การปลูกเผือก พืชหัวที่เป็นอาหารสำคัญ

เผือก

เผือก เป็นพืชเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นที่สำคัญอีกพืชหนึ่ง คนไทยนิยมบริโภคเผือกเพราะมีกลิ่นหอมและรสชาติดี เป็นพืชหัวที่เป็นพืชอาหารที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง หัวเผือกจะมีส่วนประกอบเป็นพวกแป้งและแร่ธาตุต่างๆ ส่วนใบประกอบไปด้วยโปรตีนและแร่ธาตุ ซึ่งใบเผือกสามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย และมีเผือกบางประเภทที่ใช้ใบสําหรับบริโภคซึ่งหัวจะมีขนาดเล็กไม่เหมาะต่อการบริโภคปัจจุบันเผือกกําลังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย

ประเทศไทยมีการปลูกเผือกอยู่ทั่วไปทุกภาคของประเทศ มีพื้นที่ปลูกเผือกทั้งประเทศปีละ ประมาณ 25,000 – 30,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 45,000 – 65,000 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 2 –2.5 ตันต่อไร่ ส่วนจังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก นครราชสีมา สุรินทร์ สระบุรี อยุธยา สิงห์บุรี ปราจีนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี สุพรรณบุรี ชุมพร และสุราษฏร์ธานี

หัวเผือก
หัวเผือก หัวเผือกแก่เปลือกสีน้ำตาลดำ

สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม

เผือกเป็นพืชที่มีหัวคล้ายบอนมีความต้องการน้ำหรือความชื้นในการเจริญเติบโตค่อนข้างสูงเผือกจึงชอบดินอุดมสมบูรณ์ และสามารถอุ้มน้ำไว้ได้มาก สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยในแหล่งที่มีระบบน้ำชลประทานดีจะสามารถปลูกเผือกได้ตลอดปี ส่วนในแหล่งที่มีน้ำจำกัดควรปลูกเผือกในช่วงฤดูฝนเท่านั้น เผือกปลูกไดทั้งที่ลุ่มและดอน สภาพไร่ ที่ราบสูงไหล่เขาและปลูกได้ในดินหลายชนิด ยกเว้นดินลูกรัง ดินที่เหมาหะสมสําหรับการปลูกเผือกมากที่สุด คือ ดินร่วนปนทราย มีอินทรีย์วัตถุสูง หน้าดินลึก ระบายน้ำดี โดยปกติจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักจํานวนมากก่อนปลูกโดยหว่าน และไถกลบก่อนปลูก 2-3 เดือน และเพิ่มปุ๋ยไนโตรเจน (N) และโปแตสเซียม (K) ระหว่างพืชเจริญเติบโตจะให้ผลดี ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) ระหว่าง 5.5-6.5 อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตประมาณ 21-27 องศาเซลเซียส โดยทั่วไปจะปลูกเผือกในระดับความสูงไม่เกิน1,000 เมตรจากระดับนํ้าทะเล

การจำแนกพันธุ์เผือก

ประเทศไทยมีเผือกมากมายหลายพันธุ์ ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตรได้รวบรวมพันธุ์เผือกจากแหล่ง ต่างๆ ทั้งในแต่ละต่างประเทศประมาณ 50 พันธุ์ สามารถจําแนกพันธุ์เผือกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

