ประโยชน์และสรรพคุณของต้นนุ่นหรืองิ้ว

ต้นนุ่นหรืองิ้ว

งิ้ว หรือ ต้นนุ่น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ceiba pentandra (L.) Gaertn. ชื่อเรียกอื่นๆ  ง้าว, งิ้วสาย, งิ้วสร้อย, งิ้วน้อย (ภาคกลาง) งิ้ว(คนเมือง) ปั้งพัวะ(ม้ง) นุ่น(ไทลื้อ) ต่อเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง) เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ลำต้นสูงใหญ่เปลาตรง ลำต้นเป็นสีเขียวและมีหนามขึ้นอยู่ทั่วไปบริเวณโคนต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่มีถิ่นดั้งเดิมอยู่ในแถบอันดามัน และมีปลูกมากในเขตร้อนทั่วไปเพื่อใช้ปุยจากผลนำมาทำหมอนและที่นอน ชอบขึ้นตามริมลำธาร พบได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและป่าดิบเขา

ผลเป็นรูปยาวรี ปลายและโคนผลแหลม เปลือกแข็ง เมื่อแห้งจะแตกออกได้เป็น 5 พู ภายในผลจะมีนุ่นสีขาวเป็นปุยอยู่ และมีเมล็ดจำนวนมาก

ผลนุ่นดิบ
ผลนุ่นดิบสีเขียว ผลรูปยาวรี

ประโยชน์ของต้นนุ่น

  1. ฝักที่ยังอ่อนมาก ๆ (เนื้อในผลยังไม่เป็นปุยนุ่น) ใช้เป็นอาหารได้ โดยนำมารับประทานสด ๆ หรือใส่ในแกง
  2. เมล็ดใช้สกัดทำเป็นน้ำมันพืช ส่วนกากที่เหลือจะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
  3. ไส้นุ่นสามารถนำมาใช้เพาะเห็ดฟางได้
  4. ขนที่ติดอยู่ที่เมล็ดซึ่งเรียกว่า “นุ่น” หรือ “เส้นใยนุ่น” สามารถนำมาใช้ยัดหมอน ฟูก และที่นอนได้
  5. เนื้อไม้ใช้ทำกระสวยทอผ้า เยื่อกระดาษ ส้นรองเท้า และนำมาบดทำไส้ในไม้อัด
  6. นิยมนำมาปลูกเป็นพืชสวนเพื่อเก็บผลมาใช้ประโยชน์
ผลนุ่นแห้ง
ผลนุ่นแห้งแตก ภายในผลจะมีนุ่นสีขาวเป็นปุย

