ต้นตีนเป็ด ดอกมีกลิ่นหอมแรง มีอันตรายจริงหรือไม่

ต้นตีนมีอันตรายหรือไม่?

ต้นตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ เป็นพรรณไม้มงคลที่คนไทยรู้จักกันดี จุดเด่นของต้นตีนเป็ดคือ ดอก ที่มีกลิ่นแรง เฉพาะตัว ดอกตีนเป็ดมักจะออกในช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม บางคนไม่ชอบกลิ่นของดอกตีนเป็ด ได้กลิ่นแล้วเกิดอาการคลื่นเหียน อาเจียน วิงเวียนศีรษะ

ต้นตีนเป็ด
ต้นตีนเป็ด ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ แตกกิ่งก้านสาขามาก

ต้นตีนเป็ดมีพิษหรือไม่?

ต้นตีนเป็ดที่ส่งกลิ่นฉุนในช่วงฤดูหนาว ไม่ได้มีพิษร้ายแรง ส่วนดอกของมันมีน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอมหวานเมื่อได้กลิ่นตอนเจือจาง แต่เมื่อมีปริมาณเข้มข้นมากขึ้นจะออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทให้ทำงานหนักขึ้น จนสามารถทำให้ปวดศีรษะ เวียนศีรษะได้ อีกทั้งยังกระตุ้นให้ผู้แพ้กลิ่นสารจำพวกนี้มีความอยากอาเจียน

คนที่แพ้กลิ่นดอกตีนเป็ดมักจะแพ้กลิ่นดอกราตรีด้วย เนื่องจากในดอกไม้ทั้งสองชนิดมีสารประกอบกลุ่มเดียวกัน อาการที่เกิดจากการแพ้กลิ่นจากดอกตีนเป็ดมักไม่รุนแรง และไม่เป็นอันตราย จะแตกต่างจากพิษที่เกิดจากต้นตีนเป็ดน้ำ ที่เป็นพืชในวงศ์เดียวกัน ชื่อคล้ายกัน จนหลาย ๆ คนอาจเข้าใจผิด

ต้นตีนเป็ดน้ำเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กกว่าตีนเป็ด สูงประมาณ 15 เมตร มีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่กลับแกมใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก ดอกช่อออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีขาว ตรงกลางดอกสีเหลือง ผลสดสีเขียว รูปกลม หรือรี ผิวเรียบ เมื่อสุกจะมีสีม่วงเข้ม ซึ่งจะแตกต่างจากผลต้นตีนเป็ดที่ออกเป็นฝัก

พิษจากตีนเป็ดน้ำ เกิดได้จากเนื้อผล เนื้อเมล็ด ใบ และน้ำยาง มีฤทธิ์ทำให้อาเจียน เป็นยาถ่าย ยาระบาย ทำให้แท้ง เฉพาะส่วนน้ำยางทำให้เกิดอาการระคายเคือง หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอด

ส่วนเนื้อในเมล็ดมีสารที่เป็นพิษ ได้แก่ เทเวทินบี (Thevetin B) เทโวบิโอไซด์ (Thevobioside) โดยออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อเยื่อบุในปากและกระเพาะอาหาร ทำให้อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดท้อง หากรับประทานในปริมาณมากแล้วล้างท้องไม่ทัน สารพิษจะถูกดูดซึมผ่านลำไส้และเกิดพิษต่อหัวใจ วิธีการรักษาเบื้องต้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อทำการล้างท้องและรักษาไปตามอาการ

นอกจากนี้เมล็ดตีนเป็ดน้ำที่มีรสขม พบสารที่ออกฤทธิ์ต่อหัวใจที่เรียกว่าสารคาร์เบอริน (Cerberin) ซึ่งเป็นตัวยาที่มีโครงสร้างเดียวกันกับที่ใช้ในยากระตุ้นหัวใจ หากได้รับในปริมาณมากจะเกิดพิษและรบกวนการเต้นของหัวใจ สามารถทำให้เสียชีวิตได้

ดอกตีนเป็ด
ดอกตีนเป็ด ดอกมีสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมแรง

ส่วนต่างๆ ของต้นตีนเป็ดมีสรรพคุณดังนี้

  • เปลือกต้น มีรสขม ช่วยให้เจริญอาหาร แก้บิด แก้ท้องเสีย สมานลำไส้ แก้ไข้หวัด รักษามาลาเรีย รักษาหลอดลมอักเสบ ขับเลือดและของเสีย สามารถนำมาต้มอาบเพื่อรักษาอาการผื่นคันได้
  • ดอก ช่วยแก้ไข้ ตัวร้อน และสารสกัดจากดอกมีน้ำมันหอมระเหย สามารถใช้ไล่ยุงได้
  • ใบ ใช้ชงดื่ม รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
  • ยาง ใช้ภายนอกสำหรับรักษาแผล แผลเปื่อย มีหนอง ช่วยทำให้แผลแห้งเร็ว บรรเทาอาการปวดข้อ

ปัจจุบันคนไทยใช้ประโยชน์จาก ตีนเป็ด ด้านประดับตกแต่งมากกว่าด้านอื่นๆ เพราะตีนเป็ดเป็นต้นไม้ท้องถิ่นที่รูปทรงงดงาม (คล้ายฉัตร) ใบรูปร่างแปลก ดอกกลิ่นหอมแรง แข็งแรงทนทาน ขึ้นได้ในดินทุก ชนิด ขุดย้ายต้นใหญ่ได้ง่าย เติบโตเร็ว เป็นต้น จึงมีผู้นำไปปลูกตามบ้านเรือน สวนสาธารณะ ทางเดิน โรงแรม รีสอร์ต เป็นต้น ความนิยมของคนไทยที่มีต่อตีนเป็ด ส่วนหนึ่งมาจากชื่อที่นิยมเรียกกันในปัจจุบันว่า พญาสัตบรรณ เพราะนอกจากฟังไพเราะแล้ว ยังให้ความรู้สึกเป็นไม้มงคลอีกด้วย
เพราะคล้ายชื่อ “สัตตบรรณ” ซึ่งเป็นบัวสายดอกสีขาว เนื่องจากคนไทยถือว่า ดอกบัวเป็นพืชมงคล ดังนั้น พญาสัตบรรณจึงยิ่งเพิ่มความเป็นมงคลขึ้น ไปอีก เพราะมีคำว่าพญาเพิ่มเข้าไปด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันตีนเป็ดหรือพญาสัตบรรณเป็นต้นไม้ยอดนิยม ของคนไทยอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้มีฐานะยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อต้นขนาดใหญ่ที่ขุดย้ายจากธรรมชาติมาปลูกไว้ใกล้ตัว สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเสียเงินมากก็อาจปลูกต้นขนาดเล็กแทน เพราะเพียงไม่กี่ปีก็จะได้ต้นโตเท่าเทียมกันแล้ว

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://hd.co.th
https://www.doctor.or.th
https://www.flickr.com

Add a Comment