สมุนไพรแก้อาการอักเสบ ปวดบวม

เสลดพังพอน

เสลดพังพอนมีชื่อวิทยาศาสตร์ Barleria lupulina Lindl. จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ ACANTHACEAE เป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 1 – 2 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากมาย ลำต้นมีหนามสีน้ำตาลคู่ ตามข้อและโคนใบ กิ่งก้านมีสีน้ำตาลแดงอมเขียว ใบเป็นไม้ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเรียวแคบ ปลายใบแหลม โคนใบเรียวเล็กจนถึงก้านใบ ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยง พื้นใบมีสีเขียวเข้มและมัน ก้านใบตลอดจนเส้นกลางใบสีแดง

สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา

  • ใบ – ใช้ตำละเอียดผสมเหล้า พอกหรือทา ถอนพิษอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อยและเริม
  • ราก – ใช้ฝนกับเหล้าทาถอนพิษตะขาบ
เสลดพังพอน
เสลดพังพอน ใบเรียวแคบ ปลายใบแหลม ผิวใบเกลี้ยง

ทองหลาง

ทองหลาง หรือ ทองบ้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ Erythrina variegata Linn. อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 5–10 เมตร กิ่งอ่อนมีหนามเรือนยอดเป็นพุ่มกลมโปร่ง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ใบกลางจะโตกว่าสองใบด้านข้าง

สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา

  • ใบ – ใช้ใบแก่สดรมควัน ชุบน้ำสุกปิดแผล และเนื้อร้ายที่บวม ดูดหนองให้ไหลออกมา และทำให้แผลยุบ ใบคั่วใช้เป็นยาเย็น ดับพิษ บดทาแก้ข้อบวม
ใบทองหลาง
ใบทองหลาง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ

เทียนบ้าน

เทียนบ้าน ชื่อวิทยาศาสตร์  Impatiens balsamina อยู่ในวงศ์  BALSAMINACEAE เป็นพืชล้มลุก ต้นสูง 20 – 60 ซม. ลำต้นสีเขียวอ่อน อุ้มน้ำ เนื้อใสและโปร่งแสง ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับเวียนรอบลำต้น รูปยาวเรียว โคนใบและปลายเรียวแหลม ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย กว้าง 2 – 3 ซม. ยาว 8 – 10 ซม. ก้านใบสั้น มีตุ่มเรียงเป็นแนวยาว 2 ข้าง

สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา

  • ใบ – ใช้ใบสดตำละเอียดพอกแก้เล็บขบ รักษาฝีหรือแผลพุพอง น้ำคั้นใบสด ใช้ย้อมผมแทนใบเทียนกิ่ง แต่เวลาใช้ต้องระวัง เพราะสีจะติดเสื้อผ้า และร่างกาย มีรายงานว่าสารสกัดแอลกอฮอล์ของใบมีสาร lowsone ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อราที่ทำให้เป็นโรคกลาก และฮ่องกงฟุตได้
เทียนบ้าน
เทียนบ้าน กลีบดอกสีแดง ออกดอกอยู่รวมกัน

ผักคราดหัวแหวน

ผักคราดหัวแหวน ชื่อวิทยาศาสตร์ spilanthes acmell murr อยู่ในวงศ์  compositae ป็นพืชล้มลุก สูง 30-40 ซม. ลำต้นค่อนข้างกลม อวบน้ำสีม่วงแดง ต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามรูปสามเหลี่ยม กว้าง 3-4 ซม. ยาว 3-6 ซม. ขอบใบหยักฟันเลื่อย

สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา

  • ต้น – ใช้ต้นสดตำผสมเหล้า หรือน้ำส้มสายชู อมแก้ฝีในลำคอ หรือต่อมน้ำลายอักเสบ ทำให้ลิ้นชา แก้ไข้ ยาพื้นบ้านใช้อุดแก้ปวดฟัน พบว่าใบ ช่อดอก และก้านช่อดอกมีสาร spilanthol ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ การทดลองฤทธิ์ชาเฉพาะที่ในสัตว์ และคนปกติ โดยใช้สารสกัดทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์เทียบกับยาชา lidocaine พบว่าได้ผลเร็วกว่า แต่ระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นกว่า อยู่ระหว่างการวิจัย เพื่อใช้เป็นยาชาอุดแก้ปวดฟัน
ผักคราดหัวแหวน
ผักคราดหัวแหวน ลำต้นต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน

