ผู้บริหารซีพี “เที่ยวนี้ผมผลิตอาหารแบบที่คนรับไม่ได้ ไม่ได้

รวม ข่าวเกี่ยวกับการเกษตร เทคโนโลยีการเกษตร ประกาศรับสมัครเรียน ทางการเกษตร
admin
Administrator
โพสต์: 423
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 14 ม.ค. 2013 4:02 am

ผู้บริหารซีพี “เที่ยวนี้ผมผลิตอาหารแบบที่คนรับไม่ได้ ไม่ได้

ข้อมูล โดย admin »

ผู้บริหารซีพี “เที่ยวนี้ผมผลิตอาหารแบบที่คนรับไม่ได้ ไม่ได้อีกแล้ว”
GMOs ดีหรือ ???


"เที่ยวนี้ ผมผลิตอาหารแบบที่คนรับไม่ได้ ไม่ได้อีกแล้ว"

"วันนี้เราเป็นจำเลยสังคม เรายอมรับ แต่พรุ่งนี้เราพลิกตรงนี้กลับมาใหม่ เพราะโลกเปลี่ยน"
อ่านให้ลึกอ่านให้ละเอียด แยกเป็นประเด็นๆ
ข้าวโพด ปลาป่น เกษตรพันธะสัญญา และ GMOs
รูปภาพ

เกษตรพันธะสัญญา
GMOs

นี่คือ คำพูดบางช่วงบางตอนของนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สวมหมวกในฐานะที่นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย, ปรึกษาอาวุโส กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดใจถึงเรื่อง "ข้าวโพด ปลาป่น เกษตรพันธะสัญญา และ GMOs" ไปพร้อมๆ กับนำเสนอมุมมองการทำธุรกิจไว้ในเวทีสัมมนาวิชาการเรื่อง "ปฏิรูปอย่างไร เกษตรไทยไปโลด" ณ ห้อง EC 5205 อาคารปฏิบัติการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดโดยนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

บนเวทีนอกจากนายพรศิลป์ จะพูดถึงการปฏิรูปภาคการเกษตร ปัญหาการกีดกันทางการค้าจากนอกประเทศ ประเด็นความยั่งยืน โดยเฉพาะในส่วนที่ไปเกี่ยวโยงกับสิ่งแวดล้อม มนุษย์ สัตว์ พืช ที่จะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้กับภาคธุรกิจในอนาคต หากไม่มีการปรับตัวแล้ว

ช่วงหนึ่งเขาได้ยกตัวอย่างภูเขาเมืองน่าน กลายเป็นเขาหัวโล้น ป่าไม้ถูกทำลายลง ซึ่งสาเหตุมาจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ว่า "ขณะนี้กำลังทำยุทธศาสตร์การพัฒนาข้าวโพดให้มีความยั่งยืน ด้วยแนวคิด "ภาคธุรกิจแข่งได้ อยู่ได้ ทรัพยากรธรรมชาติก็อยู่ได้ และดีขึ้น ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีสูงมากในการจัดการเกษตร"

นายพรศิลป์ ยอมรับการแข่งขันของโลกปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้า หันมาใส่ใจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

"ถามว่าเอกชนทำเรื่องข้าวโพดอย่างไร เรารู้ว่าการปลูกข้าวโพดที่ผ่านมาไม่ยั่งยืน พื้นที่ปลูกข้าวโพด 8 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ ผิดกฎหมายอยู่ 3 ล้านไร่ " ผมไปที่สระบุรี คุยกับสหกรณ์ปลูกข้าวโพด มีเกษตรกรกว่า 1 หมื่นไร่ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ทหาร พื้นที่ทหารไม่ใช่สำหรับปลูกข้าวโพด"

นี่เป็นตัวอย่าง ยุทธศาตร์การจัดการข้าวโพดให้ยั่งยืนและแข่งได้ ทุกอย่างต้องเน้นลงไปที่เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการวางยุทธศาสตร์นี้ไว้แล้วกับคสช.ระยะ 5 –10 ปี ขจัดพื้นที่ปลูกข้าวโพดผิดกฎหมาย ป่าต้องจัดการใหม่ รวมไปถึงการทำมาตรฐานการปลูกข้าวโพดยั่งยืนกับกระทรวงเกษตรฯ

ทั้งหมด ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี การปลูกข้าวโพดจึงตอบโจทย์ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ

"เรารับซื้อข้าวโพดเม็ดกิโลละ 7.30 บาท กัมพูชาขายกิโลละ 5 บาท ถามว่า นักธุรกิจหรือใครก็ตาม จะซื้อจากใคร หากผมเลิกซื้อข้าวโพดในประเทศ ก็หวังว่า จะมีการปลูกข้าวโพดน้อยลง มีการย้ายพื้นที่ปลูก แล้วจังหวัดน่านก็จะกลับมาเป็นป่าเหมือนเดิมอย่างนั้นหรือ มีบางคนเอาไปพูดด้วยว่า หากคุณเลิกซื้อข้าวโพดเกษตรกรก็จะเลิกตัดไม้ทำลายป่า เรื่องนี้ต้องคิดใหม่ ธุรกิจอยู่ได้ เกษตรกรมีอาชีพอยู่ได้ แล้วได้ป่ากลับมาจะไม่ดีกว่าหรือ ผมเห็นว่า ควรทำคู่ขนานไป ซึ่งเป็นเรื่องต้องใช้เวลา"

ขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศราคากิโลกรัมละ 7 บาทกว่า กัมพูชา 5 บาทกว่า และในปี 2558 เปิดประชาคมอาเซียน จะไม่มีภาษี ไม่มีการจำกัดโควต้า "ผมก็ยังยืนยันว่า ข้าวโพดของไทยยังตอบโจทย์ได้ แต่ 5 บาทให้ผมฟรีผมยังไม่เอาเลย เพราะอะไร เพราะข้าวโพดของประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ตอบโจทย์ผม ไม่ได้ตอบโจทย์คุณรักษาป่าอย่างไร" ที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ซีพี ระบุ และมองว่า อนาคตเกษตรจะเชื่อมโยงติดกัน ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ กระทั่งถึงปลายทาง และทุกๆ คนที่อยู่ในห่วงโซ่อาหาร

"ผมอยู่ในธุรกิจอาหารสัตว์ อยู่ตรงกลาง ผมกำลังลงไปจัดการเรื่องการปลูกข้าวโพด ให้ความรู้เกษตรกร ปรับกระบวนการผลิตให้ประหยัดน้ำ ปกป้องธรรมชาติ"

รวมไปถึงกรณีของปลาป่นที่ได้จากการจับปลาของเรือลากอวนที่ผิดกฎหมาย กระทั่งส่งกระทบชาวประมงพื้นบ้าน รวมถึงอาจถูกกีดกันทางค้าจากต่างประเทศนั้น

"เรื่องปลาป่น วันนี้เราบอกวิธีการจับปลาใช้อวนลาก อวนคู่ กวาดมาทั้งท้องทะเล ยอมรับว่า เป็นวิธีไม่ยั่งยืน รวมถึงการใช้แรงงานทาส แต่ถามว่า เราเลิกซื้อได้หรือไม่ คำตอบง่ายนิดเดียว ได้ ปลาป่นผมต้องใช้ ผมไปบอกรัฐบาลนำเข้าจากเปรู จบเลย แต่เป็นการทำลายคนไทยด้วยกัน

เอาอย่างนี้ ทำไมไม่คิดใหม่ ผมยังซื้อคุณ แต่คุณจับให้ยั่งยืนได้ไหม คุณไม่รู้วิธีทำ ผมไปสอนคุณ ฉะนั้นต่อไปการจับปลาก็จะยั่งยืนขึ้น ดีขึ้น มีปลามากขึ้น อวนให้ตาใหญ่ขึ้น หรือต้นทุนแพงขึ้น ฉะนั้น เริ่มต้นผมต้องซื้อคุณแพงขึ้น แต่สุดท้ายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะมีคุณค่ามากขึ้น ไม่ใช่แค่มูลค่าเหมือนเมื่อก่อนแล้ว"

เมื่อพูดถึงระบบเกษตรพันธสัญญา ที่เป็นปัญหาเกษตรกรมีการลงทุนสูง และความเสี่ยงตกอยู่กับเกษตรกรนั้นจะสามารถเปลี่ยนสัญญาจากที่บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบความเสี่ยง มาเป็นการลงทุนร่วม แบกรับความเสี่ยงร่วมกันได้หรือไม่นั้น นายพรศิลป์ ยอมรับ เมื่อเกษตรพันธสัญญามีช่องโหว่ มีคนทำพลาด ก็ต้องไปแก้ไขกัน

ส่วนพืช GMOs ที่เวลานี้เมืองไทยมีชุดความคิด 2 ชุด ธุรกิจจะมองถึงการแข่งขัน ดูเรื่องวิทยาศาสตร์ นายพรศิลป์ เห็นว่า หาก GMOs ตอบโจทย์ productivity safety ได้ และในอนาคตเป็นที่ยอมรับ พิสูจน์แล้วว่า ไปได้ ใช้ได้ ก็ไม่ปฏิเสธ

พร้อมยกตัวอย่าง ส่วนผสมของอาหารสัตว์ "ถั่วเหลือง" 24% เป็น GMOs หมดแล้ว ทั่วโลกมีการพิสูจน์แล้วว่า ใช้ได้ กินแล้วไม่มีปัญหา จึงรับมาใช้นำไปผสมเป็นอาหารไก่ และส่งเนื้อไปต่างประเทศ ก็ได้รับการยอมรับ เช่นเดียวกันกันหากข้าวโพดตอบโจทย์แบบนี้ได้ก็ต้องเอา แต่คนอีกกลุ่มไม่เอาอย่างเดียวก็ต้องมาคุยในเชิงวิทยาศาสตร์

นี่คือมุมมองคนทำธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป มีอีกภารกิจหนึ่ง คือการลงไปให้ความรู้ นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมไปให้เกษตรกร ทั้งหมดเพื่อทำให้กระบวนการผลิตในระบบห่วงโซ่อาหาร ห่วงซึ่งกันและกัน ตอบโจทย์อยู่ร่วมกันอย่างไม่ทำลายล้าง...

ที่มา: http://www.isranews.org

ย้อนกลับไปยัง “ข่าวเกี่ยวกับการเกษตร เทคโนโลยีการเกษตร”