เรื่องของ มะนาว การปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์

ความรู้วิชาการเกษตร หมวดนี้สำหรับรวบรวม ความรู้ทางการเกษตร ทุกรูปแบบ
KasetTaln
โพสต์: 176
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 16 ม.ค. 2013 1:24 pm

เรื่องของ มะนาว การปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์

ข้อมูล โดย KasetTaln »

เรื่องของ มะนาว การปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์

นั่งคิดมาหลายวันว่าจะลงเรื่องอะไรให้เพื่อนๆดี ก็ลองมองไปรอบๆบ้านปรากฏว่าไปสะดุดตากับเจ้าต้นมะนาวหลังบ้านที่โตวันโตคืน ก็เลยไปหาข้อมูลการปลูกมาให้เพื่อนๆดีกว่า มาเริ่มกันเลย กับการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ที่บ้านเราเองก็ทำอยู่เหมือนกันค่ะ...

การปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์
ต้นมะนาวในวงบ่อเมื่อมีอายุต้นเพียง 8 เดือน จะบังคับให้ต้นออกฤดูแล้งได้โดยใช้หลักการเดียวกับการปลูกลงดินคือคลุมพลาสติกให้กับต้นมะนาวในช่วงเดือนกันยายนและกระตุ้นการออกดอกในเดือนตุลาคม จะได้ผลผลิตมะนาวแก่ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่มะนาวราคาแพงที่สุด เท่ากับว่าในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์จะใช้เวลาเพียงปีเดียวเท่านั้นสามารถเก็บผลผลิตได้ในช่วงฤดูแล้ง

การเริ่มต้นจัดผังปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์
การเริ่มต้นการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์
วัดพื้นที่ กว้าง x ยาว ก่อน โดยเว้นทางเดินประมาณ 2 เมตร ระยะปลูกระหว่างต้น 1.20 เมตร ระยะระหว่างแถว 1.50 เมตร ปลูกแบบแถวคู่แล้วเว้นเป็นทางเดิน 2 เมตร
สภาพพื้นที่ปลูกจะต้องปรับให้เรียบเหมือนกับลานตากข้าว
การวางวงบ่อซีเมนต์พยายามวางให้เป็นเลขคู่เพื่อง่ายต่อการวางระบบน้ำและคำนวณแรงดันน้ำ
แท็งก์จะแบ่งออกเป็น 2 ชุด
- ชุดแรกจะก่อให้สูง ประมาณ 5 วงบ่อ หรือมีความจุน้ำได้ 1,200 ลิตรจะใช้แท็งก์นี้เพื่อผสมปุ๋ยน้ำชีวภาพแล้วเปิดน้ำดีเข้าไปผสมปล่อยไปให้ต้นมะนาวในวงบ่อได้โดยตรง
- ส่วนแท็งก์อีกชุดหนึ่งจะก่อให้สูงประมาณ 9 วงบ่อ จำนวน 2 แท็งก์ เพื่อกักเก็บน้ำสะอาดแล้วช่วยในเรื่องของแรงดัน
การเตรียมดินปลูกมะนาวและขนาดของวงบ่อซีเมนต์
ขนาดของวงบ่อซีเมนต์แนะนำให้ใช้ขนาดวงเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร แต่เดิมฝาวงบ่อจะใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร เท่ากับขนาดของวงบ่อ แต่เมื่อปลูกไปนาน 2-3 ปี พบว่า รากของต้นมะนาวจะโผล่ออกมานอกวงและชอนลงไปในดิน ทำให้ควบคุมในเรื่องของการบังคับให้ออกนอกฤดูได้ยากมากขึ้น ปัจจุบัน จึงได้แนะนำเกษตรกรและแก้ไขให้ซื้อฝาวงบ่อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของวงบ่อ ใช้ฝาวงบ่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 90 เซนติเมตร กว้างกว่า 10 เซนติเมตร

