กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง พันธุ์กล้วยผลขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่อ้วนและสั้นกว่ากล้วยน้ำว้าพันธุ์อื่น

กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง

ชื่ออื่นๆ : กล้วยน้ำว้าไส้ขาว, กล้วยน้ำว้าสวน, กล้วยน้ำว้าขาว, กล้วยน้ำว้าอ่อง (ภาคเหนือ), กล้วยน้ำว้าเขมร (จันทบุรี)

ต้นกำเนิด : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ชื่อสามัญ : Kluai Namwa Mali-ong

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Musa (ABB) ‘Namwa Mali-ong’

ชื่อวงศ์ : MUSACEAE

ลักษณะของกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง

ต้น  ลำต้นเทียมสูง 3.0-3.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นเทียมมากกว่า 15 เซนติเมตร สีของกาบลำต้นเทียมด้านนอกสีเขียวอมเหลืองเล็กน้อย ไม่มีปื้นสีดำ ไม่มีนวล กาบด้านในสีเหลืองซีดสม่ำเสมอ

ใบ  มีปื้นแดงก้านใบค่อนข้างปิด ก้านใบสีเขียวอมแดง ขอบใบสีน้ำตาลแดง มีครีบก้านใบสีเขียว

ต้นกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง
ต้นกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง กาบลำต้นเทียมด้านนอกสีเขียวอมเหลืองเล็กน้อย

ดอก  หรือปลี ก้านช่อดอกไม่มีขนอ่อนๆ ลักษณะของใบประดับค่อนข้างยาว ด้านนอกสีม่วงอมเทา มีไข ด้านในสีแดงเข้มสม่ำเสมอ ปลายใบประดับแหลม สีม่วงแดง ม้วนงอขึ้น การเรียงของใบปประดับไม่ซ้อนกันลึก ดอกมีก้านดอกค่อนข้างยาว

ปลีกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง
ปลีกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง ใบประดับค่อนข้างยาว ด้านนอกสีม่วงอมเทา

ผล  ผลขนาดค่อนข้างใหญ่ ทรงกระบอกแต่อ้วนและสั้นกว่ากล้วยน้ำว้าพันธุ์อื่น มีเหลี่ยมผล ปลายผลมีจุก การเรียงของผลเป็นระเบียบ จำนวนหวีต่อเครือประมาณ 9-10 หวี หวีหนึ่งมีประมาณ 17-18 ผล ขนาดผลยาว 14-15 เซนติเมตร เส้นรอบวง 12-14 เซนติเมตร ผลดิบมีสีเขียว ผลเมื่อสุกมีสีเหลือง เนื้อผลสีขาว รสชาติหวานเล็กน้อย เนื้อแน่น มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีเมล็ดบ้างบางครั้งแต่ไม่มาก

ผลกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง
ผลกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง ผลขนาดค่อนข้างใหญ่ ทรงกระบอกแต่อ้วนและสั้นกว่ากล้วยน้ำว้าพันธุ์อื่น

การขยายพันธุ์ของกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง

การแยกหน่อ, การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

การปลูก

  1. ขุดหลุมขนาดประมาณ 50x50x50 ซม.
  2. ผสมดินปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัม ปุ๋ยร็อคฟอสเฟส 50 กรัม ให้สูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม
  3. ยกถุงกล้าต้นไม้วางในหลุมโดยระดับของดินในถุงสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย
  4. ใช้มีดที่คมกรีดถุงจากก้นถุงขึ้นมาถึงปากหลุมทั้ง 2 ด้าน (ซ้ายและขวา) ดึงถุงพลาสติกออกโดยระวังอย่าให้ดินแตก
  5. กลบดินที่เหลือลงในหลุม กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น คลุมดินบริเวณโคนต้นด้วยฟางข้าว หรือหญ้าแห้ง
  6. รดน้ำให้ชุ่ม

การใส่ปุ๋ย
ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 อัตราการใส่ปุ๋ย 1 กิโลกรัม ต้น/ปี แบ่งใส่ 4 ครั้ง ๆ ละ 250 กรัม คือ

  1. ใส่ปุ๋ยหลังปลูก 1 สัปดาห์ โดยใช้สูตร 15-15-15
  2.  ใส่ปุ๋ยหลังจากครั้งที่ 1 ประมาณ 3 เดือน โดยใช้สูตร 15-15-15
  3. ใส่ปุ๋ยหลังจากครั้งที่ 2 ประมาณ 3 เดือน โดยใช้สูตร 15-15-15
  4. ใส่ปุ๋ยหลังจากครั้งที่ 3 ประมาณ 3 เดือน โดยใช้สูตร 13-13-21

การตัดแต่งหน่อ
หลังจากปลูกประมาณ 3-4 เดือน จะมีหน่อขึ้นมารอบ ๆ โคน ตัดไปเรื่อยจนกว่าจะเริ่มออกปลี หรือหลังปลูกแล้วประมาณ 7-8 เดือน ควรมีการไว้หน่อทดแทน 1-2 หน่อ โดยหน่อที่ 1 และที่ 2 ควรมีอายุห่างกัน 4 เดือน เพื่อให้ผลกล้วยมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเลือกหน่อที่อยู่ตรงกันข้าม

ธาตุอาหารหลักที่กล้วยน้ำว้ามะลิอ่องต้องการ

ชอบความชื้นสูง  กลางแจ้งในที่โล่ง  ดินทรายปนเหนียว

ประโยชน์ของกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง

  • ราก  ใช้ต้มดื่มแก้ไข้ ร้อนใน กระหายน้ำ ตลอดจนช่วยสมานแผลภายใน และอาการท้องเสีย ผื่นคัน หรือบิด ให้รสฝาดเย็น
  • ใบ นำไปปิ้งไฟสามารถปิดแผลที่เกิดจากไฟไหม้ หรือต้มอาบแก้ผื่นคัน ให้รสเย็นจืด
  • ยาง ช่วยในการห้ามเลือด และสมานแผล ให้รสฝาด
  • ผลดิบ สามารถนำไปหั่นบดเป็นผง หรือชงน้ำร้อนรับประทาน ช่วยแก้อาการท้องเสียเรื้อรังที่เป็นสาเหตุให้อาหารไม่ย่อย และช่วยรักษาแผลที่เกิดในกระเพาะอาหารได้ ให้รสฝาด
  • ผลสุก ใช้เป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่ายอุจจาระ ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง และรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ ให้รสหวาน
  • หัวปลี ช่วยแก้โรคโลหิตจาง ลดระดับน้ำตาลในเลือด และแก้กระเพาะอาหารในลำไส้ ให้รสฝาด
  • น้ำคั้นจากหัวปลี ช่วยบำรุงโลหิต แก้อาการถ่ายเป็นมูกเลือด ให้รสฝาดเย็น

สรรพคุณทางยาของกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง

สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ *สรรพคุณของกล้วย*

คุณค่าทางโภชนาการของกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง

การแปรรูปของกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง

แปรรูปเป็น กล้วยตาก กล้วยแผ่นอบ

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับเรื่องกล้วย การปลูกกล้วย พันธุ์กล้วย เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.rpplant.royalparkrajapruek.org, จำหน่ายหน่อพันธุ์กล้วยน้ำว้า กล้วยแปลก และกล้วยหายาก สวนศิลสุนทร, www.arit.kpru.ac.th

One Comment

Add a Comment