10 ประโยชน์ของการกินกล้วยหอม

กล้วยหอม

กล้วยหอม เป็นผลไม้ที่ประกอบไปด้วยน้ำตาลธรรมชาติ 3 ชนิด คือ ซูโครส ฟรุกโตส และกลูโคส อีกทั้งยังมีเส้นใยอาหารรวมทั้งวิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ หลายชนิด

กล้วยหอมยังไม่เพียงแค่กลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ แต่ยังช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายได้อีกด้วย กล้วยหอมจึงเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนออกกำลังกาย และลดน้ำหนัก

กล้วยหอม
กล้วยหอม เปลือกสีเหลือง ปลายจุกจะมีสีเขียว

คุณค่าทางโภชนาการของกล้วยหอม

กล้วยหอม 1 ลูก ไม่รวมเปลือก (100 กรัม) ให้พลังงาน 132 กิโลแคลอรี มีคุณค่าทางโภชนาการหลักๆ ดังนี้

  • น้ำ 66.3 กรัม
  • โปรตีน 0.9 กรัม
  • ไขมัน 0.2 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 31.7 กรัม
  • ไฟเบอร์ 1.9 กรัม
  • ซัลเฟต 0.9 กรัม
  • แคลเซียม 26 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 46 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม
  • เบต้า-แคโรทีน 99 ไมโครกรัม
  • วิตามินเอ 17 ไมโครกรัม

ประโยชน์ของกล้วยหอม

กล้วยหอมดีต่อสุขภาพหลายด้าน ซึ่งประโยชน์เหล่านั้นก็มีดังต่อไปนี้

1. ช่วยผ่อนคลายความเครียด

เมื่อร่างกายคนเราเข้าสู่ภาวะเครียด ย่อมทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น ส่งผลทำให้รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว หรือบางครั้งอาจถึงขั้นเกิดอาการปวดหัว

แต่การรับประทานกล้วยหอมจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะผลไม้ชนิดนี้อุดมไปด้วยสารโพแทสเซียม และวิตามินมากมาย ซึ่งสารอาหารเหล่านี้จะช่วยลดความดันเลือดให้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ร่างกายค่อยๆ ลดระดับความเครียดลงมานั่นเอง

2. ช่วยแก้อาการท้องผูก

เมื่อมีอาการท้องผูก การรับประทานกล้วยหอม สามารถช่วยแก้อาการนี้ได้ เพราะกล้วยหอมอุดมไปด้วยไฟเบอร์ชนิดที่ละลายน้ำได้ซึ่งส่งผลดีต่อระบบขับถ่าย ดังนั้นหากมีอาการท้องผูกบ่อยๆ แนะนำให้รับประทานกล้วยหอมวันละ 1 ลูกทุกวัน แล้วอาการท้องผูกจะเริ่มดีขึ้น

3. บำรุงสายตา

กล้วยหอมอุดมไปด้วยวิตามินเอ และสารเบต้าแคโรทีน ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้ล้วนเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อดวงตาอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยบำรุงสายตาแล้ว ยังมีส่วนช่วยบำรุง และกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทตาอีกด้วย

4. ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ

ผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซีมีส่วนช่วยในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระทั้งสิ้น กล้วยหอมก็เป็นอีกผลไม้ที่ช่วยต้านสารอนุมูลอิสระได้ดี วิตามินซีจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหลอดเลือด และยังช่วยป้องกันโรคลักปิดลักเปิดด้วย

5. แก้อาการนอนไม่หลับ

ใครที่มีปัญหานอนไม่หลับบ่อยๆ อย่าเพิ่งตัดสินใจรับประทานยานอนหลับ เพราะการรับประทานกล้วยหอมเป็นตัวช่วยที่ดี และปลอดภัยกว่า เนื่องจากอุดมไปด้วยกรดอะมิโน และทริปโตเฟน ซึ่งสารทั้ง 2 อย่างนี้เป็นส่วนประกอบของการสร้างเซโรโทนินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยทำให้ร่างกายหลับได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นเมื่อร่างกายเผชิญกับภาวะนอนไม่หลับ หรือรู้สึกกระสับกระส่าย อาจลองรับประทานกล้วยหอมในช่วงมื้อเย็นจากนั้นจึงค่อยอาบน้ำ และเข้านอน บางทีการนอนหลับอันยากเย็นของคุณอาจจะง่ายดายขึ้น

กล้วยหอมสุก
กล้วยเนื้อผลสีเหลือง หรือขาว

6. ช่วยลดน้ำหนัก

กล้วยหอมมีวิตามินบี1 และวิตามินบี2 ที่คอยเร่งการเผาผลาญน้ำตาล และไขมันในร่างกาย ที่สำคัญยังมีสารอาหารสำคัญอย่างคาร์โบไฮเดรต และไฟเบอร์ชนิดที่ละลายน้ำได้ ซึ่งกากใย (ไฟเบอร์) จะทำการดูดซับน้ำทำให้เกิดการพองตัว และช่วยให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้น

7. มีส่วนช่วยในการย่อยอาหาร

กากอาหารที่อุดมอยู่ในกล้วยหอมนั้น มีหน้าที่ช่วยการทำงานของระบบย่อยอาหารให้สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว ดังนั้นเมื่อรับประทานกล้วยหอมบ่อยๆ ก็จะเป็นการปรับระบบย่อยอาหารในร่างกายให้สามารถทำงานได้เป็นปกติยิ่งขึ้น

สำหรับใครที่ระบบย่อยอาหารมีปัญหา หากรับประทานกล้วยหอมเป็นประจำก็ไม่จำเป็นต้องง้อยาช่วยย่อยใดๆ เลย

8. บำรุงหัวใจ

วิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิดที่มีอยู่ในกล้วยหอมล้วนส่งผลดีต่อสุขภาพของหัวใจมากมาย และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีหน้าที่ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้อีกด้วย

9. ป้องกันกระดูกเปราะ

เหตุผลที่การรับประทานกล้วยหอมช่วยในการป้องกันโรคกระดูกเปราะ คือ มีปริมาณของฟอสฟอรัสปริมาณสูง ซึ่งฟอสฟอรัสเป็นสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก

และอีกประโยชน์ของกล้วยหอมก็คือ แคลเซียมที่อุดมอยู่ในกล้วยหอมก็มีหน้าที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกระดูกตามส่วนต่างๆ ในร่างกายได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

10. สร้างสรรค์เมนูได้หลายอย่าง

หากใครเบื่อที่จะรับประทานกล้วยหอมแบบเดิมๆ สามารถนำกล้วยหอมมาดัดแปลงเป็นเมนูของว่างได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะนำไปทำเป็นเครื่องดื่ม หรือของหวาน ก็ล้วนส่งกลิ่นหอมเข้ากับวัตถุดิบอื่นๆ ได้อย่างลงตัว เช่น เค้กกล้วยหอม บานอฟฟี่ หรือสมูทตี้กล้วยหอมปั่น

กล้วยหอมกับเมนูอื่นๆ
กล้วยหอมทานกับนมและเมล็ดธัญพืชต่างๆ

อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นกล้วยหอมมากเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อน้ำหนักที่อาจเพิ่มขึ้นจากความหวานของกล้วยก็เป็นได้

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
www.skm.ssru.ac.th
www.flickr.com

2 Comments

Add a Comment