ชุมชนบ้านบัวเทิง

อุบลราชธานี
admin
Administrator
โพสต์: 427
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 14 ม.ค. 2013 4:02 am

ชุมชนบ้านบัวเทิง

ข้อมูล โดย admin »

ชุมชนบ้านบัวเทิง
ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี

ชุมชนบ้านบัวเทิง ศูนย์แห่งการเรียนรู้วิถีชีวิตการดำรงชีวิตเพื่อความสุขอย่างพอเพียง การทำการเกษตรผสมผสาน เกษตรปลอดสารพิษ และ
แหล่งเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ ประโยชน์และการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพกับการเกษตร การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาการการเกษตร ให้เหมาะสมกับพื้นที่ภาคอีสานที่ร้อนและแห้งแล้ง

ประวัติบ้านบัวเทิง
ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านบัวเทิง ตั้งหมู่บ้านประมาณ พ.ศ. 2372 ปี หรือเกือบ 180 ปีมาแล้ว คนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ เป็นชาวลาวเวียง หรือลาวจากเวียงจันทร์ สาเหตุมาจากขณะนั้นไทยยกทัพไปตีเวียงจันทร์ ทำให้คนลาวแตกทัพหนีเข้ามาในไทย แรกทีเดียวมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่โนนบ้านบัวท่า เพราะเห็นว่ามีป่าและน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ดี มีหนองน้ำขนาดใหญ่ชื่อหนองบัวหล่มใช้ทำมาหากิน ต่อมาหลังเกิดสงครามอินโดจีน ประมาณ ปี พ.ศ.2482-2483 จึงพากันย้ายถิ่นฐานออกจากโนนบ้านบัวท่า สาเหตุของการย้าย เนื่องจากในช่วงนั้นจะมีทหารมาเกณฑ์คนเข้าไปทำงานในการซ่อมแซมตึกรามบ้านซ่องที่เสียหายจากสงครามในเมืองอุบลราชธานี คนลาวที่รวมกันมาอยู่ที่โนนบ้านบัวท่ากลัว จึงแยกย้ายกันหลบหนี มารวมกลุ่มกันตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณหนองน้ำที่เรียกชื่อว่าหนองบัวหล่มเก่า ใช้ทำมาหากิน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เป็นที่อยู่ในปัจจุบัน ผู้นำชุมชนในขณะนั้นชื่อพ่อใหญ่หนูกะลอม ตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านหนองบัวหล่ม แต่ที่ตั้งหมู่บ้านซึ่งอยู่ที่สูง จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ให้สอดคล้องกับที่ตั้ง จึงเอาชื่อ “ หนองบัว ” มารวมกับค่าว่า “ เทิง” ซึ่งแปลว่าที่สูง ตั้งชื่อว่าบ้านบัวเทิง และตั้งหมู่บ้านเป็นทางการเมื่อประมาณ พ.ศ.2483

ที่ตั้งอาณาเขต ประชากรและอาชีพ
บ้านบัวเทิง มีเนื้อที่ประมาณ 2.834 ตร.กม. หรือ 1,771 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบล ท่าช้าง ห่างจากจังหวัดอุบลราชธานี 17.5 กิโลเมตร ทิศใต้จดถนนสายวารินชำราบ-พิบูลมังสาหาร เดินทางต่อไปยัง แก่งตะนะ ผาแต้ม ซ่องเม็กได้ ทิศเหนือจดแม่น้ำมูลมีครัวเรือน 173 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 773 คน อาชีพหลักคือทำนา หลังการเก็บเกี่ยวก็จะปรับใช้พื้นที่เพื่อปลูกผักสวนครัว ไม้ผล ต่าง ๆ อาชีพการทำเกษตรจึงเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับชุมชนมานาน การพัฒนาอาชีพของชุมชนโดยการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับวิธีการทำเกษตรต่าง ๆ ให้เหมาะกับพื้นที่ สภาพอากาศ จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
admin
Administrator
โพสต์: 427
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 14 ม.ค. 2013 4:02 am

