การเลี้ยงหอยแครง อาหารทะเลที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย

หอยแครง

เป็นอาหารทะเลที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย สามารถประกอบอาหารได้หลายประเภท อีกทั้งเป็นสัตว์นํ้าที่มีคุณค่าสูงทั้งทางเศรษฐกิจและโภชนาการ อาชีพการเลี้ยงหอยแครง ในประเทศไทยได้มีมาเป็นเวลานานไม่น้อยกว่า 100 ปี โดยการรวบรวม พันธุ์หอยจากแหล่งลูกหอยในธรรมชาติเพื่อหว่านลงเลี้ยงในบริเวณที่เหมาะสม มีการกั้นคอกแสดงอาณาเขตที่เลี้ยงไว้ สำหรับในประเทศไทย พบว่ามีเลี้ยงครั้งแรกที่ ต.บางตะพูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ในเนื้อที่ 5-10 ไร่ ใช้เวลาเลี้ยง 1-2 ปี จึงเก็บเกี่ยวไปขายได้ และต่อมาขยายการเลี้ยงไปในพื้นที่ใกล้เคียงและจังหวัดต่าง ๆ การเลี้ยงหอยแครงเป็นการดําเนินธุรกิจ แบบง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องดูแลและให้อาหาร จึงสามารถทำกำไรได้ 5-10 เท่าของเงินลงทุน ทำให้ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่เลี้ยงไปยังชายฝั่งที่มีสภาพที่เหมาะสมทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยหลายจังหวัด

การทำฟาร์มเลี้ยงหอยแครง

หอยแครงชนิดที่นิยมนํามาใช้ในการเลี้ยงนั้น มีชื่อเรียกทั่วไปว่า หอยแครงเทศ หอยแครงขุ่ย หอยแครงปากมุ้ม หอยแครงมัน หรือหอยแครงเบี้ยวเป็นหอยที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก (ชนิดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่จะเรียกหอยครางหรือหอยแครงขน) เป็นหอยที่ชอบฝังตัวอยู่ตามหาดโคลนหรือเลนละเอียดในบริเวณชายฝั่งทะเลจนถึงแนวที่อยู่ห่างฝั่งออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร หอยแครงจะมีอุปนิสัยชอบฝังตัวอยู่ตามผิวดินโคลน ลึกตั้งแต่ 1-12 นิ้ว โดยเราจะสังเกตเห็นเป็นรูจํานวน 2 รูที่ผิวดินซึ่งเป็นช่องทางนํ้าเข้า – ออก และสามารถเห็นรอยการเคลื่อนที่ของหอยเป็นร่องๆ โดยใช้เท้าในการเคลื่อนที่เพื่อหาอาหาร หลบหลีกศัตรูและเพื่อหาสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม หอยแครงจะขึ้นมาที่ผิวดินเมื่อน้ำขึ้นเพื่อหาอาหาร และจะฝังตัวใต้ผิวดินเมื่อน้ำลงเพื่อป้องกัน น้ำออกภายนอกตัวหอย แต่จะเปิดฝาทั้ง 2 เล็กน้อย โดยจะยังมีสภาวะการไหลเวียนของน้ำและการหายใจเกิดขึ้นเป็นปกติภายในเปลือกบริเวณที่เหมาะสมสําหรับการเลี้ยงหอยแครงหรือสถานที่เลี้ยงหอยแครงนั้น นับว่าเป็นปัจจัยสําคัญเบื้องแรกที่จะทําให้การประกอบอาชีพการเลี้ยงหอยแครงประสบผลสําเร็จหรือไม่

