ระวัง โรคใบจุดดำ (เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides) ในลำไย

ความรู้วิชาการเกษตร หมวดนี้สำหรับรวบรวม ความรู้ทางการเกษตร ทุกรูปแบบ
admin
Administrator
โพสต์: 423
ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 14 ม.ค. 2013 4:02 am

ระวัง โรคใบจุดดำ (เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides) ในลำไย

ข้อมูล โดย admin »

ระวัง โรคใบจุดดำ (เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides) ในลำไย

สภาพอากาศในช่วงนี้ฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกลำไย ในระยะ การเจริญเติบโตทางใบ–พัฒนาผล รับมือโรคใบจุดดำ
(เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides)
อาการเริ่มแรก บนใบแก่พบแผลจุดกลมสีน้ำตาลอ่อน มีขอบสีเหลืองล้อมรอบ ต่อมาแผลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ หากอาการรุนแรงแผลจะขยายติดกันเป็นแผลขนาดใหญ่ ทำให้ใบบิดเบี้ยวผิดรูป แผลอาจขาดเป็นรู หากสภาพแวดล้อมเหมาะสม มีความชื้นสูง โรคจะระบาดลุกลามไปที่ใบเพสลาดและใบอ่อน ใบจะหลุดร่วงในที่สุด

แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการของโรคที่ใบแก่ ตัดแต่งและเก็บส่วนที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค
2. หากพบเริ่มมีอาการของโรคที่ใบเพสลาดและใบอ่อน ให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น อะซอกซีสโตรบิน ๒๕% เอสซี อัตรา ๕-๑๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ แมนโคเซบ ๘๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือโพรคลอราซ ๔๕% อีซี อัตรา ๑๕ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นทุก ๗-๑๐ วัน
3. กำจัดวัชพืชรอบโคนต้นเพื่อลดความชื้นสะสม
4. ไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจนมากเกินไป เพราะจะทำให้พืชอ่อนแอต่อการเกิดโรค
5. หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง โดยเฉพาะกิ่งที่มีใบเป็นโรค และเก็บส่วนที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคในฤดูกาลผลิตต่อไป

ย้อนกลับไปยัง “ความรู้วิชาการเกษตร”