  1. จําแนกเผือกตามกลิ่นของหัว มี 2 ประเภท คือ
    1.1 เผือกหอม เผือกชนิดนี้เวลาต้มหรือประกอบอาหารจะมีกลิ่นหอม ได้แก่ เผือกหอม เชียงใหม่ พันธุ์ พจ.016 พจ.08 และ พจ.019 เป็นต้น
    1.2 เผือกชนิดไม้หอม เผือกชนิดนี้เวลาต้ม หรือประกอบอาหารจะไม่มีกลิ่นหอม อย่างไรก็ตามเผือกชนิดนี้ บางพันธุ์ถึงแม้จะไม่มีกลิ่นหอมแต่ก็มีข้อดีตรงที่มีลักษณะเนื้อเหนียวแน่นน่ารับประทานเช่นกัน ได้แก่ เผือกพันธุ์ พจ.06 พจ.025 และพจ.012 เป็นต้น
  2. การจําแนกเผือกตามสีของเนื้อ มี 2 ประเภท คือ
    2.1 เผือกเนื้อสีขาวหรือสีครีม เผือกชนิดนี้เมื่อผ่าดูเนื้อ ในจะพบว่า มีสีขาวหรือสีขาว ครีม ได้แก่ เผือกพันธุ์ พจ.06 พจ.07 พจ.025 พจ.014 (เผือกบราซิล) พันธุ์ศรีปาลาวี (อินเดีย) และ พันธุ์ศรีรัศมี (อินเดีย) เป็นต้น
    2.2 เผือกเนื้อสีขาวปนม่วง เผือกชนิดนี้เมื่อผ่าหัวดูเนื้อ จะพบว่ามีสีขาวลายม่วงปะปนอยู่ซึ่งจะมีสีม่วงมากหรือน้อยแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ได้แก่เผือกหอมเชียงใหม่ พันธุ์พจ.016 พจ.08พจ.05 และพจ.020 เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการจําแนกเผือกตามจํานวนหัวขนาดใหญ่ต่อต้น คือเป็นหัวใหญ่หนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งหัวต่อต้น จําแนกตามการแตกกอ เช่น แตกกอน้อย (3-10 ตน) ปานกลาง (10-20 ต้น) และมาก (มากกว่า 20 ต้นขึ้นไป)

การขยายพันธุ์เผือก

เผือกเป็นพืชหัวที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี ดังนี้

  1. การเพาะเมล็ดเป็นวิธีที่ง่ายแต่ใช้เวลานานกว่าจะย้ายปลูกลงแปลงได้ ในประเทศไทยเผือก แต่ละพันธุ์มีการออกดอกและติดเมล็ดน้อย เกษตรกรไม่นิยมขยายโดยวิธีนี้
  2. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นวิธีการขยายพันธุ์เผือกที่ปลอดจากเชื้อที่ติดมากับต้นพันธุ์ได้ เป็นปริมาณครั้งละมาก ๆ แต่ต้นทุนการผลิตสูงเกษตรกรยังไม่นิยมขยายพันธุ์โดยวิธีนี้
  3. การขยายพันธุ์โดยใช้หน่อ เป็นส่วนที่แตกออกมาเป็นต้นเผือกขนาดเล็กอยู่รอบๆ ต้นใหญ่ เมื่อแยกออกจากต้นใหญ่ หรือต้นแม่แล้วสามารถนําไปลงแปลงได้โดยไม่ต้องเสียเวลาไปเพาะชํา
  4. การขยายพันธุ์โดยใช้หัวพันธุ์หรือที่เกษตรกรเรียกว่าลูกซอหรือลูกเผือก ซึ่งเป็นหัวขนาดเล็กที่อยู่รอบ ๆ หัวเผือกขนาดใหญ่ วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมทั่วไปทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ แต่ในการ ปลูกแต่ละครั้ง ควรเลือกเผือกที่มีขนาดปานกลางไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป หัวพันธุ์มีขนาดสม่ำเสมอจะทําให้เผือกที่ปลูกแต่ละต้นลงหัวในเวลาใกล้เคียงกัน เก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน และที่สําคัญจะทําให้ไม่มีหัวขนาดเล็กและใหญ่แตกต่างกันมาก

ฤดูปลูก

ประเทศไทยสามารถปลูกเผือกได้ทั่วทุกภาคและทุกฤดูกาลตลอดทั้งปีซึ่งถ้าเป็นแหล่งที่มีนํ้า ชลประทานดีอยู่แล้ว เกษตรกรจะปลูกเผือกเมื่อไรก็ได้ แต้โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมปลูกเผือกในต้นฤดูฝนในเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน และฤดูแล้งช่วงหลังการทํานาเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์

  • ฤดูฝน ปลูกมากในสภาพพื้นที่ดอน อาศัยน้ำฝนมีบางท้องที่ปลูกในสภาพพื้นที่ลุ่มหรือที่นา
  • ฤดูแล้ง ปลูกหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว หากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วภายในเดือนธันวาคม

