แหนแดง ปุ๋ยพืชสดในนาข้าว ช่วยตรึงไนโตรเจน

ความรู้วิชาการเกษตร หมวดนี้สำหรับรวบรวม ความรู้ทางการเกษตร ทุกรูปแบบ
KasetTaln
โพสต์: 176
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 16 ม.ค. 2013 1:24 pm

แหนแดง ปุ๋ยพืชสดในนาข้าว ช่วยตรึงไนโตรเจน

ข้อมูล โดย KasetTaln »

แหนแดง

ลักษณะ 
แหนแดงเป็นเฟิร์นน้ำ ขนาดเล็ก ลอยบนผิวน้ำ ต้นแก่ที่ได้รับแสงเต็มที่จะเป็นสีแดงคล้ำ ต้นอ่อนหรือได้รับแสงไม่เต็มที่จะเป็นสีเขียว แตกกิ่งแบบขนนก รากเป็นรากพิเศษ ยาวอยู่ทางด้านใต้ของลำต้น ทั้งต้นและกิ่งมีใบขนาดเล็กปกคลุม เรียงสลับซ้อนกัน ใบแต่ละใบแบ่งเป็น 2 ส่วนเท่าๆกัน ส่วนบนหนา สีเขียวหรือสีแดง ส่วนล่างบางอยู่ใต้น้ำ ไม่ค่อยมีสี ใบล่างสุดสร้าง sporocrap 2-4 อัน ที่แกนของใบด้านใต้ใบ ภายในมีเมกะสปอร์และไมโครสปอร์ในใบของแหนแดงมีโพรงขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่อาศัยของ Anabenaeซึ่งเป็นสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน Anabenaeได้รับสารอาหารจากแหนแดง ส่วนแหนแดงจะได้ไนโตรเจนจากการตรึงไนโตรเจนของ Anabenae

องค์ประกอบที่สำคัญ

ได้แก่โปรตีน ไขมัน และเซลลูโลส แร่ธาตุ แหนแดงต้องการธาตุอาหารหลักที่สำคัญได้แก่ ธาตุฟอสฟอรัส และธาตุโปตัสเซียม และจุลธาตุที่สำคัญได้แก่ เหล็ก และ โมลิบดินัม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเอนไซม์ไนโตรจิเนส ในการตรึงไนโตรเจน แหนแดงสามารถมีชีวิตอยู่ได้ตั้งแต่อุณหภูมิ 5 – 45องศาเซลเซียส เจริญได้ดีที่สุดที่อุณหภูมิ 20 – 30 องศาเซลเซียส แหนแดงจะเจริญเติบโตได้ดีที่สุดที่มีแสงประมาณ 50 – 70 เปอร์เซ็นต์ของแสงสว่าง พีเอชที่เหมาะสมที่แหนแดงเจริญเติบโตได้ดีที่สุดคือ 4.0 – 5.5 ความลึกของน้ำความลึกที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของแหนแดงคือประมาณ 10 เซนติเมตร

ประโยชน์ของแหนแดง

แหนแดงเป็นพืชน้ำมีกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เป็นทรัพยากรที่ใช้ไม่หมดสิ้น และแหนแดงมีโปรตีนสูง เน่าสลายปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาได้อย่างรวดเร็ว และสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย มีประโยชน์ดังต่อไปนี้

- ใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวทดแทนปุ๋ยเคมีไนโตรเจน โดยที่ในโพรงใบแหนแดง สามารถดึงเอาไนโตรเจนจากอากาศมาใช้สำหรับการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ แหนแดงมีอัตราส่วนระหว่างคาร์บอนต่อไนโตรเจน (C : N) อยู่ระหว่าง 8 – 13 หลังถูกไถกลบ จะย่อยสลายและปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาในระยะเวลาที่สั้นประมาณ 8 สัปดาห์ ทำให้พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น ลดปริมาณวัชพืชในนาข้าว แหนแดงจะคลุมผิวน้ำป้องกันไม่ให้แสงแดดส่องลงไปในน้ำ ทำให้วัชพืชในน้ำเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่