Re: ชุมชนบ้านบัวเทิง

ข้อมูล โดย admin »

ในชุมชนบ้านบัวเทิงให้เที่ยวชม ให้ศึกษาเรียนรู้ ที่นี่มีที่เรียนรู้ที่ได้เห็นจริง

- ถ้าท่านเดินทางเข้าไปในชุมชนบ้านบัวเทิง จะพบว่าทุกบ้านจะปลูกผักสวนครัว รั้วกินได้ เช่นพริก มะเขือ ข่า ตระไคร้ ใบมะกรูด ข้าวโพด ถั่ว แตงกวา พริก หอม กระเทียม ริมรั้ว ข้างบ้านและพืชทีมีระยะสั้น ทุกครัวเรือน กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กินได้แต่ความปลอดภัยต้องมาก่อน เรียกได้ว่า ทุกบ้านจะปลูกไว้โดยไม่ต้องซื้อหา การแบ่งปันเอื้ออาทรต่อกันจึงเป็นเรื่องปกติในชุมชน จนมีคำกล่าวที่ว่า จนมีคำขวัญที่ว่า ทุกครัวเรือนจะมีตู้เย็นข้างบ้าน มีพยาบาลข้างครัว ทุกครอบครัวมีโรงปุ๋ย มีความหมายว่า มีตู้เย็นข้างบ้านหมายถึงการมีอาหารอยู่ข้างบ้านสิ่งที่ปลูกอยู่ข้างบ้านสามารถนำมาทำอาหารได้ มีพยาบาลข้างครัวหมายถึง การมีพืชผัก สมุนไพรที่ใช้ทำอาหารเป็นยาสมุนไพรพื้นฐาน ไม่ต้องไปชื้อหายารักษาโรคจากที่อื่น ทุกครอบครัวมีโรงปุ๋ย มีความหมายว่ามีการทำปุ๋ยหมักชีวภาพใช้กับพืชผักสวนครัวแทนการไปชื้อยาฆ่าศัตรูพืช และชื้อปุ๋ยเคมี ที่มีราคาแพงและเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัย

- แหล่งผลิตพืชผัก ผลไม้ปลอดสารพิษ ผัก สวนครัวต่าง ๆ ที่ปลูกในชุมชนบ้านบัวเทิงจะไม่ใช้สารเคมี และยาฆ่าแมลง จึงเป็นผัก ผลไม้ที่ปลอดสารพิษ ไม่มีโทษต่อร่างกาย ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าเมื่อชื้อจากชุมชนบ้านบัวเทิงแล้ว ท่านจะได้รับสินค้าที่ปลอดสารพิษ

- สวนผลไม้ที่มีอยู่ในชุมชน ด้วยความที่ชุมชนมีสภาพพื้นที่เหมาะกับการทำการเกษตร และเพาะปลูกบ้านบัวเทิงจึงสามารถปลูกไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดจากภาคตะวันออกและภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่น เงาะ ทุเรียนหมอนทองที่มีรสชาติไม่แพ้ทุเรียนจากเมืองจันทร์ลูกใหญ่กลิ่นหอม ลองกองเพิ่งจะให้ลูกมา 2 ปีที่แล้ว ลูกใหญ่ เนื้อดี ไม่แพ้ลองกองตันหยงมัส และมังคุดที่ให้ลูกดก ลูกโต เนื้อสวย อร่อย

