การปลูกมะขามเปรี้ยวพันธุ์ศรีสะเกษ 109

มะขามเปรี้ยวพันธุ์ศรีสะเกษ

มะขามเปรี้ยวเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย สามารถขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด ประกอบกับเป็นพืชที่มีความสําคัญทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถส่งเป็นสินค้าออกทํารายได้เข้าประเทศปีละหลายล้านบาท และเนื่องจากยังไม่มีมะขามเปรี้ยวพันธุ์ดี สําหรับแนะนําให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้า สถาบันวิจัยพืชสวนโดยศูนย์วิจัยพืชสวน ศรีสะเกษ จึงได้ทำการรวบรวมต้นแม่พันธุ์มะขามเปรี้ยวที่มีลักษณะการให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี จากแหล่งปลูกต่างๆ ที่สําคัญของประเทศโดยในปี พ.ศ. 2537 ได้นํายอดพันธุ์ของต้นแม่พันธุ์เหล่านั้น มาเสียบกับต้นตอในแปลงรวบรวมพันธุ์มะขามเปรี้ยว ซึ่งปลูกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2526 จากนั้นทําการบันทึก ข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ในการคัดเลือกให้ได้ต้นแม่พันธุ์มะขามเปรี้ยวพันธุ์ดีโดยกำหนดหลักเกณฑ์ที่สำคัญ ในการเลือกพันธุ์มะขามเปรี้ยวไว้ดังนี้กล่าวคือ

ลักษณะทรงพุ่มเป็นทรงกระบอกหรือทรงกลม มีการเจริญเติบโตดีให้ผลผลิตสูงสม่ำสมอ ฝักมีขนาดใหญ่และตรงยาวไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร เปลือกหนาฝักไม่แตกง่าย มีเนื้อมากไม่น้อยกว่า 45 % ขึ้นไป มีเมล็ด 33.9 % เปลือกกับรก 11.1 % เนื้อสีอําพัน เปอร์เซ็นต์ กรดทาร์ทาริค (ความเปรี้ยว) สูงมากกว่า 12 %

ปรากฏว่าจากการบันทึกข้อมูลประมาณ 8 ปี (ถึง พ.ศ. 2536) สามารถคัดเลือกต้นแม่พันธุ์มะขามเปรี้ยวพันธุ์ดี ที่ให้ผลผลิตสูง และคุณภาพดีตรงตามหลักเกณฑ์ การคัดเลือกพันธุ์ เป็นที่น่าพอใจ จึงตั้งชื่อว่า “มะขามเปรี้ยวศรีสะเกษ” (ศก.019)

ปี 2537 กรมวิชาการเกษตรได้ประกาศให้ มะขามเปรี้ยว ศก.019 เป็นพันธุ์แนะนําเพื่อให้เกษตรกรได้มั่น ใจในลักษณะที่ดีต่างๆ ของมะขามเปรี้ยวนี้

มะขามเปรี้ยวศรีสะเกษ
มะขามเปรี้ยวศรีสะเกษ ฝักตรง ใหญ่ เปลือกหนาฝักไม่แตกง่าย

ลักษณะประจำพันธุ์

ต้น : เป็นพุ่ม รูปทรงกลม

ใบ : มีสีเขียว มีจำนวนใบย่อยประมาณ 12 – 16 คู่

ดอก : มีสีเหลืองริ้วแดง เริ่มออกดอกรุ่นแรกประมาณ กลางเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ระยะจากการ ออกดอกถึงดอกบานใช้เวลาประมาณ 17 วัน จากดอกบนถึงดอกติดฝักใช้เวลาประมาณ 10 วัน หลังจากนั้น อีกประมาณ 238 – 258 วัน ฝักก็จะแก่สามารถเก็บเกี่ยวได้

ฝัก : ลักษณะฝักตรง ฝักใหญ่มีขนาดกว้างประมาณ 1.95-2.6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10.8-18เซนติเมตร และหนาประมาณ 1.35-1.67เซนติเมตร มีเปอร์เซ็นต์เนื้อประมาณ 44-50 %

ต้นมะขาม
ต้นมะขาม ต้นทรงพุ่ม ใบสีเขียว

ลักษณะดีเด่น

  1. ให้ผลผลิตสูง ประมาณ 9.13 กิโลกรัมต่อต้น ต่อปี (ค่าเฉลี่ยของผลผลิต 6 ปี เมื่ออายุ 3 -8 ปี) เมื่อเปรียบเทียบกับมะขามเปรี้ยวพันธุ์ทั่วๆ ไป มะขามเปรี้ยวศรีสะเกษจะให้ผลผลิตสูงกว่า 41.18 %
  2. อัตราส่วนของเนื้อต่อเปลือก เมล็ดและรก ประมาณ 1 : 1.12
  3. ฝักมีลักษระตรง ทําให้สะดวกในการเก็บเกี่ยวและแกะเอาเปลือกและเมล็ดออก
  4. มีเปอร์เซ็นต์กรดทาร์ทาริคสูงประมาณ 14 – 19 %

