พะยอม ประโยชน์และการขยายพันธุ์

พะยอม

ชื่ออื่นๆ : แดน (เลย) ยางหยวก (น่าน) กะยอม, เชียง, เซียว, เซี่ย (เชียงใหม่) พะยอมทอง (ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี)     ขะยอมดง, พะยอมดง (ภาคเหนือ) สุกรม (ภาคกลาง) คะยอม, ขะยอม (อีสาน) ยอม (ภาคใต้) ขะยอม (ลาว) พะยอมแดง, แคน, พยอม

ต้นกำเนิด : ประเทศไทยและเอเชีย เช่น ประเทศพม่า ลาว ศรีลังกา และฟิลิปปินส์

ชื่อสามัญ : Shorea, White meranti

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea rofburthii G. Don

ชื่อวงศ์ : DIPTEROCARPACEAE

ลักษณะของพะยอม

พะยอมลำต้น พะยอมเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ ความสูง ประมาณ 15—30 เมตร ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม หรือรูปไข่ กิ่งอ่อน เกลี้ยงเปลือก เปลือกหนาสีน้ำตาล หรือสีเทา เข้ม แตกเป็นร่องตามยาวลำต้นและเป็นสะเก็ดหนา เปลือกในสีน้ำตาลอ่อนปนเหลืองและมีทางสีน้ำตาลแก่ ผ่าน เส้นรอบลำต้นอาจถึง 300 ซม. เนื้อไม้แข็งสีเหลือง อ่อนแกมเขียว ใบสีเขียว ดอกสีขาวและมีกลิ่นหอม

ต้นพะยอม
ต้นพะยอม เปลือกต้นมีสีน้ำตาลหรือสีเทาเข้ม

การขยายพันธุ์ของพะยอม

การเพาะเมล็ด, การตอนกิ่ง
การปลูก
ขนาดหลุมปลูก 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 2 ผสมดินปลูก ถ้าปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านหรืออาคาร ควรปลูกให้มีระยะห่างที่เหมาะสมเพราะพยุงเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มใหญ่

การตอนกิ่ง จะออกรากยาก แต่เป็นวิธีที่จะทำให้ออกดอกในกระถางได้

ปลูกได้ในพื้นที่แห้งแล้ง ออกดอกเพียง 1 ครั้ง/ปี

ประโยชน์ของพยอม

  • ไม้พะยอม มีสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาล สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างทั่ว ๆไปได้ เช่น การทำเสาบ้าน ขื่อ รอด ตง พื้น ทำฝา เรือขุด เครื่องบนเสากระโดงเรือ แจว พาย กรรเชียง คราด ครก สาก ลูกหีบ กระเดื่อง ตัวถังรถ ซี่ล่อเกวียน กระเบื้องไม้ นำไปใช้ทำหมอนรถไฟ และนำมาใช้แทนไม้ตะเคียนทองเพราะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน เป็นต้น
  • ดอกสามารถนำมาประกอบอาหารได้ นำมาลวกเป็นผักไว้จิ้มกินกับน้ำพริก ใช้ผัดกับไข่ ชุบไข่ทอด ทำแกงดอกพะยอม ยำดอกพะยอม  พล่าดอกพะยอม เป็นต้น
  • เปลือกต้นสามารถใช้รับประทานกับใบพลูแทนหมากได้
  • เปลือกต้นและเนื้อไม้นำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ไว้ใช้รองน้ำตาลสดจากต้นมะพร้าวและน้ำตาลจากต้นตาลโตนด
  • เปลือกต้นหรือไม้ชิ้นเล็ก ๆ นำมาใช้ใส่เครื่องหมักดองเพื่อกันบูดกันเสียได้
  • ชันที่ได้จากต้นพะยอมสามารถใช้ผสมกับน้ำมันทาไม้ ยาแนวเรือได้
  • เปลือกต้นมีสารแทนนินชนิด Pyrogallol และ Catechol ในปริมาณสูง จึงนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง
  • พะยอมเป็นต้นไม้ที่สามารถปลูกได้ดีในที่แล้ง ซึ่งอาจปลูกไว้เพื่อความสวยงามให้ร่มเงาตามบ้านเรือนก็ได้ และดอกยังมีความสวยงามมาก แต่จะออกดอกปีละครั้ง และออกดอกพร้อมกันทั้งต้นดูสวยงามมาก
  • คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดที่ปลูกต้นพะยอมไว้ประจำบ้าน จะช่วยทำให้คนในบ้านมีนิสัยที่อ่อนน้อม เพราะคำว่าพะยอมมีความหมายว่า การยินยอม ตกลง ผ่อนผัน หรือประนีประนอมนั่นเอง และยังเชื่อว่าจะช่วยทำให้ไม่ขัดสนในเรื่องต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องเงินทองด้วย เพราะจะทำให้ผู้คนต่างให้ความเห็นใจนั่นเอง โดยการปลูกเพื่อเอาคุณนั้นให้ปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและควรปลูกในวันเสาร์
  • พะยอมถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ มากมายทั้งเป็นยารักษาโรคเช่น แก้ท้องร่วง แก้ลำไส้อักเสบ บำรุงหัวใจ ลดไข้ เป็นต้น รวมทั้งนำมาใช้ในกระบวนการผลิตอาหารโดยไม้พะยอมเป็นไม้ชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใส่ในกระบอกที่ใช้รับน้ำตาลเพื่อป้องกันการหมักของน้ำตาล มีงานวิจัยได้การวิเคราะห์โดยวิธีเปเปอร์โครมาโทกราฟฟีพบว่าสารสกัดจากเปลือกพะยอมเป็นสารพวกโพลีฟีนอล (polyphenols) ซึ่งสารพวกโพลีฟีนอลเป็นสารประกอบในกลุ่มฟีนอลิกที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โพลีฟีนอลเป็นโภชนเภสัชมีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพคือต้านมะเร็ง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ ลดระดับของคลอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน สามารถช่วยลดการเกิดออกซิเดชันของ low-density lipoprotein (LDL) คอเลสเตอรอล ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ (Morikawa และคณะ, 2012a-b) โดยโครงสร้างของสารฟีนอลิกเป็นสารอินทรีย์ที่มีวงแหวนอะโรมาติก (aromatic ring) มีหมู่ไฮดรอกซิลอย่างน้อย 1 หมู่ จึงสามารถละลายน้ำได้ สารประกอบฟีนอลิกมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ได้แก่ กรดฟีนอลิก ฟลาโวนอยด์ และแทนนินซึ่งมีความสามารถในการยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระตัวใหม่ในปฏิกิริยาลูกโซ่ โดยขัดขวางการดึงอะตอมไฮโดรเจนจากโมเลกุลข้างเคียง ทำหน้าที่เป็นตัวรีดิวซ์และกำจัดออกซิเจนที่อยู่ในรูปแอคทีฟ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ในการดักจับไอออนของโลหะไว้ในโมเลกุลเช่น เหล็กและทองแดง ในปฏิกิริยาที่มีโลหะไอออนจะเป็นการเร่งการสลายโมเลกุลของไฮโดรเปอร์ออกไซด์เป็นการทำให้เกิดอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสาร trans-resveratrol ที่มีคุณสมบัติที่ดีในการต้านอนุมูลอิสระซึ่งพบในปริมาณจากตัวอย่างพะยอม ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกันกับที่พบในองุ่นที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในผลิตภัณฑ์ไวน์
ใบพะยอม
ใบพะยอม ใบเป็นรูปมนรี ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=11214&SystemType=BEDO
https:// www2.dnp.go.th
https://www.flickr.com

Add a Comment