ทำอย่างไรถึงเกิดต้นไม้ด่างพร้อมการขยายพันธุ์เพื่อสร้างรายได้

ทำไมต้นไม้ถึงใบด่าง?  ต้นไม้ใบด่าง บางต้นก็มีปัจจัยให้เกิดใบด่างตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการกลายพันธุ์ เช่น มอนสเตอร่าด่าง ฟิโลเดนดรอนด่าง พลูด่าง ไทรด่าง หรือชบาด่าง ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุ และวิธีการดูแลที่ต่างจากต้นไม้ทั่วไป มาค้นพบความลับของต้นไม้ใบด่างกัน

ทำไมไม้ด่างถึงราคาแพง?  เพราะในธรรมชาติต้นไม้ส่วนใหญ่จะมีใบสีเขียว การที่ต้นไม้มีใบด่างจะได้จากเม็ดสีบริเวณใบทั้งสีขาว ครีม เหลือง ชมพู แดง ทำให้สวนมีสีสันสดใสมากยิ่งขึ้น แต่ประเด็นหลักคือ ต้นไม้ด่างนั้นเกิดขึ้นยากในธรรมชาติ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แม้แต่การตัดแต่งพันธุกรรมก็ถือว่าทำได้ยาก เฉลี่ยได้พันธุ์ไม้ด่างที่สวยแค่ 5% เท่านั้น อีกทั้งยังโตช้าและขยายพันธุ์ยาก ส่วนต้นไม้ด่างบางต้นจะเป็นยีนเด่นที่ขยายพันธุ์ง่ายและโตเร็วก็จะราคาไม่แพง เนื่องจากต้นที่เกิดใหม่ก็จะด่างเหมือนพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์แบบไม่ต้องลุ้น นั้นจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้คนรักสวนได้นำไปใช้ปลูกเพื่อสร้างสีสันได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมต้นไม้ เช่น เงินไหลมา ออมเพชร พลูด่าง ชบาด่าง บาหยาด่าง หนวดปลาหมึกแคระด่าง เป็นต้น แต่ควรระวังในปัจจุบันในวงการต้นไม้มีการปั่นราคาต้นไม้เหล่านี้ให้มีราคาสูงเกินความเป็นจริงๆ ทำใหบางคนซื้อในราคาที่แพงทั้งที่ในความจริงต้นไม้ชนิดนั้นราคาไม่แพงจริง

ส่วนต้นไม้ด่างที่มีราคาแพงคือต้นที่เกิดได้ยากในธรรมชาติ เกิดจากต้นไม้ใบเขียวที่กลายพันธุ์เป็นใบด่างด้วยวิธีการต่างๆ นอกจากนั้นยังโตช้า เกิดการลุ้นให้แต่ละใบจะด่างหรือไม่ หรือมีลักาณะและสีสันของการด่างเป็นแบบใดบ้าง