จะปลูกผักก่อนการปลูกเผือกในเขตชลประทานจะสามารถปลูกเผือกได่ตลอดทั้งปี

ต้นเผือก
ต้นเผือก มีหัวและเหง้าอยู่ใต้ดิน ทำหน้าที่สะสมอาหาร

การปลูกเผือก

เผือกสามารถปลูกได้หลายลักษณะตามสภาพพื้นที่ ดังนี้

  1. การปลูกเผือกในสภาพไร่ เป็นการปลูกเผือกในสภาพที่ดอนทั่วๆ ไป เช่น ตามไหล่เขา พื้น ที่ไร่ต่าง ๆ การปลูกเผือกที่ดอนควรปลูกในฤดูฝนเริ่มปลูกเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ถ้ามีแหล่งน้ำ สามารถให้น้ำเผือกได้ก็สามารถปลูกได้ตลอดปี
    1.1 การเตรียมดิน ก่อนการปลูกเผือก 1-2 เดือน ให้แทรกเตอร์ไถดะด้วยผาน 3 หรือ 4 ตากไว้ระยะหนึ่งแล้วไถแปรเพื่อย่อยดิน ถ้าบริเวณดินปลูกดังกล่าวเป็นดินที่มีการรดสูง หรือเป็นดินเปรี้ยวควรหว่านปูนขาวรวมทั้ง ปุ๋ยคอก หรืออินทรีย์วัตถุก่อนดําเนินการไถเตรียมดิน หลังจากไถแปรเรียบร้อยแล้วให้เตรียมหลุมกว้าง 30-40 เซนติเมตร ลึก 20-30 เซนติเมตร ระยะปลูกระหว่างต้น50 เซนติเมตร ระยะห่างแถว 1 เมตร ถ้ามีปุ๋ยคอกให้ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมก่อนปลูก
    1.2 การเตรียมพันธุ์ การเตรียมพันธุ์เผือกบนที่ดอน ใช้หัวพันธุ์เผือกที่มีขนาดใกล้เคียงกันโดยเฉลี่ยหัวพันธุ์มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร ไม่จำเป็นต้องเพาะเผือกให้แตกหน่อก่อนการปลูกทําการปลูกโดยฝังลงไปในหลุมที่เตรียมไว้ได้เลย พื้นที่ 1 ไร่่ จะให้หัวพันธุ์เผือก 100-200 กิโลกรัม การปลูกเผือกบนที่ดอนบางแห่งอาจมีปลวกชุกชุม หรือมีแมลงใต้ดินมากควรใช้สารเคมีคาร์โบฟแรน(ฟูราดาน) รองก้นหลุมก่อนปลูก
    1.3 การปลูก การปลูกโดยใช้รถแทรกเตอร์ยกร่องใช้ระยะระหว่างร่องประมาณ 1 เมตรปลูกโดยวางหัวเผือกลงในร่องระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร นําดินบางส่วนจากสันร่องกลบหัวพันธุ์ จากนั้นคอยพูนโคนเมื่อเผือกเจริญเติบโตขึ้น เนื่องจากหัวเผือกก็คือลำต้นใต้ดินที่ขยายออกเพื่อสะสมอาหารจึงเจริญขึ้นบนมากกว่าลงหัวลึกลงไป จึงต้องคอยพูนโคนอยู่เสมอจนในที่สุดสันร่องเดิมเมื่อเริ่มปลูกกลายเป็นร่องทางเดิน
    1.4 การให้น้ำ เผือกเป็นพืชหัวที่ขึ้นได้ดีในดินที่มีความชุ่มชื้น ฉะนั้นการปลูกเผือกในที่ดอน นอกจากจะอาศัยนํ้าฝนแล้วจะต้องมีแหล่งนําให้ความชุ่มชื้น เผือกอยู่เสมอ ซึ่ง ถ้าปลูกเผือกไม่มากควรรดน้ำด้วยสายยาง แต่ถ้า ปลูกมากกว่า 10 ไร่ขึ้นไป ควรให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ แบบเคลื่อนย้ายได้ชั่วโมงละ 3-5 ไร่
