ม่วงมัง หมากมัง สรรพคุณ บำรุงร่างกาย ช่วยให้เจริญอาหาร

ม่วงมัง หมากมัง

       ชื่ออื่นๆ : แก็ก, วงคต, วงคด, องคต (ลำปาง) บงคด (แพร่) นกข่อ, ส้มป้อง (เชียงใหม่) ขิงพร้า, เขียงพร้า (ตราด,ประจวบคีรีขันธ์) กวางล่าม้า (ภาษาชอง-ตราด) ม่วงมัง, หมักมัง(ปราจีนบุรี) โองนั่ง (อุตรดิตถ์) บงมัง (ปราจีนบุรี,อุดรธานี) เขียงพร้านางแอ (ชุมพร) เฉียงพร้า, ตะแบง (สุรินทร์)ร่มคมขวาน (กรุงเทพ) สีฟันนางแอง (ภาคเหนือ) ต่อไส้สันพร้านางแอ (ภาคกลาง) คอแห้ง, สีฟัน (ภาคใต้) สะโข่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) กูมุย(เขมร-สุรินทร์)

ต้นกำเนิด :

ชื่อสามัญ : เฉียงพร้านางแอ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carallia brachiata(Lour)Merr

ชื่อวงศ์ : RHIZOPHORACEAE

ลักษณะของม่วงมัง หมากมัง

ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงประมาณ 25-30 เมตร และสูงได้ถึง 35 เมตร ลำต้นเปลา ตั้งตรง เป็นทรงเรือนยอดทรงพุ่มรูปกรวยกว้างทึบ เปลือกต้นสีน้ำตาลอมแดงถึงสีน้ำตาลอมเทา ผิวเรียบ และมีรูอากาศมาก หรือเปลือกต้นอาจหนาแตกเป็นร่องลึกตามยาว

ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับกับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่กลับ หรือเป็นรูปใบหอกกลับ ปลายใบมนมีติ่งเล็กแหลม ส่วนฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบ มีความกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยงหนาและเหนียว หลังใบสีเขียวเข้มเป็นมันหนา ท้องใบสีอ่อนกว่า มีจุดสีน้ำตาลกระจาย และมีหูใบอ่อนเป็นรูปหอกแหลมที่ปลายกิ่ง เมื่อร่วงจะเห็นรอยแผล บริเวณข้อพองเล็กน้อย ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.4-1 เซนติเมตร

ดอก ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงแบบกระจุกสั้น ๆ มีดอกย่อยจำนวนมากและมีขนาดเล็กเรียงตัวกันแน่นเป็นช่อกลม โดนจะออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง แตกแขนงเป็น 4 กิ่ง กลีบดอกแยกอิสระจากกัน กลีบดอกมีสีครีม ลักษณะเป็นรูปกลม ขอบกลีบหยักเว้าพับจีบ โคนสอบแหลมเป็นก้านติดเรียงสลับกับกลีบเลี้ยง ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนเป็น 2 เท่าของกลีบดอกและยาวไม่เท่ากัน ส่วนจานฐานดอกเป็นวง มีรังไข่เป็นพู 3-4 พู โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์

ผล เป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ขนาดเล็ก และออกเป็นกระจุก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-10 มิลลิเมตร ผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ปลายผลคล้ายมงกุฎ ผิวผลเป็นมัน มีเนื้อบางสีเขียวห่อหุ้มอยู่ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดง และจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงเมื่อสุกจัด ในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลหรือดำ มีเนื้อเยื่อหนาสีส้ม ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต โดยผลจะสุกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

ต้นม่วงมัง
ต้นม่วงมัง ลำต้นเปลา ตั้งตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลอมแดง
ใบม่วงมัง
ใบม่วงมัง ใบรูปรี แผ่นใบเกลี้ยงหนาและเหนียว

การขยายพันธุ์ของม่วงมัง หมากมัง

ใช้เมล็ด

ธาตุอาหารหลักที่ม่วงมัง หมากมังต้องการ

ประโยชน์ของม่วงมัง หมากมัง

  1. ผลสุกใช้รับประทานได้ มีรสเปรี้ยวอมหวาน
  2. ต้นเฉียงพร้านางแอ เป็นไม้ไม่ผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง อีกทั้งดอกมีกลิ่นหอม จึงเหมาะที่จะปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาหรือเป็นไม้ประดับอย่างยิ่ง
  3. ต้นเฉียงพร้านางแอจัดเป็นไม้โตเร็ว จึงเป็นพรรณไม้เพื่อปลูกป่าป้องกันอุทกภัยได้
  4. เนื้อไม้เฉียงพร้านางแอเป็นไม้ที่คงทนแข็งแรงและมีลายไม้ที่สวยงาม จึงนำมาใช้ในการก่อสร้างทั่วๆ ไปได้ดี หรือทำเป็นเครื่องมือทางการเกษตรก็ได้ ทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้ทำฟืนเผาถ่านให้ความร้อนสูง
  5. ผลสุกเป็นอาหารที่โปรดปรานของนก กระรอก และสัตว์ป่าขนาดเล็กหลายชนิด จึงช่วยดึงดูดสัตว์เหล่านี้ได้ดี
  6. ผลสุก(ฤดูฝน)รับประทานได้
  7. ผล ให้สีดำ ใช้ย้อมผ้า แห อวน
  8. ใบ  ชงน้ำดื่ม
  9. เนื้อไม้ เป็นเชื้อเพลิงที่ดี
ดอกม่วงมัง
ดอกม่วงมัง กลีบดอกมีสีครีม

สรรพคุณทางยาของม่วงมัง หมากมัง

  1. ลำต้นใช้ต้มน้ำดื่มช่วยบำรุงร่างกาย (ต้น)
  2. ลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยทำให้เจริญอาหาร หรือใช้เป็นยาเจริญอาหารสำหรับสตรีหลังคลอดบุตร (ต้น)
  3. ลำต้นใช้ฝนน้ำดื่มช่วยแก้ไข้ หรือใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยรักษาไข้ตัวร้อน (ต้น,เปลือกต้น)
  4. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (เปลือกต้น) ช่วยระบายความร้อน (เปลือกต้น)
  5. ช่วยขับเสมหะและโลหิต ปิดธาตุ (เปลือกต้น)
  6. แก่นช่วยขับลม (แก่น)
  7. ช่วยแก้บิด (เปลือกต้น)
  8. ช่วยแก้พิษผิดสำแดง (กินอาหารแสลงไข้ ทำให้อาการของโรคกำเริบ และอาจมีอาการท้องเสีย) ด้วยการใช้ลำต้นผสมกับลำต้นแคด เปลือกของต้นตับเต่า นำมาต้มกับน้ำดื่ม (เปลือก)
  9. ช่วยในการสมานแผล (เปลือกต้น)
  10. ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเฉียงพร้านางแอ สารสกัดแอลกอฮอล์จากส่วนเหนือดินมีฤทธิ์แก้แพ้ ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ได้เล็กน้อยในสัตว์ทดลอง และไม่พบว่ามีพิษเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง
ผลม่วงมัง
ผลม่วงมัง ผลกลม ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีแดง

คุณค่าทางโภชนาการของม่วงมัง หมากมัง

การแปรรูปของม่วงมัง หมากมัง

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9280&SystemType=BEDO
www.ecoforest.phsmun.go.th, www.forest.go.th
www.flickr.com

Add a Comment