เชื้อราสีเขียว เมธาไรเซียม วิธีใช้ เชื้อราที่มีประโยชน์

เชื้อราเมตาไรเซียม

เชื้อราเมตาไรเซียม หรือ  เมธาไรเซียม Metarhizium anisopliae. หรือที่เรามักเรียกกันง่ายๆ ว่าราเขียวนั้น คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่แทบจะไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือที่เรียกกันว่าจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในดิน ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อโรคให้แก่แมลงที่คอยรบกวนพืช ทำหน้าที่เป็นปรสิต  ช่วยทำลายแมลงต่างๆ ที่เป็นศัตรูพืชในทุกช่วงวัยโดยเฉพาะแมลงที่ใช้ปากดูด ทั้งหนอน ด้วง ปลวก ไร และเพลี้ย โดยกระบวนการจู่โจมแมลงนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อสปอร์ของราเขียวร่วงหล่นหรือลอยไปเกาะที่ผิวหนังหรือส่วนต่างๆ ของแมลงแล้วจะผลิตเอนไซม์ที่สามารถย่อยสลายไคติน ทำให้สปอร์สามารถงอกเข้าไปในลำตัวแมลง ดูดกินอาหารภายในตัวแมลง และเข้าทำลายเนื้อเยื่อภายในแมลงจนเกิดความเสียหาย เมื่อสปอร์เจริญขึ้นจึงแพร่เชื้อได้มากขึ้นจนทำให้แมลงเหล่านั้นตายลงไป ในสภาพที่ซากของแมลงจะมีเชื้อราสีเขียวห่อหุ้มไว้ภายนอก สภาพซากของแมลงแน่นิ่ง แข็ง แห้ง นอกจากนี้เชื้อราที่อยู่ภายนอกนั้นจะยังสามารถเติบโต และปล่อยให้สปอร์ล่องลอยไปในอากาศและเม็ดฝนเพื่อแพร่เชื้อไปยังแมลงที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป

ความรุนแรงในการกำจัดแมลงศัตรูพืชของเชื้อราเมตาไรเซียมนั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและความชื้นของสภาพแวดล้อม เชื้อจะเข้าทำลายได้เร็วหากอยู่ในสภาพที่มีความชื้นสูงกว่าร้อยละ 80 และมีสภาพอากาศระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส และยังต้องพิจารณาถึงภูมิคุ้มกันของแมลงแต่ละชนิดด้วย อย่างไรก็ตามจุลินทรีย์ชนิดนี้ ได้รับความสนใจในการนำมาใช้งานเพื่อควบคุมแมลง เพราะไม่ทำให้เกิดสารพิษตกค้างในพืชผักและสภาพแวดล้อม รวมไปถึงมีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้นด้วย

โดยทั่วไปแล้วนั้นการจะใช้เชื้อราเมตาไรเซียมให้เกิดผลมากที่สุดนั้น ควรเลือกใช้ในช่วงเวลาเย็นที่ไม่มีแสงแดดแล้ว และควรรดน้ำในแปลงปลูกให้ทั่วถึง เพื่อให้เกิดความชื้นในอากาศมากขึ้น ทั้งนี้ควรเป็นช่วงเวลาที่ยังสามารถมองเห็นตัวแมลงได้ง่าย เพื่อที่เราจะได้ฉีดพ่นได้ตรงจุด ทำให้แมลงได้รับเชื้อในทันที ให้สังเกตบริเวณท้องใบของพืชที่แมลงมักจะหลบซ่อนตัวอยู่ หลังจากฉีดพ่นแล้วในวันถัดไปควรเข้าสังเกตการณ์จำนวนแมลงว่าลดน้อยลงหรือไม่ และให้ทำการฉีดพ่นซ้ำโดยเว้นระยะราว 5-7 วัน อย่างไรก็ตาม การนำเชื้อราเมธาไรเซียมไปใช้ประโยชน์เพื่อกำจัดแมลงที่แตกต่างกัน ในแปลงเกษตรที่มีพืชผลแตกต่างกัน จะต้องเข้าใจวิธีการนำไปใช้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่น การนำไปใช้ประโยชน์ในการควบคุมด้วงแรดมะพร้าว จะใช้เชื้อราเขียวคลุกกับกองล่อที่นำทางมะพร้าวหรือซากใบไม้แห้งที่มีความชื้นสูงมากองล่อหนอนด้วงไว้ ส่วนแมลงบางชนิดอาจจะใช้วิธีฉีดพ่น เป็นต้น