ดินผสมที่จะใช้ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ จะใช้วัสดุปลูกหลัก 3 ชนิด คือ
หน้าดิน 3 ส่วน ขี้วัวเก่า 1 ส่วน และเปลือกถั่วเขียว 2 ส่วน ผสมคลุกเคล้ากัน การใช้เปลือกถั่วเขียวจะช่วยให้สภาพดินมีการระบายน้ำที่ดี ถ้าใช้แค่หน้าดินผสมกับขี้วัวจะทำให้ดินปลูกแน่น เวลาให้น้ำไป 3-4 วัน น้ำยังไม่ถึงข้างล่างของวงบ่อ ยังได้ยกตัวอย่างปริมาณของดินที่จะใช้ในการปลูกมะนาว จำนวน 100 วงบ่อ จะต้องใช้หน้าดินประมาณ 1 คันรถสิบล้อ เทคนิคในการผสมวัสดุปลูกจะต้องปูพื้นด้วยหน้าดินเป็นขั้นแรก หลังจากนั้น ใส่ขี้วัวเก่าเป็นชั้นที่ 2 แล้วตามด้วยเปลือกถั่วเขียวเป็นชั้นบนสุด หลังจากนั้นใช้เครื่องตีพรวนติดรถไถจะเร็วกว่าใช้แรงงานคน
การใส่วัสดุปลูกลงบ่อซีเมนต์มีเทคนิค
ที่ผ่านมาเกษตรกรที่ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ส่วนใหญ่จะใส่วัสดุปลูกใน วงบ่อซีเมนต์เ พียงเสมอวงบ่อเท่านั้น เมื่อรดน้ำไปได้เพียงแค่สัปดาห์เดียว วัสดุปลูกจะยุบตัวลงมาประมาณ 1 คืบมือ ถ้าเกษตรกรเติมวัสดุปลูกลงไปจะไปกลบลำต้นมะนาว ปัญหาเรื่องโรคโคนเน่าจะตามมา ดังนั้น ในการใส่วัสดุปลูกลงในวงบ่อซีเมนต์จะต้องใส่ให้พูนเป็นภูเขาเลย และที่จะต้องเน้นเป็นพิเศษขณะที่ใส่วัสดุปลูกลงในวงบ่อนั้นคือ จะต้องขึ้นเหยียบวัสดุปลูกขอบๆ วงบ่อ บริเวณตรงกลางไม่ต้องเหยียบ การใส่วัสดุปลูกให้เป็นภูเขาจะช่วยในเรื่องดินยุบลงมาเสมอวงบ่อได้นานถึง 1 ปี

วิธีการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ที่ถูกต้อง
หลังจากที่ใส่วัสดุปลูกลงในบ่อซีเมนต์เรียบร้อยแล้ว ให้เกษตรกรขุดเปิดปากหลุมให้มีขนาดเท่ากับขนาดของถุงที่ใช้ชำต้นมะนาว (โดยปกติถ้าใช้กิ่งตอนมะนาว ควรจะชำต้นมะนาวไว้นานประมาณ 1 เดือน เท่านั้น ไม่แนะนำให้ซื้อต้นมะนาวที่ชำมานานแล้วหลายเดือน หรือชำค้างปี เนื่องจากจะพบปัญหาเรื่องรากขด ทำให้เจริญเติบโตช้าหรือต้นแคระแกร็น) รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 อัตราประมาณ 1 กำมือ ถอดถุงดำปลูกต้นมะนาวให้พอดีกับระดับดินเดิม กลบดินแล้วใช้เท้าเหยียบรอบๆ ต้น เพื่อไม่ให้โยกคลอน ปักไม้เป็นหลักกันลมโยกและแนะนำให้ใช้ตอกมัดต้นมะนาวไว้กับหลัก ตอกจะผุเปื่อยหลังจากปลูกไปนานประมาณ 2 เดือน ต้นมะนาวตั้งตัวได้แล้ว แต่ที่หลายคนได้ใช้ปอฟางหรือพลาสติคทาบกิ่งมัดกับหลักจะอยู่ได้นานก็จริง แต่ปัญหาที่จะตามมาจะทำให้ลำต้นมะนาวคอด มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้น หลังจากปลูกเสร็จให้เดินท่อ PE เจาะหัวมินิสปริงเกลอร์และวางท่อ PE พาดไปกับวงบ่อเลยเพื่อสะดวกต่อการทำงาน

ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ได้ตลอดทั้งปี
ในการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ปลูกไปแล้วนับไปอีก 8 เดือน เกษตรกรสามารถบังคับให้ต้นออกดอกได้ ถ้าเกษตรกรจะบังคับให้มะนาวออกฤดูแล้งในรุ่นแรกแนะนำให้ปลูกต้นมะนาวในช่วงเดือนมกราคม ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ในปีเดียวกันบังคับต้นให้ออกดอกได้โดยใช้หลักการเหมือนกับที่ปลูกลงดิน ผลผลิตมะนาวฤดูแล้งจะไปแก่และเก็บผลผลิตขายได้ราคาแพงในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของปีถัดไป เท่ากับว่าการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ใช้เวลาปลูกเพียงปีเศษเท่านั้น เกษตรกรสามารถเก็บมะนาวฤดูแล้งขายได้
วิธีการรดน้ำต้นมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ทำอย่างไร
ในการผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์ ให้ใช้พลาสติคคลุมปากบ่อซีเมนต์เพื่อป้องกันน้ำหรือฝนที่ตกลงมาในช่วงแรกๆ แต่พบปัญหาว่าเมื่อเกษตรกรนำพลาสติคไปคลุมกลับรักษาความชื้นให้กับต้นมะนาวใช้เวลานานวันกว่าดินจะแห้ง หรือเลือกใช้หลักการ "ฝนทิ้งช่วง" ในแต่ละปีช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ของทุกปี จะมีช่วงเวลาที่ฝนทิ้งช่วง ในการผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์ ถ้าฝนไม่ตกติดต่อกัน 3-4 วัน ดินในวงบ่อจะเริ่มแห้ง ใบมะนาวจะเริ่มเหี่ยว หลังจากนั้นฉีดกระตุ้นให้ต้นมะนาวออกดอกและติดผลได้

ผลิตมะนาวฤดูแล้งในวงบ่อซีเมนต์ 2 รุ่น ต่อปี
ในช่วงเริ่มแรกของการบังคับมะนาวฤดูแล้งจะทำให้ต้นมะนาวออกดอกเพียงรุ่นเดียวคือ ช่วงเดือนตุลาคมและไปเก็บผลผลิตในช่วงเดือนเมษายนเท่านั้น ทำให้จะต้องคอยปลิดดอกมะนาวทิ้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเรื่อยมาจนถึงเดือนสิงหาคม-กันยายน แต่ช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมาสภาวะตลาดมะนาวผลผลิตจะเริ่มมีราคาดีตั้งแต่เดือนมกราคมเรื่อยไปจนถึงเดือนเมษายน จึงปล่อยให้มะนาวให้ผลผลิต 2 รุ่น คือมีผลผลิตขายในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์รุ่นหนึ่ง (บังคับให้ต้นออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) และมีผลผลิตในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนอีกรุ่นหนึ่ง (บังคับให้ออกดอกในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม) พอเข้าสู่เดือนพฤษภาคมของทุกปีราคามะนาวจะถูกลง จะตัดแต่งกิ่งมะนาวในช่วงเวลานี้ พร้อมทั้งปลิดผลมะนาวที่ติดอยู่บนต้นทิ้งให้หมด

ตัดแต่งกิ่งมะนาวในวงบ่อซีเมนต์อย่างหนัก ทุกๆ 3 ปี
ตัดแต่งกิ่งมะนาวตาฮิติในวงบ่อซีเมนต์อย่างหนัก ทุกๆ 3 ปี โดยจะเริ่มตัดแต่งกิ่งและปลิดผลทิ้งทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคม ในช่วงปีที่ 1-2 จะตัดแต่งบ้างแต่ไม่มากนัก จะมาตัดแต่งหนักเมื่อต้นมีอายุประมาณ 3 ปี ซึ่งในช่วงนั้นมักจะพบว่าต้นมะนาวเริ่มโทรม มีกิ่งแห้งเป็นจำนวนมาก การตัดแต่งกิ่งมีผลทำให้ต้นมะนาวแตกกิ่งออกมาใหม่และได้ผลผลิตมะนาวที่มีคุณภาพ หลังจากตัดแต่งกิ่งเสร็จในเดือนพฤษภาคม ช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เป็นช่วงบำรุงต้นและสะสมอาหารเพื่อจะกระตุ้นการออกดอกรุ่นแรกในเดือนสิงหาคม
KasetTaln
โพสต์: 176
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 16 ม.ค. 2013 1:24 pm

