วิธีเลี้ยงไก่พื้นเมืองหรือไก่บ้าน เลี้ยงได้ทั่วไป มีความต้านทานต่อโรคและพยาธิ

ไก่พื้นเมือง

ไก่พื้นเมืองหรือไก่บ้าน คือ ไก่ที่เลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้านของเกษตรกร นักวิชาการบางท่านเรียก “ไก่ตกสํารวจ” มีจํานวนรวมทั่วประเทศ ประมาณ 800-120 ล้านตัว เป็นพันธุ์ไก่ชนบ้าง ไก่แจ้บ้าง ส่วนหนึ่งกลายเป็นอาหารของชาวบ้าน แต่อีกส่วนหนึ่งกลายเป็นเงินออมกระแสรายวัน ต้องการเงินเมื่อใดก็จับขายให้พ่อค้าช่วยแก้ปัญหาเมื่อเกิดความล้มเหลวจากการเกษตรได้

ราคาไก่พื้นเมืองหรือไก่บ้านแพงกว่าราคาของไก่พันธุ์เนื้อและไก่กระทงประมาณร้อยละ 25-30 ไก่พื้นเมืองจึงให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงกว่า ขณะที่ต้นทุนผลิตตํ่ามากหรือเกือบไม่มีเลยเพราะไก่พื้นเมืองหากินจากเศษอาหารที่ตกหล่นจาก ครัวเรือน ข้าวเปลือกหล่นหลังเก็บเกี่ยว หนอนและแมลงในธรรมชาติ

ไก่พื้นเมืองในแง่การบริโภคเป็นอาหารก็มีเนื้อที่รสชาติดีกว่าไก่พันธุ์เนื้อจากต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับกันดีอยู่แล้ว และยังเป็นอาหารโปรตีนที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับชาวบ้านในชนบท และงานเทศกาลงานประเพณีต่างๆ ก็นํามาปรุงเป็นอาหาร ต้อนรับแขกเหรื่อได้อย่างดี โดยที่เกษตรกรไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากนัก จึงน่าจะมีการสนับสนุนให้ชาวบ้านในชนบทขยายการเลี้ยงไก่พื้นเมืองออกไปให้มากกว่านี้ โดยจะต้องหาวิธีทำอย่างไรให้ไก่ไม่ตายจากโรคระบาด และมีคำแนะนำการปรับปรุงพันธุ์ให้ไก่พื้นเมืองของเราโตเร็ว ไข่ดกมากขึ้น

ไก่พื้นเมืองหรือไก่บ้าน
ไก่พื้นเมืองหรือไก่บ้าน นิยมเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคเนื้อ

 

ไก่พื้นเมืองกับความสามารถในการผลิต

แม้ว่าความสามารถในการผลิต เช่น การให้เนื้อและไข่ของไก่พื้นเมืองเพื่อการค้าในปัจจุบัน แต่จริงๆ แล้วผลตอบแทนจากไก่พื้นบ้านจะน่าสนใจทีเดียว เพราะในอายุ 8 สัปดาห์เท่ากัน แม่ไก่พื้นเมืองจะมีน้ำหนักน้อยกว่า (768 กรัม) เมื่อเทียบกับไก่พันธุ์ เนื้ออายุ 8 สัปดาห์เท่ากัน (1,997 กรัม) แต่ก็กินอาหารน้อยกว่ากันถึง 2 กิโลกรัม และไก่พื้นเมืองขายได้ราคาดีกว่า คือ กิโลกรัมละ 2.62 บาท ขณะที่ไก่พันธุ์เนื้อขายได้ เพียงกิโลกรัมละ 1.30 บาท เท่านั้น

กระทั่งอัตรารอดก็สูงกว่าไก่พันธุ์เนื้อ

มีหลักฐานจากการศึกษาของนักวิชาการยืนยันว่า ไก่พื้นบ้านมีความต้านทาน ต่อโรคและพยาธิดีกว่าไก่พันธุ์จากต่างประเทศ

