กะทกรก ผลนำมารับประทานได้ ประโยชน์และสรรพคุณทางยา

กะทกรก

กะทกรก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Passiflora foetida L. มีชื่อเรียกอื่นว่า อัรกช้าง (ระนอง) หญ้ารกช้าง (พังงา) รุ้งนก (เพชรบูรณ์) ผักบ่วง (สกลนคร) ยันฮ้าง (อุบลฯ) ผักขี้ริ้ว ห่อทอง ตำลึงทอง ตำลึงฝรั่ง (ชลบุรี) เถาเงาะ เถาสิงห์โต (ชัยนาท) เงาะป่า (กาญจนบุรี) เป็นไม้เถาเลื้อยคล้ายตำลึง เถาค่อนข้างคดไปงอมา เถามีหนามเล็ก ๆ ขึ้นอยู่ห่าง ๆ โดยทั่วไป ใบเป็นใบเดี่ยว รูปใบมนโค้งผิวเรียบปลายใบแหลมโดยแยกเป็นสามแฉก ใบและเส้นใบบริเวณที่ติดต่อกันมีสีแดงเรื่อ มีขนอ่อนเป็นฝอยขนาดเล็ก ดอกบานออกกลมกว้าง กลีบดอกสีขาวแซมด้วยริ้วสีม่วง ผลอ่อนสีเขียว สุกแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม และห่อหุ้มด้วย “รก”

กะทกรก
กะทกรก ไม้เถาเลื้อย มีหนามเล็กๆ

ประโยชน์ของกะทกรก

  • ยอดอ่อน ผลอ่อน ผลสุก ผลแก่ รวมทั้งรกหุ้ม สามารถใช้รับประทานเป็นผักสด หรือนำมาต้มหรือลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก และแกงเลียง, ผลสามารถนำมาปั่นเพื่อทำเป็นเครื่องดื่มได้
  • ในด้านทางการเกษตร เนื่องจากต้นกะทกรกมีสารพิษชื่อว่า Cyanpgenetic glycosides ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นยาฆ่าและป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ โดยเฉพาะตัวด้วงถั่วเขียว ซึ่งสารพิษดังกล่าวจะไปยับยั้งการเกิดเป็นตัว
  • ใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดินและทำปุ๋ยหมักได้ เนื่องจากต้นกะทกรกมีกลิ่นเหม็นเขียว จึงช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์เข้ามาทำลายได้

คำแนะนำ

  1. ทั้งต้นสดมีรสเบื่อเมาและเป็นพิษ หากนำมากินอาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่พิษจะสลายไปเมื่อถูกความร้อน ดังนั้นจึงต้องนำไปต้มให้สุกก่อนนำมาใช้
  2. ผลอ่อนมีพิษ เนื่องจากมีสารไซยาโนจีนิก ไกลโคไซด์ (Cyanogenetic glucoside) เปลือกผล เมล็ด และใบมีสารที่ไม่คงตัว เมื่อสารดังกล่าวสลายตัวจะทำให้ Acetone และ Hydrocyanic acid (สารชนิดหลังเป็นพิษ) ทำให้เม็ดเลือดแดงขาดออกซิเจน ทำให้เกิดอาการอาเจียน
ผลกะทกรก
ผลกะทกรก ผลกลมสีเขียว ห่อหุ้มด้วย “รก”
ผลกะทกรกสุก
ผลกะทกรกสุก ผลสีเหลืองอมส้ม

สรรพคุณทางยาของกะทกรก

  1. เปลือกใช้เป็นยาชูกำลัง (เปลือก)
  2. เนื้อไม้ใช้เป็นยาควบคุมธาตุในร่างกาย (เนื้อไม้) ส่วนเถาใช้เป็นยาธาตุ (เถา)
  3. รากสดหรือรากตากแห้งใช้ชงกับน้ำดื่มเป็นชา จะช่วยทำให้สดชื่น (ราก)
  4. ผลดิบมีรสเมาเบื่อ ส่วนผลสุกมีรสหวานเย็น ช่วยบำรุงปอด (ผล)
  5. ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ (ทั้งต้น)
  6. ช่วยถอนพิษเบื่อเมาทุกชนิด (เนื้อไม้)
  7. ช่วยแก้ความดันโลหิตสูง (ราก)
  8. แพทย์ชาวเวียดนามใช้ใบเป็นสงบระงับ ระงับความเครียดและความวิตกกังวล ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 10-15 กรัม (ต่อวัน) นำมาต้มกับน้ำกิน (ใบ)
  9. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้ใบนำมาตำใช้พอกหรือประคบที่ศีรษะ (ใบ)
  10. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้จับสั่น (ราก)
  11. ใบใช้ตำพอกศีรษะ ช่วยแก้อาการหวัด คัดจมูก (ใบ)
  12. ช่วยแก้อาการไอ (ใบ, ดอก, ต้น, ทั้งต้น)
  13. ช่วยขับเสมหะ (ใบ, ต้น, ทั้งต้น)
  14. เมล็ดใช้แก้เด็กที่มีอาการท้องอืดเฟ้อ ช่วยทำให้ผายลม ด้วยการนำเมล็ดมาตำให้ละเอียด ใช้ผสมกับน้ำส้มและรมควันให้อุ่น แล้วเอาไปทาท้องเด็ก (เมล็ด)
  15. ใบนำมาตำให้ละเอียด แล้วคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาเบื่อและยาขับพยาธิ (ใบ)
  16. ดอก ใบ และทั้งต้นมีรสเบื่อเมา ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ, ดอก, ต้น, ทั้งต้น)
  17. เถาและรากสดใช้ต้มเป็นยาแก้ปัสสาวะขุ่นข้น (ราก)
  18. ช่วยแก้กามโรค (ราก)
  19. ช่วยรักษาบาดแผล (เนื้อไม้, ใบ, ผล) และเถาใช้เป็นยาพอกรักษาแผล (เถา)
  20. ใบใช้ตำพอกฆ่าเชื้อบาดแผล (ใบ)
  21. เปลือกใช้ตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าว ช่วยแก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก (เปลือก)
  22. เปลือกช่วยทำให้แผลเน่าเปื่อยแห้ง (เปลือก)
  23. ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำพอสมควร นำมาทาวันละ 3 – 4 ครั้ง เพื่อใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้อาการคัน แก้หิด แก้หืด (ใบ)
  24. ช่วยแก้อาการปวด (ผล)
  25. ช่วยแก้อาการบวม (ใบ, ต้น, ทั้งต้น), แก้อาการบวมที่ไม่รู้สาเหตุ (ทั้งต้น)
  26. ช่วยแก้อาการเหน็บชา โดยนำมาสับตากแดด แล้วนำมาต้มกิน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  27. ใบนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำใช้พอกรักษาสิว (ใบ)
  28. ยาบำรุงหัวใจ (ทั้งต้น) แก้โรคเหน็บชา โดยสับตากแดดแล้วต้มกิน ใช้หนึ่งกำมือ/น้ำ 3 แก้ว ต้มในเหลือ 2 แก้ว ยาถ่ายพยาธิใช้ตำบีบเอาน้ำคั้นมาดื่ม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=11768&SystemType=BEDO
http:// rspg.svc.ac.th
https://www.flickr.com

Add a Comment