การเลือกทำเลเลี้ยงหอยแครง

การเลือกทําเลเลี้ยงหอยแครง

  1. ควรเลือกชายฝั่งทะเลที่มีหอยเกิดอยู่แล้วในธรรมชาติ หรือสามารถหาพันธุ์หอยได้ สะดวก
  2. การเลือกลักษณะพื้นที่ ต้องเป็นหาดโคลนเรียบ มีความลาดเอียงเล็กน้อย (ไม่ควรเกิน 15 องศา) และเป็นอ่าวที่บังคลื่นลมได้ กระแสนํ้าไม่ไหลแรงเกินไป เพื่อป้องกันกระแสน้ำหรือ คลื่นลมพัดพาหอยแครงไปกองรวมกัน 
  3. ดินควรเป็นดินเลน ดินโคลนละเอียด หรือดินเหนียวปนโคลน ควรมีความหนาของผิว หน้าดินไม่ต่ำกว่า 40-50 เซนติเมตร พื้นของเลนเหลวทุกระดับ และไม่มีการสะสมของเศษ ใบไม้ป่าชายเลน
  4. ความลึกของน้ำบริเวณแหล่งเลี้ยงประมาณ 0.5-1 เมตร (ระดับนํ้าทะเลปานกลาง) ทั้งนี้ไม่ควรให้หอยมีโอกาสตากแดดอยู่ในที่แห้ง (น้ำลดตํ่าสุดไม่เกินกว่า 2-3 ชั่วโมง)
  5. ความเค็มของน้ำบริเวณแหล่งเลี้ยงควรเปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วง 10-30 ส่วนในพัน หากน้ำมีสภาพจืดนานเกินไปจะเป็นสาเหตุให้หอยตายได้
  6. ควรเป็นพื้นที่ ที่ไม่ได้รับอิทธิพลนํ้าเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งอาศัยชุมชน ซึ่งจะ เป็นสาเหตุให้หอยมีอัตราตายสูง เนื้อหอยมีคุณภาพตํ่าและไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
การเลือกทำเล
การเลือกทำเล ควรเลือกหาดที่เรียบ เป็นอ่าวที่บังคลื่นลมได้

ระบบการเลี้ยง

การเลี้ยงหอยแครงในประเทศไทยอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ระบบคือ ระบบการเลี้ยงแบบดั้งเดิม และการเลี้ยงแบบพัฒนา

1. การเลี้ยงแบบดั้งเดิม

เป็นการทําฟาร์มขนาดเล็กในครอบครัว เนื้อที่ 5-30 ไร่ต่อครอบครัวหรือราย โดยใช้ไม้ไผ่กั้นคอกล้อมแปลงเลี้ยง ขนาดลูกหอยเริ่มต้นเลี้ยงจะขึ้นกับสายพันธุ์ของลูกหอย หากเป็นลูกหอย พันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดเพชรบุรี จะใช้ลูกหอยขนาดใหญ่ คือ 400 – 1,200 ตัวต่อกิโลกรัม โดยขนาดที่นิยมหว่านเลี้ยงประมาณ 450 ตัวต่อกิโลกรัม จะมีอัตราการหว่านประมาณ 800 – 1,500 กิโลกรัม / ไร่ เนื่องจากหอยพันธุ์พื้นเมืองสามารถเดินได้ ดังนั้นเพื่อให้หอยเจริญเติบโต อย่างรวดเร็วและไม่กองทับกันต้องมีการตรวจความหนาแน่นและเกลี่ยลูกหอยเป็นประจําทุก 15 วันหรือทุกเดือน โดยใช้เครื่องมือคล้ายคราด ซึ่งเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า โพงคราดและรวบรวมลูกหอยไปหว่านกระจายบริเวณอื่น สําหรับลูกหอยสายพันธุ์มาเลเซีย ซึ่งนำมาจากทาง ภาคใต้ (สตูลหรือมาเลเซีย) จะปล่อยเลี้ยงลูกหอยขนาดเล็กกว่าพันธุ์พื้นเมือง โดยจะปล่อย ขนาด 1,000-3,000 ตัวต่อกิโลกรัม แต่ขนาดที่นิยมปล่อยเลี้ยงประมาณ 2,500 ตัวต่อกิโลกรัม ลูกหอยสายพันธุ์มาเลเซียนี้ไม่เคลื่อนที่ แต่ในการหว่านลงเลี้ยงครั้งแรก อาจมีการกองทับกัน ดังนั้น ต้องใช้เรือคราดและรวบรวมลูกหอยไปหว่านให้มีความหนาแน่นสมํ่าเสมอทั่วพื้นที่เลี้ยงซึ่งจะทําเพียงครัง้ แรกในช่วงเริ่มหว่านเลี้ยง สําหรับอัตราหว่านนั้นประมาณ 300 -3,000 กิโลกรัมต่อไร่ โดยระหว่างการเลี้ยงลูกหอยจะมีการเพิ่มจํานวนขึ้นจากปริมาณหอยที่ปล่อยเลี้ยงในตอนเริ่มต้นด้วย ดังนั้นการเก็บรวบรวมลูกหอยหลังจากปล่อยเลี้ยง จะมีการเก็บรวบรวมโดยใช้เรือลาก และคัดขนาดลูกหอย ลูกหอยที่มีขนาดเล็กจะถูกปล่อยลงเลี้ยงใหม่ หลังจากการเลี้ยงได้ 1 ถึง 1 ปีครึ่ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ แต่หอยพันธุ์พื้นเมือง จะใช้เวลานานกว่าโดยมีอายุการเลี้ยงประมาณ 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี หอยที่เก็บเกี่ยวได้ทั้งสองสายพันธุ์จะมีขนาด 80-120 ตัว/กิโลกรัม โดยจะได้ผลผลิตประมาณ 2,000 – 3,000 กิโลกรัม / ไร่ / รุ่นการเลี้ยงแบบนี้นิยมเลี้ยงแถบอ่าวไทยตอนในโดยเฉพาะแถบชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น