ต้นไม้ด่าง
ต้นไม้ด่าง ปลูกในกระถางเป็นไม้ประดับห้อง

สาเหตุที่ทำให้ต้นไม้ใบด่าง

  1. ขาดแสงสว่าง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลิตคลอโรฟิลล์ที่ทำให้ต้นไม้มีใบสีเขียว สังเกตได้จากการนำต้นไม้ปกติไปวางในที่มืด ผ่านไปไม่กี่วันใบก็จะเป็นสีขาวซีดและอ่อนแอ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับการเพาะถั่วงอกหรือกุยช่ายให้มีใบสีขาวหรือเขียวอ่อน โดยหากนำมาออกแดดก็จะให้ใบสีเขียวตามเดิม
  2. ขาดสารอาหาร สารบางตัวมีผลต่อการสร้างเม็ดสีของใบ โดยหากต้นไม้ขาดแมกนีเซียม ใบจะเป็นสีเหลืองแต่เส้นใยยังเขียวอยู่ ถ้าขาดกำมะถันหรือฟอสฟอรัส ต้นมีจะใบด่างเหลืองทั้งใบ ซึ่งอาการจะหายไปหากได้รับสารอาหารดังกล่าวในดินครบถ้วน
  3. เนื้อเยื่อใบมีอากาศมาก อาการดังกล่าวส่งผลให้เมื่อแสงแดดไปตกกระทบใบจะเกิดการหักเหของแสง ทำให้ใบเป็นสีเทาเงิน พบมากในป่าธรรมชาติ อาการดังกล่าวจะเป็นถาวรไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นต้นไม้ที่สามารถจำแนกเป็นพันธุ์อื่นได้ เช่น พลูลงยา แนบอุรา หรือคล้าบางชนิด
  4. ความผิดปกติทางพันธุกรรม เกิดจากปัจจัยภายนอกที่กระทบโครงสร้างทางพันธุกรรมของต้นไม้ เช่น สารเคมีหรือสารกำมันตภาพรังสี ทำให้ต้นไม้ดังกล่าวกลายพันธุ์จากลักษณะเดิม นอกจากนี้ยังใช้ในวงการตัดแต่งพันธุ์ต้นไม้เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ ที่มีความทนทานหรือมีคุณลักษณะที่โดดเด่นกว่าสายพันธุ์เดิม แต่ไม่สามารถควบคุมลักษณะให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ โดยต้นแม่พันธุ์นั้นจะมีความสำคัญในการควบคุมลักษระด่างได้ดีกว่าต้นพ่อพันธ์ุดังรายละเอียดดังนี้

    – แม่กิ่งใบเขียว+พ่อกิ่งใบเผือก ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีใบเขียว

    – แม่กิ่งใบเขียว +พ่อกิ่งใบด่าง ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีใบเขียว

    – แม่กิ่งใบเผือก + พ่อกิ่งใบเขียว ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีใบเผือก

    – แม่กิ่งใบเผือก + พ่อกิ่งใบเผือก ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีใบเผือก

    – แม่กิ่งใบเผือก + พ่อกิ่งใบด่าง ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีใบเผือก

    – แม่กิ่งใบด่าง + พ่อกิ่งใบเขียว ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีทั้งใบเขียว เผือก ด่าง

    – แม่กิ่งใบด่าง + พ่อกิ่งใบเผือก ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีทั้งใบเขียว เผือก ด่าง

    – แม่กิ่งใบด่าง + พ่อกิ่งใบด่าง ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีทั้งใบเขียว เผือก ด่าง

  5. เกิดจากโรค หากอาการของต้นไม้ในสวนมีการเจริญเติบโตผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นใบมีลายสีด่างหรือสีเขียวไม่สม่ำเสมอกัน เล็กหรือย่น ส่วนยอดหรือดอกหงิกงอผิดจากรูปทรงเดิมและไม่ติดผล ลำต้นแคระแกร็น มีกิ่งก้านสั้นกว่าปกติ อาจเป็นอาการของโรคใบด่างในต้นไม้ หรือ Mosaic Virus ซึ่งเกิดจากไวรัสเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อและสารคลอโรฟิลล์จนส่วนต่างๆ ของต้นมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติมักพบมากในมะละกอ ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ มันฝรั่ง หากตัดแต่งด้วยกรรไกรหรืออุปกรณ์เดียวกันก็สามารถแพร่ไปสู่ต้นอื่นได้

    นอกจากนี้ยังมีไวรัส Mottled ที่ทำให้เกิดอาการด่างเป็นจุดๆ ยังมี Vascular ที่ทำให้ด่างเฉพาะเส้นใยอีกด้วย ในบางครั้งโรคดังกล่าวก็ไม่ร้ายแรงมาก เพียงแค่ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตช้าเท่านั้น

    โรคดังกล่าวไม่สามารถป้องกันหรือกำจัดด้วยสารเคมี วิธีแก้ไขให้ตัดเอาชิ้นส่วนหรือต้นไม้ที่มีอาการมากไปเผาและทำลาย เพื่อลดการระบาด หรือเลือกพันธุ์ต้นไม้ที่ต้านทานโรคไวรัส นอกจากนี้ควรกำจัดแมลงพาหะโดยเฉพาะเพลี้ยอ่อน โดยฉีดพ่นด้วยมาลาไทออนหรือเอส 85

