ข้าวไทย ถ้าไม่รีบแก้ แย่แน่
เหลืออีกสองปีกับไม่กี่วันประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ก็จะมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศในประชาคมอาเซียนแล้ว มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญหลายชนิดที่เรากำลังจะสูญเสียความเป็นผู้นำในการผลิตและการส่งออก ที่สำคัญที่สุดก็คือข้าว ที่เราจะต้องสูญเสียทั้ง ผลผลิต คุณภาพ และตลาดให้กับประเทศเวียดนาม ที่เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งในการผลิตมากที่สุดในอาเซียน และอาจจะต้องสูญเสียให้กับพม่าซึ่งเป็นจ้าวยุทธจักรอันเก่าแก่เมื่อกว่าสี่สิบปีที่ผ่านมาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแน่นอน ที่แพ้เขาไม่ใช่เป็นเพราะนักวิชาการเกษตรหรือเกษตรกรของเราไม่เอาไหน แต่ที่แพ้เขาเป็นเพราะระบบและวิธีคิดของผู้บริหารประเทศของเราที่ผ่านมาในรัฐบาลทุกพรรค(ขอยํ้าว่าทุกพรรค)ที่มุ่งแต่จะแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพรรค โดยคิดไม่ถึงว่าสิ่งที่พวกท่านกระทำหรือประกาศเป็นนโยบายนั้นกำลังจะทำลายระบบการผลิตข้าว และข้าวที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกของประเทศไทย อีกทั้งกำลังทำให้เกษตรกรอ่อนแอ สิ้นเนื้อประดาตัวและตายโดยไม่รู้ตัว เปรียบเสมือนกับท่านยื่นนํ้ากรดแช่เย็นให้เขาดื่มตามเพลงลูกทุ่งที่เขาร้อง ซึ่งความจริงคณะดูงานและเจรจาการค้า นโยบายที่คิดของแต่ละพรรคก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนักหรอก ก็ดีมีประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรพอสมควร เพียงแต่วิธีที่คิดนั้นไม่ครบทั้งระบบ คิดแต่เพียงระบบเศรษฐศาสตร์เพื่อเรียกคะแนนนิยมจากเกษตรกรที่เป็นผู้คนระดับรากหญ้าซึ่งเป็นฐานเสียงส่วนใหญ่ที่ทุกพรรคต้องการเพียงสิ่งเดียว ขาดซึ่งการบรรจุหลักวิชาการที่เกี่ยวกับการผลิตข้าวที่เป็นระบบเพื่อให้เกิดการพัฒนาพันธุ์ข้าว การพัฒนาคุณภาพของผลผลิตข้าวและการรักษาตลาดของข้าวทุกระดับที่เป็นรูปธรรมไว้ในนโยบายด้วย ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากเงินงบประมาณที่ใช้จ่ายแทบจะไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรกับภาคการพัฒนาด้านวิชาการในการพัฒนาการผลิตข้าวเลย พูดถึงแต่กระทรวงพานิชย์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยหน้าที่หลักควรจะเป็นผู้มีบทบาทในการพัฒนาการผลิตข้าวกลับต้องมาทำหน้าที่เป็นเบ๊ให้กับกระทรวงพานิชย์ ได้เคยนำเสนอไปมากมายหลายครั้งแล้วว่ารัฐบาลเวียดนามเขาใช้ระบบประกันรายได้ให้กับเกษตรกร โดยให้เกษตรกรมีรายได้ขั้นตํ่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เขาไม่เข้าไปแทรกแซงระบบการตลาดมากนักปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกหรือตามธรรมชาติของตลาด หน้าที่ของรัฐก็คือแสวงหาตลาดให้มากขึ้นเพื่อให้เกษตรกรขายข้าวได้มากขึ้นตามไปด้วย และทุ่มงบประมาณในการพัฒนาพันธุ์ข้าว และพัฒนาระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพและมีคุณภาดีเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศไทยได้
