กล้วยน้ำว้าอบเนย เมนูขนมกรุบกรอบจากกล้วย

กล้วยอบเนย

ในสมัยก่อนมีการแปรรูปกล้วยน้ำว้าเพื่อเป็นการถนอมอาหาร แต่ในปัจจุบันสามารถแปรรูปกล้วยน้ำว้าเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า ซึ่งสามารถทำได้หลายหลากวิธี เช่น กวน อบ นึ่ง เป็นต้น การแปรรูปกล้วยน้ำว้า ให้ได้คุณภาพ และรสชาติที่ดีของผลิตภัณฑ์ ควรคัดเลือกกล้วยน้ำว้าให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ ซึ่งกล้วยน้ำว้าในประเทศไทย จำแนกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กล้วยน้ำว้าไส้ขาว ที่รู้จักกันดีคือ ‘กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง’ เหมาะที่จะทำกล้วยตาก จะได้กล้วยตากสีเหลืองสวย ไม่ดำคล้า, ทำกล้วยแผ่นอบ ได้สีเหลืองที่สวยพอดี กล้วยน้ำว้าไส้เหลือง เหมาะสำหรับการกินผลสด ทำกล้วยเชื่อม กล้วยทอด กล้วยบวชชี เป็นกลุ่มกล้วยที่เหมาะสำหรับการแปรรูปทำขนม ใช้งานได้หลากหลายที่สุด กล้วยน้ำว้าไส้แดง ไส้ค่อนข้างแข็งมีความฝาด เหมาะสำหรับทำกล้วยเชื่อมหรือทำไส้ข้าวต้มมัด ไส้จะไม่เละ กล้วยกลุ่มไส้แดงนี้ ไม่เหมาะที่จะนำไปทำกล้วยตาก เพราะกล้วยจะคล้ำดำสีไม่สวย ดูแล้วเหมือนผลิตภัณฑ์เก่า ทำกล้วยบวชชีก็ไม่อร่อย เพราะมีรสฝาด

วันนี้เกษตรตำบลก็มีวิธีการแปรรูปกล้วยน้ำว้าสำหรับทำเป็นอาหารว่างหรือจะทำจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวก็ได้เช่นกันค่ะ ขั้นตอนและวิธีการทำกล้วยอบเนยมีอะไรกันบ้างมาดูกันได้เลยค่ะ

กล้วยอบเนย
กล้วยน้ำว้าอบเนย แปรรูปจากกล้วย หอมเนย กรอบ อร่อย

ส่วนผสม

  1. กล้วยน้ำว้าดิบหั่นแฉลบบาง 1 กิโลกรัม
  2. น้ำตาลทราย 3/4 ถ้วย (150 กรัม)
  3. มาการีน 3 ช้อนโต๊ะ
  4. น้ำเปล่า 1/3 ถ้วย (สำหรับละลายน้ำตาลทราย )
  5. เกลือป่น ½ ช้อนชา
  6. น้ำมันพืช 3 ลิตร
  7. น้ำเปล่า 2 ลิตร สำหรับแช่กล้วยขณะปอก
  8. น้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ ( ผสมกับน้ำเปล่า )

วิธีทำ

  1. นำกล้วยน้ำว้าดิบปอกเปลือกแช่ในน้ำที่ผสมน้ำส้มสายชู ( น้ำเปล่า 2 ลิตรใส่น้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ) เพื่อไม่ให้กล้วยดำ นานประมาณ 5 นาที จึงล้างน้ำสะอาด ทำให้ สะเด็ดน้ำ
  2. นำกล้วยมาหั่นแฉลบตามขาวงหรือสไลด์ด้วยมีดหรือเครื่อง นำใส่ถุงร้อน รัดให้แน่นเพื่อไม่ให้อากาศเข้า ทิ้งไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง หรือ 1 คืน จึงนำกล้วยมาแยกชิ้นออก ไม่ให้ติดกัน
  3. ก่อนนำไปทอด ให้ละลายน้ำตาลทราย เกลือ น้ำเปล่า นำขึ้นตั้งไฟ พองวด ใส่เนยมาการีน พอละลายให้ทั่ว ยกลงตั้งทิ้งไว้ให้เย็น
  4. ตั้งกระทะน้ำมันให้ร้อนก่อน
  5. นำกล้วยที่พักไว้คลุกกับน้ำเชื่อมที่ละลายเคล้าให้เข้ากัน จึงนำลงทอดในน้ำมันร้อนๆ ทันทีแล้วจึงใช้ไฟแรงปานกลางทอดจนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาลก่อน ตักขึ้นด้วยทัพพีโปร่ง พักไว้ในกระชอนเพื่อให้สะเด็ดน้ำมันนำมาเกลี่ยบนถาดขณะร้อนๆ เพื่อไม่ให้กล้วยติดกัน
  6. ผึ่งไว้ให้เย็น นำมาบรรจุถุงซีลเพื่อไม่ให้อากาศและความชื้นเข้า สามารถเก็บได้ประมาณ 1 เดือน

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุโขทัย
www.bka.go.th

One Comment

Add a Comment