จากการศึกษาของ สวัสดิ์ ธรรมบุตรและคณะพบว่า แม่ไก่พื้นบ้าน 1 ตัวจะฟัก ลูกไก่ได้ 19 ตัวต่อปี ซึ่งถ้าลูกไก่ดังกล่าวไม่ตาย และเติบโตเต็มที่ขนาดประมาณ 1 กิโลกรัม ปีหนึ่งๆ ควรจะมีรายได้จากไก่ประมาณ 600 บาท ต่อแม่ต่อปี

โดยเฉลี่ยเกษตรกร จะเลี้ยงไก่ไว้กับบ้าน ประมาณ 5-10 แม่ต่อครอบครัว ดังนั้น รายได้ในแต่ละปีควรจะเป็น 3,000 บาท-9,000 บาท สําหรับ 1 ครอบครัว ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่เลวนัก ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นรายได้ที่ 

  1. อยู่ในขีดความสามารถที่ทำได้
  2. เป็นรายได้ที่คิดจากผลผลิตที่ตํ่าสุดที่ไก่พื้นเมืองจะทําได้ในสภาพการเลี้ยงดูของเกษตรกรในระดับหมู่บ้าน

ถ้าหากเกษตรกรรู้จักการปรับปรุงการเลี้ยงดู พยายามศึกษาการป้องกันโรคระบาดด้วยวัคซีนอยู่เสมอ รายได้จากไก่พื้นเมืองที่ควรจะได้รับจริงๆ นั้นย่อมได้เพิ่มขึ้น อย่างแน่นอน

พันธุ์และการผสมพันธุ์

ไก่พื้นเมืองที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไปมีอยู่ 2 พันธุ์ คือ

  1. ไก่อู เป็นไก่พันธุ์หนัก ลําตัวใหญ่ เนื้อมาก นํ้าหนักมาก ตัวเมียขนสีดํา ปก คลุมทั้งตัว ส่วนตัวผู้มีลักษณะเป็นไก่ชนมีขนาดใหญ่ แข็งแรง ลักษณะคล้ายไก่ฝรั่ง พันธุ์คอร์นิช หน้าอกใหญ่ หงอนมีหลายชนิด เช่น หงอนกุหลาบ (ไก่ชนส่วนใหญ่มี หงอนชนิดนี้) หงอนจักร เนื้อดํา เนื้อแดง ขนขาว ขนลาย ขนเขียว เป็นต้น
  2. ไก่ชน เป็นไก่พันธุ์พื้นเมืองที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้เพื่อเกมกีฬา แต่น่าจะถือได้ว่า เป็นสายพันธุ์แท้ของไก่พื้นเมืองของคนไทยเราได้ดีพันธุ์หนึ่ง เพราะได้ผ่านการผสม พันธุ์และคัดเลือกพันธุ์มาเป็นเวลาช้านาน ควรที่จะใช้เป็นพันธุ์พื้นฐานในการขยายพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์เพื่อผลทางด้านเศรษฐกิจต่อไป

อีกพันธุ์หนึ่งเป็นไก่พันธุ์พื้นบ้านของไทยเหมือนกัน คือ ไก่แจ้ เป้นไก่พันธุ์เล็ก นิยมเลี้ยงไว้ดูเล่น แต่ให้ไข่ดก ถ้ามีการปรับปรุงพันธุ์ให้ดีอาจกลายเป็นไก่พื้นเมืองพันธุ์ไข่ไปก็ได้

นอกจากนี้ ไก่พันธุ์พื้นเมืองที่นิยมเลี้ยงไว้ตามท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทยยังมี อีกหลายพันธุ์ อาทิ ไก่ตะเภา ไก่เบตง เป็นต้น