แต่ประเทศไทยเราพอเสียตลาดข้าวขาวให้เวียดนามไป แทนที่รัฐจะให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวและการตลาดเพื่อรักษาตลาดไว้ให้ได้ กับพูดปลอบใจตัวเองว่า “ไม่เป็นไรเรายังมีข้าวหอมมะลิที่สู้เขาได้ เราไปทำตลาดบนปล่อยให้เขาทำตลาดล่างไป” เพียงแค่วิธีคิดก็แพ้เขาแล้วตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเวที ถึงเวลานี้ท่านแน่ใจแล้วหรือว่าข้าวหอมมะลิของเราดีที่สุด สองปีที่ผ่านมาติดต่อกันข้าวพม่า ข้าวเขมรคว้าแชมป์ข้าวคุณภาพดีที่สุดในโลกไปครองแล้ว นี่ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าเราอ่อนแอลงไปในขณะที่เขมรและพม่าเข็มแข็งขึ้น แต่คงไม่กล้าตำหนินโยบายของรัฐหากว่ารัฐบาลทุกพรรคที่ผ่านมาได้มีการทุ่มเทงบประมาณให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อใช้ในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิและพันธุ์ข้าวขาวอื่นๆของเราให้ดีอยู่เสมอและเพียงพอต่อความต้องการเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรทั้งประเทศ ในขณะที่ปัญหานี้ไม่เพียงแต่จะไม่ได้รับการแก้ไขแล้วอย่างจริงจังแล้ว แต่ยังถูกกระหนํ่าซํ้าเติมและทำลายความมั่นคงในการผลิตข้าวของประเทศไทยทั้งระบบจากนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันอีกด้วย กล่าวคือ การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดทำให้คุณภาพข้าวของประเทศไทยเลวลง และเลวลงมากยิ่งขึ้น เพราะเหตุใดหรือที่ทำให้เลวลง ที่เป็นเช่นนี้เพราะในการรับซื้อข้าวของโรงสี รัฐไม่ได้กำหนดให้โรงสีแบ่งแยกข้าวแต่ละพันธุ์ออกเป็นกองๆจากกัน คงมีแยกเฉพาะข้าวหอมที่มีราคาสูงหรือข้าวพันธุ์พิเศษเท่านั้น ส่วนข้าวอื่นๆก็กองรวมเป็นข้าวขาวทั้งหมด ทำให้ข้าวแต่ละพันธุ์ซึ่งมีคุณสมบัติและคุณภาพที่ดีเลวแตกต่างกัน ผสมปนกันเละเทะ แทนที่จะแยกกันสีเป็นแต่ละพันธุ์ไป แล้วนำข้าวสารที่สีได้มาผสมภายหลังตามสูตรที่เราจะคิดปรุงผสมในภายหลัง กลับผสมกันเสียก่อนจนไม่รู้อะไรเป็นอะไร นอกจากนี้ยังทำให้เกษตรกรที่มีนิสัยไม่ดี เกิดความมักง่ายไม่สนใจที่จะพัฒนาการผลิตข้าวให้มีคุณภาพดี เพราะทำห่วยอย่างไรรัฐก็รับจำนำหมด เกษตรกรไม่ยอมหยุดการทำนาแม้ว่ารัฐบาลบอกให้หยุดเพราะไม่มีนํ้าเพียงพอจะทำนา เนื่องจากขายข้าวได้ราคา เกิดการทำนาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด ทำให้เกิดปัญหาโรคและแมลงศัตรูข้าวระบาด ดินเสื่อมโทรมเพราะการใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ไม่ถูกต้อง นี่คือหายนะที่กำลังจะมาเยือนในอุตสาหกรรมการผลิตข้าวของประเทศไทยซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายทั้งขบวนการผลิตและการตลาดอย่างรุนแรงในอนาคต ในขณะที่เวียดนามทุกโรงสีเขามีการแบ่งแยกข้าวที่รับซื้อแต่ละพันธุ์จากเกษตรกรใส่กระสอบไว้เป็นกองๆ อย่างชัดเจน โดยแต่ละโรงสีจะกำหนดชนิดและพันธุ์ข้าวที่รับซื้อไว้ไม่หลากหลาย เพียงไม่เกินโรงสีละ 4-5 พันธุ์เท่านั้น ไม่มีการนำข้าวเปลือกมาผสมกันก่อนที่จะสีเป็นข้าวสาร ขณะเดียวกันชาวนาเขาก็เชื่อฟังและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐที่กำหนดให้มีการทำนาพร้อมกัน และใช้พันธุ์ข้าวที่ปลูกให้เหมือนๆกันตามความต้องการของผู้บริโภคและตลาด ด้วยการพัฒนาการผลิตข้าวที่เป็นระบบของเวียดนามทำให้ประเทศผู้ซื้อมีความมั่นใจในคุณภาพสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงเกษตรกรหรือชาวนาที่เพาะปลูกข้าวได้ ไม่ใช่อย่างบ้านเราที่เกษตรกรไม่ค่อยจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ พอประสบปัญหาความเดือดร้อนก็ใช้วิธีการแบบที่นิยมของกลุ่มต่างๆในบ้านเราที่เอากฎหมู่มาใช้ในการเรียกร้องเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองด้วยการปิดถนน สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นโดยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ซึ่งรู้สึกว่าช่างมีความฟุ่มเฟือยเสียเหลือเกินในประเทศนี้