เชื้อราเมตาไรเซียม
เชื้อราเมตาไรเซียมหรือเรียกว่าราเขียว เป็นจุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็ก

เชื้อราเมตาไรเซียม สามารถทำลายแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ ดังนี้

  1. ปลวก
  2. หนอนด้วงทราย
  3. หนอนด้วงแรด
  4. หนอนด้วงเจาะลำต้นอ้อย
  5. ด้วงงวง

ประโยชน์และความสำคัญของเชื้อราเมตาไรเซียม

เชื้อราเมตาไรเซียม เป็นจุลินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูพืช ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลงศัตรูพืช เมื่อสปอร์ของเชื้อราสัมผัส โดนตัวของแมลงในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีความชื้นสูงจะเกิดการเจริญงอกเข้าไปในตัวของแมลง ในระยะแรก จะเห็นจุดสีน้ำตาลบนผนังลำตัว และต่อมาสามารถมองเห็นเส้นใยสีขาวเจริญเติบโตบนลำตัวของแมลง หลังจากนั้นจะพบ สปอร์ลักษณะคล้ายฝุ่นสีเขียวคล้ำปกคลุมทั่วตัวของแมลง หากบีบแมลงที่ตายจะพบว่าลำตัวของแมลงจะมีลักษณะแข็ง

เชื้อราเมตาไรเซียม
เชื้อราเมตาไรเซียม เป็นจุลินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูพืช

การผลิตเชื้อราเมตาไรเซียมชนิดสด

อุปกรณ์

  1. หัวเชื้อเมตาไรเซียม
  2. หม้อหุงข้าวไฟฟ้าอัตโนมัติ
  3. ถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 9×14 นิ้ว
  4. แอลกอฮอลล์ 70%
  5. แอลกอฮอลล์ 95%
  6. ข้าวสาร
  7. ถ้วยตวงหรือแก้วน้ำ
  8. ทัพพีตักข้าว
  9. เข็มฉีดยา เบอร์ 18
  10. ยางวง

วิธีการผลิต

  1. ล้างข้าวสารเจ้าให้สะอาดอย่างน้อย 5 ครั้ง
  2. หุงด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าอัตโนมัติในอัตรา ข้าว 3 ส่วน + น้ำ 1 ส่วน เมื่อข้าวสุกให้ใช้ทัพพีซุยข้าวให้ทั่ว
  3. ตักข้าวสุก ขณะข้าวยังร้อน เพื่อทำลายจุลินทรีย์จากอากาศที่อาจปนเปื้อนในถุงข้าว ตักข้าวสุกประมาณ 2 ทัพพีครึ่งต่อถุง (250 กรัม) ใสในถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 9×14 นิ้ว
  4. เกลี่ยข้าวให้แบนราบ รีดอากาศออกจากถุง ให้ถุงพลาสติกแนบกับข้าว เพื่อลดการเกิดหยดน้ำ จากนั้น รอให้ข้าวอุ่น (โดยให้หลังมือแตะที่ถุงข้าวให้ร้อนพอทนได้) จึงนำไปใส่หัวเชื้อราเมตาไรเซียม
  5. ปิดปากถุงให้น้อยที่สุด แล้วใส่หัวเชื้อลงในถุงข้าวในตู้เขี่ยเชื้อ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์อื่น ใส่หัวเชื้อเพียงเล็กน้อยประมาณ 1 กรัม ต่อถุง
  6. รัดยางตรงปากถุงให้แน่น ก่อนเขย่าถุงข้าวเบาๆ เพื่อให้หัวเชื้อกระจากทั่วถุง
  7. รวบถุงให้บริเวณปากถุงพอง ก่อนให้เข็มแทงรอบๆ ปากถุงที่รัดยางไว้ ไม่น้อยกว่า 60 รู
  8. เกลี่ยวข้าวในถุงให้แผ่กระจายแบนราบ ดึงบริเวณกลาง-ถุงขึ้น เพื่อให้มีอากาศเข้าไปในถุงข้าว จากนั้นบ่มเขื้อเป็นเวลา 12 วัน โดยวันที่ 3 ให้จับถุงเขย่าเพื่อกระตุ้นการสร้างสปอร์
  9. วางถุงเชื้อไม่ให้ซ้อนทับกัน ในห้องที่มีแสงสว่าง และอากาศถ่ายเท ปลอดจากมด ไร และสัตว์อื่นๆ
  10. เมื่อครบ 12 วัน เชื้อจะเจริญเป็นสีเขียวหม่นเต็มถุง สามารถนำไปใช้ได้ทันที หากใช้ไม่หดมควรเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาไม่เกิน เดือน

