ชะมวง หรือ ส้มโมง ใบและผลมีรสเปรี้ยว เก็บยอดอ่อนใส่ในแกงต้ม
ชื่ออื่นๆ : กลาง และทุกภาค ชะมวง, ภาคใต้ มวง กะมวง ส้มมวง มวงส้ม กานิ, อีสาน ส้มโมง หมากโมก, เขมร ตระมูง
ต้นกำเนิด : อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชื่อสามัญ : ชะมวง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia cowa Roxb
ชื่อวงศ์ : GUTTTIFERACEAE
ชื่อภาษาอังกฤษ : Garcinia Cowa Roxb

ลักษณะของชะมวง
ชะมวง
ลำต้น ชะมวงเป็นไม้ยืนต้นไม่พลัดใบ ลำต้นสูงประมาณ 15-20 เมตร เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอมเทา ต้นอายุมากมีเปลือกแตกเป็นสะเก็ด มียางสีเหลือง ต้นแตกกิ่งในระดับต่ำ เปลือกลำต้นมักเกิดไลเคนเกาะหรือมีราเติบโตทำให้มองเห็นเป็นสีขาวของรา และสีเขียวของไลเคน โดยเฉพาะต้นที่โตบริเวณป่าดิบชื้นหรือใกล้แหล่งน้ำ เมื่อถากเปลือกจะพบเนื้อเปลือกเป็นสีแดงหรือออกชมพูเข้ม และมีน้ำยางไหลออกมา
ใบ ชะมวง เป็นใบเดี่ยว แตกใบมากบริเวณปลายกิ่ง ใบออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน เป็นมุมฉาก มีรูปรี ค่อนข้างหนา แต่กรอบ กว้างประมาณ 2.5-5 ซม. ยาว 8-13 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมน แผ่นใบเรียบ เป็นมัน ขอบใบเรียบ มองเห็นเส้นใบไม่ชัดเจน ก้านใบยาว 0.5-1 ซม. ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีม่วงแดง ใบแก่มีสีเขียวอ่อน และสีเขียวเข้มตามอายุใบ เมื่อเคี้ยวจะมีรสเปรี้ยว
ดอก เป็นดอกเดี่ยว ขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ และกิ่ง ดอกมีสีเหลืองนวล ด้านในดอกมีสีชมพูหรือม่วงแดง กลีบดอกมี 4 กลีบ ค่อนข้างแข็ง ขนาดกลีบเท่ากับกลีบเลี้ยง ดอกบานมีกลิ่นหอม ดอกตัวผู้ และตัวตัวเมียแยกต้นกัน ดอกตัวผู้มักออกตามซอกใบ และกิ่ง 3-8 ดอก ส่วนดอกตัวเมียออกบริเวณปลายยอด 2-5 ดอก ติดดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
ผล มีลักษณะกลม เบี้ยวเล็กน้อย ผลเรียบเป็นมัน มีร่องเป็นพู ขนาดผลประมาณ 2.5-6.0 ซม. ตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่หรือสุกมีสีเหลือง และสุกจัดมีสีเหลืองออกส้ม เปลือกผลมียางสีเหลือง เนื้อหุ้มเมล็ดสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เนื้อผลดิบมีรสฝาดอมเปรี้ยว เมื่อสุกออกเปรี้ยวมากกว่า เมล็ดแบนรี 4-6 เมล็ด

การขยายพันธุ์ของชะมวง
ชะมวงขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่ง/ลำต้น
ธาตุอาหารหลักที่ชะมวงต้องการ
–
ประโยชน์ของชะมวง
- ใบชะมวงอ่อน และยอดอ่อนมีรสเปรี้ยว ส่วนประกอบของชะมวงที่ใช้ประโยชน์ได้แก่ ใบ ยอดอ่อน ดอกและลูกอ่อน ใช้นำมาปรุงอาหารประเภทต้มยำ แกงส้ม หมูชะมวง และแกงชนิดต่างๆ เมื่อถูกความร้อนใบจะกรอบนุ่ม
- ใบชะมวงอ่อน และยอดอ่อน ใช้รับประทานสดหรือเป็นผักจิ้มน้ำพริก
- ผลมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นผลไม้
- เนื้อไม้นำมาแปรรูปเป็นไม้ก่อสร้าง สร้างบ้านเรือน
- เนื้อไม้นำมาแปรรูปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ชนิดต่างๆ
- เนื้อไม้ และกิ่ง ใช้เป็นฝืนหุงหาอาหาร
- ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงา และเป็นพืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน

สรรพคุณทางยาของชะมวง
- ใบ ดอกและลูกอ่อน มีรสเปรี้ยวจึงมีสรรพคุณในการกัดเสมหะ ช่วยระบายท้อง ใช้แก้ไข้ รักษาธาตุพิการ ใช้ผสมกับยาอื่นเป็นยาขับเลือด
- ลูกอ่อน ช่วยระบายท้อง ใช้แก้ไข้ ใช้ฟอกเสมหะและเลือด
- ราก ใช้แก้ไข้ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- ผลและใบแก่ นำมาหมักจะให้กรดซึ่งใช้สำหรับฟอกหนังวัว หรือหนังควายได้ดี
- เปลือกต้นและยางจากต้นชะมวง จะให้สีเหลือง เหมาะสำหรับใช้ในการย้อมผ้า
คุณค่าทางโภชนาการของชะมวง
ชะมวง มีคุณค่าทางโภชนาการคือ ประกอบด้วย เส้นใย แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอาซิน และวิตามินซี
- ใบชะมวง 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 51 กิโลแคลอรี่
- เส้นใย 3.2 กรัม
- แคลเซียม 27 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 13 มิลลิกรัม
- เหล็ก 1.1 มิลลิกรัม
- วิตามินเอ 7,333 IU
- วิตามินบีหนึ่ง 0.7 มิลลิกรัม
- ไนอาซิน 0.2 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 29 มิลลิกรัม
การแปรรูปของชะมวง
ชะมวงนิยมนำมาใส่ในเมนูอาหารอย่างเช่น ต้มหมูใส่ใบชะมวง ต้มเนื้อใส่ไปชะมวง เป็นต้น
References : www.bedo.or.th
เรียบเรียงข้อมูลโดย : เกษตรตำบล.คอม
3 Comments