    1.5 การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ก่อนปลูกรองกันหลุมด้วยปุ๋ย คอกอัตรา 1-3 กํามือ ต่อต้น และปุ๋ย 18-6-6 อัตรา 50-100 กิโลกรัม/ไร่ ต่อจากนั้นใส่ครั้งที่ 2 เมื่อ อายุ 2 เดือน ใช้สตูร 18-6-6 หรือ 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ และครั้งที่ 3-4 เดือน ใช้สูตร 13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ จะทําให้เผือกมีน้ำหนักหัวดี ในการใส่ปุ๋ย แต่ละครั้ง ควรจะพรวนดินและรดนําให้ ชุ่มชื้นอยู่เสมอ รากเผือกจะได้ดูดซับปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ได้สะดวก
    1.6 การกําจัดวัชพืช และการพูนโคน ในระยะ 1-3 เดือนแรกต้นเผือกยังเล็กควรมีการถาก หญ้าหรือใช้สารกําจัดวัชพืช พร้อมทั้งพรวนดิน โคนต้นเดือนละ 1 ครั้ง เมื่อต้นเผือกโตใบคลุมแปลงมาก แล้วไม่จําเป็นต้องกําจัดวัชพืชอีกจนกว่าจะเก็บเกี่ยว
    1.7 การคลุมแปลง ในแหล่งปลูกเผือกที่มีเศษเหลือของพืช เช่น ฟางข้าว เปลือกถั่วและ หญ้าคา เป็นต้น ควรนํามาคลุมแปลงปลูกเผือก เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นและอุณหภูมิ อีกทั้ง ยังเป็นการป้องกันวัชพืช และการแตกหน่อของเผือกบางส่วนไดอีกด้วย สําหรับประเทศญี่ปุ่น จะใช้พลาสติกสีดําเป็นวัสดุคลุมแปลงเผือก การใช้วัสดุคลุมแปลงปลูกเผือกจะทําให้เผือกมีผลผลิตสูงขึ้น 18-20%
    1.8 การเก็บเกี่ยว เมื่อเผือกมีอายุได้ 5-6 เดือน สังเกตเห็นใบเผือกจะเล็กลง ใบเผือก ใบล่าง ๆ จะมีสีเหลือง เหลือใบยอด 2-3 ใบ จึงสามารถขุดเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ สำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิตเผือกในที่ดอนที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น เริ่มแรกจะใช้เครื่องตัดหญ้า แลลสพายหลังตัดต้นเผือกเหลือแต่ตอสูงกว่าพื้นดินประมาณ 1 คืบ แล้วใช้แทรกเตอร์ที่ออกแบบใน การเก็บเกี่ยวเผือกโดยเฉพาะ สามารถเก็บเกี่ยวเผือกได้รวดเร็ววันละหลายไร่ และประหยัดแรงงานในการเก็บเกี่ยวกว่าการใช้แรงงานคนขุดมาก คาดว่าในวันข้างหน้าการเก็บเกี่ยวเผือกในที่ดอนของไทยจะพัฒนาเป็นการใช้รถแทรกเตอร์เก็บเกี่ยวต่อไป
  2. การปลูกเผือกริมร่องสวน เป็นการปลูกเผือกบนร่องผัก หรือริมคันนา หรือริมร่องสวนการปลูกเผือกแบบนี้ส่วนมากจะเป็นแหล่งที่เกษตรกรนิยมปลูกผักร่องสวนอยู่แล้ว เช่น นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี เป็นต้น
    2.1 การเตรียมดิน ใช้พลั่วแทงดินสาดโกยขึ้น ทําฐานรองมีลักษณะคล้ายคันนาไปตามร่องสวน หรือร่องปลูกผัก เตรียมหลุมปลูกโดยมีระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร
    2.2 การเตรียมพันธุ์ นําหัวพันธุ์เผือกที่มีขนาดเท่าๆ กันไปเพาะชําในแปลงเพาะชํา โดยมี ขี้เถ้าแกลบเป็นวัสดุเพาะชํา วิธีการเตรียมแปลงเพาะชําให้ไถพรวนดิน 1 ครั้ง เพื่อปรับดินให้เรียบสมํ่าเสมอปูนขี้เถ้าแกลบหนาประมาณ 1-2 นิ้ว จากนั้นนําลูกเผือกมาวางเรียงบนขี้เถ้าแกลบให้เต็มแปลง แล้วใช้ขี้เถ้าแกลบทับบางๆ รดนํ้าให้ชุ่มอยู่เสมอทุกวัน จนกล้าเผือกมีอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยจะมีใบแตกออกมา 2-3 ใบ สูงประมาณ 20-25 เซนติเมตร ก็สามารถย้ายปลูกได้ พื้นที่ปลูกเผือก1 ไร่ จะใช้พันธุ์เผือกประมาณ 100-200 กิโลกรัม
    2.3 การปลูก นําลูกเผือกที่งอกแล้ว 2-3 ใบ มาปลูกในหลุมห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 1 ตัน การปลูกเผือกริมคันนาของเกษตรกรชาวนาจังหวัดอยุธยา อ่างทอง และสุพรรณบุรี คล้ายการปลูกเผือกข้างร่องพืชผักหรือริมร่องสวนและมีการดูแลรักษาคล้ายกัน ส่วนการปลูกเผือกบนหลังร่องสวนผักนั้น จะปลูกคล้ายๆ กับการปลูกเผือกบนที่ดอนโดย ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร (1 เมตร) การรดน้ำจะเหมือนการรดนํ้าผักแบบยกร่องทั่วไป ส่วนการดูแลรักษาอื่น ๆ ก็เหมือนการปลูกเผือกในที่ดอน
    2.4 การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง เช่นเดียวกับการปลูกเผือกที่ดอนโดยใช้สูตรปุ๋ย และ อัตราเดียวกัน สําหรับวิธีการใสนั้น ใส่โดยการเจาะหลุมระหว่างต้นหยอดปุ๋ย ลงไป แล้วกลบด้วยดินโคลน
    2.5 การกําจัดวัชพืช กลบโคนต้นและการตัดแต่งหน่อ หลังจากปลูกเผือกได้ 1 เดือน ควรมีการกำจัดวัชพืชและกลบโคนด้วยดินโคลนทุกเดือนและถ้าพบว่าเผือกมีการแตกหน่อมากเกินไปควรใช้เสียมแซะหน่อข้างออกให้หมด เผือกจะมีการลงหัวได้ขนาดใหญ่ขึ้น
    2.6 การเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังจากปลูกเผือกได้ 5-6 เดือน ใบเผือกจะเล็กลง ใบหนาขึ้น ใบช่วงล่างจะเป็นสีเหลือง และเริ่มเหี่ยวเหลือใบยอด 2-3 ใบ ให้ขุน โดยใช้เหล็กปลายแหลมขนาด 5 หุน ยาว 1 เมตร 25 เซนติเมตร มีห่วงกลมทําเป็นมือถือ แทงเหล็กแหลมลงไปที่โคนเผือกอย่าให้ชิดโคนเผือกมากนักเพราะก้านเหล็กจะถูกหัวเผือกเสียหายได้ เมื่อแทงเหล็กแหลมลงไปแล้ว ก็โน้มก้านเหล็กเอียงทํามุมกับพืน้ ดิน 45 องศา หมุนเหล็กคว้านรอบโคนต้นเผือกเป็นครึ่งวงกลมทั้ง 2 ด้านของต้น แล้วดึงเอาหัวเผือกขึ้นมา ผู้ที่มีความชํานาญในการใช้เหล็กแหลมจะสามารถคว้านหัวเผือกขึ้นมาได้รวดเร็วมาก