มาตรฐานข้าวหอมมะลิส่งออกของเวียดนาม
เพื่อเป็นการยืนยันว่าเวียดนามส่งข้าวหอมมะลิออกขายแข่งกับเรา และราคาถูกกว่าข้าวไทยตันละ 200 ดอลลาร์
ด้วยเกรงว่าเมื่อเปิดการค้าเสรีในอีกสองปีกว่าที่จะถึงนี้อาจจะเกิดผลกระทบต่อตลาดข้าวของประเทศไทย กลุ่มโรงสีข้าวและผู้ส่งออก ป.รุ่งเรืองธัญญา นำโดยคุณพิชัย รุ่งเรืองด้วยบุญ หรือ “เฮียแดง” ของน้องๆ จึงได้นำคณะเจ้าของโรงสีข้าวในเครือที่ตั้งกระจายอยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ทั้งหมด 11 โรง มีกำลังการผลิตเป็นข้าวสารรวมกันประมาณปีละกว่าสองล้านตัน ซึ่งจัดกว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงกลุ่มหนึ่งของประเทศไทย ไปศึกษาลู่ทางและเจรจาหาความร่วมมือเพื่อสร้างพันธมิตรทางการค้ากับบริษัท หรือโรงสีรายใหญ่ของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งแรกเริ่มก่อนที่เฮียแดงจะนำคณะเดินทางไปดูงานเวียดนามตามที่กล่าว ทางเฮียแดงได้ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์และเกษตรกร จังหวัดดองทับ และประธานบริหารบริษัท อันยาง แพลนท์ โปรเท็คชั่น จอย สต็อค (An Giang Plant Protection Joint Stock Company) คุณโถ่น (Huynh Van Thon) ที่ได้ขอมาศึกษาดูงานโรงสีข้าวของกลุ่ม ป. รุ่งเรืองธัญญา และได้เชิญเฮียแดงให้ไปเยี่ยมชมโรงสีของเขาบ้าง ซึ่งทางเฮียแดงก็ได้มอบให้ผู้เขียนเป็นผู้จัดการดูงานให้กับคณะ เนื่องจากมีความสนิมสนมกับท่านประธานพรรคฯ คุณทัน (Le Vin Tan) ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งของจังหวัดดองทับ และคุณโถ่นเป็นการส่วนตัว วันแรกที่คณะของเราไปถึงคือวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ทางท่านประธานพรรคฯจังหวัดดองทับได้ให้การเลี้ยงอาหารคํ่ารับรองคณะของเราอย่างเป็นทางการ โดยได้เชิญหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของจังหวัดเข้าร่วมงาน ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยมิตรภาพที่ดี การสนทนาอย่างเป็นกันเองและออกรส และในวันรุ่งขึ้นคือตอนเช้าของวันที่ 6 ธันวาคม 2555 คณะของเราได้ร่วมประชุมหารือเพื่อหาแนวทางในการลงทุน และความร่วมมือการค้าข้าวกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการอุตสาหกรรมและการค้าจังหวัดดองทับ ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวเข้าร่วมประชุมและให้ข้อมูลกับคณะของเรา ท่านผู้อำนวยการฯ ได้กล่าวรายงานสรุปให้คณะเราฟังว่า จังหวัดดองทับเป็นจังหวัดที่มีการเพาะปลูกข้าวได้ผลผลิตมากเป็นอันดับสามของประเทศ มีโรงสีขนาดต่างๆ ตั้งอยู่เป็นจำนวนถึง 500 โรง ตั้งแต่ขนาด 10 ตัน ต่อวัน จนถึง 1,000 ตันต่อวัน สีข้าวได้รวมทั้งสิ้นปีละประมาณ 2,000,000 ตัน ปัจจุบันมีโกดังเก็บข้าวรวมทั้งสิ้น 129 แห่ง สามารถเก็บข้าวสารได้ 515,000 ตัน จังหวัดส่งข้าวออกได้ปีละประมาณ 1,600,000 ตัน โดยมีบริษัทค้าข้าวรวม 102 บริษัท แต่มีเพียง 6 บริษัทเท่านั้นที่มีมาตรฐานและได้รับใบอนุญาตให้ส่งออกได้ ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทค้าข้าวของทางราชการที่เป็นของจังหวัดเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุด ภายหลังจากที่สนทนาแลกเปลี่ยนและหารือความมือทางการค้าจนเสร็จสิ้นคณะของเราจึงเดินทางไปดูโรงสีข้าวของจังหวัดดองทับ แล้วจึงเดินทางไปเยี่ยมชมโรงสีข้าวแห่งใหม่ของบริษัทอันยางฯ ที่อำเภอ Tan Hong จังหวัดดองทับ ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 1,000-2,000 ตันต่อวัน ปัจจุบันบริษัทอันยางฯมีโรงสีขนาดใหญ่ที่สร้างเสร็จและใช้งานแล้วรวมทั้งสิ้น 4 โรง หลังจากนั้นคณะของเราจึงเดินทางกลับนครโฮจิมินท์