ไพล

ไพล หรือ ปูเลย ชื่อวิทยาศาสตร์  Zingiber montanum (Koenig.) Link ex Dietr. อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae เป็นไม้ล้มลุกสูง 0.7-1.5 เมตร มีเหง้าใต้ดิน เปลือกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองถึงเหลืองแกมเขียว แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ซึ่งประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 3.5-5.5 เซนติเมตร ยาว 18-35 เซนติเมตร

สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา

  • เหง้า – ใช้เหง้าสดเป็นยาภายนอก โดยฝนทาแก้เคล็ดยอก ฟกบวม เส้นตึง เมื่อยขบ เหน็บชา สมานแผล จากการวิจัยพบว่า ในเหง้ามีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีคุณสมบัติลดอาการอักเสบ และบวม จึงมีการผลิตยาขึ้ผึ้งผสมน้ำมันไพล เพื่อใช้เป็นยาทาแก้อาการเคล็ดขัดยอก น้ำมันไพลผสมแอลกอฮอล์ สามารถทากันยุงได้ ใช้เหง้ากินเป็นยาขับลม ขับประจำเดือน มีฤทธิ์ระบายอ่อนๆ แก้บิด สมานลำไส้ นอกจากนี้พบว่าในเหง้ามีสาร 4-(4-hydroxy-1-butenyl)veratrole ซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดลม ได้ทดลองใข้ผงไพลกับผู้ป่วยเด็กที่เป็นหิด สรุปว่าให้ผลดี ทั้งในรายที่มีอาการหอบหืดแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง
ไพล
เหง้าไพล เปลือกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองถึงเหลืองแกมเขียว

มะกอก

มะกอก ชื่อวิทยาศาสตร์ Spondias pinnata Kurz,Syn. S. magifera Willd อยู่ในวงศ์ ANACARDLACEAE เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูกประมาณ 10-40 เมตร ลำต้นตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลมโปร่ง ๆ เปลือกสีเทาเรียบ กิ่งอ่อนจะมีรอยแผล เนื่องจากการหลุดร่วงของใบปรากฎอยู่และมีต่อมระบายอากาศมากใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเป็นช่อชั้นเดียวใบย่อยออกเป็นคู่ตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อยรูปไข่กลับหรือขอบขนาน 4-6 คู่ ขนาดใบกว้าง 3-4 ซม. ยาว7-12 ซม. โคนเบี้ยว ปลายใบมีใบยอด 1 ใบ ใบอ่อนสีน้ำตาลอมแดงเรื่อๆ ใบแกสีเขียวเนื้อใบค่อนข้างหนาเกลี้ยงและเป็นมัน

สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา

  • ใบ – ใช้น้ำคั้นจากใบหยอดแก้ปวดหู ผล เปลือก ใบ – กินเป็นยาบำรุงธาติ ช่วยให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ เลือดออกตามไรฟัน
  • เนื้อ – เนื้อในผลแก้ธาติพิการ เพราะน้ำดีไม่ปกติ และกระเพาะอาหารพิการ แก้บิด ใบ – แก้ปวดท้อง
มะกอก
มะกอก ผลอ่อนสีเขียว และเมื่อแก่เป็นเหลืองอมเขียว

มะขวิด

มะขวิด ชื่อวิทยาศาสตร์ Feronia limonia (L.) Swingle อยู่ในวงศ์ RUTACEAE เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลาง อยู่ในกลุ่มไม้ยืนต้นผลัดใบ สูงถึง 12 เมตร กิ่งแขนงมีหนามเรียวแหลมตรง ยาว 4 เซนติเมตร ใบประกอบ แบบขนนกปลายคี่ ใบออกตรงข้าม มี 2-3 คู่ รูปไข่กลับ ยาวถึง 4 ซม. ก้านใบและก้านใบย่อยมีปีกแคบ ๆ ยาวถึง 12 เซนติเมตร มีจุดต่อมน้ำมัน มีกลิ่นอ่อน ๆ เมื่อขยี้

สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา

  • ใบ – ตำพอกหรือทาแก้ปวดบวม รักษาผี และโรคผิวหนังบางชนิด แก้ท้องเสีย แก้ตกเลือด และห้ามระดู พบว่าสารสกัดใบยับยั้ง การเจริญเติบโตของเชื้ออหิวาตกโรค ในหลอดทดลอง
มะขวิด
มะขวิด ผลกลม เปลือกแข็ง มีเนื้อมาก กลิ่นหอม