  3. การปลูกเผือกในนา เป็นการปลูกในพื้นที่นาเช่นปลูกหลังฤดูการทํานา เป็นพื้นที่ที่มีระบบ นํ้าชลประทานดี เช่น จังหวัดสระบุรี สิงห์บุรี และนครสวรรค์ เป็นต้น
    3.1 การเตรียมดิน หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วให้ใช้รถแทรกเตอร์ไถดะด้วยผาน 3 หรือ 4 ตากดินไว้ระยะหนึ่ง ประมาณ 15-30 วัน แล้วไถย่อยดิน ถ้าบริเวณดินปลูกนั้น เป็นดินเปรี้ยวควรใส่ปูนขาว เพื่อลดความเป็นกรดของดิน (ดินเปรี้ยว) ในอัตรา 200-400 กิโลกรัม/ไร่ ขึ้น อยู่กับดินเปรี้ยวมากหรือน้อย โดยหว่านปูนขาวก่อนการไถพรวนต่อจากนั้นใช้รถแทรกเตอร์ยกร่องห่างกัน1-1.20 เมตร เหมือนการยกร่องปลูกอ่อย การปลูกเผือกหลังนานั้น บางแห้ง เช่น สระบุรี และสุพรรณบุรี จะเตรียมดินแบบทํานามีการ ทําเทือก แล้วปล่อยน้ำออกเหลือดินโคลน นําลูกเผือกที่เพาะชํามีการแตกยอด 1-2 ใบ แล้วมาปลูกแบบดํานาก็มีผลให้เผือกตั้งตัวเจริญเติบโตดี เช่นกัน
    3.2 การเตรียมพันธุ์ การปลูกเผือกในนาจะใช้ลูกเผือกที่เพาะชําจนแตกใบแล้วประมาณ 2-3 ใบ หรือสูงประมาณ 20-25 เซนติเมตร ย้ายลงปลูกเช่นเดียวกับการปลูกเผือกริมร่องสวน และมีวิธีการเตรียมกล้าเผือกเช่นเดียวกัน
    3.3 การปลูก การปลูกเผือกในนาจะปลูก 2 แบบ ถ้าปลูกแบบยกร่องจะปลูก 2 แถว แต่ถ้า ปลูกแบบนาดําจะปลูกแถวเดียว
         3.3.1 การปลูกแบบแถวเดียว วิธีการปลูกแบบนี้จะคล้ายวิธีการทํานาโดยหลังจากเตรียม แปลงทําเทือกเสร็จแล้ว เกษตรกรจะนําลูกเผือกที่แตกใบ 1-2 ใบ ไปปลูกลงแปลงแบบดํานา ระยะปลูกระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร วิธีนี้จะให้น้ำแบบท่วมแปลงเหมือนการทํานาเมื่อเผือกตั้งตัวได้ ทําการพูนโคน (ชาวไร่เผือกภาคกลางเรียกว่า “การแทงโปะ” คือเป็นการแทงตักดินขึ้นมากองไว้ตามแถวเผือก
         3.3.2 การปลูกแบบแถวคู่ เป็นการปลูกเผือกหลังนาแบบยกร่องแต่ละร่องห่างกันประมาณ 120-150 เซนติเมตร นําลูกเผือกที่เตรียมเพาะชําแล้วมีใบ 1-2 ใบมาปลูกข้างร่อง 2 ข้างแบบแถวคู่ โดยใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 40 เซนติเมตร
    3.4 การให้น้ำ การปลูกเผือกหลังนาส่วนใหญ่จะตรงกับฤดูร้อน จําเป็นต้องให้นาเผือกให้ ชุ่มชื้นอยู่เสมอเผือกจึงเจริญเติบโตและลงหัวได้ดี ถ้าเป็นการปลูกเผือกแบบเดียวกับการทํานาก็ควรปล่อยน้ำท่วมแปลงเป็นระยะอย่าให้แปลงปลูกเผือกขนาดน้ำ โดยให้นํ้าสูงกว่าผิวดิน 10-15 เซนติเมตร
    ส่วนการปลูกเผือกแบบยกร่องและปลูกแบบแถวคู่นั้นจะให้นํ้าแบบสูบนํ้าหรือปล่อยนํ้าเข้าตามร่องให้ดินปลูกข้างต้นเผือกมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ 
แปลงปลูกเผือก
การปลูกเผือกในนา