สรรพคุณทางยาของต้นนุ่น

  • รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง ส่วนยางไม้มีรสฝาดเมา ก็มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลังเช่นกัน (ราก, ยางไม้)
  • รากสด นำมาคั้นเอาน้ำกินเป็นยาแก้โรคเบาหวาน
  • เปลือกต้น มีรสเย็นเอียน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนใน
  • ต้น เปลือกต้น หรือทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ หรือจะใช้เปลือกต้นผสมกับยาอื่นปรุงเป็นยาแก้ไข้ก็ได้ ส่วนชาวมาเลย์จะใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ (ต้น, เปลือก,ใบ, ดอกแห้ง, ทั้งต้น)
  • ต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ต้น, ทั้งต้น)
  • เปลือกต้น มีสรรพคุณเป็นยาแก้หวัดในเด็ก
  • ชาวสิงคโปร์จะใช้ใบนำมาตำผสมกับหัวหอม ขมิ้น และน้ำ ใช้ดื่มวันละ 3 ครั้งเป็นยาแก้ไอ แก้หวัดลงคอ แก้เสียงแหบห้าว (ใบ)
  • ช่วยทำให้อาเจียน (เปลือก, ราก)
  • ชาวฟิลิปปินส์จะใช้เปลือกต้นเป็นยาโป๊ ต้มดื่มแก้หืด (เปลือก)
  • ยางไม้ มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง
  • ราก มีรสจืดเอียน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องเสีย แก้บิด บิดเรื้อรัง ลำไส้อักเสบ
  • ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้อาหารเป็นพิษ (เปลือก)
  • น้ำมันจากเมล็ด มีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาระบาย
  • เปลือกต้นและรากมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ ชาวชวาจะใช้เปลือกต้นนำมาผสมกับหมาก ลูกจันทน์เทศ และน้ำตาลทำเป็นยาขับปัสสาวะ (ใช้ได้ดีในรายที่เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ) ส่วนเมล็ดและน้ำมันจากเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน
    (เปลือก, ราก, เมล็ด, น้ำมันจากเมล็ด)
  • ใบ นำมาตำผสมกับหัวหอม และขมิ้น ผสมกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท่อปัสสาวะอักเสบ
  • ยางไม้ ช่วยแก้ระดูขาวที่มากเกินไปของสตรี
  • เปลือก ใช้เป็นยาบำรุงกำหนัด
  • ผลอ่อนใช้กินเป็นยาฝาดสมาน ส่วนยางไม้ก็มีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมานเช่นกัน (ผลอ่อน, ยางไม้)
  • ใบ ใช้เป็นยาแก้โรคเรื้อน
  • ราก ใช้เป็นยาแก้พิษแมลงป่อง
  • ใบ นำมาเผาไฟผสมกับขมิ้นอ้อยและข้าวสุกใช้เป็นยาพอกฝีให้แตกหนอง
  • ใบ มีรสเย็นเอียน ใช้ตำพอกแก้ฟกช้ำ
  • ใบอ่อน ใช้กินเป็นยาแก้เคล็ดบวม
  • ดอกแห้ง มีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวด

สารสกัดแอลกอฮอล์จากเปลือกต้นหรือใบ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและแกรมลบ เชื้อรา และยีสต์ในหลอดทดลอง และสารสกัดบิวทานอลจากเปลือกต้น มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ของสัตว์ทดลอง

การแปรรูปของต้นนุ่น

  • เส้นใยนุ่น มีรูปยาวรี รูปทรงกระบอกกลวง ผนังบาง เรียบและเปราะ จึงไม่ค่อยใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอพวกปั่นด้ายเหมือนกับฝ้าย เพราะฟูและเบามาก เส้นใยไม่มีลักษณะหยิกหรือหยักที่จะข่วยให้กลุ่มเส้นใยจับตัวกันได้ดีเมื่อปั่นหรือฟั่นเป็นเส้นด้าย มีความถ่วงจำเพาะประมาณ 14 เท่าของน้ำ มีความยาวของเส้นประมาณ 8-30 มิลลิเมตร
  • ปุยนุ่นมีคุณสมบัติอ่อนนุ่มใยและเบา พิเศษกว่าพืชเส้นใยอื่น ๆ คือ ไม่ดูดซับน้ำ แต่ดูดซับน้ำมัน สามารถรับน้ำหนักได้ 30 เท่าตัวในน้ำทะเล จึงใช้ยัดทำเป็นเสื้อชูชีพ ทำให้ผู้สวมลอยตัวอยู่ในน้ำได้ ทางยุทธปัจจัย ก็ใช้ทำชนวนระเบิด เพราะมีคุณสมบัติไวไฟเผาไหม้ได้เร็วมาก ทำวัสดุกันกระเทือน ยัดหมอน ที่นอนเครื่องใช้ต่าง ๆ ไส้ในฝักที่ปั่นเอาเมล็ดและปุยนุ่นออกแล้ว ก็เป็นวัสดุที่มีเซลลูโลสสำหรับใช้เพาะเห็ด เปลือกใช้ทำเชื้อเพลิง

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://ecoforest.phsmun.go.th/?p=217
https://arit.kpru.ac.th
https://www.flickr.com

Add a Comment