การขยายพันธุ์ผักเหมียง ผักเหลียง

ผักเหมียง  ผักเหลียง หรือชื่ออื่นๆ เรียกว่า เขลียง,เหลียง, เรียนแก่ (นครศรีธรรมราช) ผักกะเหรี่ยง (ชุมพร) ผักเมี่ยง, เหมียง (พังงา)  เนื้อใบบางแต่เหนียวคล้ายแผ่นหนังใบมีสีเขียวเป็นมัน ยอดใบอ่อนมีรสชาติหวานมัน รับประทานได้ทั้งดิบและสุก ผลจะมีลักษณะเป็นรูปกระสวย ผลอ่อนมีเปลือกสีเขียว เมื่อแก่จัดเปลือกและเนื้อจะมีสีเหลือง เนื้อมีรสหวาน

โดยธรรมชาติผักเหมียงเป็นพันธุ์ไม้ป่า เจริญเติบโตได้ดีภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ พบได้ทั้งบริเวณเนินเขาและที่ราบในความสูงจากระดับน้ำทะเล 2 – 500 เมตร หรือสูงกว่านั้น ในบริเวณที่มีดินร่วนซุยและมีความอุดมสมบูรณ์สูง มีต้นไม้ปกคลุมให้ร่มเงาเพียงพอ ฝนตกชุกคือมีปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 300 มิลลิเมตรต่อปี ระยะเวลาฝนตกไม่น้อยกว่า 150 วันต่อปีและฝนแล้งติดต่อกันไม่เกิน 45 วัน 

การปลูกผักเหมียง

ผักเหมียงควรปลูกในที่ร่ม มีดินร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์สูง และมีฝนตกชุกและต่อเนื่อง ในปัจจุบันมีการปลูกผักเหมียงมากขึ้น โดยการปลูกแซมสวนยางพารา สวนมะพร้าว และสวนสมรม การปลูกผักเหมียงเพื่อการบริโภคนั้น มักจะตัดต้น ไม่ให้สูงเกินมือเอื้อมถึง

ผักเหมียง ผักเหลียง ผักพื้นบ้านในภาคใต้ นิยมปลูกแซมในสวนยางพารา
ต้นผักเหมียง

การขยายพันธุ์ผักเหมียง

สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีคือ การเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และการใช้ต้นจากราก แขนง

  1. การเพาะเมล็ดผักเหลียง
    นำเมล็ดมาล้างให้สะอาด แล้วนำไปเพาะบนกระบะที่มีส่วนผสมของดินทรายกับขี้เถ้าแกลบ กลบให้วัสดุเพาะเสมอเมล็ด รดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ เมล็ดจะเริ่มงอกประมาณเดือนที่ 4 จนถึง 1 ปี ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีอัตราการรอดสูง ทรงพุ่มสวย ทนแล้งได้ดี แต่อายุการเก็บเกี่ยวต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี
  2. การตอนกิ่งผักเหลียง
    การตอนกิ่งควรตอนจากต้นหรือกิ่งกระโดงที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป โดยสังเกตเปลือกของกิ่งควรมีสีน้ำตาลอมเขียวเล็กน้อย การควั่นควรควั่นให้ชิดกับข้อ รอยควั่นมีระยะห่างกันเท่ากับเส้นรอบวงของต้นหรือกิ่งที่จะตอน เมื่อควั่นเสร็จแกะเปลือกขูดเนื้อเยื่อเจริญออกให้หมด ใช้ขุยมะพร้าวแช่น้ำจนอิ่มใส่ถุงพลาสติกผูกปากถุง กรีดถุงจากก้นถึงปากถุงนำมาหุ้มที่รอยควั่นผูกเชือกหัวท้ายให้แน่น หมั่นตรวจดูความชื้นอย่าปล่อยให้แห้งรากจะงอกภายในเวลาประมาณ 2 – 3 เดือน ตรวจดูรากสามารถดูดน้ำได้หรือไม่ เมื่อรากทำงานดีแล้วตัดเอาลงถุงปลูก เมื่อต้นแข็งแรงดีจึงนำลงหลุมปลูก การปลูกด้วยกิ่งตอนจะได้ทรงพุ่มดี ให้ผลผลิตมากและรวดเร็ว
  3. การใช้ต้นจากรากแขนง
    ผักเหมียงที่มีอายุประมาณ 4 – 5 ปี หากต้นและรากเจริญดีก็จะงอกต้นใหม่ สามารถขุดนำไปปลูกได้ แต่อัตราการรอดตายประมาณร้อยละ 50 – 80 เพื่อเพิ่มอัตราการรอดตายควรนำต้นใหม่มาปลูกในถุงเพาะชำจนมีความแข็งแรงเสียก่อนนำลงปลูก
ผักเหมียง ผักเหลียง ผักพื้นบ้านในภาคใต้ นิยมปลูกแซมในสวนยางพารา
ใบผักเหมียง