Re: เรื่องของ มะนาว

ข้อมูล โดย KasetTaln »

มาต่อกันเลยกับการทำมะนาวนอกฤดูค่ะ
เทคนิคการเปิดตาดอก
เมื่อใบมะนาวเหี่ยวและเริ่มร่วงหรือเหลือใบยอดเพียง 1 คืบ จะเปิดตาดอกโดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตรที่มีตัวกลางสูง เช่น สูตร 15-30-15 หรือ 12-24-12 อัตรา 1 กำมือ ใส่ให้กับต้นมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ รดน้ำจนเห็นว่าปุ๋ยละลายจนหมด (ช่วงการให้ปุ๋ยนี้ไม่แนะนำให้เปิดน้ำด้วยหัวสปริงเกลอร์ ควรจะให้น้ำด้วยสายยางจะดีกว่า) และยังได้แนะนำก่อนว่า ก่อนที่จะให้ปุ๋ยควรเปิดน้ำให้กับต้นมะนาวจนดินชุ่มเสียก่อน จะรดน้ำด้วยสายยาง 2-3 ครั้ง ทุกๆ 3-5 วันสำหรับการฉีดพ่นฮอร์โมนหรือธาตุอาหารทางใบควรฉีดพ่นอย่างเต็มที่ ฉีดพ่นด้วยฮอร์โมน โปรดั๊กทีฟ อัตรา 20 ซีซี ผสมกับสารเทรนเนอร์ อัตรา 10 ซีซี และปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ (20 ลิตร) ฉีดพ่นต่อเนื่องทุก 5-7 วัน หลังจากนั้นต้นมะนาวจะเริ่มออกดอกและติดผลไปแก่ในช่วงฤดูแล้ง
การทำมะนาวนอกฤดู
การบังคับมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์
1. การให้น้ำระบบมินิสปริงเกอร์ ให้น้ำเช้า - เย็น
2. มะนาวจะราคาแพงที่สุดคือช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน ของทุกปี ดังนั้นเมื่อเก็บผลผลิตหมดในเดือน
พฤษภาคม ให้รีบดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
- ตัดแต่งกิ่ง เด็ดผลที่เหลือบนต้นออก เพื่อบำรุงต้น เร่งการสร้างยอดใหม่ ใบใหม่โดย ผลมะนาวที่คุณภาพดีที่สุดคือผลที่เกิดจากยอดใหม่ ผลที่เกิดจากกิ่งเก่าคุณภาพจะด้อยลงมา ผลที่คุณภาพต่ำสุดคือผลที่เกิดติดกิ่ง หลังตัดแต่งกิ่งเสร็จใช้ปุ๋ยเคมี 15 – 15 – 15 ใส่หนึ่งกำมือต่อวง คุณพิชัยให้เหตุผลว่าหากไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย ต้นจะไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าที่ควร และพบอาการผลเหลืองที่ไม่ได้เกิดจากอาการม้านแดดมากกว่าปกติ เนื่องจากการให้ผลผลิตในปีที่ผ่านมา
ต้นมะนาวใช้ธาตุอาหารในการเลี้ยงลูกในปริมาณที่มาก
- เพิ่มวัสดุปลูกในวงบ่อเนื่องจากในแต่ละปีวัสดุปลูกจะยุบลง เพิ่มกาบมะพร้าวบริเวณโคนต้น เนื่องจากาบ
มะพร้าวผุพังไปบ้างในปีที่ผ่านมา กาบมะพร้าวเป็นวัสดุที่ช่วยเก็บรักษาความชื้นได้อย่างดี และยังเป็นวัสดุที่ช่วยเก็บ
รักษาปุ๋ยที่จ่ายมาทางระบบน้ำก่อนจะค่อย ๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารให้ต้นมะนาวใช้ ป้องกันการสูญเสียธาตุอาหารอัน
เกิดจากการไหลบ่า หรือการระเหย
- การให้ปุ๋ยชีวภาพซึ่งได้จากการหมักหอยเชอรี่30 กก. เศษผลไม้ 10 กก. กากน้ำตาล 10 กก. เชื้อพด.
2 จำนวน 25 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร สูตรนี้สามารถใช้ฉีดพ่นทางใบ ในอัตรา 20 - 25 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตรได้ ในส่วนของ
การให้ทางระบบน้ำนั้น เทคนิคคือใช้ปุ๋ยชีวภาพในอัตรา 5 ลิตร ต่อน้ำ 1,250 ลิตร ให้ทุก 5 - 7 วัน โดยใน
การให้จะให้ครั้งละ 3 – 5 นาทีเพื่อให้กาบมะพร้าวบริเวณโคนต้นชุ่มก็พอ หลังจากนั้นก็ให้น้ำตาม รอบปกติ น้ำจะ
ค่อย ๆ ละลายธาตุอาหารลงไปให้ต้นมะนาวใช้ เป็นการจัดการที่ประหยัดปุ๋ย ใช้ปุ๋ยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

