อินทผาลัม
อินทผาลัมเป็นชื่อไม้ตระกูลปาล์มชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phoenix dactylifera L. ชื่อสามัญ Date palm มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบลุ่มแม่น้ำสินธุ ปัจจุบันยังพบอินทผลัมสายพันธุ์ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติได้ที่นี่ ผลเป็นรูปรีมน เมื่อสุกมีรสหวานจัด ให้พลังงานสูง และมีคุณค่าทางอาหารสูง ผลอินทผลัมสดสามารถนำมากินได้โดยตรง อาจนำไปกินกับอาหารอื่น หรือนำไปแปรรูปก็ได้ น้ำหวานจากงวงของต้นอินทผาลัมนำไปทำน้ำเชื่อม น้ำตาล น้ำส้มสายชู หรือหมักเป็นสุรา
คำว่า อินทผลัม (อ่านว่า อิน-ทะ -ผะ -ลัม) คำนี้รูปเขียนอย่างเป็นทางการจะไม่ปรากฏรูป สระอา หลัง ผ ผึ้ง แต่คนทั่วไปมักออกเสียงพยางค์ที่ 3 ของคำนี้เป็นเสียงยาวว่า อินทผาลัม อินทผลัม แปลว่า ผลไม้ของพระอินทร์

8 สายพันธุ์อินทผาลัม ได้แก่
- พันธุ์คาลาส (khalas) จัดอันดับความนิยมได้อันดับต้นๆ มีต้นกำเนิดในประเทศซาอุดิอาระเบียสายพันธุ์นี้ นิยมรับประทานผลสุก ผลมีสีเหลือง ลักษณะผลยาว รสชาติหวาน นุ่ม และหอม ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
- พันธุ์โคไนซี่ คูไนซี่ (Khunaizi, Khonaizi) ผลมีสีแดงเข้ม รสหวาน รับประทานผลที่เริ่มสุก จะได้รสชาติที่อร่อยมาก ไม่มีเสี้ยน ผลมีขนาดกลาง พบปลูกมากที่สุดในประเทศโอมาน เป็นพันธุ์ที่ทนร้อน ทนแล้งได้ดีมาก
- พันธุ์บาฮี (Barhi) เป็นอินทผาลัมสายพันธุ์เดียวในโลกที่ผลดิบที่หวาน รับประทานได้อร่อยโดยไม่ต้องรอให้สุก ผลมีสีเหลืองนวล มีขนาดผลตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดปานกลาง
- พันธุ์ฮัมรี่ (Hamri) ผลสีแดงเข้ม เนื้อหนา รสชาติหวานปานกลาง เนื้อนุ่ม และมีกลิ่นหอม ถิ่นกำเนิดคือ ประเทศอียิปต์และประเทศโอมาน
- พันธุ์ฮาโลววี (Halawi/Halawy) เป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลที่รสชาติหวานมาก ผลสีเหลืองอ่อน มีถิ่นกำเนิดมาจาก ดินแดนแห่งอารยะธรรม เมโสโปเตเมีย(ระหว่างซีเรียกับอิรัก)
- พันธุ์ชิบีบี (shebebi) ผลกลม ขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ สีเหลือง เนื้อผลหนา เมล็ดกลม รสชาติหวานปานกลาง และมีเสี้ยนไม่มาก กำเนิดในประเทศซาอุดิอาระเบีย
- พันธุ์อัมเบอร์ (Amber) เป็นอินทผาลัมสีแดงส้ม ที่มีขนาดผลใหญ่ เนื้อหนา รสหวานและเสี้ยนน้อย ต้นกำเนิด คือประเทศโอมาน ประเทศซาอุดิอาระเบีย และสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรท
- พันธุ์ ฮิลาลี่ (Hilali) ผลสีเหลือง ขนาดกลาง อินทผาลัมสายพันธุ์นี้อร่อยมาก
สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ พันธุ์คาลาส (khalas) และ พันธุ์บาฮี (Barhi)
การปลูกและดูแลรักษา
การปลูกอินทผลัมมีข้อคิดอยู่ว่า ควรเลือกพื้นที่ที่มีแดดจัด ไม่มีน้ำขังแฉะ แต่มีปริมาณน้ำอย่างพอเพียง เพื่อให้มีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเลือกพื้นที่ได้แล้ว จึงเริ่มเตรียมดินจากการขุดหลุมขนาด 50×50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ต้นที่นำลงปลูกไม่ควรให้ลงลึกใต้ดินมากนัก โคนต้นสูงจากพื้นดินประมาณ 1 ฝ่ามือ จะช่วยให้ต้นโตเร็วขึ้น ระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถวประมาณ 8×8 เมตร หรือ 8×7 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ 25-30 ต้น หลังจากปลูกควรให้น้ำประมาณ 7 วัน ต่อครั้ง การใส่ปุ๋ยควรใช้ปุ๋ยคอกปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5 กิโลกรัม ต่อต้น พร้อมกับการพรวนดินและกำจัดวัชพืช ควรมีการตัดแต่งใบที่แก่ทิ้ง เพื่อให้ทรงต้นสะอาด ไม่มีแมลงรบกวน และสะดวกในการปฏิบัติงาน
ในระยะที่ผลเริ่มโตแล้ว ควรสังเกตน้ำหนักของทะลาย ทางที่ดีควรใช้เชือกหรือยางในรถจักรยานยนต์ มัดทะลายกับลำต้นเพื่อป้องกันการฉีกขาด และจะทำได้สะดวกกว่ารอให้ผลสุกหรือมีปริมาณมากเกินไป ขณะที่ผลเริ่มสุกควรใช้กระดาษสีน้ำตาลคลุมทั้งทะลาย เพื่อป้องกันศัตรู เช่น นก ค้างคาว และยังเป็นการช่วยให้สีของผลอินทผลัมสีเหลืองสวยงาม และช่วยป้องกันรอยขีดข่วนที่เกิดจากใบของอินทผลัมถูกลมพัด ทำให้ผลเป็นรอยแผล ไม่สวยงาม และอาจจะเน่าเสียได้

