ต้นคุย ไม้เถาเนื้อแข็ง ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาวขุ่น

ต้นคุย

ชื่ออื่นๆ : หมากยาง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศรีสะเกษ อุบลราชธนี สุรินทร์) กะตังกะติ้ว (ภาคกลาง)คุยกาย คุยช้าง (ปราจีนบุรี) คุยหนัง (ระยอง จันทบุรี) อีคุย (ปัตตานี) บักยาง เครือยาง

ต้นกำเนิด : อนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ชื่อสามัญ :

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Willughbeia edulis Roxb.

ชื่อพ้อง : Ambelania edulis (Roxb.) J.Presl, Ancylocladus cochinchinensis Pierre, A. curtisianus Pierre, A. edulis (Roxb.) Kuntze, Pacouria roxburghii Kostel., Willughbeia cochinchinensis (Pierre) K.Schum. , W. curtisiana (Pierre) K.Schum., W. dulcis Ridl., W. martabanica

ชื่อวงศ์ : APOCYNACEAE

ลักษณะของคุย

ต้น ไม้เถาเนื้อแข็ง รอเลื้อยขนาดใหญ่ มีมือเกาะ เลื้อยได้ไกล 10-15 เมตร แตกกิ่งจำนวนมาก เปลือกต้นสีน้ำตาล ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาวขุ่น

ต้นคุย
ต้นคุย ไม้เถาเนื้อแข็ง รอเลื้อยขนาดใหญ่

ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน กว้าง 5-7 เซนติเมตร ยาว 10-14 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบรูปลิ่มถึงมน ขอบใบเรียบเป็นคลื่น ก้านใบยาว 1-2 ซม. เกลี้ยง ก้านใบมีร่องอยู่ด้านบน เนื้อใบหนา ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ด้านล่างมีขนนุ่มเล็กน้อย เส้นแขนงใบมี 15-16 คู่

ใบคุย
ใบคุย เนื้อใบหนา ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน

ดอก ดอกช่อแบบช่อกระจุก ออกที่ซอกใบและปลายยอด ยาว 1.0-2.5 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1-2 มม. มีขนเล็กน้อย มีดอกย่อย 5-6 ดอก ก้านดอกยาว 1-3 มม. มีขนสั้นๆ กระจายทั่วไป ใบประดับ 1 อัน รองรับดอกหรือช่อดอกรูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ กว้าง 1.0-1.5 มม. ยาว 1.0-2.5 มม. ขอบมีขนครุย กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ 4 มม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก โคนหลอดกลีบรูปถ้วยสั้นๆ ปลายแฉกมน รูปไข่ กว้าง 1.0-1.5 มม. ยาว 2-3 มม. ขอบมีขนครุย กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกรูปขอบขนาน สีขาวปนสีเหลือง เรียงบิดเวียนแบบขวาทับซ้าย ส่วนหลอดยาว 6-7 มม. ส่วนแฉกยาว 9-12 มม. ผิวเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อยที่ส่วนปลายกลีบด้านนอก เกสรเพศผู้มี 5 อัน อับเรณูยาว 1.0-1.5 มม. ติดด้านหลัง ก้านชูอับเรณูสั้น เกลี้ยง สีเหลือง เกสรเพศเมีย รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ มี 1 คาร์เพล 1 ช่อง 23-46 ออวุล รังไข่ยาว 0.5-1.0 มม. ก้านเกสรเพศเมียยาว 2-3 มม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียแยกสองแฉกตื้นๆ สีเหลืองมีขนเล็กน้อย ดอกเมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 เซนติเมตร

ดอกคุย
ดอกคุย สีขาวปนสีเหลือง ดอกออกที่ซอกใบและปลายยอด

ผล  ผลเดี่ยวแบบผลสดมีเนื้อหลายเมล็ด ทรงกลมหรือรูปไข่ ขนาด 5.8-7.2 ซม. เปลือกผลค่อนข้างหนา สีเขียว ผิวเกลี้ยง เมื่อสุกสีเหลืองถึงส้ม มีน้ำยางสีขาวมาก ก้านผลยาว 0.8-1.2 ซม. มีขนเล็กน้อย

ผลคุย
ผลคุย ผลเดี่ยว ทรงกลมหรือรูปไข่ มีขนเล็กน้อย

เมล็ด เมล็ดรูปไข่ กว้าง 1.2-1.6 ซม. ยาว 1.9-2.8 ซม. เนื้อผลลื่นติดกับเมล็ด เปลือกหุ้มผลมีน้ำยางมาก ลักษณะเหนียวสีขาว มีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด ผลสุกรับประทานได้มีรสเปรี้ยวอมหวาน ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ติดผลราวเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน พบตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ

การขยายพันธุ์ของคุย

การใช้เมล็ด

ธาตุอาหารหลักที่คุยต้องการ

ประโยชน์ของคุย

  • ผลสุกมีรสเปรี้ยวอมหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้
  • ลำต้นใช้แทนเชือกสำหรับมัดสิ่งของ
  • รากนำมาใช้ในการย้อมสี โดยจะให้สีแดง
  • น้ำยางใช้ทำเป็นกาวสำหรับดักจับแมลง เช่น จักจั่น ด้วยการใช้น้ำยางจากพืช 3 ชนิด คือ ยางเถาคุย ยางไทร และยางมะเดื่อหรือยางขนุน นำมาผสมในอัตราส่วนอย่างละเท่า ๆ กัน จากนั้นให้เติมน้ำมันก๊าดหรือน้ำมันโซล่า แล้วนำไปเคี่ยวจนกระทั่งน้ำยางข้นเหนียว ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วจึงนำมาใช้เป็นกาวได้

สรรพคุณทางยาของคุย

ตำรายาไทย

  • เถา มีรสฝาด แก้ประดงเข้าข้อ ลมขัดในข้อ ในกระดูก แก้มือเท้าอ่อนเพลีย ต้มดื่มแก้บิด แก้ตับพิการ แก้คุดทะราด  ราก  รสฝาด แก้มือเท้าอ่อนเพลีย ต้มดื่มแก้โรคบิด แก้เจ็บคอ เจ็บหน้าอก
  • เปลือกต้น รสฝาด ต้มดื่มแก้ปวดศีรษะ
  • ยาง รสฝาดร้อน ทาแผล แก้คุดทะราด แก้เท้าเป็นหน่อ
  • ผลดิบ รสเปรี้ยวฝาด ผลแห้งย่างไฟ บดทาแผล

ตำรายาอีสาน

  • ลำต้น  ผสมลำต้นม้ากระทืบโรง ต้มน้ำดื่ม บำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ
  • เปลือก รักษาอาการปวดศีรษะ ราก ต้มกินรักษาโรคบิด
  • ยาพื้นบ้านอีสานใช้ ผสมลำต้นม้ากระทืบโรง ต้มน้ำดื่ม บำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ
  • ยาพื้นบ้านภาคกลางใช้ ผสมสมุนไพรอื่น ต้มน้ำดื่ม แก้ลมคั่งข้อ
  • ยาพื้นบ้านภาคใต้ใช้ ต้มน้ำดื่ม แก้น้ำเหลืองเสีย รักษาโรคคุดทะราด

คุณค่าทางโภชนาการของคุย

การแปรรูปของคุย

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.pharmacy.su.ac.th, ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีภาพประกอบ : www.flickr.com

2 Comments

Add a Comment