- แหนแดงสามารถเลี้ยงได้ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ งานวิจัย (ประยูร สวัสดีและคณะ, 2531) ที่เกี่ยวข้องกับแหนแดงในนาข้าวร่วมกับการเลี้ยงปลา พบว่า มีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตข้าวใกล้เคียงกับการเลี้ยงปลาในนาข้าวโดยใช้ปุ๋ยเคมีตามปกติ และยังให้ผลผลิตสูงกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนเพียงอย่างเดียว

 การใช้แหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว
มีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวขั้นตอนการปฎิบัติการใช้แหนแดงเป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าว มีดังนี้
1. เตรียมขยายพันธุ์แหนแดงใช้เป็นเชื้อพันธุ์ในพื้นที่ประมาณ 25-50 ตารางเมตรต่อพื้นที่เพาะปลูกข้าว 1 ไร่
2. รักษาระดับน้ำในนาข้าวให้ลึก 5- 10 เซนติเมตร
3. ใส่เชื้อพันธุ์แหนแดง โดยใช้แหนแดงที่ได้เตรียมขยายไว้แล้วอัตรา 50-100กิโลกรัม/ไร่
4. ใส่ปุ๋ยฟอสเฟต อัตรา 3 ก.ก./ไร่ ในวันใส่เชื้อพันธุ์แหนแดง
5. ใส่ปุ๋ยฟอสเฟตปริมาณเท่าเดิมหลังจากแหนแดงอายุ 7-10 วัน

ในสภาพเหมาะสม คือไม่มีปัญหาเรื่องโรคแมลงรบกวน สิ่งแวดล้อมเหมาะสมแหนแดงจะเจริญเต็มพื้นที่นาให้น้ำหนักสด 2-3 ตัน/ไร่ ภายในเวลา 2-3 สัปดาห์ ในการปฎิบัติเลี้ยงขยายแหนแดงเพื่อใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวอาจจะเลี้ยงระยะก่อนปักดำ 3 สัปดาห์แล้วทำการไถกลบพร้อมกับการเตรียมแปลงปักดำข้าว หรือเริ่มเลี้ยงพร้อมปักดำเมื่อแหนแดงขยายเต็มพื้นที่แล้วปล่อยให้ตายเองตามธรรมชาติการใส่ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนใส่ในนาแล้วไถกลบ มีประสิทธิภาพสูงกว่าการใส่บนผิวดินโดยไม่มีการไถกลบ
 ในกรณีแหนแดงก็เช่นเดียวกัน 

การเลี้ยงขยายแหนแดงก่อนปักดำแล้วไถกลบในระยะปักดำดีกว่าวิธีไม่ไถกลบ และจากการทดลองของกรมวิชาการเกษตร พบว่าการเลี้ยงแหนแดงหนึ่งชุดก่อนปักดำแล้วไถกลบ ระยะปักดำกับการเลี้ยงปักดำโดยไม่ต้องมีการไถกลบแหนแดงสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้ไม่แตกต่างกัน และไม่แตกต่างกับการใช้ปุ๋ยเคมี อัตรา 4.8-6.0 กิโลกรัม N/ไร่
 
ข้อสังเกต :(โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ  ดร. นันทกร บุญเกิด)
1. น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงแหนแดง ระดับน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงไม่ควรสูงเกินไป ระดับที่เหมาะสมคือ 10- 30 เซนติเมตร และแหนแดงจะตายเมื่อในนาขาดน้ำ

2.แหนแดงจะเจริญเติบโตได้ดีน้ำนิ่ง หรือมีกระแสน้ำไหลเป็นเวลาอย่างช้าๆ บริเวณคลื่นลมจัดจะทำให้แหนแดงแตกกระจายออกจากกัน ทำให้การเจริญเติบโต และการตรึงไนโตรเจนลดลงอย่างมาก

3.การตรึงไนโตรเจนของ Anabaena azollae สามารถทำได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีไนโตรเจนต่ำ

4.การตรึงไนโตรเจนของ Anabaena azollae จะมีค่าสูงสุดที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และจะหยุดกระบวนการตรึงไนโตรเจนในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 45 องศาเซลเซียส
 
 
ข้อมูลจาก doe.go.th,wikipedia,clinictech.most.go.thค้นหาบทความเกี่ยวข้อง Tag แหนแดง

 Add comment

ย้อนกลับไปยัง “ความรู้วิชาการเกษตร”