หัวหอมแดง หอมแดง ชื่อภาษาอังกฤษ สมุนไพรส่วนประกอบเครื่องแกงและขนมหวาน

หอมแดง

ชื่ออื่นๆ : หอมแกง (ภาคกลาง, ภาคใต้) หอมไทย, หอมเล็ก, หอมหัว, หอม, หัวหอม, หอมแดง (ภาคกลาง) หอมบั่ว, หอมปัว, หอมหัวขาว (ภาคเหนือ) ผักบั่ว (อีสาน)

ต้นกำเนิด :  เมืองเอสคาลอน ประเทศซีเรีย

ชื่อสามัญ : Shallots

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium ascalonicum L.

ชื่อวงศ์Amaryllidaceae

ลักษณะของหอมแดง

ต้น  มีหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นสั้นมีลักษณะทรงกลม ลำต้นจะถูกห่อหุ้มไปด้วยกาบใบโดยรอบๆ ลำต้นเหนือใต้ดินสูง 15-50 ซม. มีสีเขียวอ่อน ระบบรากฝอยเล็กๆ สีน้ำตาล ออกเป็นกระจุก ด้านล่างของหัว หัวมีลักษณะทรงกลมแป้น หรือทรงกลมรี มีเปลือกกาบใบห่อหุ้มหลายๆชั้น หัวอ่อนมีสีแดงหรือสีแดงสีม่วง หัวแก่มีเปลือกด้านนอกแห้งมีสีแดงหรือสีแดงอมม่วง มีกลิ่นฉุน รสชาติเผ็ดร้อน

ต้นหอมแดง
ต้นหอมแดง ต้นทรงกลม ถูกห่อหุ้มด้วยกาบใบ มีหัวอยู่ในดิน
หัวหอมแดงสด
หัวหอมแดงสด หัวทรงกลมแป้นหรือรี มีเปลือกกาบใบห่อหุ้มหลายชั้น
หัวหอมแดงแห้ง
หัวหอมแดงแห้ง เปลือกด้านนอกสีแดงหรือสีแดงม่วง

ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ อยู่เป็นกระจุก ใบเป็นท่อยาว ใบมีลักษณะดาบยาวรี ปลายแหลม ใบกลมข้างในกลวง โคนใบเป็นกาบใบสีขาว ออกหุ้มสลับซ้อนกันอยู่ ตรงโคนลำต้น ใบมีสีเขียว มีรสชาติเผ็ดร้อน มีกลิ่นฉุนแรง

ใบหอมแดง
ใบหอมแดง ใบเป็นท่อยาว รี ปลายแหลม ใบกลมข้างในกลวง

ดอก  ดอกออกเป็นช่อ แทงออกมาจากตรงกลางลำต้น ก้านช่อดอกยาวกลมข้างในกลวง ยาวประมาณ 20-30 ซม. ดอกมีลักษณะคล้ายร่ม ทรงกลมแล้วจะบานออก มีดอกย่อยเล็กๆอยู่บนก้านจำนวนมาก กลีบดอกมีสีขาวอมม่วง มี 6 กลีบ มีเกสรตัวผู้หกอัน ก้านมีสีเขียว

ดอกหอมแดง
ดอกหอมแดง ดอกเป็นช่อ แทงออกมากลางลำต้น

ผล  ผลอยู่รวมกันเป็นกระจุกกลม ผลแก่จะแตกออก มีเมล็ดอยู่ข้างในผล

เมล็ด เมื่อผลแก่แตกออกได้ มีเมล็ดอยู่ข้างใน เมล็ดมีลักษณะทรงรีเล็กๆ ผิวเรียบ มีสีดำ

การขยายพันธุ์ของหอมแดง

ใช้เมล็ด, ใช้หัว (นิยมใช้หัวปลูก)

ธาตุอาหารหลักที่หอมแดงต้องการ

ประโยชน์ของหอมแดง

นิยมนำหอมแดง มาเป็นส่วนประกอบเครื่องแกงเผ็ด เป็นส่วนประกอบของไข่เจียวหมูสับ ซุปหางวัว รับประทานสดโดยฝานเป็นแว่นบางๆ รับประทานร่วมกับแหนมสด เมี่ยงคำ ปลาเค็มทอดบีบมะนาว หอมแดงซอย กับพริกขี้หนูสวนหั่นฝอย เป็นส่วนประกอบของน้ำพริกกะปิ หอมแดงเผาตำผสมกับน้ำพริกปลาร้า และเป็นส่วนประกอบของหลนทุกอย่าง เป็นส่วนประกอบของขนมหวาน เช่น หอมแดงซอยเจียว ใส่ในข้าวเหนียวหน้าปลาแห้ง ขนมหม้อแกงถั่ว และไข่ลูกเขย ( อาหารคาวหวาน ) ฯลฯ