2. การเลี้ยงแบบพัฒนา

เป็นการเลี้ยงหอยแครงแบบธุรกิจขนาดใหญ่ เนื้อที่ 200-1,000 ไร่/ราย มีการปักเขต เช่นเดียวกับแบบแรก ลูกหอยที่นำมาเลี้ยงจะใช้หอยขนาดเล็ก (นิยมใช้พันธุ์หอยจากประเทศ มาเลเซีย) โดยมีขนาดตั้งแต่ 1,000 – 3,000 ตัว/กิโลกรัม แต่ขนาดที่นิยมนํามาใช้ประมาณ 2,500 ตัว/กิโลกรัม ซึ่งทั้งขนาดและอัตราหว่านเช่น เดียวกับการปล่อยลูกหอยลงเลี้ยงในระบบ ดั้งเดิม เนื่องจากผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครงรายใหญ่ จะเป็นผู้นำลูกหอยมาจำหน่ายให่แก่ผู้ประกอบการรายย่อยด้วย โดยมีราคาแต่ต่างตามขนาดลูกหอยที่รับมาใช้เวลาเลี้ยง 1-2 ปี จะ ได้หอยขนาด 80-120 ตัว/กิโลกรัม ผลผลิตประมาณ 4,000 – 5,000 กิโลกรัม / ไร่ / รุ่น การเลี้ยงระบบนี้นิยมในจังหวัดชายฝั่งทะเลภาคใต้ทั้งฝั่งงอ่าวไทยและอันดามัน

การเตรียมแปลงเลี้ยงและการรวบรวมพันธุ์หอยแครง

การเลี้ยงทั้งสองแบบนั้นใช้วิธีในการเตรียมแปลงหอยที่เหมือนกัน จะต่างกันในการกั้นคอกเลี้ยง เนื่องจากการเลี้ยงแบบดั้งเดิมนั้นใช้ไม้ไผ่ปักหรืออาจใช้เฝือกไม้ไผ่ปักกั้นเขต แต่ใน แบบพัฒนาจะมีการใช้ไม้ปักในการกั้นเขตและมีการใช้ไม้ไผ่ปักแบ่งออกเป็นแปลงย่อยๆ ขนาด 20-30 ไร่ เพื่อให้สะดวกในการทํางาน การปักกั้นเขตจะปักลึกในดินเลนประมาณ 50 เซนติเมตร สําหรับการปักเฝือกไม้ไผ่เพื่อป้องกันการหลบหนีของลูกหอยออกจากแหล่งเลี้ยง และป้องกันกระแสนํ้าพัดลูกหอยออกจากเขตเลี้ยง จะใช้ไม้ไผ่กว้างประมาณ 2 นิ้ว ยาว 60-80 เซนติเมตร ปักลงดินประมาณ 40-50 เซนติเมตร ประมาณ 10,000 ซี่ต่อพื้นที่เลี้ยง 1 ไร่ การเตรียมพื้นดินแปลงเลี้ยงจะทําเหมือนกัน คือต้องปรับสภาพดินในแปลง โดยใช้คราด คราดดินในแปลงเพื่อให้เปลือกหอยที่ตาย เศษไม้และวัสดุอื่นๆ ออกจากแปลงหอยและทําให้พื้นดิน เลนราบเรียบสม่ำเสมอง่ายต่อการฝังตัวของลูกหอยและเป็นการรวบรวมลูกพันธุ์หอยแครงได้อีกด้วย การรวบรวมพันธุ์หอยนั้น เราใช้วิธีการคราดโดยใช้คราดหรือโพง (เป็นถุงอวนขนาดเล็ก) หรืออาจใช้มือเก็บ และนํามาหว่านในแปลงหอย ในกรณีที่แหล่งพันธุ์และแปลงเลี้ยงหอย อยู่ห่างกันนั้นเรามีวิธีในการลําเลียงพันธุ์หอยเพื่อไม่ให้หอยตายและยังสามารถเจริญเติบโตได้ดี ดังนี้