- สวนมะนาวพันธ์แป้นพวงที่ลูกใหญ่ ผิวเกลี้ยงสวยให้น้ำมาก รสไม่เปรี้ยวมากหรือน้อยไปในชุมชนมีสวนมะนาวของนายโชคชัย มั่นพันธ์ นายอาทิตย์ บุญแก้ว นายประกาศ พุทธาจู นายสุริยันต์ จารุการ นางรัตนา เหมะนัด นายสมบัติ นันหมื่น ร้อยเอกพิจิตร นันหมื่น นายบุญเกิด พุทธาจู นายจินดา อัจฉฤกษ์ รวมเนื้อที่ที่ปลูกมะนาวในชุมชนมากกว่า 50 ไร่ รวมแล้วเกือบ 7,000 ต้น ชุมชนบ้านบัวเทิงเป็นแหล่งผลิตมะนาว ส่งขายยังตลาดในตัวจังหวัดอุบลราชธานีมากถึงวันละ 8,000- 20,000 ลูก ท่านที่สนใจจะปลูกมะนาว ดูวิธีการปลูก ชื้อกิ่งพันธ์มะนาวที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ภาคอิสาน เพื่อนำไปปลูกในที่ดินของตนเอง จะหาได้ในชุมชนบ้านบัวเทิง วิธีการปลูกมะนาวและไม้ผลในชุมชนบ้านบัวเทิงจะใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงน้อยมาก ชุมชนและมีความพยายามที่จะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้เพื่อลดการใช้สารเคมีให้ได้ 100 % ในอนาคต

- สวนพุทรา 3 รส ของนายเป็ง ศรีสุข ที่เป็นที่ต้องการของตลาดจนผลิตไม่ทัน สวนพุทราของนายเป็ง ศรีสุขมีเนื้อที่เพียง 2 ไร่ 2 งานปลูกพุทรา 230 ต้น ทำมาแล้ว 7 ปี ได้แนวคิดจากการไปดูงานที่จังหวัดนครปฐม จึงชื้อ กิ่งพันธ์มา เป็นผู้บุกเบิกแรก ๆในหมู่บ้าน จนปัจจุบันมีคนปลูก ทั้งหมู่บ้านราว 30-40 คน เฉพาะปีที่แล้ว เก็บได้ราว 13 ตัน ราคาตันละ 17,000 บาท ก็ตกราว ๆ 2 แสนกว่าบาทใช้แรงงานเพียงสามีและภรรยาในการดูแล พุทรา 3 รส คือ รสหวาน เปี้ยว และออกฝาด ๆ ปัญหาของการปลูกพุทราคือ แมลงวันทอง และหนอนแดง แรกทีเดียวปลูกก็ไม่ได้ผล แต่ด้วยความร่วมมือของเกษตรอำเภอที่เอาใจใส่ต่อชุมชนทำการวิจัย ทดลองหาทางแก้ปัญหาหนอนแดงให้ โดยการทำไฟล่อแมลงที่มีพัดลมดูดอากาศในเวลากลางคืน จึงแก้ปัญหาหนอนแดงได้ ส่วนแมลงวันทอง จะหากินในเวลากลางวัน ก็จะใช้พลูป่า มาตำให้ละเอียด ผสมกับยาฆ่าแลงนิดหน่อย วางไว้รอบ ๆ แปลงสวน

- กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ กล้วยน้ำหว้ายักษ์ ในสวนของนายประสิทธิ์ บุญแก้ว เกษตรกรดีเด่นหลายปี และเป็นผู้นำการเกษตรที่เป็นที่ยอมรับในระดับจังหวัด ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย สำหรับกล้วยน้ำหว้ายักษ์ในสวนของนายประสิทธ์ บุญแก้ว ในเครือหนึ่งจะมี 20-22 หวี หวีหนึ่ง ๆ ให้ลูกมากกว่า 20 ลูก ลูกใหญ่ รสหวาน ที่สำคัญคือหน่อกล้วยในสวนของนายประสิทธิ์ บุญแก้วยังเป็นที่ต้องการของเกษตรกรอย่างมาก ในปี 2551 หน่อกล้วยจากสวนของนายประสิทธิ์ บุญแก้ว ขายได้มากกว่า 20,000 บาท และในปี 2552 จากต้นปีมาถึงปัจจุบันขายได้มากกว่า 20 ,000 บาท แล้ว เรียกว่าผลิตไม่ทันขาย

- สวนของนายประสิทธิ์ บุญแก้ว ยังมีส้มโอ พันธ์ทองดี จากจังหวัดนครปฐม แต่นำมาปลูกในชุมชนบ้านบัวเทิงได้อย่างดี ลูกใหญ่ เนื้อดี และยังมีเทคนิคการปลูก การดูแลส้มโอให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้