หัวหอมนำไปประกอบอาหาร
หัวหอมแกง นิยมนำไปประกอบในเมนูอาหาร

สรรพคุณหอมแดง

  • หัว ขับลมในลำไส้ แก้หวัด คัดจมูก แก้ไข้ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้ไข้สันนิบาต แก้ไข้อันบังเกิดแก่จักษุ แก้ไข้อันบังเกิดแก่ทรวงแก้โรคตา ขับเสมหะ แก้โรกในปาก บำรุงเส้นผมแก้ลมพรรดึก เจริญไฟธาตุ กแก้กำเดา แก้อาการเมาค้างจากเหล้า แก้สะอึกแก้ท้องเสีย เป็นยาถ่าย ทำให้อาเจียน ขับปัสาวะ บำรุงโลหิต ในกรณีที่เด็กเป็นหวัดคัดจมูก เป็นลมชัก ใช้หัวหอมตำละเอียดเป็นศีรษะ จะช่วยให้เด็กหายใจดีขึ้น
  • ใบ แก้ท้องผูกแก้ลม เจริญอาหาร แก้กำเดา แก้หวัด แก้ฟกช้ำ
  • เมล็ด แก้กินเนื้อสัตว์เป็นพิษ แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • ทางล้านนาก็มีการใช้หอมบั่วในตำรับยาหลายขนาน เช่น ยานัตถุ์เลือดขึ้น ( ยานัตถุ์ ) ยาสะอึ้น ( ยาแก้รักษาอาการสะอึก ) ยาเสียดคัด ( ยารักษาอาหารจุกเสียด ) ยาเลือดขึ้น ( ยารักษาโรคความดัน ) ยาไฟท้องดับ ( ยาบำรุงธาตุ ) ยาผีไข้เจ็บออกหู ( ยารักษาผี มีอาการเจ็บออกหู )
  • บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้หัวหอมแดงในตำรับ “ยาประสะไพล” มีส่วนประกอบของหัวหอมแดงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณรักษาระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน  และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร

รูปแบบ และขนาดวิธีใช้ยา: ขนาดยาทั่วไป ใช้ 15-30 กรัม ต้มน้ำ

  1. แก้หวัดคัดจมูก ใช้หัว 2-4 หัว ทุบพอบุบ ห่อผ้าขาวบางวางไว้บนหัวนอน
  2. แก้พิษแมลงสัตว์ กัดต่อย ใช้หัวประมาณ 1 หัว ขยี้หรือตำให้แหลกแล้วนำมาทา

องค์ประกอบทางเคมี: หัวหอมมีน้ำมันระเหยง่ายที่มีกำมะถัน diallyl disulphide เป็นองค์ประกอบ  มีธาตุฟอสฟอรัสสูง

อาการไม่พึงประสงค์:

  • น้ำมันนี้มีรสเผ็ดร้อน  ทำให้เคืองตา  แสบจมูก  และอาจทำให้ผิวหนังปวดแสบปวดร้อน
  • ตำรายาไทยกล่าวว่า หัวหอม ไม่ควรกินมากเกินไป หรือกินเป็นประจำ เพราะอาจทำให้ประสาทเสีย ทำให้หลงลืมได้ง่าย ทำให้มีกลิ่นตัว ฟันเสีย เลือดน้อย และตาฝ้ามัวไม่แจ่มใส

คุณค่าทางโภชนาการของหอมแดง

คุณค่าทางอาหารของหอมแดง ในส่วนที่รับประทานได้ 100 กรัม คือ มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 88 กรัม

  • โปรตีน 1.5 กรัม
  • ไขมัน 0.3 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 9 กรัม
  • ใยอาหาร 0.7 กรัม เถ้า ( ash ) 0.6 กรัม
  • แคลเซี่ยม 36 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 40 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ 5 หน่วยสากล ( I.U. )
  • วิตามินบี1 0.03 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 2 มิลลิกรัม

พลังงาน 160 Kj คุณภาพของหอมแดงขึ้นอยู่กับของแข็ง ( Solids ) ที่ละลายน้ำได้ และให้กลิ่นหอม เมื่อนำไปทอด หอมแดงจะมี soluble solid อยู่ระหว่าง 15-20 Brix เป็นส่วนประกอบของกรดแอมิโน S-allkyl cysteine sulphoxides ที่ให้ทั้งรสชาติ และกลิ่นฉุนของหอม

การแปรรูปของหอมแดง

  • การนำหอมแดงหัวเล็กทำเป็นหอมดอง ทำขณะที่ใบยังเขียวอยู่
  • ข้าวเกรียบหอมแดง หอมเจียว หอมแดงป่น

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9966&SystemType=BEDO
https://lannainfo.library.cmu.ac.th, https://adeq.or.th, https://apps.phar.ubu.ac.th, https://th.wikipedia.org, https://web.archive.org, www.flickr.com

2 Comments

Add a Comment