ไก่ทุกเพศทุกรุ่น จะถูกปล่อยรวมกันในบริเวณบ้าน การผสมพันธุ์เป็นไปตาม ธรรมชาติ แม่ไก่จะได้รับการผสมพันธุ์จากตัวผู้ที่คุมฝูง จํานวนไก่พ่อพันธุ์ต่อแม่พันธุ์ให้อยู่ประมาณ 1 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 7 ตัว แม่ไก่จะวางไข่ชุดละ 10-15 ฟอง ปีละประมาณ 3 ชุด เมื่อแม่ไก่วางไข่จนหมดชุดแล้วก็จะหยุดไข่และเริ่มฟักไข่ เมื่อลูกออกเป็นตัวแม่ไก่จะเลี้ยงดูลูกไก่ไประยะหนึ่ง จนลูกไก่หากินเองได้ แม่ไก่จะเริ่มวางไข่อีกครั้ง

ไก่พื้นเมืองไก่บ้าน
ไก่พื้นเมืองไก่ มีลักษณะลำตัวที่ใหญ๋ ลำตัวมีหลายสี

การสร้างคอกไก่

โดยทั่วไป เกษตรกรมักจะมองไม่เห็นความสําคัญของการสร้างคอก หรือกรง สําหรับให้ไก่พื้นเมืองอาศัยอยู่ จึงมักประสบปัญหาทั้งในแง่ที่ทําให้ผลผลิตที่ได้จากไก่ลดน้อยลงไป ปล่อยให้ศัตรูของไก่ เช่น สุนัข แมว งู พังพอน หนู นกเค้าแมว หรือนกเหยี่ยว ทําอันตรายต่อลูกไก่ หรือพ่อแม่ไก่ได้ง่าย และยังเป็นสาเหตุทำให้ไก่มีโอกาสเกิดโรค ระบาดได้ง่าย

การสร้างคอก หรือกรงไก่จึงนับว่ามีความสําคัญอย่างยิ่ง มองข้ามไม่ได้ทีเดียว ส่วนหลักในการสร้างคอกหรือกรงไก่พื้นเมืองนั้นมีอยู่ว่าต้องใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นไว้ก่อน เพราะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยประหยัดค่าก่อสร้างได้ เช่น ไม้ไผ่ แฝก หญ้าคา ใบ ตองตึง และจาก เป็นต้น เพราะคอกหรือกรงนั้นมีเป้าหมายอยู่ที่การป้องกันลมและฝน และศัตรูของไก่ เมื่อเกิดโรคระบาดก็สามารถควบคุมได้ไม่ให้น้ำเชื้อไประบาดในย่านอื่นๆ ได้ด้วย หรือเมื่อฉีดวัคซีนก็ทําได้ง่าย

ลักษณะของคอกหรือกรงไก่ ควรจะมีลักษณะดังนี้

  1. ต้องระบายอากาศได้ดี กันลมโกรก และกันฝนสาดได้ดี
  2. สร้างได้ง่าย ประหยัดเงิน
  3. อากาศเย็นสบาย ไม่อับชื้น
  4. รักษาความสะอาดได้ง่าย ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคได้ทั่วถึง
  5. สะดวกต่อการเข้าไปปฏิบัติดูแลไก่

คอกไก่ที่นิยม ส่วนมากเป็นแบบเพิ่งหมาแหงน เพราะเป็นแบบที่สร้างได้ง่ายไม่ซับซ้อน ส่วนหน้าของคอกให้อยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนท้ายคอกอยู่ทางตะวันตก จะช่วยลดผลเสียอันเกิดจากแดดในตอนบ่ายเมื่ออากาศร้อนได้ดี และคอกไม่ควรหันหน้าเข้าหาแนวลมมรสุม ควรมีชายคายื่น ยาวออกมาข้างละ 1 เมตร เพื่อบรรเทาไอแดดและละออง

การปรับปรุงบำรุงพันธุ์

ไก่พื้นเมือง
ไก่พื้นเมืองจะต้องมีการปรับปรุงบํารุงพันธุ์ เพื่อให้มีสายพันธุ์ดีขึ้น โดยสามารถ ทําไดง่ายๆ ดังนี้