-ในทุกบ้าน สวนเกษตรทุกสวนจะมีถังน้ำหมักชีวภาพที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานเกษตรอำเภอสว่างวีระวงศ์ ได้มาสนับสนุนแนะนำ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพใช้ในการเกษตร ปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อลดการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ผลิตอาหารที่ปลอดภัยให้ชุมชนและส่งจำหน่ายตลาดสด

- สวนแก้วมังกรของอาจารย์บัญญัติ มาลาหอม ปลูกแก้วมังกร 2 ไร่ แก้วมังกรของที่นี่ลูกใหญ่ รสหวาน ขนาดใหญ่ขายได้ถึง กก.ละ 50 บาท ปลูกพืชผักสวนครัว 2 งาน เกษตรผสมผสานที่มีกล้วย สมุนไพร กฤษณา 2 ไร่ พืชที่ปลูก กล้วย อ้อย มะม่วง ชมพู่ ลิ้นจี่ มะกอก ทุเรียน สมุนไพรนานาชนิด เลี้ยงนก ไก่ เลี้ยงกบ และอาจารย์บัญญัติ ฯ ก็กำลังจะขยายที่ดินเพิ่มอีก 14 ไร่ กำลังจะปลูกต้นกฤษณา แก้วมังกร

- มีบ้านพัก และ Home Stay ในเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ เป็นบ้านพัก 2 หลัง หลังละ 2 ห้อง ห้องพักมี อยู่ 4 ห้อง ราคาห้องละ 350 บาท / คืน รวมค่าอาหารเย็น 1 มื้อ และอาหารเช้า อีก 1 มื้อ และบ้านหลังใหญ่ที่นอนรวมกันได้ ประมาณ 20 คน นักท่องเที่ยว ผู้สนใจหรือชื่นชอบบรรยากาศความเป็นชนบทสามารถติดต่อเข้าพัก ร่มรื่น อากาศสดชื่นสบาย ๆ สามารถจองเข้าพักได้ตลอดเวลา

- สวนดอกเบญจมาศ ไม้ประดับที่มีอยู่ในชุมชน ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศดอกขนาดใหญ่ จากการประกวดในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และเทศกาลไม้ดอกไม้ประดับที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี งานไม้ดอกไม้ประดับของเทศบาลวารินชำราบทุกปี สวนดอกเบญจมาศในชุมชนคือ สวนของนายประสิทธิ์ บุญแก้ว สวนของนายสุริยันต์ จารุการ ลำพังเพียงดอกเบญจมาศอย่างเดียวก็สร้างรายได้เข้าชุมชนมากกว่าปีละ 5 แสนบาท

- เที่ยวชมดอนปู่ตา ท่านที่ยังไม่เคยเห็นป่าดิบแล้งท่านไม่ต้องเดินทางไปไกล ๆ ถึงชายแดน ป่าดิบแล้งที่อยู่ใกล้เมืองผืนเดียวที่ยังเหลืออยู่ และมีสภาพอุดมสมบูรณ์ ที่สุดดูว่าชุมชนมีวิธีการดูแลรักษาป่าของตนเองอย่างไร จึงมีต้นไม้หลายขนาด คือขนาดใหญ่ 4-5 คนโอบนับร้อย ๆ ต้น ท่านที่อยากจะดูรังผึ้งป่าแห่งนี้มีรังผึ้งใหญ่ ๆ นับ 10 รัง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศน์ของผืนป่าแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านปู่ย่า ตายาย ช่วยกันรักษาไม่ให้นายทุนเข้ามาตัดต้นไม้ด้วยชีวิต มีต้นไม้ทั้งเถาวัลย์ที่เป็นสมุนไพร ขนาดเล็ก ไม้ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ที่สูงมากกว่า 20 เมตร มากกว่าร้อยต้น มีสัตว์ป่ามากมาย ทั้ง ไก่ป่า นกนานาชนิด กระรอก กระแต กิ้งก่า สัตว์เลื้อยคลาน งู จำนวนมาก มีเห็ดมากมาย เป็นอนุสรณ์ทางธรรมชาติ ที่มีค่ามาก ๆ การใช้ประโยชน์ หมู่บ้านอื่น ๆ รอบ ๆ ป่า 4-5 หมู่บ้าน จะมาเก็บเห็ด หาฟืน การเลี้ยงปู่ตา มีการนำเอาวัฒนธรรมชุมชนมาปรับใช้ให้เกิดความสงบสุขร่มเย็น ในอนาคต ชุมชนจะปรับเปลี่ยนจากป่าธรรมดาให้เป็นสถานที่สำหรับแหล่งการเรียนรู้จากธรรมชาติ ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปศึกษาเรียนรู้คุณค่า ประโยชน์ของป่าไม้