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

โดยทั่วไปมะขามเปรี้ยวสามารถขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด เป็นต้นว่า ดินทราย ดินเหนียว ดินลูกรัง แต่ดินที่เหมาะสมที่สุดคือดินร่วนปนทราย และควรมีการระบายน้ำที่ดีด้วย มะขาม เปรี้ยวเป็นพืชทนแล้งได้ดี สามารถขึ้นได้ในที่ค่อนข้างแห้งแล้ง

การปลูก

ควรมีการไถพรวนกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกเสียก่อน ต่อจากนั้นกําหนดหลุมปลูกในแปลงโดยใช้ระยะปลูก 8 * 8 เมตร (ระยะห่างระหว่างแถว 8 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 8เมตร) ซึ่งจะปลูกได้ 25 ต้นต่อไร่ ควรมีการเตรียมหลุมปลูกขนาด กว้าง*ยาว*ลึก เท่ากับ 60*60*60 เซนติเมตร ดินที่ขุดจากหลุมปลูกให้แยกเป็นสองกอง คือดินชั้นบนและดินชั้นล่างตากดินที่่ขุดขึ้นมาทิ้งไว้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ แล้วผสมดินทั้งสองกองด้วยปุ๋ยคอกประมาณ1-2 บุ้งกี๋ต่อหลุม จากนั้นจึงกลบดินลงไปในหลุมตามเดิม โดยเอาดินชั้นบนลงไว้ก้นหลุมก่อนแล้วจึงกลบทับด้วยดินชั้นล่าง การเตรียมต้นพันธุ์ที่จะปลูก

การปลูกมะขามเปรี้ยวพันธุ์ดีอาจใช้วิธีปลูกมะขามต้นตอลงในแปลงก่อน เมื่อต้นตออายุได้ประมาณ 1-1 1/2 ปี หรือขนาดลําต้นเท่าแท่งดินสอ จึงทําการเสียบกิ่ง โดยใช้ยอดมะขามเปรี้ยวพันธุ์ดีมาเสียบใช้วิธีการเสียบข้าง

อีกวิธีการหนึ่งคือการทาบกิ่ง โดยการเตรียมต้นตอมะขามไว้ในแปลงเพาะกล้า เมื่อต้นตอ มีอายุประมาณ 8 เดือน ก็ขุดนําต้นตอมาหุ้มด้วยขุยมะพร้าวบรรจุถงุ พลาสติก แล้วนะไปทาบ กับมะขามเปรี้ยวพันธุ์ที่ต้องการ หลังจากทาบแล้ว 45 วัน สังเกตรากต้นตอจะเดิน จึงตัดมา ปักชําในถุงพลาสติกบรรจุดิน จนเจริญเติบโตแล้วนําลงปลูกในแปลง

สําหรับฤดูปลูกควรจะปลูกต้นฤดูฝน เพราะเมื่อปลูกเสร็จแล้วต้นมะขามเปรี้ยวที่ยังเล็กอยู่จะได้รับนํ้าฝน สามารถตั้งตัวได้ดีก่อนจะเข้าถึงฤดูแล้ง ต้นมะขามเปรี้ยวที่ปลูกใหม่ควรจะยึดกับหลักเพื่อให้ต้นมะขามเปรี้ยวขึ้นตรงไม่โค้นล้มเนื่องจากลมแรง หากปลูกด้วยกิ่งทาบหลังปลูกแล้วจําเป็นต้องแกะเอาเชือกฟาง หรือผ่าพลาสติกตรงรอยต่อออกเพราะถ้าไม่ได้ต้นมะขามเปรี้ยวแคระแกร็นหรืออาจจะตายได้

การขยายพันธุ์

วิธีการขยายพันธุ์มะขามเปรี้ยวมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การเพาะเมล็ด การทาบกิ่ง การติดตา และการต่อกิ่ง แต่วิธีที่นิยมและได้ผลดีที่สุด มี 2 วิธี คือ การทาบกิ่ง และการต่อกิ่ง ซึ่งจะไม่อธิบายรายละเอียดในที่นี้

