พลองเหมือด ผลสุกและใบอ่อน รับประทานได้ ลำต้นใช้ทำเครื่องมือทำนา

พลองเหมือด

ชื่ออื่นๆ : พลองดำ (ประจวบคีรีขันธ์) เหมียด (สุรินทร์) เหมือดแอ่ (มหาสารคาม)

ต้นกำเนิด :

ชื่อสามัญ : –

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Memecylon edule Roxb.

ชื่อวงศ์ : MELASTOMATACEAE

ลักษณะของพลองเหมือด

ต้น ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 12 เมตร เปลือกสีเทาอมน้ำตาล แตกเป็นร่องลึก และเห็นชัดเจนบริเวณโคนลำต้น กิ่งอ่อนแบน หรือเป็นสี่เหลี่ยมมีร่องตามยาว 2 ร่อง กิ่งแก่กลม

ใบ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง 1.5-4 ซม. ยาว 2.5-6 ซม. ปลายทู่หรือแหลม โคนมนหรือสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นกลางใบเป็นร่อง ทางด้านบนนูน ทางด้านล่างเส้นแขนงใบไม่ชัดเจน ก้านใบ ยาว 4-5 มม. เป็นร่องทางด้านบน

ดอก ช่อดอก แบบช่อกระจุกออกตามซอกใบ หรือตามข้อที่ใบร่วงไปแล้ว ช่อยาว 1.5-2.5 ซม. ดอกในช่อ 2-8 ดอก เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.8-1 ซม. ก้านช่อดอก ยาว 1-5 มม. ก้านดอกย่อยยาว 1.5-2 มม. ใบประดับขนาดเล็กมาก ฐานรองดอกหนารูปถ้วยสีชมพู ยาว 2-4 มม. เกลี้ยง ปลายตัดหรือแยก กลีบเลี้ยง 4 แฉก เล็ก ๆ กลีบดอก 4 กลีบ หนา สีขาวอมม่วงหรือสีน้ำเงินเข้ม รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน กว้างและยาว ประมาณ 3 มม. ปลายแหลม เกสรเพศผู้ 8 อัน ก้านชูอับเรณูสีม่วงอ่อน แกนอับเรณูหนา อับเรณูรูปจันทร์เสี้ยว มีต่อมตรงกลาง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี 1 ช่อง มี 2 ออวุล หรือมากกว่า ก้านเกสรเพศเมียสีม่วงอ่อน ยอดเกสร เพศเมียขนาดเล็ก

ผล สดแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-7 มม. สีเขียวอมเหลือง เมื่อสุกสีม่วงถึงดำ พบตามป่าเต็งรัง ชายป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเล จนถึงประมาณ 700 เมตร ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม

ต้นพลองเหมือด
ต้นพลองเหมือด ไม้พุ่ม แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง

การขยายพันธุ์ของพลองเหมือด

ใช้เมล็ด

ธาตุอาหารหลักที่พลองเหมือดต้องการ

ประโยชน์ของพลองเหมือด

  • ผลสุกและใบอ่อน รับประทานได้ ผลสุกกินเป็นผลไม้ มีรสหวาน ยอดนำไปกินเป็นผัก รสฝาดหวาน
  • ใบ ใช้เป็นสีย้อม ให้สีเหลือง
  • น้ำยางจากลำต้นใช้ทาส้นเท้าเพื่อลดรอยแตก ลำต้นใช้ทำด้ามเสียม แก่นนำมาย้อมไหมแทนหนามเข ให้สีเหลือง
  • ลำต้น มีแก่นแข็ง โค้งได้ส่วน ชาวบ้านนิยมนำไปทำแอกวัว แอกวัวเป็นเครื่องมือสำหรับคล้องคอวัวควายเมื่อออกไปไถนา นอกจากนี้ยังทนทานต่อการผุกร่อนเมื่อสัมผัสกับน้ำ อีกอุปกรณ์หนึ่งที่ทำด้วยไม้เหมือดแอ่ คือ ทำซี่ฟันของคราดนา เพื่อหว่านกล้าข้าว
  • แก่นทำง่ามหนังสะติ๊ก ลูกดิบ ใช้ยิงบั้งโป๊ะ บั้งโป๊ะ คือ ของเล่นเด็กอีสาน ทำด้วยไม้ไผ่เป็นลำ ขนาดรูของไม้ไผ่ต้องพอดีกับลูกเหมือดแอ่ เมื่อบรรจุลูกแรกเข้าไปจนสุด ใช้ไม้อีกชิ้นหนึ่งเหลากลมยาวและมีด้ามจับดันลูกที่สองเข้าไปอย่างแรง ลูกแรกจะถูกกระแทกด้วยแรงดันลมจากลูกที่สอง กระเด็นเสียงดัง โป๊ะ เด็ก ๆ เรียกบั้งโป๊ะ ตามเสียงที่ดัง
ช่อดอกพลองเหมือด
ช่อดอกพลองเหมือด ดอกออกตามซอกใบ หรือตามข้อที่ใบร่วงไปแล้ว

สรรพคุณทางยาของเหมียดแอ่ พลองเหมือด

  • แก่นหรือใบ นำไปต้มให้สัตว์กินเพื่อให้ร่างกายอุดมสมบูรณ์ ทำให้ฟันและเหงือกแข็งแรง
  • ลำต้น  ตัดแล้วเอาไปเผาไฟ จะมีน้ำเลี้ยงออกมาบริเวณรอยตัด แตะเอาน้ำเลี้ยงนั้นมาถูฟัน ทำให้เหงือกแข็งแรง
    เป็นสมุนไพรบำรุงเลือด บำรุงน้ำนม โดยผสมรวมกับเหมือดโลด ยาแก้ไข้ป่า
  • แก่น นำมาย้อมไหมแทนหนามเข ให้สีเหลือง
  • เปลือก รักษารอยฟกช้ำ
  • ใบ ต้มรักษาโรคโกโนเรีย
  • ต้นและใบ ต้มน้ำดื่ม เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด
  • รากหรือลำต้น ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคกระเพาะอาหาร
  • ลำต้น นำมาผสมกับแก่นพลับพลา ต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้นสบู่ขาว แก่นจำปา แก่นโมกหลวง ต้มน้ำดื่มแก้หืด
  • ราก ผสมกับสมุนไพรอื่นต้มน้ำดื่ม แก้ประดง (อาการโรคผิวหนัง มีเม็ดขึ้นคล้ายผด คันมาก มักมีไข้ร่วมด้วย)
ดอกพลองเหมือด
ดอกพลองเหมือด ดอกสีม่วงหรือสีน้ำเงินเข้ม

คุณค่าทางโภชนาการของเหมียดแอ่ พลองเหมือด

การแปรรูปของเหมียดแอ่ พลองเหมือด

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=12099&SystemType=BEDO
https://www.flickr.com

Add a Comment