หมักผมกับมะกรูด ทำน้ำยาสระผมจากมะกรูด

มะกรูด

มะกรูดเป็นสมุนไพรที่สำคัญในอาหารไทย ลาวและกัมพูชา ใช้ผิวของผลเป็นส่วนผสมเครื่องแกงหลายชนิด และใช้เข้าเครื่องหอมโดยเป็นส่วนผสมในเทียนอบ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมใช้ใบมะกรูดและผิวมะกรูดปรุงอาหารหลายชนิด ใช้ดับกลิ่นคาวอาหารบางชนิดด้วย พบประปรายในอาหารเวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซีย

ใบมะกรูดในอาหารไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ เป็นส่วนประกอบของต้มยำกุ้งและต้มยำชนิดอื่น นอกจากนั้นพบในต้มข่าไก่ แกงต่างๆ เช่น แกงเทโพ

น้ำคั้นผลมะกรูดมีรสเปรี้ยวและมีกลิ่นหอมฉุน อาหารบางชนิดนิยมใช้น้ำมะกรูดเช่นกัน แต่จะได้น้ำน้อยเพราะเปลือกหนา พบในอาหารจานปลาหรือไก่ของมาเลเซียและไทย

คนโบราณนิยมสระผมด้วยน้ำมะกรูด หมักผมกับมะกรูด เพราะช่วยให้ผมดำเป็นมัน ไม่แห้งกรอบ จึงนิยมปลูกมะกรูดไว้ตามบ้านและในสวนเพื่อใช้งาน ในวันนี้เกษตรตำบลมีวิธีการนำมะกรูดมาใช้สระผม มาฝากกันค่ะ พร้อมแล้วไปดูวิธีการกันได้เลยค่ะ

มะกรูด
มะกรูดใบสีเขียวแก่พื้นผิวใบเรียบเกลี้ยง เป็นมัน ค่อนข้างหนา มีกลิ่นหอมมาก

สูตรมะกรูดใช้สระผม บำรุงผม

การใช้มีวิธีให้เลือกดังนี้

  • ใช้มะกรูดสดผ่าครึ่ง แคะเมล็ดออก คั้นน้ำใช้สระผม
    ฝานผิวมะกรูด นำมาตำให้ละเอียด ผสมด้วยน้ำมะกรูด เติมน้ำพอให้ส่วนผสมเริ่มเหลว คนให้เข้ากันดี ทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วกรองคั้นเอาแต่น้ำไปใช้สระผม
  • ใช้มะกรูดสดหรือเผาไฟก่อนก็ได้
    หั่นผลมะกรูดเป็นชิ้น ปั่นชิ้นมะกรูดให้ละเอียด เทใส่ชาม เติมน้ำอุ่นพอท่วมส่วนผสม คนให้เข้ากัน ตั้งทิ้งไว้ 10-20 นาที คั้นเอาแต่น้ำใส่ขวดแช่ตู้เย็นไว้ใช้สระผม เก็บได้นาน 1-2 สัปดาห์

ทั้งนี้ก่อนสระผมควรราดน้ำบนผมให้เปียกชุ่มเสียก่อน ใช้น้ำมะกรูดปริมาณพอดีๆ นวดหนังศีรษะไปด้วยขณะสระผม ทิ้งไว้ 2-3 นาทีก่อนล้างออกและสระด้วยน้ำมะกรูดซ้ำอีกครั้ง ล้างออกให้สะอาดไม่ให้มีเศษมะกรูดหลงเหลืออยู่

ระวังอย่าให้น้ำมะกรูดเข้าตาหรือถูกปาก ถ้ารู้สึกแสบทั้งหนังศีรษะแสดงว่าน้ำมะกรูดข้นไปต้องผสมน้ำให้เจือจาง กรดมะนาวที่อยู่ในน้ำมะกรูดจะช่วยขจัดคราบสารชะล้างที่ตกค้างบนเส้นผม ทำให้หวีผมได้ง่าย และน้ำมันจากผิวมะกรูดช่วยให้ผมดกเป็นเงางาม

