การทำนาบัว ดอกไม้ที่ตลาดมีความต้องการสม่ำเสมอและในปริมาณที่มาก

บัว

บัว เป็นดอกไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธนิยมใช้ดอกบัวในพิธี กรรมทางศาสนา สำหรับประเทศไทยดอกบัวเป็นดอกไม้ที่ตลาดมีความต้องการสมํ่าเสมอ และในปริมาณที่มาก โดยเฉพาะในวันพระหรือวันสําคัญทางศาสนา ถิ่นกําเนิดของบัวส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อนดังนั้นจึงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

เกษตรกรจํานวนมากในหลายจังหวัด ยึดการปลูกบัวเป็นอาชีพหลัก และเนื่องจากบัวเป็นไม้น้ำลักษณะของแปลงปลูกจึงต้องมีการขังนํ้าเหมือนทํานาข้าว อาจเรียกการปลูกบัวเป็นการค้าในพื้นที่มากๆ อีกอย่างหนึ่งว่า การทํานาบัว นาบัวสามารถดูแลรักษาง่ายกว่านาข้าว มีโรคและแมลงรบกวนน้อย ใช้นํ้าน้อยกว่า สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งในรูปดอกตูมและเก็บเมล็ดซึ่งผลผลิตทั้งสองรูปแบบนี้ยังเป็นที่ต้องการของทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นจากสภาพปัจจุบันที่เกษตรกรผู้ทํานาประสบปัญหาทั้งในเรื่องการขาดน้ำและราคาข้าวไม่แน่นอนนาบัว จึงเป็นทางเลือกใหม่ทางหนึ่งที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่นาข้าว

การปลูกดอกบัว
การปลูกดอกบัว แปลงปลูกต้องมีน้ำท่วมขัง

ชนิดของบัว

นักพฤกษศาสตร์ แบ่งบัวออกเป็น 3 สกุลใหญ่ คือ สกุลเนลุมโบ ( Nelumbo ) หรือ ปทุมชาติ สกุลนิมเฟียร์ ( Nymphaea ) หรืออุบลชาติ สกุลวิกตอเรีย ( Victoria ) หรือบัววิกตอเรียในแต่ละสกุลสามารถจําแนกได้หลายชนิด สําหรับในประเทศไทยชนิดของบัวที่ปลูกเป็นการค้ามี 6 ชนิด

  1. บัวหลวง อยู่ในสกุลปทุมชาติ ลักษณะใบชูเหนือน้ำเจริญเติบโตโดยมีไหล ชอนไชไปใต้พื้นดินพันธุ์ของบัวหลวงที่นิยมปลูกในปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์ฉัตรขาว ฉัตรแก้ว และฉัตรแดง
  2. บัวฝรั่ง อยู่ในสกุลปทุมชาติ ลักษณะคล้ายบัวหลวง ต้นอ่อน เจริญเติบโตโดยสร้างลําต้นหรือ เหง้าเจริญตามแนวนอนใต้ผิวดิน ลักษณะใบมีทั้งขอบเรียบและขอบใบจัก 
  3. บัวผัน บัวเผื่อน อยู่ในสกุลอุบลชาติ ต้นที่งอกจากเมล็ดจะเจริญตามแนวดิ่งขึ้นสู่ผิวดินแล้วแตกก้านใบบนผิวดินดอกชูพ้นน้ำบานในเวลาเช้าหรือกลางวัน และหุบตอนเย็นเป็นบัวชนิดที่ขยายพันธุ์ได้ช้า
  4. บัวสาย อยู่ในสกุลอุบลชาติ มีหัวกลมๆ สายขนาดปลายนิ้วก้อย มีขนเล็กน้อย ใบมน ขอบใบ จัก ดอกบานกลางคืน และหุบเวลาเช้า 
  5. จงกลนี อยู่ในสกุลอุบลชาติ มีเหง้าเจริญเติบโตในแนวดิ่ง เมื่อเหง้าแก่เต็มที่จะสร้างหัวเล็กๆ รอบเหง้า เมื่อหัวแก่จะเจริญเป็นต้นใหม่ขึ้นมาข้างๆ ต้นแม่
  6. บัวกระด้ง หรือ บัววิกตอเรีย ใบมีขนาดใหญ่ กลมคล้ายกระด้ง