วิธีการเก็บเกี่ยวและรักษาผลผลิต
นอินทผลัมที่เริ่มปลูกจะให้ผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 3 ปีขึ้นไป ขึ้นกับสภาพดินและการดูแลรักษา ลักษณะของผลจะกลมรี ออกผลเป็นพวงหรือเป็นทะลาย การพัฒนาของผลจะมี 4 ระยะ คือ
- ระยะที่ผลดิบ
- ระยะผลสมบูรณ์เต็มที่
- ระยะผลสุกแก่
- ระยะผลแห้ง
การเก็บเกี่ยวอินทผาลัมให้สังเกตที่สีของผล คือจะมีสีเหลืองเข้มมากหรือมีผลสุก 5-10% จึงทยอยเก็บเกี่ยวไปได้เรื่อยๆ แล้วแต่ทะลายที่สุกหรือแก่จัด ระยะเวลาที่อินทผลัมออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 7-8 เดือน เมื่อเก็บเกี่ยวผลอินทผลัมที่ผลสุกแก่แล้ว ควรเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิประมาณ 8 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 1 ปี

การผสมเกสร
การปลูกอินทผลัมให้ประสบความสำเร็จ นอกจากการคัดเลือกพื้นที่ให้เหมาะสมแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การผสมเกสร เนื่องจากอินทผลัมเป็นพืชที่มีเกสรตัวเมียและเกสรตัวผู้อยู่คนละต้นกัน เรียกง่ายๆ ว่า ต้นเพศผู้และต้นเพศเมีย หากปล่อยให้ผสมกันเองตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยลมหรือแมลงนั้น จะทำให้ได้ผลผลิตน้อยและไม่สมบูรณ์เต็มที่ ดังนั้น การช่วยผสมเกสรให้ได้ผลผลิตมากนั้นจะต้องใช้เทคนิคช่วยในการผสมเกสร
วิธีการเก็บเกสรเพศผู้
จะต้องเก็บเกสรเพศผู้สำรองไว้ก่อน ในระยะออกดอกให้สังเกตจั่นที่แทงออกมา เมื่อจั่นแตกจะเห็นดอกข้างใน เป็นดอกที่มีกลีบดอกเป็นแฉกคล้ายหางกระรอก ใช้ถุงพลาสติคคลุมยอดดอกทั้งหมด แล้วเขย่าเพื่อให้ละอองเกสรดอกตัวผู้หล่นอยู่ในถุง จากนั้นจึงไล่อากาศภายในถุงออกให้หมด ปิดปากถุงให้แน่นแล้วนำไปเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อรอเวลานำไปผสมกับเกสรตัวเมีย

การผสมเกสรเพศเมีย
ต้นตัวเมียจะออกจั่นเหมือนเพศผู้ แต่เวลาจั่นแตกดอกของดอกตัวเมียจะมีดอกเป็นช่อเม็ดกลมๆ เมื่อจั่นเริ่มแตกให้นำละอองเกสรตัวผู้ที่เก็บสำรองไว้ในตู้เย็นนั้นมาผสมกับเกสรตัวเมีย ใช้เกสรตัวผู้ใส่ในถุงพลาสติค ประมาณ 1/3 ช้อนชา ต่อ 1 ช่อดอกตัวเมีย ใช้เกสรตัวผู้ที่แยกใส่ถุงพลาสติคครอบช่อจั่นตัวเมียแล้วเขย่าให้ละอองเกสรตัวผู้ฟุ้งกระจายและติดกับเกสรตัวเมีย ทำซ้ำเช่นนี้ประมาณ 1-2 วัน ก็จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณมาก ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการช่วยผสมนี้ควรเป็นช่วงเช้า เนื่องจากเป็นเวลาที่อากาศไม่ร้อนจัดและความชื้นในอากาศมีน้อย
สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://siweb1.dss.go.th, http://legacy.orst.go.th, เรียบเรียงโดย เกษตรตำบล.คอม
ภาพประกอบ : www.flickr.com
วิธีเก็บอินทผาลัมสด การเก็บเกี่ยวอินทผาลัม วิธีเก็บเกสรอินทผาลัม แยกเพศผู้ เพศเมีย