การทำสมุนไพรจากรางจืด เพื่อล้างพิษในร่างกาย

รางจืด
รางจืด ไม้เถาเลื้อย ใบรูปขนาน ปลายใบเรียวแหลม

รางจืด ชื่อวิทยาศาสตร์ Thumbergia Laurifolia Linn. เป็นไม้เถาเลื้อยลำต้นหรือเถามีเนื้อแข็ง เถามีสีเขียวสดหรือสีเขียวเข้ม ใบเดี่ยว ใบออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ใบรูปขอบขนานหรือรูปไข่เรียวยาว ปลายใบเรียวแหลมโคนใบเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ หรืออาจจะเป็นหยักเล็กน้อย รางจืดขึ้นชื่อได้ว่าเป็น “ราชาแห่งการถอนพิษ”  วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีการทำสมุนไพรจากรางจืดกันค่ะ

สรรพคุณของรางจืด

สรรพคุณตามยาตำราไทย : จัดเป็นยารสเย็นใช้ปรุงเป็นยาเขียวลดไข้ ถอนพิษผิดสำแดง และพิษอื่นๆ ใช้แก้ร้อนใน กระหายน้ำ รักษาโรคหอบหืดเรื้อรัง และแก้ผื่นคันจากอาการแพ้ต่างๆ ใช้แก้พิษเบื่อเมาเนื่องจากเห็นพิษ สารหนู หรือยาฆ่าแมลง

การศึกษาทางพฤกษเคมี : สาระสำคัญที่พบในรางจืดเมื่อทำการสกัดคือ กลุ่ม flavonoid, phenolic, apigenin, cosmosin dolphinidin 3.5-di-O-B-D-glucoside, clorogenic acid, caffeic acid การสกัดด้วยการต้ม พบว่าให้ปริมาณสาระสำคัญ และทำให้ได้สารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด

คุณสมบัติทางเภสัชวิทยาอื่นที่น่าสนใจของรางจืด :  ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อไวรัสเริม ต้านการอักเสบรักษาระดับน้ำตาลในเลือด

ข้อควรระวัง ในกรณีของผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ โรคหอบหืด และหญิงตั้งครรภ์

ดอกรางจืด
ดอกรางจืด ดอกสีม่วงอ่อน กลีบดอกขนาดใหญ่ 5 กลีบ

ประโยชน์จากสมุนไพรจางจืด

สามารถนำทั้งใบและรากมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น ส่วนใบนำมาต้ม ดื่มขณะอุ่นๆ หรือนำใบมาคั้นดื่ม รวมทั้งสามารถแปรรูปในแบบชาชง หรือชาชงรางจืด และส่วนรากที่มีอายุเกิน 1 ปี มีขนาดเท่านิ้วชี้ (รากมีตัวยามากกว่าใบ 4-7 เท่า) นำมาฝนกับน้ำ แล้วดื่มเพื่อเป็นการล้างพิษในร่างกายรวมทั้งบรรเทาพิษเฉพาะหน้า ก่อนนำส่งโรงพยาบาล

การทำน้ำคั้นสดจากใบสมุนไพรรางจืด

  1. นำใบรางจืดที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป 5-7 ใบ ล้างให้สะอาด
  2. โขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำดื่ม หรือน้ำซาวข้าว
  3. คั้นเอาแต่น้ำ รับประทานครั้งละ 1 แก้ว วันละ 1 ครั้ง

การทำยาฝนจากรากสมุนไพรรางจืด

  1. นำรางรางจืดอายุ 1 ปีขึ้นไป ขนาดเท่านิ้วชี้ มาล้างให้สะอาด
  2. โขลกหรือฝนผสมกับน้ำสะอาด หรือน้ำซาวข้าว
  3. รับประทานครั้งละ 1 แก้ว วันละ 1 ครั้ง

น้ำต้มสมุนไพรรางจืด

  1. นำใบรางจืดแบบสด จำนวน 5-7 ใบ ล้างให้สะอาด
  2. นำลงไปต้มกับน้ำเต็มกา ดื่มขณะอุ่น
  3. ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 4-5 ครั้ง

ชาชงสมุนไพรรางจืด

  1. นำใบรางจืดมาล้างให้สะอาด
  2. หั่นใบรางจืดให้เป็นฝอย
  3. นำไปผึ่งลมให้แห้ง
  4. ใช้ขนาด 6 กรัม นำมาชงในน้ำร้อน

วิธีรับประทาน

  1. เกษตรกรกลุ่มเสี่ยง (เกี่ยวกับยาฆ่าแมลง) รับประทานครั้งละ 6 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว (75 มิลลิลิตร วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน
  2. เพื่อส่งเสริมสุขภาพ รับประทานครั้งละ 2 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว (75 มิลลิลิตร) วันละ 1 ครั้ง
ชาชงสมุนไพร
ชาชงสมุนไพรจากรางจืด

ข้อมูลด้านอื่นๆ

ในคนที่ได้รับสารพิษฆ่าแมลง ทั้งชนิดออร์กาโนฟอสเฟส (organophostpate) คาร์บาเมต (carbamate) และอาการที่เกิดขึ้น คือ วิงเวียนศีรษะ อาเจียน ปวดเมื่อย และระบบสมองเสื่อมเร็ว รวมไปถึงการพัฒนาสู่การเป็นมะเร็ง ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้นับว่าเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขเลือกสมุนไพรรางจืด มาทำการรณรงค์เพื่อใช้ล้างพิษในกระแสเลือดให้เกษตรกร ซึ่งรางจืดเป็นสมุนไพรที่มีการศึกษาวิจัยทั้งในห้องทดลองและการศึกษาในคนมากกว่า 30 ปีแล้ว โดยการศึกษาทางเภสัชวิทยาของรางจืดครั้งแรกเริ่มจาก แพทย์หญิงพาณี เตชะเสน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่ารางจืดสามารถช่วยชีวิตแมวของท่านที่ถูกวางยาพิษได้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ทำการศึกษาวิจัยรางจืดในการแก้พิษสารกำจัดศัตรูพืชตั้งแต่ พ.ศ. 2522-2523 โดยเริ่มจากสารกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (เช่น โฟลิดอล พาราไทออน)  ต่อมามีการศึกษาพบว่า รางจืดยังสามารถลดพิษของสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มคาร์บอเนต เช่น เมโทรมิล เป็นต้น จากการศึกษาวิจัยการต้านฤทธิ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของรางจืดนั้นอาจเกิดจากหลายกลไก เช่น สารสกัดรางจืดทำให้ระดับเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรสเพิ่มขึ้น หรือลดการยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส ซึ่งเอนไซม์ตัวนี้ทำหน้าที่ทำลายโคลีนที่เป็นสาร สื่อประสาท ที่ทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ สารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมต จะไปทำลายเอนไซม์ตัวนี้ และเกิดการสะสมของโคลีนทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง นำสู่อาการชัก จากการศึกษาพบว่ารางจืดไปเพิ่มปริมาณของเอนไซม์ดังกล่าว

หมายเหตุ : รางจืดมีดอก 2 สี คือสีขาว และสีม่วง รางจืดที่มีประสิทธิภาพ คือรางจืดชนิดเถาดอกม่วง

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http:// clgc.agri.kps.ku.ac.th
https://www.flickr.com

3 Comments

Add a Comment