วิธีการปลูกทุเรียน ไม้ผลที่มีการเจริญเติบโตและสามารถให้ผลผลิตทั้งปี

ทุเรียน

ทุเรียนราชาผลไม้ไทย” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Durio zibethinus L. อยู่ในวงค์ MALVACEAE ผลของทุเรียนจะมีขนาดใหญ่มีหนามแข็งทั่วทั้งเปลือก ทุเรียนโดยทั่วไปจะมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 1-3 กิโลกรัม  สีของเปลือกจะมีสีเขียวไปจนถึงสีน้ำตาล เนื้อมีสีเหลืองซีดถึงเหลืองเข้ม จัดเป็นผลไม้ที่มีกลิ่นเฉพาะตัว  พันธุ์ทุเรียนที่นิยมปลูกกันมากมี 4 พันธุ์ คือ หมอนทอง ชะนี ก้านยาว และกระดุม วันนี้เกษตรตำบลมีวิธีการปลูกทุเรียน ความรู้เกี่ยวกับการดูแลทุเรียนมาฝากค่ะ

เนื้อผลทุเรียน
เนื้อผลทุเรียน เนื้อสีเหลืองอ่อน

การเลือกพื้นที่ปลูกทุเรียน

ควรคำนึงถึง

  1. แหล่งน้ำ
    ต้องมีแหล่งน้ำจืดให้ต้นทุเรียนได้เพียงพอตลอดปี
  2. อุณหภูมิและความชื้น
    ทุเรียนชอบอากาศร้อนชื้นอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วงประมาณ 25-30 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศประมาณ 75-85% ถ้าปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศแห้งแล้ง มีอากาศร้อนจัดเย็นจัด และมีลมแรง จะพบปัญหาใบไหม้หรือใบร่วง ต้นทุเรียนไม้เจริญเติบโตหรือเติบโตช้าให้ผลผลิตช้าและน้อยไมคุ้มต่อการลงทุน
  3. สภาพดิน
    ควรเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย ดินเหนียวปนทราย ที่มีการรระบายน้ำดี และมีหน้าดินลึก เพราะทุเรียนเป็นพืชที่อ่อนแอต่อสภาพน้ำขัง ความเป็นกรดด้างของดินอยู่ระหว่าง 5.5-6.5 ถ้าจําเป็นต้องปลูกทุเรียนในสภาพดินทราย จําเป็นต้องนําหน้าดินจากแหล่งอื่นมาเสริม ต้องใส่ปุ๋ยคอกและต้องดูแลเรื่องการให้น้ำมากเป็นพิเศษ แหล่งน้ำต้องเพียงพอ

พันธุ์ทุเรียน

  • ชะนี
    ข้อดี
    – ทนทานต่อโรครากเน่า โคนเน่าพอสมควร
    – ออกดอกง่าย
    – เนื้อแห้ง รสดี สีสวย
    ข้อเสีย
    – ออกดอกดกแต่ติดผลยาก
    – เป็นไส้ซึมง่าย
    – อ่อนแอต่อโรคใบติด
  • หมอนทอง
    ข้อดี
    – ราคาสูงกว่าพันธุ์อื่น
    – ติดผลดีมากน้ำหนักผลดี
    – เนื้อมากเมล็ดลีบ มีกลิ่นน้อย เนื้อละเอียดแห้ง ไม่เละ ผลสุก แล้วเก็บไว้ได้นาน
    – ไม่ค่อยเป็นไส้ซึม
    ข้อเสีย
    – อ่อนแอต่อโรครากเน่าโคนเน่า
  • ก้านยาว
    ข้อดี
    – ติดผลดี
    – ราคาค่อนข้างดี
    – น้ำหนักผลดี
    ข้อเสีย
    – ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรครากเน่า โคนเน่า
    – เปลือกหนา
    – เนื้อน้อย
    – เป็นไส้ซึมค่อนข้างง่าย
    – ผลสุกเก็บไว้ได้ไม่นาน ก้นผล แตกง่าย
    – อายุการให้ผลช้า
  • กระดุม
    ข้อดี
    – ไม่มีปัญหาไส้ซึมเพราะ เป็นพันธุ์เบาเก็บเกี่ยวก่อน ฝนตกชุก
    – ออกดอกเร็วผลแก่เร็วจึงขาย ได้ราคาดีในช่วงต้นฤดู
    – ผลดก ติดผลง่าย
    – อายุการให้ผลเร็ว
    ข้อเสีย
    – อ่อนแอต่อโรครากเน่าโคนเน่า