  1. คัดแต่ตัวที่ดีไว้ขยายพันธุ์ต่อไปโดยเฉพาะพ่อพันธุ์ อย่าเสียดายตัวที่มี ลักษณะไม่ดีไว้ในฝูง
  2. อย่าให้มีการผสมพันธุ์กันระหว่างพ่อกับลูก หรือพี่นอ้งชุดเดียวกันผสมกันที่เราเรียกว่าการผสมแบบเลือดชิด ควรมีการปรับปรุงพ่อพันธุ์บ่อยๆ 
  3. อัตราส่วน พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่ควรเกิน 1 ต่อ 10 (แม่พันธุ์ 10 พ่อพันธุ์ 1)
  4. ลักษณะของไก่พื้นเมืองที่ดี ควรมีรูปทรงดังนี้
    – หลังกว้าง
    – กระดูกอก ยาว ลึก ลําตัวมีความจุ
    – ขาแข็งแรง ทึบ หนา ห่างกัน
    – คอสั้น
    – ขนงอกเร็ว

    ลักษณะไก่พื้นเมืองที่ไม่ดี
    – หลังแคบ
    – กระดูกอกสั้น ตื้น
    – ขายาวบาง ชิดกัน
    – คอยาว
    – ขนงอกช้า
  5. เน้นลักษณะ การเจริญเติบโตเร็วเป็นหลัก มากกว่าการให้ไข่ เพราะลักษณะ นี้คัดได้ง่ายกว่า และโดยทั่วไปเราเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อกินเนื้อมากกว่าเพื่อกินไข่

การเลือกและฟักไก่พื้นเมือง

ไข่ฟัก คือ ผลที่เกิดจากการผสมพันธุ์ในการสืบสายเลือดลูกย่อมได้ลักษณะ ต่างๆ ของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ ซึ่งอาจได้ทั้งลักษณะดีและลักษณะเลว การคัดเลือกไข่ เข้าฟักจึงควรพิจารณาดังนี้

  1. ควรเป็นไข่ที่มาจากฝูงพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่ดี
  2. ภายนอกสะอาด ไข่รูปทรงปกติไม่ร้าว ไม่เบี้ยว เปลือกบาง ช่องอากาศหลุดลอยหรืออยู่ผิดที่ มีจุดเลือดโต เป็นต้น
  3. ขนาดไข่ ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินควร
  4. ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 14 วัน โดยเฉพาะในฤดูร้อนอุณหภูมิที่เก็บไข่ควรอยู่ระหว่าง 50-60 องศาฟาเรนไฮต์ (18 องศาเซลเซียส) ความชื้นในห้องเก็บ 80-90 เปอรืเซ็นต์
  5. ควรมีการกลับไข่วันละครั้ง ก่อนแม่ไก่จะฟัก
  6. จํานวนไข่ฟักควรอยู่ระหว่าง 10-12 ฟอง ดังนั้นไข่ 1-2 ฟองแรกควรนํา ไปบริโภคจะดีที่สุด เพราะไข่จะมีเล็กว่าปกติ อายุการเก็บมักจะเกิน 14 วัน เชื้อมักจะ ไม่ดีและจะเป็นการแก้ปัญหา “ไข่ล้นอกแม่” ไปในตัวด้วย
  7. หมั่นตรวจรังฟักอยู่เสมอว่ามีตัวหมัด เหา ไร บ้างหรือเปล่า ถ้ามีให้ย้ายแม่ไก่และไข่ฟักไปรังอื่น ส่วนรังที่มีหมัด เหา ไร นั้นให้เผาไฟเสีย ป้องกันไม่ให้แพร่พันธุ์ต่อไป เพราะไรเป็นศัตรูสำคัญในการบั่นทอนสุขภาพของไก่ หากมี เหา ไร เหลืออยู่ใน รัง เมื่อลูกไก่กะเทาะเปลือกไข่ออกมา จะถูกตัว เหา ไร กัดกินเลือด ทําให้ลูกไก้เสียสุขภาพตั้งแต่เล็กๆ เป็นของไม่ดีเลย ฉะนั้นขอให้ท่านระวังเรื่องนี้ให้จงหนัก
  8. ในหน้าร้อน (มีนาคม-เมษายน) แม่ไก่จะฟักไข่ออกไม่ดี ควรพ่นน้ำที่ไข่ฟัก แม่ไก่ฟักไข่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ พ่นเช้า-บ่าย บริเวณรังไข่ทุกวัน จะช่วยให้ไข่ฟักออกได้มากขึ้น