- ในระยะนี้ต้องรักษาใบและยอดให้ดี เนื่องจากมีโรค แมลงที่สำคัญเข้าทำลายในระยะยอดอ่อนถึงเพสลาดคือ เพลี้ยไฟ และโรคแคงเกอร์ ในเรื่องสารเคมีคุณพิชัยให้แนวคิดว่าบางระยะยังต้องมีการใช้อยู่ แต่ต้องเลือกใช้ในระยะที่
ปลอดภัยต่อผู้บริโภค คือใช้ในระยะก่อนเก็บเกี่ยวไม่น้อยกว่า 2 เดือน เนื่องจากแปลงเรียนรู้นี้ปลูกทั้งพันธุ์ตาฮิติ และพันธุ์แป้นคละกันไป พันธุ์แป้นอ่อนแอต่อโรคแคงเกอร์มาก
- หลักการใช้สารเคมีในแปลงมะนาว นอกจากเพลี้ยไฟ โรคแคงเกอร์แล้วยังมีโรคและศัตรูอื่น ๆ อีก เช่น หนอนชอนใบ หนอนกัดกินใบ แมลงค่อม โรคยางไหล โรคราเข้าขั้ว การเลือกใช้ชนิดของ
สารเคมีและระยะที่ใช้จึงมีความจำเป็น หากอยู่ในระยะที่ใช้สารเคมีได้ เพลี้ยไฟ และหนอนชอนใบมีสารเคมีที่เลือกใช้ในการป้องกันกำจัดคือ อะบาแม็กติน อัตรา 3 – 10 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ( ทั้งนี้อัตราการใช้แล้วแต่ความเข้มข้นของแต่ละบริษัทที่ผลิต ) หากพบการระบาดมากจะใช้สาร อิมิดาคลอพริด อัตรา 3 – 5 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร แมลงค่อมหรือด้วงปีกแข็งใช้สารคาร์โบซัลแฟน อัตรา 20 – 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไซเปอร์เมทริน อัตรา 5 – 10 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร โรคราเข้าขั้วใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราแมนโคเซ็บ อัตรา 20 – 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์เบ็นดาซิม อัตรา 10 – 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ความถี่ในการฉีดพ่น ทุก 7 - 15 วัน หรือแล้วแต่สภาพการระบาดของโรคแมลง นอกเหนือจากระยะนี้แล้ว 2 เดือนก่อนเก็บเกี่ยว เลือกใช้น้ำหมักชีวภาพที่มีฤทธิ์ไล่ และกำจัดแมลง โดยใช้น้ำหมักที่หมักจากสมุนไพรที่ มีรสเผ็ด ขม เหม็น เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด บอระเพ็ด สะเดา ใช้สมุนไพรดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง 30 กก. กากน้ำตาล 10 กก. พด. 7 จำนวน 25 กรัม ต่อน้ำ 30 ลิตร หมัก 20 วัน นำมาฉีดพ่นในอัตรา 25 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตรทุก 7 - 15 วัน
- เนื่องจากมะนาว มีอายุ ประมาณ 5 เดือนสามารถเก็บขายได้ในเดือนที่ 6 การวางแผนการบังคับให้ออกนอกฤดู คือต้องทำให้ออกดอก เดือนตุลาคม เดือนกันยายนต้องงดปุ๋ย งดน้ำ จากประสบการณ์จะเลือกใช้จังหวะฝนทิ้งช่วงประมาณ 7 – 15 วัน เป็นการงดน้ำไปในตัว เนื่องจากมะนาวแปลงนี้ 600 วง มีการจัดการเพียงคนเดียวจึงไม่สะดวกที่จะเลือกใช้พลาสติกคลุม เพราะพลาสติกก่อให้เกิดไอน้ำเกาะบริเวณผิวด้านในพลาสติก ลดความชื้นในดินยาก หากจะให้ได้ผลดี ในวันที่แดดออกต้องแกะพลาสติกออกให้น้ำระเหย หากฝนตกต้องคลุมพลาสติก เป็นการจัดการที่ยากในกรณีที่ไม่มีแรงงานเพียงพอ
- งดน้ำจนใบเหี่ยว สลด และหลุดร่วงประมาณ 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นให้น้ำตามปกติ ปุ๋ยเคมีที่ใช้เพื่อเปิดตาดอกในระยะนี้คือ ปุ๋ยที่มีตัวกลางสูงเช่น 12 – 24 – 12 หรือ 15 – 30 -15 ปริมาณ 1 กำมือต่อวงรดน้ำให้ชุ่มเพื่อให้ปุ๋ยละลาย
- หลังติดดอกแล้วให้น้ำตามปกติเช้า – เย็น เวลาละ 5-10 นาที
- ปุ๋ยทางดินที่ใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ตลอดฤดูการผลิตคือปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักจากเศษพืช มูลสัตว์ กากหอยเชอรี่ เป็นการลดต้นทุนการผลิต ลดภาวะดินเสื่อมโทรม ปรับสภาพดินให้สมบูรณ์ อย่างยั่งยืน
KasetTaln
โพสต์: 176
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 16 ม.ค. 2013 1:24 pm