- ไหว้เสาหลักบ้าน(หลักเมือง)ที่ท่านพระครูวิโรจน์ ฯ เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมืองในขณะนั้น ได้มาทำพิธีปัดเป่าสิ่งอาเพศในหมู่บ้านให้และยังได้นำไม้มงคล มาฝังไว้กลางหมู่บ้านเป็นเสาหลักบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้เคารพกราบไหว้บูชาและป้องกันสิ่งที่ไม่ดี ไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้านเนื่องจากว่าเมื่อก่อตั้งหมู่บ้านได้ระยะหนึ่ง ได้มีชาวบ้านต่างหมู่บ้านเข้าไปตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ใกล้หมู่บ้าน พอต้นไม้ใหญ่ในหมู่บ้านล้มก็ได้เกิดอาเพศ ลมพายุพัดกระหน่ำอย่างรุนแรง ทำให้ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเห็นว่าหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่แก้ไขเหตุการณ์ใด ๆ ชาวบ้านจะต้องล้มตายหรือย้ายหนีไปอยู่ที่อื่น จึงได้ส่งตัวแทนชาวบ้านไปนิมนต์พระครูวิโรจน์(ดีโลด) เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมืองในสมัยนั้นมาปัดเป่าความชั่วร้ายสิ่งไม่ดีในหมู่บ้านตามความเชื่อ และท่านพระครูวิโรจน์ ฯ ได้มาทำพิธีปัดเป่าสิ่งอาเพศในหมู่บ้านให้จึงได้นำไม้มงคล มาฝังไว้กลางหมู่บ้านเป็นเสาหลักบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้เคารพกราบไหว้บูชาและป้องกันสิ่งที่ไม่ดี ไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้าน หลังจากที่ท่านพระครูวิโรจน์ กลับไปแล้ว สิ่งชั่วร้ายต่าง ๆที่เคยเกิดขึ้นก็หมดไป และไม่เกิดขึ้นอีกเลยจนปัจจุบันจึงมีประเพณีกราบไหว้ บูชาเสากลางบ้านสืบต่อกันมาทุกเดือน 6 ของปี ประวัติของท่านพระครูวิโรจน์ พระเกจิชื่อดังมีวิชาอาคมที่โด่งดัง เป็นที่กล่าวขานไว้ว่า ท่านสามารถกำหลาบภูตผีต่าง ๆ ได้ ลูกศิษย์หลายคนกล่าวไว้ว่า เพียงแต่ได้ยินชื่อท่านเท่านั้น พวกผีต่างๆ ก็เผ่นหนีแล้ว และพระครูวิโรจน์ ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม เมื่อปี 2444 ท่านพระครูวิโรจน์ ถึงแก่มรณกรรมเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2485 รวมอายุได้ 88 ปี 64 พรรษา เสาหลักบ้าน บ้านบัวเทิงที่ตั้งไว้โดยท่านพระครูวิโรจน์ เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนให้มีความกลมเกลียว ก่อให้เกิดความร่มเย็น แก่ชุมชนตลอดมา

- สวนสมุนไพร ที่ปลูกไว้เพื่อใช้ทำอาหาร หรือสมุนไพรที่ทำยาป้องกัน กำจัด แมลงหนอนเพลี้ย แทนยาฆ่าแมลง เช่น บระเพ็ด ข่า ขิง ตระไคร้ สะเดา