การส่องไข่ฟัก

ประโยชน์ของการส่องไข่เพื่อเอาไข่ที่ฟักไม่ออก เช่น ไข่ไม่มีเชื้อไข่เชื้อตาย และ ไข่เสียออกทิ้งก่อนที่มันจะแตกส่งกลิ่นเหม็นในรังฟัก การปฏิบัติเช่นนี้ยิ่งทําได้มากครั้งก็ยิ่งช่วยเปอร์เซ็นต์การฟักมากขึ้น สําหรับไข่ที่ไม่มีเชื้อที่ส่อง 3 วัน อาจใช้ปรุงอาหารได้

วิธีทําที่ส่องไข่ไข่อย่างง่ายๆ อาจทําได้โดยอาศัยแสงแดด ด้วยการม้วนกระดาษ แข็งเป็นวงกลมขนาดไข่ แล้วนําไข่ฟักมาใส่ตรงปลายกระดาษม้วน แบบย้อนแสงแดด ถ้าไข่มีเชื้อแล้วจะเห็นเป็นร่างแห เส้นเลือดกระจายอยู่ในไข่ฟักถ้าไม่มีเชื้อไข่ฟักจะว่าง

การเลี้ยงลูกไก่
การเลี้ยงลูกไก่ ควรให้ลูกไก่อยู่กับแม่ไก่ก่อน

วิธีเลี้ยงลูกไก่วัยอ่อน

เมื่อลูกเจี๊ยบออกจากไข่สักพักหนึ่ง ขนที่เปียกอยู่จะแห้ง และเริ่มเดินเตาะแตะ ได้แล้ว แต่ยังอยู่ในความดูแลของแม่ไก่ต่อไป ในระยะเวลาประมาณ 7 วันแรก ลูกไก่วัย อ่อนยังอยู่ในระยะอันตรายมากไม่สมควรที่จะปล่อยให้แม่ไก่ออกจากกรง มาเที่ยวคุ้ย เขี่ยควรขังแม่ไก่เอาไว้ โดยใช้สุ่มหรือกรงขังพิเศษที่ปล่อยให้ลูกไก่ออกมาเดินเล่นยืด เส้นยืดสายได้ แต่ต้องระมัดระวังศัตรูของลูกไก่ เช่น หมาและแมงให้มาก บางทีเหยี่ยวก็ เป็นตัวอันตรายมากตัวหนึ่ง

การปล่อยแม่ไก่ออกมาคุ้ยเขี่ยอาหารให้ลูกไก่ ควรทําได้บ้างหลังจาก 1 สัปดาห์ไปแล้ว แต่ไม่ควรปล่อยในเวลาเช้าตรู่ เพราะนํ้าค้างยังไม้แห้ง และไม่ควรปล่อยในเวลา ที่ฝนกําลังตกหรือเพิ่งหยุดตกใหม่ๆ จะทําให้ลูกไก่หนาวตายได้ และที่คอยระวังให้ดีก็ คือตัวแม่ไก่เอง เพราะบางที่แม่ไก่เองอาจปฏิบัติหน้าที่ของแม่บกพร่อง เช่น นําลูกไป เที่ยวตามที่ชื้นแฉะ หรือตามป่ารกร้าง บ่อยครั้งในเวลาคุ้ยเขี่ยอาหารให้กับลูกไก่ แม่ไก่ อาจทําให้เศษไม้ เศษหิน เศษดิน กระเด็นไปถูกลูกเข้าก็ได้ เป็นเหตุให้ลูกไก่บอบช้ำเสียสุขภาพหรืออาจถึงพิการตั้งแต่ยังอยู่ในวัยอ่อนหรือไม่ก็อาจทําให้ถึงตายได้