ต้นด่าง
ต้นด่าง ใบมีสีเขียว สีขาว

วิธีดูแลต้นไม้ใบด่าง

  • เรื่องแสง
    การเลี้ยงต้นไม้ใบด่างต้องดูแลมากกว่าต้นไม้ธรรมดา แม้ว่าเรื่องโรคและแมลงจะไม่แตกต่างจากต้นเดิม แต่การเติบโตช้ากว่า เพราะใบมีคลอโรฟิลล์น้อย ต้องอย่าให้โดนแดดจัด ควรปลูกในที่ที่พรางแสงบ้าง โดยเฉพาะต้นไม้ด่างประเภทที่ชอบแสงแดดรำไรอย่าง มอนสเตอร่าหรือฟิโลเดนดรอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพรรณไม้ด้วย ถ้าเป็นต้นไม้ที่ปกติชอบแสงแดดจัด คงเลี้ยงในที่รำไรไม่ได้ เช่นไทรด่าง มันสำปะหลังด่าง ชบาด่าง เป็นต้น จำเป็นต้องปลูกในบริเวณที่ได้รับแสงแดดเต็มวัน หรืออย่างน้อยครึ่งวัน ต้นไม้ด่างทุกต้นขณะที่ยังเล็กอยู่จะอ่อนแอ นำไปปลูกกลางแดดไม่ได้เลยทันที ควรให้ต้นแข็งแรงก่อน
  • การให้น้ำ
    ต้นใหม่ ต้นอ่อน ไม่ว่าจะเกิดจากเมล็ดหรือการขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่น นอกจากใส่ใจเรื่องแสงที่ไม่ควรมากไปแล้ว ต้องดูแลไม่ให้น้ำมากเกินไปด้วย เพราะใบที่มีคลอโรฟิลล์น้อยกว่าปกติทำให้คายน้ำยาก ใบอาจฉ่ำน้ำหรือกลายเป็นรอยไหม้ได้
  • ดินปลูก
    ในเรื่องของดินนั้นควรเน้นดินที่โปร่งระบายน้ำดี ถ้าจะให้ปุ๋ย ให้เลือกชนิดสลายตัวช้า เช่น ออโมโคทสูตร 6 เดือน หากใช้ปุ๋ยเคมีที่มีไนโครเจนมากใบก็จะเขียวขึ้น โดยทั่วไปนอยมใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ
ต้นหนวดปลาหมึก
ต้นหนวดปลาหมึก ไม้พุ่ม ใบด่างขาว เขียว เหลือง

ลายด่างพาดตา การขยายพันธุ์เพื่อสร้างรายได้

1. ไม้ด่างนิยมขยายพันธุ์โดยการเสียบยอด โดยใช้ยอดด่างเสียบต้นตอที่เป็นต้นไม้ชนิดเดียวกันแบบใบเขียวธรรมดา ผลลับที่ได้คือต้นไม้จะแข็งแรงอยู่รอดได้ดีกว่าเติบโตด้วยตัวเอง

2. การเพาะเมล็ดหรือเนื้อเยื้อสามารถทำได้ทีละจำนวนมากก็จริง แต่ก็ไม่ค่อยคุ้มกับราคาการผลิต ส่วนมากเฉลี่ยจะได้ไม้ด่างสวยแค่ 5 เปอร์เซนต์หรือต่ำกว่านั้น นอกนั้นจะได้ใบเขียวหรือเผือกจนหมด