ในจํานวนบัวทั้ง 6 ชนิดนี้ บัวหลวง นับเป็นบัวที่มีความสําคัญทางเศรษฐกิจมากที่สุด และเกษตรกรปลูกมากที่สุดโดยมีวัตถุประสงค์ของการปลูกที่สำคัญ 2 ประการ คือ ปลูกเพื่อตัดดอกตูม ซึ่งนําไปใช้บูชาพระ และปลูกเพื่อเก็บเมล็ด ซึ่ง สามารถใช้ประกอบอาหารทั้งอาหารคาวและอาหารหวานนอกจากนี้ส่วนอื่นๆ ของบัวหลวง ก็ยังสามารถจําหน่ายและใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ เช่น ใบแห้ง ใช้ทายากันยุง มวนบุหรี่ ต้มเป็นยาไทยบํารุงหัวใจ แก้ไข้ และรักษาโรคตับ ใบสด ใช้ห่ออาหาร และไหลหรือรากสามารถนํามาเชื่อมเป็นอาหารหวาน มีสรรพคุณแก้ร้อนใน และระงับอาการท้องร่วง

การปลูกบัวเพื่อตัดดอก

การเตรียมดิน
พื้นที่ที่เหมาะสมควรเป็นที่ราบสม่ำเสมออยู่ใกล้แหล่งน้ำดินเป็นดินเหนียว การเตรียมพื้นที่สําหรับทํานาบัวก็คล้ายๆ กับการทํานาดํา โดยเริ่มจากการเอานํ้าออกให้แห้ง ยกคันดินโดยรอบพื้นที่ให้สูงประมาณ 1.5 เมตร พื้นที่ควรมีขนาด 5 – 50 ไร่ หรือทําเป็นแปลงใหญ่ๆ ขนาด 50 – 100 ไร่ก็ได้ เก็บเศษวัสดุและกําจัดวัชพืชออกให้หมด ปรับพื้นที่ให้เรียบ ไถดะ โรยปูนขาวตากแดดทิ้งไว้ 7 – 15 วัน แล้วไถแปรอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับเติมปุ๋ยคอกเก่าๆ เช่น มูลไก่ มูลโค ประมาณไร่ละ 200 กิโลกรัมจากนั้นระบายน้ำเข้าให้สูง จากพื้นประมาณ 15 เซนติเมตร ทิ้งไว้ 3 – 5 วัน ให้ดินอ่อนตัว แล้วจึงปักดํา ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 2 X 2 เมตรในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้ไหลบัวประมาณ 400 ไหล

การปลูก
วิธีการปลูกมี 2 วิธี คือ

  1. การปลูกโดยใช้ไม้คีบ
    เหลาไม้ไผ่ให้มีความหนากว่าตอกเล็กน้อยยาวประมาณ 1 ฟุต โค้งงอตรงกลาง คีบไหลบัวตรงส่วนของข้อแล้วปักลงให้ไหลบัวติดอยู่กับผิวดิน ซึ่งการปลูกโดยวิธีนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้ไหลบัวหลุดลอยสู่ผิวน้ำชาวบ้านนิยมเรียกไม้คีบนี้ว่า”ตะเกียบ”
  2.  การปลูกโดยวิธีใช้ดินหมก
    วิธีนี้ใช้กับนาบัวที่สามารถบังคับระดับน้ำได้ โดยปล่อยนํ้าให้งวด ขุดดินเป็นร่องลึกประมาณครึ่งฝ่ามือวางไหลบัวลงไปใช้ดินกลบไหลบัวโดยเว้นเตาเอาไว้ แล้วจึงเริ่มเปิดน้ำเข้า
ดอกบัว
ดอกบัว กลีบดอกบัวสีม่วง