การปลูก

ฤดูปลูก ถ้ามีการจัดระบบการให้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลให้น้ำกับต้นทุเรียน ได้สม่ำเสมอช่วงหลังปลูก ควรปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน แต่ถ้าหากจัดระบบน้ำไม่ทันหรือยังไม่อาจดูแลเรื่องน้ำได้ควรปลูกต้นฤดูฝนเตรียมพื้นที่การปลูกทุเรียน

  1. ไถ ขุดตอ ขุดรากไม้เก่า ออกจากแปลง
    – พื้นที่ดอนไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง : ไถกําจัดวัชพืชอย่างเดียว
    – พื้นที่ดอนมีแอ่งที่ลุ่มน้ำขัง : ไถปรับสภาพพื้นที่ให้เรียบ
    – พื้นที่ลุ่มหรือต่ำมีน้ำท่วมขัง : ทําทางระบายน้ำหรือยกร่อง
  2. กําหนดระยะปลูก
    ระยะระหว่างต้นและระยะระหว่างแถวด้านละ 9 เมตร ปลูกได้ไร่ละ 20 ต้น การทําสวนขนาด ใหญ่ ควรขยายระยะระหว่างแถวให้กว้างขึ้น เพื่อสะดวกต่อการนําเครื่องจักรกลต่างๆ ไปทํางานใน ระหว่างแถว
  3. วางแนวและปักไม่ตามระยะปลูกที่กำหนด
    วางแนวกําหนดแถวปลูกโดยคํานึงว่า แนวปลูกขวางความลาดเทของพื้นที่หรืออาจกําหนดในแนวตั้งฉากกับถนน หรือกําหนดแถวปลูกไปในแนวทิศตะวันออก ตะวันตก และถ้ามีการจัดวางระบบน้ำต้องพิจารณาแนวทางจัดวางท่อในสวนด้วย จากนั้นจึงปักไม่ตามระยะที่กำหนดเพื่อขุดหลุมปลูกต่อไป
    วิธีการปลูกทุเรียนทําได้ 2 ลักษณะ
    1. วิธีการขุดหลุมปลูกเหมาะกับสวนที่ไม่มีการวางระบบน้ำ
    2. วิธีการปลูกแบบไม่ขุดหลุม เหมาะกับสวนที่จัดวางระบบน้ำ
    มีข้อดีคือ ประหยัดแรงงานค้าใช้จ่ายในการขุดหลุม ดินระบายนํ้าและอากาศดี รากเจริญเร็ว

การปลูกทุเรียนแบบขุดหลุม

  1. ขุดหลุมมีขนาดกว้างยาว และลึกด้านละ 50 เซนติเมตร
  2. ผสมปุ๋ยคอกเก่าประมาณ 5 กิโลกรัม และปุ๋ยหินฟอสเฟตครึ่งกิโลกรัม คลุกเคล้ากับดินที่ขุดขึ้นมา กลบกลับคืนไปในหลุมสูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม 
  3. เตรียมต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เป็นโรค ไม่มีแมลงทําลาย และมีใบยอดคู่สุดท้ายแก่ระบบรากแผ่กระจายดี ไม่ขดม้วนงออยู่ก้นถุง
  4. ใช้มีดกรีดก้นถุงออก ถ้าพบรากขดงออยู่ก้นถุงให้ตัดออก
  5. วางถุงต้นกล้าที่ตัดก้นถุงออกแล้ววางลงตรงกลางหลุม จัดให้ตรงแนวกับต้นอื่นๆ พร้อมทั้งปรับระดับสูงตํ่าของต้นทุเรียนให้รอยต่อระหว่างรากกับลําต้นหรือระดับดินปากถุงเดิมสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย
  6. ใช้มีดกรีดด้านข้างถุงจากล่างขึ้นบนทั้งสองด้าน 
  7. ดึงถุงพลาสติกออก ระมัดระวังอย่าให้ดินในถุงแตก 
  8. กลบดินที่เหลือลงไปในหลุมอย่ากลบดินสูงถึงรอยเสียบยอด หรือรอยทาบ
  9. ปักไม้หลักข้างต้นทุเรียนที่ปลูกแล้ว พร้อมทั้งผูกเชือกยึดไว้เพื่อป้องกันลมพัดโยก
  10. กดดินบริเวณโคนต้น หาวัสดุคลุมโคนต้นแล้วรดน้ำตามให้โชก
  11. จัดทําร่มเงาให้ต้นทุเรียนที่เพิ่งปลูก โดยใช้ทางมะพร้าว ทางจาก แผงหญ้าคา ทางระกํา หรือตาข่ายพรางแสง เมื่อทุเรียนตั้งตัวดีแล้วควรปลดออก หรืออาจปลูกไม้เพื่อให้ร่มเงา เช่น กล้วยก็จะช่วยเป็นร่มเงาและเพิ่มความชื้นในสวนทุเรียนได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่อากาศแห้งและมีแสงแดดจัด 
  12. แกะผ้าพลาสติกที่พันรอยเสียบยอดหรือทาบออกเมื่อปลูกไปแล้วประมาณ 1-2 เดือน