รางจืด

รางจืด ชื่อวิทยาศาสตร์  Thumbergia Laurifolia Linn. อยู่ในวงศ์  ACANTHACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยลำต้นหรือเถามีเนื้อแข็ง เถามีสีเขียวสดหรือสีเขียวเข้ม เลื้อยพาดไปตามกำแพงรั้ว แล้วจะทิ้งตัวห้อยเป็นระย้าลงสู่เบื้องล่าง ใบเดี่ยว ใบออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ใบรูปขอบขนานหรือรูปไข่เรียวยาว ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่ง โคนใบเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ หรืออาจจะเป็นหยักเล็กน้อย ใบเกลี้ยงไม่ มีขน และใบที่อยู่ล่าง ๆ ก็มักจะใหญ่กว่าใบที่อยู่ถัดขึ้นไป

สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา

  • ใบสด – ใช้คั้นน้ำ แก้ไข้ ถอนพิษต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น อาการแพ้อาหาร เป็นต้น การทดลองเพื่อใช้แก้พิษ ที่เกิดจากยาฆ่าแมลงโพลิดอลในสัตว์ ได้ผลดีพอควร สรุปได้ว่า อาจใช้น้ำคั้นใบสด ให้ผู้ป่วยที่กินยาฆ่าแมลง ดื่มเป็นการปฐมพยาบาล ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้ แต่จะไม่ให้ผลในการกินเพื่อป้องกัน ก่อนสัมผัสยาฆ่าแมลง
ดอกรางจืด
ดอกรางจืด ดอกสีม่วงอ่อน กลีบดอกขนาดใหญ่ 5 กลีบ

ว่านหางช้าง

ว่านหางช้าง ชื่อวิทยาศาสตร์  Belamcanda chinensis (L.) DC. อยู่ในวงศ์ IRIDACEAE เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กอายุหลายปี มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าทอดเลื้อยไปตามพื้นดินลำต้นกลมเป็นข้อๆ สูงประมาณ 50-120 ซม. ลำต้นมีสีเหลือง ใบเดี่ยว แทงออกจากเหง้า เรียงซ้อนสลับ แผ่ออกเป็นพัด 2 แถว ตัวใบตรงเรียวยาว กว้าง 2-3 ซม. ยาว 30-45 ซม. ผิวใบมีไขเคลือบ เนื้อใบค่อนข้างหนา

สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา

ใช้เป็นยาระบาย แก้ระดูพิการ

  • เหง้า – ตำราจีนใช้เหง้าเป็นยาแก้ไอ ขัเสมหะ ยาถ่าย แก้ไข้ บำรุงธาติ พบว่ามีสารบางชนิดที่เป็นพิษ จึงควรระวังในการใช้กิน การทดลองกับผู้ป่วย พบว่าน้ำต้มเหง้า ใช้ชะล้างแก้อาการผื่นคันได้ผลดี
ว่านหางช้าง
ว่านหางช้าง ใบเดี่ยว แทงออกจากเหง้าผิวใบมีไขเคลือบ เนื้อใบค่อนข้างหนา

เสม็ด

เสม็ด หรือ เสม็ดขาว ชื่อวิทยาศาสตร์  Melaleuca caJuputi Powell อยู่ในวงค์ Myrtaceae เป็นไม้ต้น สูง 5-25 เมตร เปลือกสีขาวนวล เป็นแผ่นบาง ๆ เรียงซ้อนกันเป็นปึกหนา นุ่ม เปลือกชั้นในบาง สีน้ำตาลยอดอ่อน กิ่งอ่อน และใบอ่อน มีขนสีขาวเป็นมันคล้ายเส้นไหม แผ่นใบ รูปหอก กว้าง 1.5-4 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร ปลายใบและโคนใบแหลม มีเส้นแยกออกจากโคนใบ 3-5 เส้น ขนานกันและไปจรดกันที่ปลายใบ

สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา

  • ใบ – ใช้น้ำมันที่กลั่นได้จากใบสดทาแก้เคล็ด เมื่อย ปวด บวม
เสม็ดขาว
เสม็ดขาว ดอกสีขาวมีขนาดเล็กคล้ายช่อแบบหางกระรอก

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.rajini.ac.th
ภาพประกอบ : www.flickr.com

Add a Comment