เทศกาลผักพื้นบ้าน ที่บึงฉวาก เมืองสุพรรณบุรี 13-15 เม.ย.

หมวดนี้สำหรับ ถามตอบปัญหาต่างๆ ของการทำเกษตร ศัตรูพืช สอบถามวิธีแก้ปัญหาจากเพื่อนๆ
BabyPink
โพสต์: 93
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 28 ม.ค. 2013 11:51 am

เทศกาลผักพื้นบ้าน ที่บึงฉวาก เมืองสุพรรณบุรี 13-15 เม.ย.

ข้อมูล โดย BabyPink »

เปิด "เทศกาลผักพื้นบ้าน" ที่บึงฉวาก เมืองสุพรรณบุรี
imagesCA6MA273.jpg
imagesCA6MA273.jpg (11.13 KiB) Viewed 2158 times
“ผักพื้นบ้าน” เป็นอาหารที่อยู่คู่ครัวคนไทยมาแต่อดีต จวบจนปัจจุบันผักพื้นบ้านถือเป็นพืชที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนได้ เนื่องจากผู้บริโภคมีความตื่นตัวในเรื่องสุขภาพและเริ่มหันมาบริโภคผักพื้นบ้านเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับผักพื้นบ้านมีรสชาติอร่อย หายาก เพราะออกตามฤดูกาล และมีเฉพาะบางท้องถิ่นเท่านั้น ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ในระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2556 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดจัดงาน “เทศกาลผักพื้นบ้าน” ขึ้น ณ อุทยานผักพื้นบ้านเพื่อการยังชีพเฉลิมพระเกียรติฯ บึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี ....งานนี้คนชอบกินผักจึงไม่ควรพลาด... ขอบอก
14.jpg
14.jpg (297.04 KiB) Viewed 2561 times
นายไพสิฐ เกตุสถิตย์ เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี จัดงาน “เทศกาลผักพื้นบ้าน” ขึ้นที่อุทยานผักพื้นบ้านเพื่อการยังชีพเฉลิมพระเกียรติฯ บึงฉวาก อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ในระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกร ผู้บริโภค และประชาชนทั่วไป ได้เห็นคุณค่าและประโยชน์ของผักพื้นบ้านของไทยที่มีหลากหลายชนิด พร้อมส่งเสริมให้รู้จักการใช้ประโยชน์ผักพื้นบ้านทั้งในรูปอาหาร สมุนไพร และเครื่องดื่มแพร่หลายมากขึ้น ตลอดจนช่วยกระตุ้นให้เกษตรปลูกในสิ่งที่กินและกินในสิ่งที่ปลูก เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว
ภายในงานฯมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การสาธิตการแปรรูปผักพื้นบ้านในรูปอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ ยำนานาผัก นํ้าฟักข้าว และนํ้ากะเพรา เป็นต้น นอกจากผู้เข้าชมงานจะได้รับความรู้ สูตรอาหารและวิธีการทำแล้ว ยังได้ชิมรสชาติอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวด้วย ขณะเดียวกันยังมีการจัดนิทรรศการการใช้ประโยชน์จากผักพื้นบ้านในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เป็นอาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพร และด้านวัฒนธรรม
อีกทั้งยังสามารถศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับผักพื้นบ้านทุกรูปแบบภายใน อุทยานผักพื้นบ้านเพื่อการยังชีพเฉลิมพระเกียรติฯ มีเนื้อที่ ประมาณ 26 ไร่ ซึ่งได้รวบรวมพันธุ์ผักพื้นบ้านจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศมาปลูกไว้กว่า 500 ชนิด มีทั้งไม้ยืนต้น ไม้เลื้อย ไม้ชื้นแฉะ และสมุนไพร โดยมีจุดเรียนรู้ที่น่าสนใจไม่น้อยกว่า 10 จุด อาทิ นํ้าเต้ารูปทรงต่างๆ บวบหอมขนาดใหญ่ การปลูกไม้มงคล 8 ทิศในบริเวณบ้าน การปลูกไม้มงคลตามปีเกิดหรือปีนักษัตร การจัดสวนประดับด้วยผักพื้นบ้าน สวนไม้นํ้า สวนไผ่ อุโมงค์เทคโนโลยีการเกษตร
โรงเรือนปลูกพืชระบบระเหยนํ้า(GREENHOUSE) เป็นต้น และยังมีห้องสมุดพร้อมให้บริการคอมพิวเตอร์แก่ผู้สนใจค้นคว้าข้อมูลพันธุ์ผักพื้นบ้านต่างๆ ด้วย
นอกจากนั้น ในงานฯยังมีการออกร้านจำหน่ายผักพื้นบ้านโดยกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเกษตรกรผักพื้นบ้าน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของจังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งยังมีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าผักพื้นบ้านในราคาย่อมเยา จึงไม่ควรพลาดโอกาสดีๆ ในช่วงวันหยุดยาว ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า จะมีเกษตรกร ผู้บริโภค นักท่องเที่ยว และผู้สนใจเข้าร่วมชมงานวันละไม่น้อยกว่า 1,000 คน หรือรวมกว่า 3,000 คน
นายไพสิฐกล่าวด้วยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักพื้นบ้าน เพื่อบริโภคภายในครัวเรือน ผลผลิตที่เหลือก็จำหน่าย สำหรับสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรีได้เร่งสร้างเครือข่ายผู้ผลิตผักพื้นบ้านในอำเภอที่อยู่ใกล้เคียงอุทยานฯ เช่น อำเภอสามชุก และอำเภอเดิมบางนางชวช โดยเน้นให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกช่วยปรับปรุงบำรุงดิน ไม่ให้ใช้สารเคมีในการผลิต เนื่องจากผักพื้นบ้านมีความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดี ทำให้ได้ผลผลิตที่มีความปลอดภัยและไร้สารตกค้าง เพื่อบริโภคในครอบครัว และนำผลผลิตที่เหลือเข้ามาจำหน่ายในอุทยานฯช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันมีการผลิตผักพื้นบ้านในเชิงการค้าแล้วหลายชนิด ได้แก่ ผักหวาน ผักตำลึง และผักแพวหรือผักไผ่ ซึ่งตลาดให้การตอบรับดีและอนาคตค่อนข้างสดใส ถึงแม้โดยภาพรวมด้านการผลิตและการบริโภคผักพื้นบ้านทั่วประเทศจะยังไม่มากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องแหล่งพันธุ์ แต่ก็มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น สำหรับภาคที่มีการบริโภคผักพื้นบ้านมากที่สุด คือ ภาคใต้ รองลงมาเป็นภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ภาคกลาง
“การจัดงานเทศกาลผักพื้นบ้านนี้ เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกให้คนไทยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของผักพื้นบ้านมากยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์พันธุกรรมผักพื้นบ้านของไทยให้คงอยู่ต่อไป จึงขอเชิญชวนผู้สนใจให้มาเที่ยวชมงานฯในระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนนี้ ที่บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ” เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรีกล่าว

ย้อนกลับไปยัง “ถาม-ตอบ ปัญหาเกษตร”