การปลูกทุเรียนแบบไม่ขุดหลุม

  1. โรยปุ๋ยหินฟอสเฟต 500 กรัม หรือประมาณหนึ่งกระป๋องนมครึ่ง ตรงตําแหน่งที่ต้องการปลูกกลบดินบางๆ 
  2. นําต้นพันธุ์มาวาง แล้วถากดินข้างๆ ขึ้นมาพูนกลบ แต่ถ้าหากเป็นดินร่วนปนทราย ดิน ทราย ดินจะไม้เกาะตัวกัน ควรใช้วิธีขุดหลุมปลูก หรือจะใช้วิธีดัดแปลง
  3. วิธีดัดแปลง คือ น้ำหน้าดินจากแหล่งอื่น มากองตรงตําแหน่งที่จะปลูก กองดินควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร สูง 15 เซนติเมตร แหวกกลางกองดินโรยปุ๋ย หินฟอสเฟตในช่องที่แหวกไว้ กลบดินบางๆ วางต้นพันธุ์ดีลงตรงช่องที่แหวกไว้กลบดินทับ
  4. การแกะถุงออก ต้องระมัดระวังอย่าให้ดิน แตก อาจทําได้โดยกรีดก้นถุงออกก่อน แล้วนําไปวางในตําแหน่งที่ปลูก กรีดถุงพลาสติกให้ขาดจากล่างขึ้นบน แล้วจึงค่อยๆ ดึงถุงพลาสติกออกเบาๆ 
  5. ระมัดระวังอย่ากลบดินให้สูง ถึงรอยเสียบยอดหรือรอยทาบ
  6. หาวัสดุคลุมโคน และจัดทําร่มเงาให้กับต้นทุเรียนเหมือนการปลูกโดยวิธีขุดหลุม
ต้นทุเรียน
ต้นพันธุ์ทุเรียน

การปฏิบัติดูแลรักษาทุเรียน

การปฏิบัติดูแลทุเรียนในช่วงก่อนให้ผลผลิต
เป็นสิ่งสําคัญที่จะทําให้ทุเรียนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และให้ผลผลิตได้เร็วขึ้น

