ชะมวง ไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ใบอ่อนมีรสเปรี้ยว ประโยชน์และสรรพคุณ

ชะมวง

ชื่ออื่นๆ : ส้มป้อง, มะป่อง, หมากโมก, มวงส้ม, กะมวง, มวง, ส้มมวง, กานิ, ตระมูง, ยอดมวง, ส้มม่วง, ส้มโมง, ส้มป่อง

ชื่อสามัญ : ชะมวง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia cowa Roxb

ชื่อวงศ์ : GUTTIFERAE

ลักษณะของชะมวง

ชะมวงเป็นไม้ยืนต้นไม่พลัดใบ ลำต้นสูงประมาณ 15-20 เมตร เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอมเทา ต้นอายุมากมีเปลือกแตกเป็นสะเก็ด มียางสีเหลือง ต้นแตกกิ่งในระดับต่ำ เปลือกลำต้นมักเกิดไลเคนเกาะหรือมีราเติบโตทำให้มองเห็นเป็นสีขาวของรา และสีเขียวของไลเคน โดยเฉพาะต้นที่โตบริเวณป่าดิบชื้นหรือใกล้แหล่งน้ำ เมื่อถากเปลือกจะพบเนื้อเปลือกเป็นสีแดงหรือออกชมพูเข้ม ใบชะมวง เป็นใบเดี่ยว แตกใบมากบริเวณปลายกิ่ง ใบออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน เป็นมุมฉาก มีรูปรี ค่อนข้างหนา แต่กรอบ แผ่นใบเรียบ เป็นมัน ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีม่วงแดง ใบแก่มีสีเขียวอ่อน และสีเขียวเข้มตามอายุใบ เมื่อเคี้ยวจะมีรสเปรี้ยว

ต้นชะมวง
ต้นชะมวง เปลือกเรียบ สีน้ำตาลเทา เปลือกแตกเป็นสะเก็ด

การขยายพันธุ์ของชะมวง

การใช้เมล็ด, การตอนกิ่ง, การปักชำ ต้นชะมวงนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดี ในป่าดิบชื้น และพบได้มากในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคอีสา

การปลูกและการดูแล
นำเมล็ดเพาะชำลงในถุงขนาด 5×8 ซม. เมื่องอกขึ้นมาจนมีใบจริง 2-3 ใบ หรือมีความสูงประมาณ 10 ซม. จึงถอนให้เหลือเพียง 1 ต้น แล้วนำลงปลูกในหลุมหรือปลูกโดยใช้กิ่งตอนหรือปักชำราก ขุดหลุมกว้างและลึก 30 ซม. รองก้นด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋คอกแล้วใช้ดินกลบทับปุ๋ยเล็กน้อยก่อนนำต้นกล้าลงปลูกและกลบดินรอบโคนต้นให้เรียบร้อย ในช่วงแรกรดน้ำทุกวันจนตั้งตัวได้ ปล่อยให้ลำต้นสูง 1-2 เมตร จึงตัดยอดทิ้งเพื่อมิให้มีความสูงเกินไป การเด็ดยอดบ่อยๆ จะทำให้ยอดอ่อนแตกออกมาอยู่ตลอดเวลา

ธาตุอาหารหลักที่ชะมวงต้องการ

ประโยชน์ของชะมวง

  1. ผลชะมวงสุกสีเหลืองใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ โดยจะมีรสเปรี้ยวอมหวาน หรือจะนำผลมาหั่นเป็นแว่นตากแดดใส่ปลาร้าเพื่อเพิ่มรสชาติก็ได้
  2. ยอดอ่อนหรือใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ป่นแจ่ว หรือนำไปใช้ปรุงอาหาร เช่น ต้มส้ม ต้มส้มปลาไหล ต้มส้มปลาแห้ง ทำแกงชะมวง ต้มซี่โครงหมูใบชะมวง ใช้แกงกับหมู หมูชะมวง หรือนำมาใส่ในแกงอ่อม เป็นต้น
  3. ผลและใบอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหารรับประทาน โดยจะมีรสเปรี้ยวคล้ายกับมะดัน (การรับประทานมาก ๆ จะเป็นยาระบายท้องเหมือนดอกขี้เหล็ก)
  4. ผลและใบแก่เมื่อนำมาหมักจะให้กรด ซึ่งนำมาใช้สำหรับการฟอกหนังวัวหรือหนังควายที่ใช้แกะสลักรูปหนังตะลุงได้เป็นอย่างดี
  5. ต้นชะมวงสามารถใช้ปลูกเป็นไม้ประดับและไม้ให้ร่มเงาได้ดี
  6. ลำต้นหรือเนื้อไม้ชะมวงสามารถนำมาแปรรูปใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ หรือใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ได้ เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง ฯลฯ
  7. เปลือกต้นและยางของต้นชะมวงจะให้สีเหลืองที่เหมาะสำหรับการนำมาใช้สกัดทำสีย้อมผ้า
  8. น้ำยางสีเหลืองจากต้นชะมวง สมัยก่อนนำมาใช้ผสมในน้ำมันชักเงา
  9. ยอดอ่อนชะมวงเมื่อนำไปหมักกับจุลินทรีย์จะทำให้เกิดรสเปรี้ยว ใช้เป็นยาปราบศัตรูพืชได้ เช่น เพลี้ย