Re: เรื่องของ มะนาว

ข้อมูล โดย KasetTaln »

เพิ่มเติมให้อีกนิดค่ะ กับพันธุ์มะนาวที่นิยมปลูกจ้า :D

พันธุ์มะนาวที่นิยมปลูกมีด้วยกัน 4 สายพันธุ์
คือ มะนาวแป้นพิจิตร มะนาวแป้นจริยา มะนาวแม่ไก่ไข่ดก และ มะนาวน้ำหอมทูลเกล้าไม่มีเมล็ด
ทั้ง 4 สายพันธุ์ถือเป็นมะนาวเด่นที่ได้รับความนิยมปลูกอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน บางพันธุ์มีผลทะวายหรือตลอดปี ให้น้ำเยอะ รสเปรี้ยวจัด ติดผลดก แต่ละพันธุ์ที่กล่าวข้างต้นปลูกแล้วคุ้มค่ามาก โดยเฉพาะมะนาวแป้นพิจิตร เป็นพันธุ์ใหม่ล่าสุดที่นักวิชาการเกษตรบำรุงพันธุ์ให้ทนทานต่อโรคแมลงทุกชนิด และยังสามารถติดผลดกในช่วงฤดูแล้งที่ผลมะนาวมีราคาแพงด้วย เกษตรกรในปัจจุบันจึงนิยมปลูกมะนาวสายพันธุ์ แป้นพิจิตรอย่างแพร่หลาย
ส่วนมะนาวแป้นจริยา มีความโดดเด่นตรงเวลาติดผลจะเป็นพวงเกินกว่า 5 ผลขึ้น และที่เป็นจุดดีอีกอย่างได้แก่ เปลือกผลของมะนาวแป้นจริยาจะบางมาก จึงทำให้มีน้ำเยอะรสชาติเปรี้ยวและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มะนาวแม่ไก่ไข่ดก จะติดผลกระจายทั่วทั้งต้นได้ดีและสม่ำเสมอ แม้จะไม่เป็นพวงแต่จะให้ผลดกมาก มีรสเปรี้ยวใกล้เคียงกับน้ำมะนาวแป้นทั่วไป สุดท้าย มะนาวน้ำหอมทูลเกล้าไร้เมล็ด มีลักษณะเด่นคือ ผลขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่เกือบเท่าลูกเทนนิส เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ผู้ปลูกนิยมปลูกกันมาก เนื่องจากให้น้ำเยอะ เวลาติดผลดกทั้งต้นจะคุ้มค่ายิ่งนัก ซึ่งมะนาวดีทั้ง 4 สายพันธุ์มีกิ่งตอนขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ส่วนอีก 2 สายพันธุ์ ที่อยากแนะนำให้ปลูกได้แก่ มะนาวด่านเกวียน กับ มะนาวพวง ทั้งสองชนิดมีรูปทรงของผล น้ำจากผล ผิวผลคล้ายกับ “เลมอน” ของฝรั่งมาก เวลาติดผลจะเป็นกระจุกแน่นเกิน 10 ผล ต่อพวงน่าชมมาก ที่สำคัญจะติดผลตลอดปีครับ.