ผลมะกรูด
ผลมะกรูด ผลสีเขียวเข้ม เปลือกนอกขรุขระ

คุณสมบัติส่วนต่างๆ ของมะกรูด

  • ใบมะกรูด มีรสปร่า กลิ่นหอม ดับกลิ่นคาว แก้ไอ แก้ช้ำใน
  • ผลมะกรูด ตัดจุกผลมะกรูด คว้านไส้กลางออก ใส่มหาหิงส์แล้วปิดจุก นำไปเผาไฟจนดำเกรียม บดเป็นผงละลายกับน้ำผึ้งใช้กิน จะช่วยขับลมแก้ปวดท้อง หรือใช้ป้ายลิ้นเด็กอ่อนเป็นยาขับขี้เทาได้ ใช้เป็นยาขับลมแก้ปวดท้องในเด็กอ่อนด้วย
  • น้ำมะกรูด มีรสเปรี้ยว ใช้ผลมะกรูดผ่าซีกเติมเกลือ ลนไฟให้เปลือกนิ่ม บีบน้ำมะกรูดลงในคอทีละน้อยๆ ช่วยกัดเสมหะ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว กัดเถาดานในท้อง แก้ระดูเสีย ฟอกโลหิต ขับระดู ขับลมในลำไส้ ใช้ถูฟันแก้เลือดออกตามไรฟัน
  • ผิวมะกรูด มีรสปร่า กลิ่นหอมร้อน ขับลมในลำไส้ ขับระดู ขับผายลม ฝานบางๆ ชงน้ำเดือดใส่การบูรเล็กน้อย กินแก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจและช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดดี
  • ราก มีรสจืดเย็น แก้ไข้ ถอนพิษสำแดง แก้ลมจุกเสียด กระทุ้งพิษไข้ แก้พิษฝีภายใน แก้เสมหะ

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

มะกรูดเด่นที่น้ำมันหอมระเหยพบทั้งในใบและเปลือกของผลที่เรียกว่าผิวมะกรูด โดยผิวมะกรูดจะมีน้ำมันหอมระเหยร้อยละ 4 ส่วนใบจะมีน้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0-08  สารเคมีหลักที่พบในน้ำมันหอมระเหยจากผิวมะกรูดคือ สารกลุ่มเทอร์พีนโมเลกุลสั้น บีตาไพนีน ไลโมนีน และซาบินีนร้อยละ 30.6  29.2  และ 22.6 ตามลำดับ

ส่วนสารหลักที่พบในใบมะกรูดคือซิโทรเนลลัล มีปริมาณถึงร้อยละ 65-80 และพบซิโทรเนลลิลประมาณร้อยละ 10 จึงทำให้ใบมะกรูดมีกลิ่นคล้ายตะไคร้นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ทั้งใบและผลมะกรูดจึงสามารถนำไปใช้ไล่แมลงได้

ผลมะกรูด
ผลมะกรูด ผลคล้ายมะนาว ผลอ่อนมีเป็นสีเขียวแก่ ผลสุกมีสีเหลือง

ฤทธิ์ยับยั้งจุลินทรีย์

ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ของผิวมะกรูดอยู่ที่ส่วนน้ำมันหอมระเหย มะกรูดสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ได้เนื่องจากมีสารเจอรานิออล นิโรลิออล ลินาโลออล และเทอร์พีนีออล ซึ่งเป็นสารกลุ่มเทอร์พีนอยู่ในน้ำมันหอมระเหย จะเห็นว่าการใช้น้ำมะกรูดที่มีส่วนผสมของสารสกัดผิวมะกรูดสระผมจะระงับการเจริญของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของการเกิดรังแคและมีอาการคันศีรษะได้ ทำให้หนังศีรษะมีสุขภาพดีอยู่เสมอ

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
www.doctor.or.th
www.flickr.com

One Comment

Add a Comment