Food Company of Ho Chi Minh City Ltd., : Foodcosa An Giang Plant Protection Joint Stock Company
ช่วงเช้าของวันที่ 7 ธันวาคม 2555 คณะของเราได้เข้าเยี่ยมและเจราจาความร่วมมือทางการค้าข้าวกับบริษัท อาหารโฮจิมินท์ จำกัด (Food Company of Ho Chi Minh City Ltd., : Foodcosa) ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ของราชการขึ้นอยู่กับนครโฮจิมินท์ ดำเนินกิจการค้าข้าวและผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ รวมถึงมีสถานีบริการนํ้ามันในนครโฮจิมินท์ 4 แห่ง มีร้านสะดวกซื้อกระจายอยู่ทั่วไปในนครโฮจิมินท์ 55 แห่งและจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 100 แห่งภายในสิ้นปีนี้ โดยในปี 2555 นี้บริษัท อาหารโฮจิมินท์ จำกัด สามารถส่งข้าวออกถึง 300,000 ตัน จากนั้นในช่วงบ่ายคณะของเราได้เข้าเยี่ยมและเจรจาการร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจค้าข้าวกับคุณโถ่น ประธานบริหารบริษัท อันยาง แพลนท์ โปรเท็คชั่น จอย สต็อค ที่สำนักงานของบริษัท บริษัทอันยางฯเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรจำหน่ายสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี และเมล็ดพันธุ์พืช การผลิตบรรจุภัณฑ์ การท่องเที่ยว และอาหารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศโดยมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ซึ่งในปี 2554 มีเงินทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 246.3 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 7,389,000,000 บาท เป็นบริษัทส่งออกข้าวหอมมะลิเวียดนามคุณภาพดี มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ภายหลังจากเสร็จสิ้นการเจรจากันแล้วทางประธานบริษัทได้จัดให้มีการเลี้ยงอาหารคํ่ารับรองแก่คณะอย่างใหญ่โตที่ห้องจัดเลี้ยงของบริษัทก่อนที่คณะของเราทั้งหมดจะเดินทางกลับประเทศไทย
ผลจากการเดินทางไปดูงานและเจรจาความร่วมมือทางการค้าข้าวครั้งนี้ประสบผลสำเร็จด้วยดีเป็นอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นถึงความมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในการดำเนินธุรกิจของคุณพิชัย รุ่งเรืองด้วยบุญ หรือเฮียแดง เป็นอย่างสูง เฮียแดงได้บอกให้ผู้เขียนฟังว่าไม่เคยวิตกว่าเขาจะเป็นคู่แข่งกับเรา หรือจะมาลอกเลียนเรา เขากับเราควรจะเป็นคู่ค้าที่ดีต่อกัน ช่วยกันค้าขายข้าวของเราทั้งสองประเทศ เราต้องเป็นตลาดเดียวกัน ในโลกยุคนี้เราไม่สามารถดำเนินธุรกิจแบบปราศจากเครือข่ายหรือเน็ทเวิร์ค(Network)ได้ ธุรกิจจะเข้มแข็งได้ต้องมีเครือข่ายที่ดีและจะต้องเป็นเครือข่ายที่มีการเจริญเติบโตขยายเพิ่มขึ้นโดยตลอด
บริษัท อันยาง ให้การเลี้ยงรับรองคณะ เพื่อฉลองความสำเร็จในการเจรจา