พันธุ์มะนาวที่นิยมอื่นๆค่ะ
1.มะนาวหนัง ลักษณะเป็นพุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กสูงประมาณ 2-5 เมตร การแตกกิ่งก้านสาขาไม่เป็นระเบียบ กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมสีเขียวจางเมื่อโตขึ้นจะกลมและตามกิ่งมีหนามโคน หนามสีเขียว ปลายหนามสีน้ำตาล รอยต่อระหว่างสีเขียวและสีน้ำตาลมักมีรอยต่อเห็นได้ชัด เมื่อกิ่งแก่หนามจะแห้งและตาย ผลอ่อนมีลักษณะกลมยาว หัวท้ายแหลม เมื่อโตขึ้นจะค่อย ๆ สั้นเข้าหัวท้ายจะมนเข้า ผลโตเต็มที่ ส่วนมากมีลักษณะกลมค่อนข้างยาว มีกลมมนบ้าง แต่น้อยกว่า ด้านหัวมีจุดเล็ก ๆ ผิวเรียบและมีเปลือกบาง
2.มะนาวไข่ ลักษณะลำต้นเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2-5 เมตร มีขนาดและลักษณะคล้ายกับมะนาวหนัง ผลอ่อนจะมีลักษณะกลมยาว หัวท่านแหลมจะค่อย ๆ มนเข้าเมื่อโตขึ้น เมื่อโตเต็มที่ลักษณะกลมมนเป็นส่วนใหญ่ ผิวเรียบ เปลือกบาง ผลโตกว่ามะนาวหนังเหมาะสำหรับทำมะนาวดอง
3.มะนาวทราย ในปัจจุบันนี้นิยมปลูกกันมากที่สุด เพราะเป็นมะนาวที่ออกลูกมาก และออกดอกตลอดปี ซึ่งได้แก่
- พันธุ์แม่ไก่ไข่ดก ลักษณะผลกลม ผลมีขนาดกลาง แต่ความดกมีมาก ให้ผลได้เกือบตลอดทั้งปี ปลูกในกระถางก็สามารถออกดอกและเก็บผลได้
- พันธุ์แป้นรำไพ ลักษณะทรงผลแป้น ผลใหญ่กว่าแม่ไก่ไข่ดกเปลือกไม่หนามาก
- พันธุ์แป้นทวาย ผลมีขนาดกลาง ทรงผลแป้น เปลือกบาง
พันธุ์มะนาวที่นิยมปลูก
4.มะนาวฮิติ เป็นมะนาวพันธุ์ต่างประเทศ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้นำมาจากหมู่เกาะตาฮิติ ผลมีขาดใหญ่ รูปไข่ เปลือกและเนื้อมีสีเขียว เก็บเกี่ยวขณะที่เปลือกสีเขียวเข้ม มีกลิ่นและรสดี เป็นมะนาวไม่มีเมล็ด
5. มะนาวหวาน มีผลขนาดใหญ่ ผลรูปร่างกลม เปลือกสีเขียวเข้ม รสไม่เปรี้ยว หรือเปรี้ยวน้อยกว่าพันธุ์อื่น จึงไม่ค่อยนิยมปลูกกัน
6. มะนาวปีนัง ลักษณะผลกลมยาว ผลโตกว่ามะนาวหนัง ก้นแหลมคล้ายไข่เต่า เปลือกหนา มีกลิ่นหอม ปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี
7. มะนาวโมฬี ลักษณะลูกกลมโต แต่ส่วนก้นจะกลมแป้น มีเปลือกหนา พันธุ์นี้มีรสเปรี้ยวมาก ลำต้นจะใหญ่แข็งแรง เหมาะสำหรับใช้ทำเป็นต้นตอ