3. การปักชำยอด เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด แต่ด้วยความที่ต้นไม้ด่างส่วนใหญ่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าต้นไม้ทั่วไป ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าต้นไม้จะมีโตเต็มที่พอที่จะขยายพันธุ์ ซึ่งส่วนที่ได้ราคาขายดีที่สุดคือส่วนยอดที่เห็นใบสมบูรณ์ชัดเจนว่า ด่างหรือไม่และด่างด้วยสีสันหรือลักษณะใด ซึ่งทั้งหมดมีผลต่อราคาต้นไม้ต้นนั้นๆ สิ่งที่ทำให้ต้นไม้ใบแพงก็เพราะว่าต้นที่ขายยอด ลูกค้าจะสามารถเห็นสีสันของใบชัดเจนว่าจะได้ยอดที่เจริญเติบโตต่อไป เป็นต้นไม้ใบด่างสีสันและลวดลายตามต้องการอย่างแน่นอน ขณะที่ผู้ขายก็ต้องมาแบกรับความเสี่ยงที่ต้นแม่พันธุ์ที่เป็นตอจะกลายเป็นใบสีปกติที่ไม่ด่างก็เป็นได้

4. เมื่อปริมาณต้นพันธุ์มีใบที่สมบูรณ์เพียงพอพร้อมขาย กระแสความนิยมของต้นไม้ชนิดนั้นอาจลดน้อยลงไปจากเดิมก็เป็นได้ ส่งผลให้ขายได้ราคาต่ำกว่าตอนที่ซื้อมา แต่ก็มีโอกาสน้อย เพราะอย่างไรก็ตามตลาดต้นไม้ใบด่าง ก็ยังมีกลุ่มลูกค้าคือคนที่อยู่ในวงการไม้ใบและชื่นชอบไม้ใบด่างอยู่แล้ว หากได้สีสันและรูปทรงใบที่ตรงตามใจต้องการ ผู้ขายก็สามารถขายในราคาที่ตนเองพอใจได้เช่นกัน

5. การปลูกต้นไม้ด่าง หรือซื้อต้นไม้ด่างไว้เพื่อจำหน่ายต้องคิดอยู่ในใจเสมอว่า ต้นไม้ต้นนั้นสามารถตายจากเราไปได้ตลอดเวลา เนื่องจากไม่ใช่ต้นไม้พื้นถิ่นในบ้านเรา และอาจมีปัจจัยต่างๆที่เข้ามารบกวนการเติบโตและความแข็งแรงของต้นได้ ดังนั้นถือว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งผู้ซื้อต้องประเมินความเสี่ยงและไม่ประมาทหากต้องการปลูกและลลงทุนไว้เพื่อขาย

6. การถ่ายทอดลักษณะด่างจากเมล็ด โดยเฉลี่ยจะได้ต้นด่างแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นต้นธรรมดาใบเขียวกับต้นเผือก หรือใบขาวซึ่งมักจะตายในที่สุด แต่พวกไม้ด่างใบเหลืองทั้งใบ เช่น ฟิโลเดนดรอนใบทอง พลูราชินีสีทอง ฯลฯ พวกนี้ไม่ค่อยมีปัญหา

พลูด่าง
พลูด่าง ใบเป็นรูปหัวใจสีเขียวสด สลับกับสีเหลือง

วิธีสังเกตหนึ่ง ว่ากิ่งแม่พันธุ์ที่ถูกตัดไปปักชำแล้วจะสามารถแทงกิ่งใหม่แตกออกเป็นต้นด่าง คือ รอยเส้นด่างที่ปรากฎบริเวณลำต้นลำต้นพาดผ่านบริเวณส่วนตาที่จะสามารถแตกเกิดเป็นต้นใหม่หรือไม่ หากรอยเส้นด่างผ่านตาโอกาสที่ตอของต้นที่ตัดยอดไปเพื่อนำไปปักชำจะแทงออกมาจากตาใหม่เป็นต้นด่างก็จะสูง (มีโอกาสจะไม่ด่างได้เหมือนกัน) แต่หากเส้นด่างไม่พาดผ่านตาโอกาสที่ต้นใหม่จะเป็นต้นด่างก็แทบจะไม่มีเลยด้วยเช่นกัน

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http ://www.relations.tu.ac.th
ภาพประกอบ : https://www.flickr.com

Add a Comment