสเซียมมากขึ้นกว่าคนอื่น โพแทสเซียมเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยให้การเต้นของหัวใจเป็นปกติ ควบคุมการส่งออกซิเจนไปยังสมอง และรักษาสมดุลน้ำในร่างกาย เวลาเกิดอารมณ์เครียด อัตราการเผาผลาญของร่างกายจะสูงขึ้นและทำให้ระดับโพแทสเซียมลดลง การกินอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงจะช่วยให้ร่างกายเกิดความสมดุล บุคคลหนึ่งๆ มีความต้องการโพแทสเซียมประมาณวันละ 2,000 มิลลิกรัม กล้วยหอม 1 ผล มีโพแทสเซียมประมาณ 600 มิลลิกรัม

ปัจจุบันองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ยินยอมให้อุตสาหกรรมผู้ปลูกกล้วยสามารถโฆษณาได้ว่า กล้วยเป็นผลไม้พิเศษช่วยลดอันตรายอันเกิดจากเรื่องความดันเลือดหรือโรคหลอดเลือดแตกได้

กล้วยกับเบาหวานและการควบคุมน้ำหนัก

ดรรชนีไกลซีมิก (glycemic index หรือ GI) คือ การจัดอาหารคาร์โบไฮเดรต โดยดูผลต่อการตอบสนองของปริมาณน้ำตาลในเลือดที่มีต่ออาหารนั้นๆ นับเป็นค่าชีวภาพของคาร์โบไฮเดรตในเชิงโภชนาการ เทียบกับค่าที่ได้จากน้ำตาลกลูโคสหรือขนมปังขาวที่มีน้ำหนักเท่ากัน อาหารที่ให้ค่าดรรชนีไกลซีมิกต่ำมีอัตราการดูดซึมกลูโคสช้ากว่าอาหารที่มีค่าดรรชนีไกลซีมิกสูง การกินอาหารที่มีค่าดรรชนีไกลซีมิกต่ำจะทำให้การควบคุมกลูโคสในกระแสเลือดดีขึ้นของกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน และลดปริมาณไตรกลีเซอไรด์ในซีรั่มของผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์สูง จะเห็นว่าถ้ากินกล้วยหรือแอปเปิ้ลเป็นอาหารว่าง จะเกิดการดูดซึมน้ำตาลที่เป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้รู้สึกอิ่มได้นาน เป็นอาหารว่างที่ดีสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพิ่มปริมาณทริปโทเฟนในกระแสเลือดทำให้ลดความอยากอาหารและผ่อนคลาย และปริมาณเส้นใยอาหารจะช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น และระยะยาวอาจมีผลต่อการควบคุมน้ำหนักถ้าปฏิบัติร่วมกับการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ

ประเทศอินเดียให้ผู้ป่วยเบาหวานกินผลกล้วยดิบ และหัวปลีปรุงสุก

กล้วยกับโรคระบบทางเดินอาหาร

ผงแป้งกล้วยน้ำว้าดิบใช้แก้อาการท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ลมในกระเพาะอาหาร ป้องกันการเกิดแผลกระเพาะอาหารและอาการกรดสะสมในร่างกาย  ผลสุกรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหารและเป็นยาระบายอย่างอ่อน รักษาอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่ และโรคทางทวาร ผลกล้วยสุกงอมกินก่อนนอนครั้งละ 2 ผล ติดต่อกันหลายๆ วัน ช่วยระบาย ประเทศอังกฤษ การศึกษาฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลกระเพาะอาหารจากกล้วยกลุ่มแพลนเทน (กล้วยหักมุก) ดิบ พบว่า สารออกฤทธิ์กลุ่มฟลาโวนอยด์ เรียกลิวโคไซยาไนดิน (leucocyanidin) สารลิวโคไซยาไนดินและอนุพันธ์สังเคราะห์ของมันเพิ่มความหนาของเนื้อเยื่อเมือกอย่างมีนัยสำคัญ ป้องกันเยื่อบุกระเพาะอาหารจากการกัดทำลายของแอสไพรินในสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ การศึกษาที่ประเทศอินเดียพบว่าสารสกัดเมทานอลจากผลแพลนเทนดิบป้องกันการเกิดแผลกระเพาะอาหารโดยการเพิ่มปริมาณไกลโคโปรตีนและการแบ่งตัวเพิ่มของเซลล์อีกด้วย

วิธีทำผงแป้งกล้วยดิบ : นำกล้วยดิบมาหั่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง แล้วบดให้ละเอียดเป็นแป้ง ใช้ผงกล้วยนี้ปั้นลูกกลอนกับน้ำผึ้ง กิน 3 เม็ดก่อนอาหารและก่อนนอน รักษาอาการท้องเสีย ท้องเดิน แผลกระเพาะอาหาร หรือใช้กล้วยดิบทั้งเปลือก ฝานบางๆ ผึ่งลมให้แห้ง ใช้กินครั้งละครึ่งถึง 1 ผล เมื่อกินยานี้แล้วอาจ  มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ซึ่งแก้ได้โดยดื่มน้ำขิงหรือสมุนไพรขับลมอื่นๆ

แป้งกล้วย วิธีการทำแป้งกล้วย การแปรรูปกล้วยดิบ
แป้งกล้วย

กล้วยกับเลือดจาง

กล้วยมีธาตุเหล็กกระตุ้นการสร้างเฮโมโกลบินช่วยแก้ปัญหาเลือดจาง และให้พลังงานกรณีที่ผู้ป่วยอ่อนแรง ประเทศอินเดียให้ผู้ป่วยกินกล้วยสุก 2 ผลในวันที่ 1 วันถัดมาให้ 3 ผล วันที่ 3 ให้ 4 ผล จนวันที่ 15 ให้ 16 ผล จากนั้นลดจำนวนกล้วยลงวันละ 2 ผล จนเหลือกินวันละ 2 ผล อาการจะหมดไป

กล้วยกับพลังทางเพศ

จากรายงานของต่างประเทศเชื่อว่า การกินกล้วยหอมจะช่วยเสริมพลังทางเพศ เนื่องจากโพแทสเซียมเสริมการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ และมีวิตามินบี 6 ซึ่งเป็นสารจำเป็นสำหรับการสร้างสารนำกระแสประสาทสมองอีกด้วย

สามารถติดตามความรู้ ข่าวสาร การเกษตรและความรู้เกี่ยวกับเรื่องกล้วย ได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
https://www.doctor.or.th/article/detail/1537
https://www.flickr.com

Add a Comment