เมื่อลูกไก่อายุได้ประมาณ 1 เดือน หรือเกินกว่านี้ไปแล้ว จึงค่อยใส่ใจน้อยลงนอกจากเรื่องของอาหาร เพราะในวัยขนาดนี้ลูกไก่ของเราแข็งแรงพอแล้ว การที่เราไม่ประคบประหงมลูกไก่ในช่วงที่กำลังเติบโต เช่นนี้ จะยิ่งเป็นผลดีต่อลูกไก่ด้วยซ้ำเพราะจะทําให้ลูกไก่มีชีวิตชีวา กระโดดโลดเต้นไปตามธรรมชาติของมัน ลูกไก่จะแข็งแรงและอดทนทรหด

ในลานปล่อยควรมีที่ทางกว้างขวางเพียงพอที่ลูกไก่จะวิ่งเล่นซุกซนได้เพียงพอถ้าเป็นลานหญ้าก็จะดีมากๆ เพราะลูกไก่จะได้มีโอกาสวิ่งไล่จับแมลงในที่แจ้งได้นานๆและควรเป็นลานที่มีแสงสว่างส่องทั่วถึง ในเวลากลางคืน ควรให้ลูกไก่ได้หลับนอกตามความสมัครใจ แต่ต้องให้ลูกไก่นอนบนคอนเตี้ยๆ ห่างๆ อย่าให้นอนบนลานเด็ดขาดเพราะจะทําให้มันเสียสุขภาพ กระดูกแข็งขาจะไม่แข็งแรง ไม่มั่นคง

การให้อาหารลูกไก่

การให้อาหารลูกไก่นั้น มีความสําคัญไม่น้อย เพราะลูกไก่ต่างอายุกันย่อม ต้องการอาหารไม่เหมือนกัน วิธีให้อาหารขอแนะนํา ดังนี้

  • ลูกไก่อายุ 1 วัน เมื่อแรกเอาลงจากรังยังไม่สมควรจะให้กินอาหารก่อน เพราะลูกไก่มีอาหารสํารองหรือไข่แดงอยู่ในกระเพาะแล้ว จึงควรให้กินเฉพาะน้ำสะอาดและกรวดทรายเม็ดเล็ก
  • ลูกไก่อายุ 2-7 วัน ควรให้กินปลายข้าวผสมกับอาหารไก่ที่ขายเป็นถุงตาม ร้านขายอาหารสัตว์ทั่วไป จะสะดวกต่อการเลี้ยงและทําให้ลูกไก่โตเร็ว ให้ 2 เวลา เช้าและเย็น และให้กินครั้งละน้อยๆ เท่าที่ลูกไก่จะกินหมดภายใน 3 ถึง 5 นาที และมีน้ำสะอาดกับกรวดทรายเล็กๆ ตักทิ้งไว้ให้กินตลอดวัน
  • ลูกไก่ 8-30 วัน เป็นระยะที่ลูกไก่หาอาหารอื่นๆ กินได้บ้างแล้ว แต่เราต้องมีอาหารให้ลูกไก่วัยนี้กินด้วยเช่นกัน อาหารลูกไก่อายุประมาณ 2 สัปดาห์ขึ้นไป มีปลายข้าวอย่างดี 2 ส่วน หรือจะเป็นจําพวกรําข้าวหยาบจากโรงสีในท้องถิ่นก็ได้ เพราะคงจะสะดวกในการจัดหา รวมกับอาหารไก่รุ่นใช้เลี้ยงลูกไก่พื้นเมืองได้จนอายุ 30 วัน เมื่อพ้นระยะดังกล่าวไปแล้ว ไก่พื้นเมืองก็โตพอที่จะหาอาหารจากธรรมชาติได้เอง
การให้อาหารลูกไก่
การให้อาหารลูกไก่ เมื่อลูกไก่อายุ 2-7 วันควรกินปลายข้าว