การเก็บรักษา

เผือก เป็นพืชหัวที่เก็บรักษาไว้นานพอสมควร หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรนําเผือก ไปไว้ในที่ร่มเงามีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อับลมเป็นที่มีอากาศค่อนข้างเย็น เช่น ใต้ร่มไม้ หรือใต้ถุนบ้าน เป็นต้น ต่อจากนั้นทําการแยกดินที่กับหัวและแยกรากแขนง คัดแยกหัวแต่ละขนาด เช่น ใหญ่พิเศษ ใหญ่กลาง และเล็ก แล้วบรรจุใส่ภาชนะที่เหมาะสม เช่น ถุงพลาสติกขนาดใหญ่แบบเจาะรูได้ หรืออาจเป็นเข่งหรือรังพลาสติก
ข้อควรปฏิบัติเพื่อเก็บรักษาหัวเผือกไว้ได้นาน และไม่เน่าเสียง่ายดังนี้

  1. ก่อนขุดเผือกประมาณ 15-30 วัน ไม่ควรเอานําเข้าแปลงหรือรดน้ำแปลงเผือกเพราะเผือกจะดูดซึมน้ำไว้มาก เก็บไว้ไม่ได้นาน
  2. ขุดเผือกเฉพาะเมื่อเผือกมีอายุเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ควรเก็บเกี่ยวเผือกเมื่อมีอายุน้อยเกินไป จะเน่าเสียได้ง่าย
  3. ในการขุดเผือกแต่ละครั้ง ควรขุดเผือกด้วยความระมัดระวังอย่าให้หัวเผือกมีบาดแผลบอบชํ้าเผือกจะเน่าเสียง่าย เมื่อพบว่าเผือกมีบาดแผลควรแยกไว้ต่างหากไม่ปะปนกัน
  4. กรณี ที่จะขนส่งเผือกไปไกลๆ หรือจะเก็บเผือกไว้นานหลายเดือนไม่ควรล้างดินออก ผึ่งให้แห้งสนิทอย่าให้เปียกชื้นก่อนที่จะนําเข้าไปเก็บในโรงเก็บหรือขนส่งไกลๆ ต่อไป 
  5. การขนส่งเผือกควรมีภาชนะใส่เผือกที่เหมาะสม ซึ่งต่างประเทศ เช่น ญีปุ่นจะใส่กล่อง กระดาษสามารถใส่เผือกซ้อนกันได้ โดยเผือกไม่ทับถมกันเป็นปริมาณมาก จึงมีผลหรือเป็นส่วนหนึ่งที่จะเก็บรักษาเผือกได้ไม่นาน
  6. ไม่ควรนําเผือกที่เก็บเกี่ยวได้ มาสุมกองกันเป็นปริมาณมากหรือขึ้นไปเหยียบยํ่าเผือก ควรนํา เผือกที่จะเก็บรักษาไว้นาน ๆ มาเก็บไว้เป็นชั้นๆ
  7. ห้องที่เก็บรักษาหัวเผือกนั้น จะต้องมีการระบายอากาศได้สะดวก อุณหภูมิประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส

หากมีความจําเป็นต้องเก็บรักษาควรตัดใบและรากทั้งหมดออกไม่ควรล้างนํ้า การเก็บรักษา หัวเผือก โดยการจุ่มลงไปในสารป้องกันเชื้อรา แคปแทน หรือ เบนเลท ความเข้มข้น 500 ส่วนในล้านส่วน (ppm.) แล้วเก็บรักษาไว้ในบ่อดินจะทําให้หัวเผือกเน่าเสียลดลง ได้ผลดีกว่าการเก็บรักษาในขี้เลื่อยแห้ง ขี้เลื่อยชื้นและถุงพลาสติกหัวย่อยหรือลูกเผือกที่เก็บรักษาไว้ในบ่อดินใต้สภาพร่มและป้องกันนํ้าฝนได้จะเก็บรักษาไว้ได้นาน 6-10 เดือนอายุการเก็บรักษาขึ้นอยู่กับขนาดหัวคือเผือกที่มีขนาดหัว คือ เผือกที่มีขนาดหัวเล็กจะเก็บรักษาไว้ได้นานกว่าเผือกที่มีขนาดหัวใหญ่

นอกจากจะเก็บรักษาเผือกในรูปหัวเผือกสดแล้ว ยังสามารถเก็บรักษาเผือกในรูปเผือกแห้ง โดย ทําการปอกเปลือกแล้วผ่าเผือกเป็นแผ่นบางๆ ตากเผือกให้แห้งสนิท เมื่อจะนํามาบริโภค ก็สามารถ นําไปนึ่ง ทอด หรือบด เป็นแป้งเผือกได้

เผือกทอด
เมนูเผือกทอด

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
http://www.eto.ku.ac.th
https://www.flickr.com

Add a Comment