ผู้เขียนมีความเชื่อในสิ่งที่ตนเองเห็นและจากสิ่งที่เจ้าของกิจการโรงสีที่เดินทางไปดูงานครั้งนี้ได้วิเคราะห์ในเรื่องเกี่ยวกับข้าวหอมมะลิเวียดนาม ซึ่งมีทั้งหอมมะลิหรือเนียงมะลิของเขมร หอมมะลิของไทยที่ปลูกในเวียดนามมาตั้งแต่ก่อนสงครามเวียดนามจนปัจจุบัน และลูกผสมหอมมะลิของเวียดนามเอง(Jasmine 85) ว่า ดูน่าเป็นห่วงมาก เพราะปริมาณการส่งออกของเขาเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังจะเห็นได้ว่าเขามีการกำหนดมาตรฐานข้าวหอมดอกมะลิเพื่อการส่งออกไว้ด้วย หากรัฐบาลไม่รีบเร่งแก้ไขระบบการรับจำนำข้าวและทุ่มเทงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิของเราและรวมถึงพันธุ์ข้าวอื่นๆ ให้มากขึ้น เชื่อว่าในอนาคตเราคงจะค่อยๆสูญเสียตลาดข้าวหอมของเราไปเรื่อยๆอย่างแน่นอน ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรงสีที่เราไปดูงานทุกโรงล้วนแล้วแต่มีข้าวหอมมะลิพร้อมที่จะจำหน่ายทั้งนั้น แม้ว่าขนาดของเมล็ดข้าวและกลิ่นหอมจะสู้ข้าวหอมมะลิไทยไม่ได้ แต่รสชาติแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย และตัวเร่งที่จะทำให้ข้าวหอมมะลิของไทยลดปริมาณการส่งออกไปเรื่อยๆก็คงจะเป็นราคาที่ส่งออกนี่แหล่ะ ในขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยราคาส่งออกอยู่ที่ตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐขึ้นไป แต่ข้าวหอมมะลิเวียดนามราคาส่งออกเพียงตันละ 750 เหรียญสหรัฐ ไม่ต้องไปถามใครให้เสียเวลา ถามตัวท่านเองก็ได้ ถ้าเป็นท่านๆจะเลือกซื้อข้าวใครกินดี ซึ่งปัจจุบันเวียดนามส่งออกไปแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรปบางประเทศ จีน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย นี่เพียงแต่เรื่องราคาเท่านั้นที่จะทำให้ธุรกิจข้าวหอมของเราพังในวันข้างหน้า หากเอาเรื่องการทุจริตคดโกงที่มีการเอาข้าวหอมปทุมหรือข้าวอื่นมาปนกับข้าวหอมมะลิโดยคนไทยแล้วส่งออกไปขาย หรือถูกผู้ซื้อต่างชาติเอาไปผสมขาย ถ้าลูกค้าของเราโดนแบบนี้ไม่กี่ครั้งก็คิดว่าเขาคงเปลี่ยนใจไปซื้อของถูกกินดีกว่าไปซื้อของปลอมในราคาแพงกิน รวมถึงการขายข้าวอื่นๆที่ไม่ได้คุณภาพด้วย
ดังนั้น หากรัฐยังดื้อดึง ดันทุรังไม่ยอมปรับปรุงแก้ไขระบบการรับจำนำข้าว และยังปล่อยปละละเลย ขอรับรองว่าข้าวไทยพังทั้งระบบแน่นอน ซึ่งในปัจจุบันมีข้าวสารอยู่ล้นโกดังก็ยังไม่กล้าขายเป็นเพราะอะไรคนที่อยู่ในวงการค้าข้าวเขารู้กันทุกคน เพราะหากขยับลุกขึ้นเมื่อไรก็เหม็นอึที่นั่งทับอยู่เมื่อนั้น แล้วมันก็อาจจะมีเรื่องเล่า (Stories) ประกอบโครงการ หรืออาจจะเกิดอัคคีภัยขึ้นมาเผาผลาญโกดังเก็บข้าวตามมาคล้ายกับเรื่องลำไยหรือยางพาราที่ผ่านมานั่นแหล่ะ ที่นำมาเสนอทั้งหมดนี้มิใช่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ เห็นด้วยเพราะเกษตรกรได้ประโยชน์ แต่ต้องเติมให้เต็มครบทั้งระบบ และทุกภาคส่วนต้องได้ประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน จงสอนให้เกษตรกรไทยรู้จักวิธีหาปลากินไว้กินเอง แต่อย่าไปจับปลาไปให้เขากินซะทั้งหมด ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะไปไม่รอดครับ
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร
ศักดา ศรีนิเวศน์
โทร. +6681-899-0710
E-mail; [email protected]
ข้าวไทย ถ้าไม่รีบแก้ แย่แน่ ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
Re: ข้าวไทย ถ้าไม่รีบแก้ แย่แน่ ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
อ่านบทความนี้ แล้วเศร้าใจกับอนาคตข้าวไทย
และเกษตรกรไทย ว่าจะอยู่อย่างไรในเวทีอาเซียน
และเกษตรกรไทย ว่าจะอยู่อย่างไรในเวทีอาเซียน