รู้จักกันไหม " พลับพลา "

ความรู้วิชาการเกษตร หมวดนี้สำหรับรวบรวม ความรู้ทางการเกษตร ทุกรูปแบบ
admin
Administrator
โพสต์: 425
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 14 ม.ค. 2013 4:02 am

รู้จักกันไหม " พลับพลา "

ข้อมูล โดย admin »

รู้จักกันไหม " พลับพลา " ไม้ดีมีประโยชน์
ยุคนี้ไม่ค่อยเห็นต้น "พลับพลา" หรือ "ชับพลา" อาจเรียกได้ว่าเกือบสูญพันธุ์แล้ว เพราะเหตุที่เป็นต้นไม้สูงใหญ่ เนื้อไม้แข็ง ชาวบ้านจึงชอบแอบตัดนำไปเผาถ่าน ชื่ออื่นกะปกกะปู สากกะเบือดง สากกะเบือละว้า หมากหอม ลาย พลา คอม กอม (ภาคเหนือ), คอมส้ม ก้อมส้ม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), พลองส้ม คอมเกลี้ยง (ภาคตะวันออก), มลาย (ภาคตะวันออกเฉียงใต้) พลับพลา ขี้เถ้า (ภาคกลาง), จือมือแก (มลายู-ภาคใต้), น้ำลายควาย พลาขาว พลาลาย (ภาคใต้)
ลักษณะทั่วไป
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลักษณะใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่กลับ มีขนสากทั่วไป ปลายหยักคอดเป็นติ่งสั้นหรือเว้าแหว่งเป็นริ้ว กว้าง 4-8 ซม. ยาว 8-17 ซม. ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ 4-8 เส้น เส้นใบย่อยเป็นแบบเส้นขั้นบันได เห็นได้ชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว 0.5-1 ซม. ช่อดอกออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว 3-15 ซม. ดอกอ่อนกลมหรือป้อม กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ ด้านนอกของกลีบเลี้ยงมีขน ด้านในเกลี้ยง ส่วนกลีบดอกเกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ขนาดกลีบดอกจะสั้นกว่ากลีบเลี้ยงประมาณเท่าตัวและร่วงง่าย เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบจะแยกเป็นอิสระ เกสรเพศผู้มีจำนวนมากและล้อมรอบรังไข่ ผิวรังไข่ มีขนสากคลุมแน่น ผิวของผลมีขนทั่วไป ผลกลมหรือรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. เมื่อแก่สีเหลือง ออกดอกและติดผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน ผลแก่กินได้ เส้นใยจากเปลือกใช้ทำเชือกหยาบๆ
สรรพคุณของพลับพลา
1. พลับพลา สรรพคุณของแก่นช่วยแก้หืด ด้วยการใช้แก่นพลับพลา ผสมกับแก่นโมกหลวง แก่นจำปา ลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น ลำต้นสบู่ขาว ลำต้นพลองเหมือด และลำต้นคำรอก นำมาต้มกับน้ำดื่มจะช่วยแก้หืดได้ หรือจะใช้เนื้อไม้หรือแก่นนำมาต้มกับน้ำดื่มเลยก็แก้หืดได้เช่นกัน (แก่น,เนื้อไม้)
2. เปลือกใช้ผสมปรุงเป็นยาบำรุงโลหิตสตรี (เปลือก)
3. ช่วยกระจายโลหิต (ผลแก่)
4. ลำต้นใช้เป็นยาประกอบรักษาโรคลำไส้ (ลำต้น)
5. ผลแก่มีรสเปรี้ยวอมหวานใช้รับประทานเป็นยาระบาย (ผลแก่)
6. เปลือกต้นใช้ทำลายพิษจองต้นยางน่องได้ (เปลือก)
หมายเหตุ : ไม้พลาเป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟได้แม้เป็นไม้สด ปักษ์ใต้ในสมัยก่อนจึงใช้ไม้พลาเป็นเชื้อเพลิงในการเผาศพ และในการอยู่ไฟของหญิงคลอดบุตรใหม่ นอกจากนั้น ผลแก่ของพลาเด็กในชนบทปักษ์ใต้ยังใช้เป็นลูกกระสุนของ "ฉับโผง" ( ปืนเด็กเล่นซึ่งทำจากกระบอกไม้ไผ่ป่า )

ย้อนกลับไปยัง “ความรู้วิชาการเกษตร”