  1. ในระหว่างรอทุเรียนให้ผลผลิต ในช่วงแรกควรปลูกพืชแซมเสริมรายได้ โดยเลือกพืชให้ตรง กับความต้องการของตลาด 
  2. เมื่อตรวจพบทุเรียนตายหลังปลูกให้ทำการปลูกซ่อม
  3. การให้น้ำช่วงเวลาหลังจากปลูกจะตรงกับฤดูฝน ถ้ามีฝนตกหนักควรทําทางระบายน้ำ และตรวจดูบริเวณหลุมปลูก ถ้าดินยุบตัวเป็นแอ่งมีน้ำขังต้องพูนดินเพิ่ม ถ้าฝนทิ้งช่วง ควรรดน้ำให้ดิน มีความชื้น อยู่เสมอ ในปีต่อๆ ไป ควรดูแลรดนํ้าให้ต้นไม้ผลอย่างสมํ่าเสมอ และในช่วงฤดูแล้งควรใช้วัสดุคลุมดิน เพื่อช่วยรักษาความชื้นในดิน เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง
  4. การตัดแต่งกิ่ง
    ปีที่ 1-2 ไม่ควรตัดแต่ง ปล่อยใหต้นทุเรียนเจริญเติบโตอย่างเต็มที่
    ปีต่อๆ ไป ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งแขนง กิ่งกระโดงในทรงพุ่ม กิ่งเป็นโรคออก เลี้ยงกิ่งแขนง ที่สมบูรณ์ที่อยู่ในแนวขนานกับพื้น (กิ่งมุมกว้าง) ไว้ในปริมาณและทิศทางเหมาะสม โดยใหกิ่งล่างสุดอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 80-100 เซนติเมตร
  5. การป้องกันกําจัด
    ช่วงแตกใบอ่อน : ควรป้องกันกําจัดโรคใบติด เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟ ไรแดง
    ช่วงฤดูฝน : ป้องกันกําจัดโรครากเน่าโคนเน่าและควบคุมวัชพืชโดยการปลูกพืชคลุมดิน และอาจจะกําจัดโดยใช้แรงงานขุด ถาก ถอน ตัด พยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเพราะต้นทุเรียนยังเล็กอยู่ละอองสารเคมีอาจจะไปทําลายต้นทุเรียน
  6. การทําร่มเงา
    ในช่วงฤดูแล้ง แสงแดดจัดมาก ทําให้ทุเรียนใบไหม้ได้ควรทําร่มเงาให้
  7. การใส่ปุ๋ยควรทําดังนี้
    – ใส่ปุ๋ยหลังจากตัดแต่งกิ่ง
    – ใส่ปุ๋ยพร้อมกับการทําโคน คือ ถากวัชพืชบริเวณใต้ทรงพุ่ม หว่านปุ๋ย และพรวนดิน นอกชายพุ่มขึ้นมากลบใต้ทรงพุ่ม ให้มีลักษณะเป็นหลังเต่า และขยายขนาดของเนินดินให้กว้างขึ้นตาม ขนาดของทรงพุ่ม หรือจะใส่ปุ๋ย โดยวิธีใช้ไม้ปลายแหลมแทงดินเป็นรูหยอดปุ๋ย ใส่และปิดหลุมเป็นระยะให้ทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่ม วิธีหลังนี้แม้จะเปลืองแรงงานแต่ช่วยลดการสูญเสียของปุ๋ย จากการระเหย หรือถูกน้ำชะพา
    – หว่านปุ๋ยคอกก่อนและตามด้วยปุ๋ยเคมี
    – ควรใส่ปุ๋ยในบริเวณใต้ทรงพุ่มโดยรอบ และให้ห่างจากโคนต้นประมาณ 20-30 เซนติเมตรขึ้นไป ขึ้นกับขนาดทรงพุ่มปริมาณและเวลาใส่ปุ๋ย
    ปีที่ 1 : ใส่ปุ๋ยและทําโคน 4 ครั้ง (เดือนเว้นเดือน)
    ครั้ง ที่ 1-3 ใส่ปุ๋ย คอก 5 กิโลกรัมต่อต้น (ประมาณ 1 ปีบ)
    ครั้ง ที่ 4 – ใส่ปุ๋ย คอก 5 กิโลกรัมต่อต้น (ประมาณ 1 ปีบ)
    – ใส่ปุ๋ย เคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 150-200 กรัมต่อต้น (ครึ่งกระป๋อง นมข้น) 
    ปีต่อๆ ไป (ระยะที่ทุเรียนยังไม่ให้ผลผลิต) : ใส่ปุ๋ยและทําโคน 2 ครั้ง (ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน)
    ครั้งที่ 1 (ต้นฝน) ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณครึ่งถึง 3 กิโลกรัมต่อต้น
    ครั้งที่ 2 (ปลายฝน) ใส่ปุ๋ยคอก 15-50 กิโลกรัมต่อต้น (ประมาณ 3-10 ปีบ)
    ใสปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณครึ่ง ถึง 3 กิโลกรัมต่อต้น ปริมาณปุ๋ย เคมีที่ใส่ในแต่ละครั้งขึ้นกับขนาดของทรงพุ่ม โดยยึดหลักว่า วัดจากโคนต้นมายังชายพุ่ม เป็นเมตรได้เท่าไร คือ จํานวนปุ๋ย เคมีที่ใส่เป็นกิโลกรัม เช่น
    ระยะจากโคนต้นถึงชายพุ่ม 1 เมตร ใส่ปุ๋ย 1 กิโลกรัม
    ระยะจากโคนต้นถึงชายพุ่ม 2 เมตร ใส่ปุ๋ย 2 กิโลกรัม
    ระยะจากโคนต้นถึงชายพุ่ม 2 เมตรครึ่ง ใส่ปุ๋ย 2 กิโลกรัมครึ่ง
ต้นทุเรียน
ต้นทุเรียน ไม้ยืนต้น ไม่มีการผลัดใบ

