การทำลูกประคบ ใช้ในกรณีหลังคลอดและการนวดไทย

การทำลูกประคบ

ในปัจจุบันการประคบสมุนไพรนอกจากใช้ในกรณีหลังคลอดแล้ว ยังนิยมใช้ควบคู่กับการนวดไทย โดยมากจะใช้หลังการนวดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลของการประคบเกิดจากความร้อนที่ไหลจากการประคบ และจากตัวยาสมุนไพรที่ซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย สูตรการทำลูกประคบมากมายหลายสูตรตามแต่ละท้องถิ่นจะนิยมใช้ เช่น ภาคอีสานนิยมใช้เปลือกไม้แดง ใบเปล้า แถบภาคกลางนิยมใช้เถาเอ็นอ่อน โคคลาน ไพล ขมิ้น หรือแถบภาคใต้นิยมใช้ไพล ขมิ้น ขิง เป็นสมุนไพรหลักในลูกประคบ แต่ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการทำลูกประคบที่สถาบันการแพทย์แผนไทยส่งเสริมให้เป็นสูตรกลาง ๆ สามารถใช้ได้ทั้งกรณีหลังคลอดและกับการนวดได้และสูตรการทำลูกประคบที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ รายละเอียดดังนี้

ขมิ้นชัน
ขมิ้นชัน หัวขมิ้นนำมาทำขมิ้นผง

อุปกรณ์การทำลูกประคบ

ผ้าสำหรับการห่อลูกประคบ เชือก ตัวยาที่ใช้ทำลูกประคบ หม้อสำหรับนึ่งลูกประคบ จานรองลูกประคบ และเตา

ตัวยาที่นิยมใช้ทำลูกประคบ (ตัวยาที่นิยมโดยทั่วไป)

  1. ไพล แก้ปวดเมื่อยลดอาการอักเสบ

  2.  ผิวมะกรูด ถ้าไม่มีให้ใช้ใบแทนได้ มีน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน

  3. ตะไคร้บ้าน แต่งกลิ่น

  4. ใบมะขาม แก้อาการคันตามร่างกาย ช่วยบำรุงผิว

  5. ใบส้มป่อย ช่วยบำรุงผิว แก้โรคผิวหนัง

  6. ขมิ้นชัน ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง

  7. ขมิ้นอ้อย ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง

  8. เกลือ ช่วยดูดความร้อนและช่วยพาตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้สะดวกขึ้น

  9. การบูร แต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ

  10. พิมเสน แต่งรส แก้ พ ุพอง แก้หวัด

วิธีทำลูกประคบ

  1. หั่นหัวไพล ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ต้นตะไคร้ ผิวมะกรูด ตำพอหยาบ ๆ

  2. นำใบมะขาม ใบส้มป่อย ผสมเข้ากับข้อ 1 เสร็จแล้วใส่เกลือ การบูร พิมเสน คลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แต่อย่าให้แฉะเป็นน้ำ

  3. แบ่งตัวยาที่ทำเรียบร้อยเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน โดยใช้ผ้าขาวห่อเป็นลูกประคบรัดด้วยเชือกให้แน่น

  4. นำลูกประคบที่ได้ไปนึ่งในหม้อนึ่ง ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที

  5. นำลูกประคบที่ร้อนได้ที่แล้วมาประคบผู้ป่วยที่มีอาการต่าง ๆ โดยสับเปลี่ยนลูกประคบ

ลูกประคบ
ลูกประคบ การนำสมุนไพรต่างๆ มาใส่ห่อผ้า

ประโยชน์ของการประคบสมุนไพร (จากตัวยาสมุนไพรและความร้อน)

  1. ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว

  2. ลดไขมันหน้าท้อง หน้าท้องยุบ

  3. ทำให้โลหิตไหลเวียนดี

  4. ทำให้น้ำคาวปลาไหลเวียนสะดวก ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว

  5. บรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดอาการปวด

  6. ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยให้เนื้อเยื่อ พังผืดยืดตัวออก

  7. ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด

ข้อควรระวังในการประคบสมุนไพร

  • ห้ามใช้ลูกประคบที่ร้อนเกินไป โดยเฉพาะกับบริเวณผิวหนังอ่อน หรือบริเวณที่เคยเป็นแผลมาก่อน ถ้าต้องประคบควรต้องมีผ้าขนหนูรองก่อน หรือรอจนกว่าลูกประคบคลายความร้อนลงจากเดิม

  • ควรระวังเป็นพิเศษในมารดาหลังคลอดที่ป่วยเป็นป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากมีความรู้สึกต่อการตอบสนองต่อความร้อนช้า อาจทำให้ผิวหนังไหม้พุพองได้ง่าย ถ้าต้องใช้ควรใช้ลูกประคบอุ่น ๆ

  • ไม่ควรใช้ลูกประคบสมุนไพรในกรณีที่มีการอักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน) ในช่วง 24 ชั่งโมงแรก อาจทำให้บวมมากขึ้น

  • หลังจากการประคบสมุนไพรแล้วไม่ควรอาบน้ำทันที เพราะจะไปชะล้างตัวยาออกจากผิวหนังและร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน (ปรับตัวความร้อนเย็นทันทีทันใด)

การเก็บรักษาลูกประคบ

  • ลูกประคบสมุนไพรครั้งหนึ่งสามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน 3-5 วัน

  • ควรเก็บลูกประคบไว้ในตู้เย็น จะทำให้เก็บได้นาน (ควรตรวจสอบตัวยาในห่อลูกประคบด้วย ถ้ามีกลิ่นบูดไม่ควรเก็บไว้)

  • ถ้าลูกประคบแห้ง ก่อนใช้ควรพรหมด้วยน้ำหรือเหล้าขาว

  • ถ้าลูกประคบที่ใช้ไม่มีสีเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน แสดงว่ายาที่ใช้จืดแล้ว (คุณภาพน้อยลง) จะใช้ไม่ได้ผล

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://www.stou.ac.th
https://www.kelangnakorn.go.th

Add a Comment