การเดินทางด้วยรถตู้และรถทัวร์จากตัวเมืองเชียงใหม่ไปดอยอ่างขาง

ดอยอ่างขาง

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง แห่งนี้ เป็นเกร็ดประวัติเล่ากันต่อมาว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จทางเฮลิคอปเตอร์ผ่านยอดดอยแห่งนี้ และทอดพระเนตรลงมาเห็นหลังคาบ้านคนอยู่กันเป็นหมู่บ้าน จึงมีพระดำรัสสั่งให้เครื่องลงจอด เมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงมาทอดพระเนตรเห็นทุ่งดอกฝิ่น และหมู่บ้านตรงนั้นก็คือหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ามูเซอ ซึ่งในสมัยนั้นยังไว้แกละถักเปียยาว แต่งกายสีดำ สะพายดาบ ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่น ๆ ของประเทศได้ พระองค์มีพระราชดำรัสที่จะแปลงทุ่งฝิ่นให้เป็นแปลงเกษตร

จึงทรงมีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศที่หนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลย และสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับพระองค์ทรงทราบว่า ชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่ในบริเวณ ดอยอ่างขาง ส่วนหนึ่ง

จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ. ศ. 2512 โดยทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้า ภีศเดช รัชนี เป็นผู้สนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอกเมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขา ในการนำพืช เหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานนามว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”

โดยคำว่า “อ่างขาง” ภาษาเหนือหมายถึง อ่างรูปสี่เหลี่ยมตามลักษณะของดอยอ่างขาง ซึ่งเป็นดอยที่มีรูปร่างของหุบเขา ยาวล้อม รอบประมาณ 5 กิโลเมตร กว้าง 3 กิโลเมตร ตรงกลางของอ่างขางเดิมเป็นภูเขาสูง เช่นเดียวกับบริเวณโดยรอบ แต่เนื่องจากเป็นภูเขาหินปูน เมื่อถูกน้ำฝนชะก็จะค่อย ๆ ละลายเป็นโพรงแล้วยุบตัวลงกลายเป็นแอ่ง มีพื้นที่ราบ ความกว้างไม่เกิน 200 เมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

ดอยอ่างขาง
ดอกพญาเสือโคร่งบนดอยอ่างขาง
ดอกไม้
จุดชมดอกไม้บนดอยอ่างขาง

การเดินทางโดยรถทัวร์หรือรถตู้

  • ขึ้นรถที่ สถานีขนส่งช้างเผือก
    รถทัวร์ สายเชียงใหม่ – ฝาง หรือ เชียงใหม่ – ท่าตอน  ราคา 85 บาท
    รถตู้ สายเชียงใหม่ – ฝาง หรือ เชียงใหม่ – ท่าตอน   ราคา 150 บาท
  • บอกคนขับรถว่าลงที่ “หน้าวัดหาดสำราญ” ซึ่งเป็นปากทางขึ้นดอยอ่างขาง
  • พอลงหน้าวัดหาดสำราญแล้ว เดินเข้าไปในวัด จะมี “คิวรถสองแถวสีขาว” รับนักท่องเที่ยวขึ้นดอยอ่างขาง
    ราคาเหมา (10 คน)   หากเหมาขึ้นอย่างเดียว 800 บาท
    หากเหมา ไป – กลับ 1200 บาท
    หากเหมาไป – พักค้างคืน รอรับกลับตอนเช้า 1400 บาท
    หากเพิ่มไปเที่ยว หมู่บ้านชาวเขานอแล + ขอบด้ง ด้วย 1700 บาท

ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งสามารถโทรถามข้อมูล ได้จากคิวรถสองแถวสีขาว เบอร์ 053-884848 หรือ 086-1947484 ติดต่อคุณส้ม

หมายเหตุ รถสองแถวจะออกก็ต่อเมื่อครบ 10 คน และที่สำคัญรถสองแถวหมดเวลา 17.00 น.

รถทัวร์เชียงใหม่-ท่าตอน
รถทัวร์เชียงใหม่-ท่าตอน รถประจำทางสีส้ม
รถตู้ฝาง-ท่าตอน
รถตู้ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง

  1. เส้นทางที่ 1 จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง เลี้ยวซ้ายทางแยกตำบลเมืองงาย ตรงเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 1178 ผ่านบ้านอรุโณทัยไปยังศูนย์ฯ
  2. เส้นทางที่ 2 จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง ถึง กม. 137 แยกบ้านปางควาย เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1249 ตรงไปประมาณ 25 กิโลเมตร
    หมายเหตุ- ใช้รถยนต์ได้ทุกประเภท (ควรเช็คสภาพเครื่องยนต์ก่อนขึ้นเขา และผู้ขับขี่ควรมีประสบการณ์ เพราะเส้นทางมีความชันมาก) หรือใช้บริการรถยนต์รับจ้าง จุดจอด ณ ปากทางขึ้นดอยอ่างขาง ราคาเหมา 1,000 – 1,500 บาท

ที่พัก

  • บ้านพักรับรองภายในศูนย์ฯ จำนวน 18 หลัง
    ขนาดพัก 2 คน ราคา 1,000-1,200 บาท/หลัง/คืน
    ขนาดพัก 6 คน ราคา 1,200-1,800 บาท/หลัง/คืน
    และขนาดพัก 40 คน ราคา 150 บาท/คน/คืน
  • เต็นท์บริการ ขนาด 2-3 คน ราคา 150 บาท/หลัง/คืน หากรวมถุงนอนราคา 300 บาท/หลัง/คืน ขนาด 4-5 คน ราคา 300 บาท/หลัง/คืน หากรวมถุงนอน ราคา 500 บาท/หลัง/คืน กรณีนำเต็นท์มาเองคิดค่าบริการพื้นที่คนละ 20 บาท
  • มีร้านอาหารและเครื่องดื่มภายในสโมสรอ่างขาง

หมายเหตุ  กรุณาสำรองที่พักล่วงหน้าก่อนเดินทางอย่างน้อย 1 เดือน โทร. 0-5345-0107-9

สถานที่ติดต่อ

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง บ้านคุ้ม หมู่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 50320 โทร. 0-5345-0107-9

แปลงปลูกพืช
การปลูกพืชเมืองหนาวบนดอยอ่างขาง

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://doiangkhang.weebly.com
ภาพประกอบ : https://th.foursquare.com, www.tripchiangmai.com

3 Comments

Add a Comment