คำแนะนำ 

  1. ใบชะมวง มีสรรพคุณเป็นยาขับเลือดเสีย ช่วยขับระดูของสตรี สำหรับสตรีตั้งครรภ์ ไม่ควรรับประทานชะมวง อาจทำให้แท้งได้
  2. ยางจากผลชะมวง ทำให้เกิดการฝืดในช่องปาก ทำให้ติดฟัน
ชะมวง
ชะมวง ใบรูปรี ค่อนข้างหนา กรอบ เป็นมัน

สรรพคุณทางยาของชะมวง

  1. ช่วยฟอกโลหิต (ผลอ่อน, ใบ) แก้โลหิต (ใบ)
  2. ช่วยรักษาธาตุพิการ (ผล,ใบ,ดอก)
  3. ราก ใบ และผลอ่อนมีรสเปรี้ยว เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ตัวร้อน (ผลอ่อน, ใบ, ดอก, ราก)
  4. ช่วยถอนพิษไข้ (ราก)
  5. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ราก)
  6. ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ผล, ใบ)
  7. ช่วยแก้อาการไอ (ผล, ใบ) บ้างก็ว่าเนื้อไม้ช่วยแก้อาการไอได้เช่นกัน (เนื้อไม้)
  8. ช่วยแก้เสมหะ กัดเสมหะ กัดฟอกเสมหะ (ผลอ่อน, ใบ, ดอก, ราก) เสมหะเป็นพิษ (ราก) ช่วยขับเสมหะ (เนื้อไม้)
  9. ใช้เป็นยาระบายท้อง (ผลอ่อน, ใบ, ดอก)ส่วนตำยาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากชะมวง ผสมกับรากกำแพงเจ็ดชั้น รากตูมกาขาว และรากปอด่อน นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระบาย (ราก) บ้างก็ว่าเนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาระบายเช่นกัน (เนื้อไม้)
  10. ช่วยในการย่อยอาหาร (ดอก)
  11. รากช่วยแก้บิด (ราก) หรือจะใช้ผลนำมาหั่นเป็นแว่นตากแห้ง ใช้ดินเป็นยาแก้บิดก็ได้เช่นกัน (ผล)
  12. ใบชะมวงใช้ผสมกับยาชนิดอื่น ๆ ใช้ปรุงเป็นยาขับเลือดเสีย (ใบ)
  13. ช่วยขับโลหิตระดูของสตรี (ใบ)
  14. ช่วยแก้ดีพิการ (ดอก)
  15. แก่นใช้ฝนหรือแช่กับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการเหน็บชา (แก่น)
  16. ได้มีการค้นพบสารชนิดใหม่จากใบชะมวง และได้มีการตั้งชื่อว่า “ชะมวงโอน” (Chamuangone) ซึ่งสารดังกล่าวมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งได้ดี (ทดสอบกับเซลล์มะเร็งปอดและเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว) ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคทางเดินอาหาร (เชื้อ Helicobacter pylori) ช่วยยับยั้งเชื้อโพรโทซัว Leishmania major (เป็นโรคระบาดที่เคยพบในภาคใต้) ได้เป็นอย่างดี

คุณค่าทางโภชนาการของชะมวง

การแปรรูปของชะมวง

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=11880&SystemType=BEDO
http://rspg.svc.ac.th
http://hort.ezathai.org
https://arit.kpru.ac.th
https://www.flickr.com

Add a Comment