การปฏิบัติดูแลรักษา

  1. การให้น้ำ
    ในระยะปลูกใหม่ หากฝนไม่ตก จําเป็นต้องรดน้ำทุก 1-2 วัน ประมาณ 1 สัปดาห์จนกว่าจะตั้งตัวได้ จากนั้นจึงเว้นช่วงเวลาการรดน้ำให้ห่างกว่าเดิมอาจจะเป็น 3 หรือ 7 วันต่อครั้งเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ของปีแรก
  2. การกําจัดวัชพืช
    ในระยะที่ต้นยังเล็กอยู่จำเป็นต้องกำจัดวัชพืชเป็นระยะไป อย่าให้วัชพืชแย่งน้ำและอาหารได้ การทำความสะอาดรอบโคนต้น นอกจะเป็นการกําจัดวัชพืชแล้วยังสามารถทําลายแหล่งอาศัยของ โรคแมลงได้ด้วย
  3. การใส่ปุ๋ย
    สําหรับมะขามต้นเล็ก ยังไม่ออกผล อายุ 1-3 ปี ควรให้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 450 กรัมต่อต้น (ประมาณ 1 กระป๋องนม) ในปีแรกแบ่งใส่ 3 ครั้ง (4 เดือนต่อครั้ง) จํานวน 100,150,200 กรัม ตามละดับ สําหรับปีต่อๆไป ให้เพิ่มปุ๋ยมากขึ้น ตามจำนวนอายุที่มากขึ้น เมื่อมะขามตกผลแล้ว ควรใสปุ๋ยสูตร 13-13-21 โดยแบ่งใส่ 2 ครั้งคือช่วงต้นฝนและปลายฝน ซึ่งจะช่วยให้มีการติดผลมากขึ้น อัตราที่ใส่คำนวณจากสูตรดังนี้
    เช่นต้นมะขามอายุ 2 ปี ต้องใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 จํานวน 2/2 = 1 กก. โดยแบ่งใส่ต้นฝน 1/2 กก. และปลายฝนอีก 1/2 กก. รวมเป็น 1กก.

การเก็บเกี่ยว

มะขามเปรี้ยวจะแก่และสามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งปลูกและสภาพดินฟ้าอากาศด้วย การเก็บเกี่ยวควรใช้กรรไกรตัดแต่งกิ่ง ตัดที่ขั้วให้ หลุดออกจากกิ่ง ถ้ามะขามต้นโตให้ใช้บันไดขึ้นเก็บเกี่ยวฝักที่อยู่สูง

หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วนําฝักมะขามเปรี้ยวมาแกะเอาเปลือกและเมล็ดออกจานั้นนำเนื้อมะขาม ที่แกะได้เรียกว่า มะขามเปียก บรรจุลงในภาชนะต่างๆ เช่น ถุงพลาสติก หรือ เข่ง เพื่อจําหน่ายต่อไปสำหรับวิธีการเก็บรักษามะขามเปียกไว้นานๆ เพื่อจะนํามาจําหน่ายในช่วงที่มีราคาสูงโดยที่เนื้อมะขาม ไม่เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ ทำได้โดยการนํามะขามเปียกที่บรรจุในภาชนะ ไปเก็บไว้ในห้องเย็นที่อุณหภูมิต่ำ คือ 5 อาศาเซลเซียส ซึ่งสามารถชะลอการเกิดสีดำของเนื้อมะขามได้ประมาณ 10 เดือน

เนื้อมะขาม
การนำมะขามมาแกะเอาเปลือกและเมล็ดออก

การดูแลรักษาต้นมะขามหลังเก็บเกี่ยว

หลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวแล้ว ให้ทําการตัดแต่งกิ่งมะขามเปรี้ยว โดยตัดแต่งกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ กิ่งที่เป็นโรคหรือมีแมลงทําลายหรือกิ่งที่ถูกตัดออก และให้ใช้สีนํ้าพลาสติกหรือยาป้ายกันราทาที่รอยแผล เพื่อป้องกันราที่จะเกิดขึ้นภายหลัง สําหรับกิ่งที่ถูกตัดออก ควรรีบนําออกจากแปลงมะขามเปรี้ยวไปทิ้ง หรือทําลายที่อื่น โดยเฉพาะกิ่งที่เป็นโรค หรือแมลง ควรรีบทําลายโดยการนําไปเผาทิ้ง เพื่อป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคหรือแมลง

ราคาขาย

ราคา ณ วันที่ 5 เมษายน 2565

  • มะขามอ่อน (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 200 บาท
  • ฝักมะขามอ่อน (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 70 บาท
  • มะขามแช่อิ่ม (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 100 บาท
  • มะขามหวานสีทอง (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 80 บาท / เล็กสวย ราคากิโลกรัมละ 40 บาท
  • มะขามหวานสีชมพู (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 60 บาท / เล็กสวย ราคากิโลกรัมละ 35 บาท
  • มะขามหวานประกายทอง (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 80 บาท / เล็กสวย ราคากิโลกรัมละ 40 บาท
  • มะขามเปียก แกะเม็ด (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 50 บาท / เล็กสวย ราคากิโลกรัมละ 45 บาท

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
http://www.eto.ku.ac.th
http://thaifarmer.lib.ku.ac.th
https://www.simummuangmarket.com
https://www.flickr.com

Add a Comment