  1. แยกลูกหอยแครงออกจากเศษขยะและวัสดุต่าง ๆ ทําความสะอาดนําไปบรรจุในถุงปุ๋ย ถุงละ ประมาณ 60 กิโลกรัม ใช้นํ้าทะเลราดกระสอบ จนชุ่มจึงเย็บปากถุง
  2. นำถุงลูกหอยขึ้นรถบรรทุก ใช้ด้านยาวของกระสอบขวางตัวรถ และไม่คลุมถุงหอยจนทึบ สามารถให้ลมผ่านไปมาได้สะดวก
  3. ไม่ควรให้ลูกหอยถูกนํ้าจืดหรือแดดโดยเด็ดขาด ควรเดินทางในตอนกลางคืน
  4. ระยะเวลาในการลําเลียงลูกหอยไม่ควรเกิน 36 ชั่วโมง ตั้งแต่บรรจุถุงจนถึงแปลงหว่าน
หอยแครง
หอยแครงเป็นหอยสองฝาลักษณะค่อนข้างกลม เปลือกหนา

การหว่านลูกหอยลงแปลงเลี้ยงและการจัดการดูแลรักษา

ในการหว่านลูกหอยต้องคํานึงถึงอัตราความหนาแน่น และขนาดของลูกหอยเป็นสําคัญ ดังนั้นเพื่อให้หอยกระจายสมํ่าเสมอจึงควรแบ่งแปลงให้มีขนาดเล็กลง โดยใช้พื้นที่ 400 ตาราง เมตร และมีการคํานวณปริมาณของหอยที่จะหว่านโดยใช้ขนาดหอยเป็นตัวกําหนดอัตราการหว่าน ซึ่งมีวิธีการคํานวณพันธุ์หอยเพื่อหว่านเลี้ยง ดังนี้

  1. ชั่งนํ้าหนักหอยทั้งกระสอบ (ตัวอย่างเช่น นํ้าหนักทั้งกระสอบ = 60 กิโลกรัม)
  2. นําลูกหอยออกมาชั่งให้ได้นํ้าหนัก 1 กิโลกรัม แล้วนับจํานวนลูกหอย (สมมติได้ 400 ตัว)
  3. คํานวณจํานวนลูกหอยในแต่ละกระสอบ (60 x 400 = 2,400 ตัว)
  4. จดขนาดแปลงหอยที่แบ่งไว้ (สมมุติมีขนาด 400 ตารางเมตร) 
  5. ทราบความต้องการหว่านหอยในอัตราความหนาแน่น ตัว/ตารางเมตร (400 ตัว/ ตาราง เมตร) กรณีที่ลูกหอยขนาดเล็ก 1,500 ตัว/กก. ขึ้นไปหว่านในอัตรา 600 ตัว/ตาราง เมตร หอยที่มีขนาดโตกว่านี้ หว่านในอัตรา 300 – 500 ตัว/ตารางเมตร
  6. คํานวณการใช้หอยต่อแปลง (400 x 400 = 160,000 ตัว หรือ 6.6 กระสอบ) เมื่อได้หว่านลูกหอยลงแปลงเรียบร้อยแล้ว ก็จะถึงขั้นตอนการดูแลรักษาผู้เลี้ยงควรตรวจ สอบความหนาแน่นและอัตราการเจริญเติบโตเป็นประจําทุกเดือน เพื่อป้องกันมิให้หอยแครงที่ เลี้ยงมีความหนาแน่นมากเกินไป และมีการทับถมกันซึ่งอาจทําให้หอยตายและเจริญเติบโตช้า วิธีการตรวจสอบโดยใช้กระดานถีบเลนในขณะน้ำลดต่ำสุดของวันที่นํ้าเกิด นอกจากนี้ก็ต้องมี การเฝ้าระวังเหล่ามิจฉาชีพ ในพื้นที่บางแห่งจำเป็นต้องมีโรงเรือนเฝ้าบริเวณแปลงหอย เพื่อป้อง กันการลักขโมยทั้งกลางคืนและกลางวัน ที่สําคัญก็ยังต้องตรวจดูศัตรูอื่นๆ ที่อาจมีในบริเวณ แปลงหอย เช่น ปลาดาว หอยหมู หอยตะกาย แม้กระทั่งหอยกะพงก็เป็นศัตรูทางอ้อมที่คอย แย่งอาหารหอยแครงที่เราเลี้ยง เป็นต้น ฯลฯ หากพบศัตรูดังกล่าวข้างต้นก็ควรเก็บออกหรือนํา ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น