การใช้เชื้อราเมตาไรเซียม วิธีใช้

  1. การผสมน้ำฉีดพ่น ใช้เชื้อราเมตาไรเซียม (เชื้อสด) อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยกวนแล้วขัดวัสดุเลี้ยงเชื้อ ให้สปอร์ที่ติดมาหลุดละลายลงในน้ำ แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง พร้อมใส่สารจับใบหรือน้ำยาล้างจาน ก่อนนำไปฉีดพ่น ให้สัมผัสถูกกับตัวแมลงมากที่สุด (ควรฉีดพ่นในช่วงเวลาตอนเย็น) และฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ระยะห่างคราวละ 5-7 วัน
  2. ทำกองล่อ ใช้ท่อนไม้ตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 2 เมตร ทำขอบด้วยการวางท่อนไม้ให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม ขุดดินภายใน กองให้ลึกประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วใส่เศษซากพืชเศษอินทรีย์วัตถุต่างๆ และปุ๋ยคอกให้เต็มกองล่อ รดน้ำเพิ่มความชื้น ในกองล่อเพื่อให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี หาวัสดุคลุมกองล่อ เช่นทางมะพร้าว หลังจากนั้น 2-3 เดือน จะเริ่มพบด้วง มาวางไข่และเจริญเติบโตเป็นตัวหนอน ให้ใช้เชื้อราเมตาไรเซียม 1-2 กิโลกรัม ผสมน้ำราดให้ทั่วกองล่อ
การรับเชื้อราเมตาไรเซียม
เมื่อแมลงได้รับเชื้อราเมตาไรเซียม จะเห็นจุดสีน้ำตาลบนผนังลำตัว จากนั้นจะเห็นเส้นใยสีขาวบนตัวแมลง

การใช้เชื้อราเมตาไรเซียม

  • ควรฉีดพ่นช่วงเย็น (ประมาณ 17.00น. เป็นต้นไป) ในช่วงที่มีความชื้นสูง หรือควรให้น้ำในแปลงเพื่อเพิ่มความชื้นก่อนฉีดพ่น ไม่ควรฉีดพ่นช่วงเช้าเนื่องจากราเมตาไรเซียมเมื่อถูกแสงแดดและรังสียูวีจะถูกทำลาย
  • ควรพ่นให้ถูกตัวแมลงเนื่องจากแมลงส่วนใหญ่หลบอยู่ใต้ใบ จึงควรฉีดพ่นเน้นบริเวณใต้ใบและทั่วทรงพุ่ม หลังฉีดพ่นควรหมั่นตรวจนับแมลงหลังจากใช้แล้ว 2-3 วัน เพื่อตรวจสอบผลการควบคุมแมลงศัตรูพืช
  • สำรวจแมลงและพ่นซ้ำทุก 3-7 วัน (ขึ้นกับการระบาด) ในกรณีพบการระบาดสามารถใช้ร่วมกับสารเคมีกำจัดแมลงแบบเจือจางเพื่อลดประชากรแมลงศัตรูพืชได้

ข้อควรระวังในการใช้เชื้อราเมตาไรเซียม

  1. ราเขียวเมตาไรเซียมต้องการความชื้นสูงในการงอกของโคนิเดีย จึงควรเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสาม เช่นในช่วงปลายฝนต้นหนาว
  2. ผู้ใช้ควารหลีกเลี่ยงการใช้ในช่วงเวลาที่มีแสงแดดจัด เช่นในช่วงเวลากลางวัน ควรใช้ในช่วงเวลาเย็นหรือหลังพระอาทิตย์ตก
  3. ผู้ใช้ควรสวมเครื่องป้องกัน เช่น ใช้ผ้าปิดปากและจมูก เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดหายใจเอาโคนิเดียเชื้อเข้าระบบทางเดินหายใน สำหรัผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อาจทำให้เกิดอาการผื่นคันได้

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://blog.arda.or.th, https://esc.doae.go.th, ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดเชียงใหม่, www.nstda.or.th, www.doa.go.th
ภาพประกอบ : www.flickr.com

 

One Comment

Add a Comment