ตะขบ เป็นผลไม้พื้นบ้าน ผลสุกมีรสหวานและมีกลิ่นหอม

ตะขบ

ชื่ออื่นๆ : ครบฝรั่ง (สุราษฎร์ธานี) หม่ากตะโก่เสะ (กะเหรี่ยงแดง) ตากบ (ม้ง) เพี่ยนหม่าย (เมี่ยน)
ตะขบฝรั่ง (ไทย)

ต้นกำเนิด : อเมริกาใต้

ชื่อสามัญ : Calabura, Jam tree, Jamaican cherry, Malayan Cherry, West Indian Cherry

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Muntingia calabura L

ชื่อวงศ์ : MUNTINGIACEAE

ลักษณะของตะขบ

ต้น  จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 5-7 เมตร และอาจสูงได้ถึง 10 เมตร แตกกิ่งก้านแผ่ขนานกับพื้นดิน เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา ตามกิ่งอ่อนมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ตะขับหรือตะขบฝรั่งนี้มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ พบปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ผลทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศพบปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ผล และมักพบขึ้นเป็นวัชพืชตามที่รกร้างว่างเปล่าตามป่าโปร่งทั่วไป หรือมักขึ้นเองตามธรรมชาติที่นกและสัตว์ขนาดเล็กถ่ายมูลเมล็ดตะขบทิ้งไว้ สามารถขยายพันธุ์ได้เองโดยวิธีการเพาะเมล็ด ออกดอกและติดผลได้ตลอดทั้งปี

ใบ  ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับแบบทแยงกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือข้างหนึ่งมนส่วนอีกข้างหนึ่งแหลม ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันเล็ก ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-9 เซนติเมตร หลังใบด้านบนเป็นสีเขียว ส่วนท้องใบด้านล่างเป็นสีนวล หลังใบและท้องใบมีขนนุ่มจับดูจะรู้สึกเหนียวมือเล็กน้อย เส้นแขนงใบมี 3-5 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.6 เซนติเมตร และมีขน โคนก้านเป็นปม ๆ

ดอก  ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นคู่ โดยจะออกบริเวณเหนือซอกใบ ดอกเป็นสีขาว เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกย่นเป็นสีขาวมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับป้อม ๆ ปลายกลีบมน มีขนาดกว้างประมาณ 9 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 11 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ไม่ติดกัน เป็นสีเขียว ลักษณะเป็นรูปหอก ปลายกลีบแหลมเป็นหางยาว โคนกลีบตัด กลีบด้านนอกมีขนขึ้นปกคลุม ส่วนด้านในเกลี้ยง กลีบเลี้ยงมีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10-12 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านเกสรยาวประมาณ 5-6.5 มิลลิเมตร เกลี้ยง ส่วนก้านเกสรเพศเมียสั้น ภายในมี 5-6 ช่อง แต่ละช่องจะมีไข่อ่อนจำนวนมาก ก้านดอกยาวประมาณ 1.5-1.6 เซนติเมตร มีขน

ผลตะขบ หรือ ลูกตะขบ ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.75-1.5 เซนติเมตร เปลือกผลบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ผลมีรสหวาน ภายในมีเมล็ดแบนขนาดเล็กจำนวนมาก ผลจะสุกในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม

ต้นตะขบ
ต้นตะขบ ตามกิ่งอ่อนมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ปลายใบเรียวแหลม

การขยายพันธุ์ของตะขบ

ใช้เมล็ด/เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง

ธาตุอาหารหลักที่ตะขบต้องการ

ประโยชน์ของตะขบ

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ผลทั่วไปในเขตร้อน หรือปลูกประดับริมทางเดินเพื่อให้ร่มเงา
  • ผลสุกมีรสหวานและมีกลิ่นหอม ใช้รับประทานได้ เป็นผลไม้พื้นบ้าน
  • เนื้อไม้ตะขบเป็นไม้เนื้ออ่อน สามารถนำมาใช้ในงานช่างไม้ได้
ผลตะขบ
ผลตะขบ ผลกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียวผลสุกสีแดง

สรรพคุณทางยาของตะขบ

  • ใบ  มีรสฝาดเอียด มีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ
  • ราก  มีสรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะ ช่วยกล่อมเสมหะและอาจม
  • เนื้อไม้  มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง บิดมูกเลือด
  • ดอก  ใช้เป็นยาแก้ปวดและแก้อักเสบ

คุณค่าทางโภชนาการของตะขบ

ตะขบ 100 กรัม จะให้พลังงาน 97 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย

  • แคลเซียม 51.7 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 773 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 12.8 มิลลิกรัม

การแปรรูปของตะขบ

ผลสามารถนำไปแปรรูปเป็นแยมหรือไวน์ได้ และนำใบไปแปรรูปเป็นชา

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=11154&SystemType=BEDO
https://www.flickr.com

Add a Comment