8.มะนาวพม่า มีผลโตเกือบเท่าส้มเขียวหวาน เปลือกหนา ใบค่อนข้างจะรี ๆ ขอบใบมีจักเล็กน้อย มีรสเปรี้ยว แต่ไม่ค่อยมีกลิ่นจึงไม่ค่อยนิยมปลูกกันมาก
KasetTaln
โพสต์: 176
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 16 ม.ค. 2013 1:24 pm

Re: เรื่องของ มะนาว

ข้อมูล โดย KasetTaln »

เอาไว้ว่างๆเราจะเอาภาพต้นมะนาวหลังบ้านเรามาลงให้ดูนะตอนนี้โตมากแล้วล่ะ แต่เรายังไม่ปล่อยให้ออกลูกหรอก มันอายุยังไม่ได้ขวบเลย สงสารเค้าน่ะ เลี้ยงให้โตอีกสักพักก่อนดีกว่า วันนี้ฝากข้อมูลให้เพื่อนๆเรื่องมะนาวแค่นี้ก่อนละกันนะจ๊ะ ^^
KasetTaln
โพสต์: 176
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 16 ม.ค. 2013 1:24 pm

Re: เรื่องของ มะนาว

ข้อมูล โดย KasetTaln »

มาแล้วจ้า น้องมะนาว อายุเกือบขวบค่ะ
2013-02-02 14.12.35-1.jpg
KasetTaln
โพสต์: 176
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 16 ม.ค. 2013 1:24 pm

Re: เรื่องของ มะนาว

ข้อมูล โดย KasetTaln »

ตอนนี้ออกลูกแล้ว สัญญาว่าจะนำภาพมาฝากค่ะเพื่อนๆ
mickel12
โพสต์: 1
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. 05 มี.ค. 2015 4:37 pm

Re: เรื่องของ มะนาว

ข้อมูล โดย mickel12 »

ว่างๆเราจะเอาภาพต้นมะนาวหลังบ้านเรามาลงให้ดูนะตอนนี้
ตมากแล้วล่ะ แต่เรายังไม่ปล่อยให้ออกลูกหรอก มันอายุยังไม่ได้ขวบเลย สงสารเค้าน่ะ เลี้ยงให้โตอีกสักพักก่อนดีกว่า วันนี้ฝากข้อมูลให้เพื่อนๆเรื่องมะนาวแค่นี้ก่อนละกันนะจ๊ะ ^^
ชัยภัทร
โพสต์: 1
ลงทะเบียนเมื่อ: พฤหัสฯ. 14 ธ.ค. 2017 1:47 pm

Re: เรื่องของ มะนาว

ข้อมูล โดย ชัยภัทร »

ผมปลูกแบบอินทรีย์ ใช้น้ำหมักไล่แมลงแก้โรคหนอนชอนใบในมะนาว ยากมากครับ

admin
Administrator
โพสต์: 423
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 14 ม.ค. 2013 4:02 am

Re: เรื่องของ มะนาว การปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์

ข้อมูล โดย admin »

หนอนชอนใบ ตัวใหญ่ดีมากเลยครับ
ตอบกลับโพส

ย้อนกลับไปยัง “ความรู้วิชาการเกษตร”