เมื่อเลี้ยงหอยได้ประมาณ 1-2 ปี หอยจะเติบโตขนาดประมาณ 80 – 120 ตัว/กก. ซึ่งเป็น ขนาดที่ใช้บริโภค หอยที่โตขนาดดังกล่าวจะผ่านการวางไข่แล้วการเก็บเกี่ยวหอยช่วงนี้จึงเป็น การช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรหอยได้อีกทางหนึ่ง ผลผลิตหอยสองฝาทั่วไปบางครั้งอาจมีการสะสม โลหะหนักและสิ่งสกปรกโดยเฉพาะแบคทีเรียที่บางครั้งทำให้ผู้บริโภคเกิดโรคทางเดินอาหาร และอาหารเป็นพิษ สำหรับปัญหาในการเลี้ยงหอยแครงที่เกษตรกรประสบเป็นประจํา คือ ปัญหาการเกิดขึ้น ปลาวาฬ ซึ่งมักจะเกิดในช่วงเดือนกันยายนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งไม่สามารถ เก็บเกี่ยวลูกหอยขณะนั้นได้ เนื่องจากไม่มีตลาดรับซื้อเกษตรกรจึงมักจะขายหอยแครงให้แก่พ่อค้าคนกลางซึ่งจะรับหอยไปขายต่อยังประเทศจีน ในช่วงต้นปี

เมนูหอยแครง
หอยแครงนิยมนำมาทำเป็นเมนูลวก จิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู๊ด

ต้นทุนและผลตอบแทน

  • ค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนจากการเลี้ยงหอยแครงเฉลี่ยต่อ 30 ไร่ต่อรุ่น

ต้นทุนผันแปร

  • ค่าพันธุ์หอยแครงขนาด 1,000 – 2,500 ตัวกิโลกรัม 550,000 บาท
    (เฉลี่ย 55 บาทต่อกิโลกรัม ปล่อยเลี้ยง 10 ตัน/รุ่น) 550,000 บาท
  • ค่าแรงงาน (3,500 บาทต่อ 2 ตัน * 60 ตันต่อ 30 ไร่) 105,000 บาท
  • ค่าน้ำมันเชื่อเพลิงและนํ้ามันหล่อลื่น (5,000 บาท/เดือน/รุ่น) 60,000 บาท
  • ค่าซ่อมแซมเรือและอุปกรณ์ต่าง ๆ 3,000 บาท

ต้นทุนคงที่

  • ค่าอาชญาบัตร (96 บาทต่อไร่) 2,880 บาท
  • ค่าเฝือกไม้ไผ่ (10,000 ซี่ต่อไร่*30 ไร่*1.20 บาทต่อซี่) 12,000 บาท
  • ต้นทุนทั้งหมด 732,880 บาท

รายได้

  • ราคาที่เกษตรกรขายได้ 80 – 120 ตัว / กิโลกรัม 16 บาท
  • รายได้เฉลี่ย (60 ตันต่อ 30 ไร่) 960,000 บาท
  • กําไรสุทธิต่อ 30 ไร่ 227,120 บาท
  • กําไรสุทธิต่อกิโลกรัม 3.78 บาท

ราคาขายหอยแครง

ราคา ณ วันที่  20 เมษายน 2565

  • หอยแครง (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 220 บาท

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
http://www.eto.ku.ac.th
https://www.simummuangmarket.com
https://www.flickr.com

One Comment

Add a Comment