การปฏิบัติดูแลทุเรียนในช่วงที่ให้ผลแล้ว

เป็นสิ่งสําคัญที่จะทําให้ทุเรียนออกดอกติดผลมาก และให้ผลผลิต คุณภาพดี การเตรียมต้นให้พร้อมที่จะออกดอก คือการเตรียมให้ต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์ มีอาหารสะสมเพียงพอ เมื่อทุเรียนมีใบแก่ทั้งต้น และสภาพแวดล้อมเหมาะสม ฝนแล้ง ดิน มีความชื้นต่ำอากาศเย็นลงเล็กน้อยทุเรียนก็จะออกดอก ขั้นตอนต่างๆ จะต้องรีบดําเนินการภายหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังนี้

  1. การตัดแต่งกิ่ง
    หลังเก็บเกี่ยวให้รีบตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งเป็นโรค กิ่ง แขนง ด้านในทรงพุ่มออกโดยเร็ว ทารอยแผลที่ตัดด้วยสารเคมีป้องกันกําจัด เชื้อรา หรือปูนแดงกินกับหมาก
  2. หลังตัดแต่งกิ่งให้กําจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ยทันที
    – ปุ๋ยคอก 15-50 กิโลกรัมต่อต้น (ประมาณ 3-10 ปีบ)
    – ปุ๋ยเคมีสตู ร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ในอัตรา 3-5 กก. ต่อต้น
    (ทุเรียนต้นที่ขาดความสมบูรณ์ต้องการปุ๋ยมากกว่าทุเรียนต้น ที่มีความสมบูรณ์อยู่แล้วทุเรียนต้นที่ให้ผลผลิตไปมาก ต้องการปุ๋ยมากกว่าทุเรียนที่ให้ผลผลิตน้อย)
  3. ในช่วงฤดูฝน
    – ถ้าฝนตกหนัก จัดการระบายน้ำออกจากแปลงปลูก
    – ถ้าฝนทิ้งช่วง ให้รดนํ้ำแก่ต้นทุเรียน
    – ควบคุมวัชพืช โดยการตัดและ หรือใช้สารเคมี
    – ป้องกันกําจัดโรคแมลง เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคใบติด โรคแอนแทรกโนส เพลี้ยไก่แจ้ ไร แดงและเพลี้ยไฟ
  4. ในช่วงปลายฤดูฝน
    – เมื่อฝนทิ้งช่วงให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24, 9-24-24 หรือ 12-24-12 2-3 กก.ต่อต้นเพื่อช่วยในการออกดอก
    – ให้กําจัดวัชพืชใต้ทรงพุ่ม กวาดเศษหญ้า และใบทุเรียนออกจากโคนต้น เพื่อให้ดินแห้งเร็วขึ้น
    – งดการให้นํ้า10-14 วัน เมื่อสังเกตเห็นใบทุเรียนเริ่มลดลงต้องเริ่มให้น้ำทีละน้อยเพื่อกระตุ้นให้ตามดอกเจริญอย่าปล่อยให้ขาดน้ำนานจนใบเหลืองใบตกเพราะตาดอกจะไม่เจริญ และระวังอย่าให้นํ้ามากเกินไป เพราะช่อดอกอาจเปลี่ยนเป็นใบได้
    วิธีให้น้ำทีเหมาะสม คือ ให้น้ำแบบโชยๆ แล้วเว้นระยะ สังเกตอาการของใบและดอก เมื่อเห็นดอกระยะไข่ปลามากพอแล้ว ก็เพิ่มปริมาณให้มากขึ้นเรื่อยๆ จนสู่สภาวะปกติ
ทุเรียน
ทุเรียน ผลมีเปลือกหนา มีหนามแหลมแข็งเป็นรูปปิรามิดตลอดผล

ราคาขาย

ราคา ณ วันที่ 5 เมษายน 2565

  • ทุเรียนหมอนทอง (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 170 บาท / กลางสวย 155 บาท / เล็กสวย ราคากิโลกรัมละ 130 บาท 
  • ทุเรียนกระดุม (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 120 บาท / กลางสวย 110 บาท / เล็กสวย ราคากิโลกรัมละ 90 บาท
  • ทุเรียนชะนี (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 135 บาท / กลางสวย 125 บาท / เล็กสวย ราคากิโลกรัมละ 100 บาท 
  • ทุเรียนก้านยาว (ใหญ่สวย) ราคากิโลกรัมละ 120 บาท / เล็กสวย ราคากิโลกรัมละ 100 บาท  ราคา ณ วันที่ 18 กันยายน 2464

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
http://www.eto.ku.ac.th
https://www.simummuangmarket.com
https://www.flickr.com

Add a Comment