การดูแลรักษา

  1. การให้น้ำ หลังจากปลูกบัวแล้วในเดือนแรก ควรรักษาระดับน้ำให้ขังอยู่ในแปลงลึกประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อป้องกันมิให้หญ้าขึ้นในแปลง และบัวสามารถเจริญขึ้นมาพ่นนํ้า เพื่อรับแสงสว่างได้เร็ว หลังจากนั้นปล่อยน้ำเข้าแปลงอีกให้ลึกประมาณ 50 เซนติเมตร และลึกไม่เกิน 100 เซนติเมตร เพราะความลึกระดับนี้ บัวจะได้รับอุณหภูมิพอเหมาะ ทําให้บัวสามารถออกดอกได้มาก ถ้าระดับน้ำสูงกว่านี้ บัวที่งอกใหม่อาจตายได้ ถ้างอกพ้นผิวนํ้าไม่ทัน
  2. การใส่ปุ๋ย เมื่อบัวเริ่มตั้งตัวได้และแตกใบใหม่ก็จะเริ่มให้ปุ๋ย สูตร 16-20-0 หรือ 15- 15-15 ในอัตราไร่ละ 50 กิโลกรัม โดยหว่านลงไปให้ทั่วแปลง แต่ถ้าปลูกอยู่ในคูหรือลําคลองที่มีน้ำถ่ายเทตลอดเวลา หรือบ่อที่ควบคุมระดับไม่ได้ ควรใส่ปุ๋ย ลูกกลอนโดยการนําปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 ประมาณ 1 ช้อนชา บรรจุลงดินเหนียวปั้นดินเหนียวหุ้มให้เป็นก้อนแล้วผึ่งลมให้แห้ง เมื่อต้องการจะใส่ปุ๋ยบัว ก็ฝังลูกกลอนไว้ที่โคนต้นๆ ละ 2 ลูก

การเก็บดอก

บัวจะเริ่มให้ผลผลิตดอกตูมหลังจากปลูก 3 เดือน โดยทั่วไปเกษตรกรเก็บดอกวันเว้นวัน ยกเว้นในฤดูหนาว เก็บวันเว้น 2 วัน การเก็บดอกจะเก็บในระยะที่ดอกยังตูม โดยตัดให้มีก้านดอกยาว 40-50 เซนติเมตร คัดขนาดแล้วนํามาจัดเป็นกํา กําละ 10 ดอก การจัดต้องจัดเรียงให้เห็นดอกทั้ง 10 ดอก หลังจากนั้นจึงห่อด้วยใบบัว หลังจากเก็บเกี่ยวดอกเป็นเวลา 3-4 เดือน ต้นบัวจะเริ่มโทรมผลผลิตลดลง เกษตรกรมีวิธีบังคับให้ไหลแตกต้นใหม่ โดยระบายนําออกจากนาให้แห้งแล้วใช้รถแทรกเตอร์ลงไปไถดะเพื่อลดความหนาแน่นของต้นบัว หรืออาจใช้ลูกขลุกทุบ แล้วปล่อยน้ำเข้าในแปลงอีกครั้ง บัวจะเริ่มแตกยอดใหม่ และสามารถ เริ่มเก็บดอกได้ในเวลา 2-3 เดือน

การตลาด
ตลาดดอกบัวที่สําคัญ คือ ปากคลองตลาด และตลาดจําหน่ายดอกไม้ในทุกจังหวัด โดยมีราคาแต่ละช่วงของปีไม่เท่ากัน ดอกบัวมีราคาดีในช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ และราคาต่ำในช่วงเมษายน-ตุลาคม แต่ราคาเฉลี่ยประมาณดอกละ 1 บาท นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการส่งดอกบัวไปจําหน่ายในต่างประเทศประเทศผู้รับซื้อที่สำคัญ คือ ออสเตรีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งในปี 2534 มีมูลค่าการส่งออก 36,933 บาท (เฉพาะที่ผ่านการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช)

การปลูกบัวเพื่อเก็บเม็ด

แหล่งปลูกบัวเพื่อเก็บเมล็ดที่สำคัญ คือ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิจิตร และจังหวัดพิษณุโลก พันธุ์บัวที่นิยมปลูกเพื่อเก็บเมล็ด คือ บัวหลวงพันธุ์ปทุม ซึ่งมีขนาดฝักใหญ่ และมีเมล็ดมากเกษตรกรผู้ปลูกบัวเพื่อเก็บเมล็ด จะเริ่มปลูกในเดือนพฤศจิกายน และสามารถเก็บเกี่ยวภายหลังปลูก 3-4 เดือน โดยมีวิธีการปลูกและดูแลรักษาเช่นเดียวกับบัวตัดดอก