- สำหรับท่านที่ชื่นชอบการหาปลา ท่านจะได้ชมวิถีชีวิตการลากอวนหาปลาของชุมชนให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการลากอวน เก็บปลา ทำอาหารจากปลาที่ท่านหามาได้ ในบรรยากาศสดชื่นที่ริมฝั่งแม่น้ำมูลน้ำที่ใสสะอาด ในระหว่างเดือน ธันวาคม ถึง กลางเดือนพฤษภาคม ของทุกปี จะมีปลาแม่น้ำมูลจำนวนมาก ไว้ทำอาการให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลอง มีลาบปลาตองที่แสนอร่อย ต้มปลาหมู ปิ้งปลารากกล้วย ต้มปลาโจก
admin
Administrator
โพสต์: 427
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 14 ม.ค. 2013 4:02 am

Re: ชุมชนบ้านบัวเทิง

ข้อมูล โดย admin »

ท่านที่สนใจจะเข้าไปศึกษา อบรม ดูงาน หรือใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรม กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพ ชุมชนบ้านบัวเทิงสามารถให้บริการได้ หรือต้องการพันธ์ผัก ผลไม้ หน่อกล้วย มะนาว พลูป่า ก็ติดต่อเข้ามาได้

- กรณีที่ท่านต้องการให้ชุมชนบริการอาหาร เครื่องดื่ม ท่านเดินทางมาแต่ตัวเปล่า แวะมาดูสวนเกษตรเอาความรู้ ความสบายใจไป ให้ชุมชนจัดต้อนรับ อยากกินอะไรบอก เช่นแกงหวาย แกงหน่อไม้ นึ่งปลา ตำแจ่ว ลาบปลาตอง ต้มปลาจากแม่น้ำมูล มาเป็นกลุ่มน้อยกว่า 20 คนคิดค่าบริการเหมาจ่าย 3,000 บาท นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้หา ประสบการณ์ทางการเกษตร ชมสวนเกษตรตามเส้นทางการท่องเที่ยวแบบครึ่งวัน แล้ว ชุมชนจะให้บริการ อาหาร 1 มื้อ เป็นอาหารที่ชุมชน เช่น ปลาที่ได้จากแม่น้ำมูล ท่านจะทำอาหารเอง หรือให้ชุมชนบริการก็ได้ เครื่องดื่มต่าง ๆ เช่น น้ำผลไม้ ต่าง ๆ ในจำนวนเงินที่ท่านจ่ายไป ชุมชนจะจ่ายเป็นค่า อาหาร เครื่องดื่ม ค่าวิทยากร ค่าบริการต่าง ๆ แต่ถ้านักท่องเที่ยวมาจำนวนมากกว่า 20 คนก็จะคิดค่าบริการ คนละ 150 บาท ชุมชนให้บริการเช่นเดียวกับการเหมาจ่าย

- ถ้าเป็นการเดินทางมาท่องเที่ยวที่ไม่ประสงค์จะให้ชุมชนบริการอาหาร เครื่องดื่ม ท่านก็เดินทางมาได้เลย ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ

- ท่านที่สนใจจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว มาเป็นกลุ่มคณะเพื่อศึกษาดูงานหรือจะจัดฝึกอบรม มาเป็นครอบครัวหรือมากี่คนก็ได้ สนใจติดต่อได้ที่

ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านบัวเทิง นายเดชา เหมะนัด หมายเลข 08-3126-2816
นายประสิทธิ์ บุญแก้ว 08-6260-5412
ถ้าต้องการบ้านพัก Home stay ของอ.บัญญัติ มาลาหอม 08-19677425
เกษตรตำบลท่าช้าง นายชาญณรงค์ กระแสบุตร 08-7916-7587
สำนักงานเกษตรอำเภอสว่างวีระวงศ์ 0-4520-2336
สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี 0-4531-1052
ตอบกลับโพส

ย้อนกลับไปยัง “อุบลราชธานี”