การให้อาหารไก่รุ่น

อายุ 30 ถึง 70 วัน
อายุไก่รุ่นขนาดนี้ การให้อาหารง่ายมาก ผู้เลี้ยงควรตั้งต้นให้กินข้าวกล้องและ ข้าวเปลือกได้แล้ว ในวันต่อๆ ไปให้กิน ข้าวเปลือกอย่างเดียว วันละครั้ง ตอนบ่าย แต่ถ้า หากในลานที่ผู้เลี้ยงปล่อยให้ไก่อาหารได้เองจากธรรมชาติ เช่น ไส้เดือน ปลวก แมลง แกลบ และหญ้าอ่อนๆ ไม่ค่อยได้ ก็ใหผู้เลี้ยงเพิ่มอาหารมื้อเช้าและมื้อกลางวันให้ไก่รุ่นด้วย สําหรับมื้อเช้าควรให้จำพวกผัก ตอนกลางวันควรเป็นข้าวสารหรือข้าวหุงสุก มื้อ เย็นให้ข้าวเปลือก ในฤดูร้อนและฤดูฝนไก่มักจะขาดสารอาหาร ควรให้อาหารเสริม จําพวกใบกระถิน โดยการนําไปตากแห้ง แล้วแช่นํ้าสะอาด 1 วัน เพื่อลดสารพิษ จะช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ไก่พื้นเมืองเป็นอย่างดี

การให้อาหารไก่ใหญ่

(อายุ 70 วัน ขึ้นไป)
ในช่วงอายุขนาดนี้ ไก่จะอยู่ในระยะที่จะเริ่มให้ผลผลิต เช่น ไข่ไก่ เมื่อเติบโตถึง ขั้นนี้แล้ว ไก่จะมีความสามารถในการหาอาหารตามธรรมชาติได้ดี แต่เนื่องจากระยะนี้ ไก่เริ่มให้ผลผลิตเพื่อการสืบพันธุ์ ไก่จึงมีความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติจาก ที่เคยต้องการอาหารเพื่อดํารงชีพ และความเติบโต การเสริมอาหารในระยะนี้จึงมีความ จําเป็นนอกจากรําข้าว ปลายข้าว ข้าวเปลือก ถ้าเป็นไปได้ควรจะมีการเสริมวัตถุดิบที่ให้สารอาหารที่เป็นแร่ธาตุจาพวกแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งมีอยู่ในเปลือกหอย และกระดองปู ซึ่ง เป็นสิ่งจําเป็นสําหรับไก่นําไปใช้สร้างเปลือกไข่ เปลือกหอย และกระดองปูจะมีอยู่มากในฤดูฝน

การจุดไฟให้แสงสว่างภายในบ้านจะเป็นประโยชน์ในการรวบรวมแมลง ซึ่งเป็นอาหารอย่างหนึ่ง ของไก่พื้นเมืองได้เป็นอย่างดี โดยวิธีจัดให้มีภาชนะใส่น้ำรองรับไว้ใต้หลอดไฟ หรือตะเกียงเมื่อ ถึงเวลาเช้า ค่อยช้อนแมลง รวบรวมเอาไปให้เป็นอาหารไก่ต่อไป ปริมาณสารอาหารที่ได้จากแมลงจะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนโปรตีนในไก่ได้ระดับหนึ่ง ในระยะที่ไก่มีอายุเกิน 70 วันขึ้น ไป ควรตัดปากไก่เพื่อป้องกันการจิกกันและจะช่วยให้ไก่เจริญเติบโตได้ดี ช่วยป้องกันมิให้ไก่เกิดบาดแผลโดยไม่จําเป็น

ราคาไก่พื้นเมืองหรือไก่บ้าน

ราคา ณ วันที่ 20 เมษายน 2565

  • ไก่บ้าน (ใหญ่สวย) ราคากิโลกลัมละ 130 บาท

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
http://www.eto.ku.ac.th
https://www.simummuangmarket.com
https://www.flickr.com

Add a Comment