เมล็ดดอกบัว
เมล็ดดอกบัว อยู่ในผักของบัวหลวง มีเมล็ดกลม

การเก็บเกี่ยวฝักแก่

เมื่อปลูกบัวได้ประมาณ 3-4 เดือน ก็จะเริ่มเก็บฝักได้ ฝักแก่จะสังเกตได้จากฝักปลายเมล็ดเริ่มแห้งเป็นสีเทา หรือสีดำหากปล่อยให้แห้งทั้งฝักเมล็ดจะหลุดจากขั้วร่วงง่าย ระยะเวลาตั้ง แต่ดอกตูมถึงเก็บฝักได้ประมาณ 40-50 วัน บัวจะให้ผลผลิตนานราวๆ 3-4 เดือน จากนั้น จะเริ่มโทรม ในการเก็บฝักบัวนั้น จะใช้เรือถ่อเข้าไปแปลงบัว แล้วใช้ไม้สอยฝักบัวใส่เรือ ไม้ที่ใช้สอยนี้ชาวบ้านเรียกว่า “ซ่าว” ซึ่งยาวประมาณ 3 วา เมื่อเก็บฝักได้เต็มลําเรือแล้ว ก็ขนขึ้นมาเก็บรวมกันในลานดิน แล้วใช้ไม้ทุบให้ฝักฉีกเมล็ดแก่จะร่วงหลุดออกจากฝัก ถ้ายังมีเมล็ดบัวติดค้างในฝักอีกก็จะใช้คนแกะออกมาเมล็ดที่ได้จะนําไปตากแดดให้แห้งประมาณ 2-3 แดด จากนั้นเอาตะแกรงร่อนเอาเมล็ดลีบๆ หรือ เมล็ดเสียออก แล้วบรรจุเมล็ดบัวที่ดีลงกระสอบเตรียมส่งขายต่อไป ผลผลิตเมล็ดบัวแห้งจะได้ไร่ละประมาณ 12-15 ถัง หรือประมาณ 144-180 กิโลกรัม ราคาที่ เกษตรกรขายได้ถังละ 120-400 บาท

การดูแลรักษาหลังเก็บฝัก

หลังจากเก็บฝักบัวแล้วประมาณ 3 เดือน ต้นก็จะเริ่มโทรม ให้ระบายน้ำออกจากแปลงบัวให้แห้ง เมื่อดินแห้งพอที่จะใช้รถไถลงไถได้ ให้ไถดะพลิกหน้าดินให้ลึกเพื่อที่จะทําให้ดินโปร่งขึ้นรากบัวชั้นบนๆ ซึ่งเป็นรากขนาดเล็กลดจํานวนลง ถ้าหากไม่มีการไถในปีต่อมา บัวจะขึ้น แน่นมากทําให้ฝักบัวมีขนาดเล็กมาก เมื่อไถแล้วปล่อยนําเข้าทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้หญ้าขึ้นต้นบัวใหม่จะงอกขึ้นมาพ่นน้ำในเวลาประมาณ 3-7 วัน

ถ้าจะทําการขุดไหลเพื่อจําหน่าย เมื่อบัวเริ่มโทรมใช้ปุ๋ยเคมีบำรุงให้บัวแตกใบใหม่ และมีไหลขนาดใหญ่และแข็งแรงเมื่อบัวงามดีแล้วจึงระบายน้ำออกให้แห้งจนดินแตกระแหง ใช้เสียมงัดตามระแหงที่ดินแตกออกเป็นก้อนๆ เมื่อพบไหลก็ขุดมาจําหน่ายได้ ซึ่งจะตรงกับระยะประมาณเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ ไหลที่ขุดได้ ถ้าจะเก็บรักษาไว้เพื่อรอการปลูกหลังจากเก็บขึ้นมาแล้วให้นํามากองไว้แล้วรดนํ้าให้โชก แล้วใช้ใบตองปิดไว้และพยายามรดน้ำบ่อยๆ อย่าให้ไหลแห้งจะสามารถเก็บไหลไว้ได้ประมาณ1 เดือน

การตลาด
ในประเทศไทยนิยมซื้อขายเมล็ดบัวแห้งที่ยังไม่ได้กระเทาะเปลือก เพราะสามารถเก็บไว้ได้นานเมื่อถึงช่วงที่ตลาดต้องการจึงกระเทาะออกมาจําหน่าย สําหรับตลาดรับซื้อเมล็ดบัวภายในประเทศที่สําคัญ คือ ตลาดทรงวาด และตลาดคลองเตย นอกจากนี้ยังสามารถส่งออกไปจําหน่ายต่างประเทศในปี 2534 มูลค่าประมาณ 1 ล้านบาท โดยประเทศที่รับซื้อที่สําคัญคือ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์

ราคาขายดอกบัว

ราคา ณ วันที่ 11  เมษายน 2565

  • ดอกบัว (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 60 บาท
  • ดอกบัว (เล็กสวย) ราคากิโลกรัมละ 40 บาท

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
http://www.eto.ku.ac.th
https://www.simummuangmarket.com
https://www.flickr.com

Add a Comment