การเตรียมพื้นที่ปลูกผักเหลียง

ระยะปลูก 3 x 3 เมตร ต้นพันธุ์ที่ใช้ต้องเป็นพันธุ์ที่แข็งแรง วางต้นพันธุ์ให้เอียง 45 องศา ในหลุมที่ขุดแล้วกลบดินแต่พอแน่น รดน้ำให้ชุ่มใช้ไม้หลักปักผูกเชือกให้เรียบ ร้อยเพื่อป้องกันลม ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนหรือช่วงฝนตกจะช่วยให้ไม่เสียเวลา และแรงงาน ในการรดน้ำ การให้ปุ๋ยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน ใช้ปุ๋ยสูตร 15 -7 – 18, 15 – 15 – 15 ผสมกับปุ๋ย สูตร 12 – 5 – 14 อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่/ปี กรณีปลูกร่วมในสวนยาง ในสวนไม้ผล ในช่วงต้นฤดูฝนใช้ปุ๋ยสูตร 15 – 15 -15 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่/ปี

การเก็บเกี่ยวผักเหลียง

เริ่มเก็บเกี่ยวเมื่อต้นผักเหมียงมีอายุ 2 ปีขึ้นไป เก็บเกี่ยว 15-30 วัน/ ครั้ง เก็บยอดอ่อนถึงยอดเพสลาด ควรเด็ดให้ชิดข้อ ไม่เด็ดกลางข้อหรือตัด เพราะจะทำให้การแตกยอดอ่อนในครั้งต่อไปจะช้า เมื่อเก็บแล้วอย่าให้ใบหรือยอดอ่อนนั้นถูกแสงแดดและลม ควรพรมน้ำแต่พอชุ่ม สามารถเก็บได้นาน ประมาณ 5-6 วัน

ผักเหมียง ผักเหลียง ผักพื้นบ้านในภาคใต้ นิยมปลูกแซมในสวนยางพารา
ยอดผักเหมียง

โรคและแมลงที่ปรากฏ

  1. โรคใบจุดส่าหร่าย (Agal leaf-spot, red rust)
    เชื้อสาเหตุ : Cephaleuros virescens
    ลักษณะของโรค : เป็นจุดกลมขนาด 3-5 มิลลิเมตร มองเห็นเป็นขุยฟูเหมือนกำมะหยี่ มีสีเขียวอมเหลือง สีส้มหรือสีน้ำตาลอมส้ม เมื่อขูดจุดแผลจะหลุดโดยง่าย เนื้อเยื่อเป็นสีเหลือง
  2. ตะไคร่บนใบ (Leaf epiphyte)
    เชื้อสาเหตุ : เป็นการเจริญร่วมกันของราและสาหร่าย
    ลักษณะของโรค : เป็นจุดเล็ก ๆ อาจมีสีขาวอมเทา สีเขียวอ่อน หรือสีอื่น ๆ พบในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง ทรงพุ่มหนาทึบ ไม่ตัดแต่งกิ่ง

การใช้ประโยชน์จากต้นเหมียง

ใบผักเหมียงใช้รับประทานสดและประกอบเป็นอาหาร เช่น แกงเลียง ต้มกะทิ ใช้ห่อเมี่ยงคำ ผัดวุ้นเส้น แกงไตปลา และผัดผัก ในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย นิยมนำเนื้อในเมล็ดของผักเหมียงมาทำข้าวเกรียบ

สรรพคุณทางยา : ใบ รับประทานเพื่อบำรุงเส้นเอ็น กระดูก สายตา และสามารถนำมาใช้ลอกฝ้าได้อีกด้วย

ผักเหมียงผัดไข่
ใบผักเหมียงผัดไข่

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https ://www.gotoknow.org
https ://www.youtube.com

Add a Comment