แคลอรี่อินทผาลัมสด วิธีกินอินทผาลัมสด การปลูกอินทผาลัม

อินทผาลัม

อินทผาลัม หรืออินทผลัม ถือเป็นผลไม้มงคล ซึ่งหมายถึง ผลไม้ของพระอินทร์ เป็นการผสมคำจากภาษาบาลีและสันสกฤตค่ะ หลายคนคงรู้สึกว่า ชื่อแปลกจากภาษาไทยไปบ้าง คำว่า ‘อินฺท’ (inda) ในภาษาบาลีหรือ ‘อินฺทฺร’ (indra) ในภาษาสันสกฤต หมายถึง พระอินทร์ ผสมกับคำว่า ‘ผลมฺ’ (phalam) ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ผลไม้ จึงได้ชื่อว่า ‘อินทผาลัม ผลไม้ของพระอินทร์’ นับว่าอินทผาลัมเป็นผลไม้ที่มีตำนาน มีความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวพันมากกว่าผลไม้อื่นๆ และรสชาติของอินทผาลัมก็หวานหวานฉ่ำตามธรรมชาติ อร่อยตามธรรมชาติ เมื่อนำมาแปรรูป ก็ไม่ต้องปรุงแต่งรสใดๆ และได้รสชาติที่อร่อยลงตัว ที่สำคัญ อร่อยทุกสายพันธุ์

ลักษณะอินทผาลัม

ชื่ออื่นๆ : อินทผาลัม หรือ อินทผลัม

ต้นกำเนิด : ประเทศอิหร่าน อิรัก ปากีสถาน ซาอุดิอาลาเบีย

ชื่อสามัญ : Date palm

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phoenix dactylifera L.

ชื่อวงศ์ : ARECACEAE

ชื่อภาษาอังกฤษ : Dates 

ต้น  พืชจำพวกหมากหรือปาล์ม สูง 15-18 เมตร ลำต้นสีน้ำตาล มีกาบใบและก้านใบที่หลุดร่วงติดอยู่ตามลำต้น

ต้นอินทผาลัม
ต้นอินทผาลัม ลำต้นสีน้ำตาล

ใบ ใบประกอบแบบขนนก เรียงตัวเป็นแบบเวียน มีใบย่อยเรียงตรงข้าม รูปแถบถึงรูปใบหอกแคบ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบปลายแหลม ขอบใบเรียบ

ใบอินทผาลัม
ใบอินทผาลัม ใบประกอบแบบขนนก ปลายใบเรียวแหลม

ดอก ดอกแยกเพศ ดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ดอกสีเหลืองนวล

ดอกอินทผาลัม
ดอกอินทผาลัม มีสีเหลืองนวล

ผล ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้ม เนื้อข้างในสีเหลือง รูปทรงกลมรี เนื้อฉ่ำน้ำ เมล็ดแข็งทรงยาวรี ผลมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ออกเป็นช่อ รสหวานฉ่ำ รับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก ออกผลช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม

ผลอินทผาลัม
ผลอินทผาลัม ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้ม

สายพันธุ์ของอินทผาลัม

  1. พันธุ์คาลาส (khalas) จัดอันดับความนิยมได้อันดับต้นๆ มีต้นกำเนิดในประเทศซาอุดิอาระเบียสายพันธุ์นี้ นิยมรับประทานผลสุก ผลมีสีเหลือง ลักษณะผลยาว รสชาติหวาน นุ่ม และหอม ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
  2. พันธุ์โคไนซี่ คูไนซี่ (Khunaizi, Khonaizi) ผลมีสีแดงเข้ม รสหวาน รับประทานผลที่เริ่มสุก จะได้รสชาติที่อร่อยมาก ไม่มีเสี้ยน ผลมีขนาดกลาง พบปลูกมากที่สุดในประเทศโอมาน เป็นพันธุ์ที่ทนร้อน ทนแล้งได้ดีมาก
  3. พันธุ์บาฮี (Barhi) เป็นอินทผาลัมสายพันธุ์เดียวในโลกที่ผลดิบที่หวาน รับประทานได้อร่อยโดยไม่ต้องรอให้สุก ผลมีสีเหลืองนวล มีขนาดผลตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดปานกลาง
  4. พันธุ์ฮัมรี่ (Hamri) ผลสีแดงเข้ม เนื้อหนา รสชาติหวานปานกลาง เนื้อนุ่ม และมีกลิ่นหอม ถิ่นกำเนิดคือ ประเทศอียิปต์และประเทศโอมาน
  5. พันธุ์ฮาโลววี (Halawi/Halawy) เป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลที่รสชาติหวานมาก ผลสีเหลืองอ่อน มีถิ่นกำเนิดมาจาก ดินแดนแห่งอารยะธรรม เมโสโปเตเมีย(ระหว่างซีเรียกับอิรัก)
  6. พันธุ์ชิบีบี (shebebi) ผลกลม ขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ สีเหลือง เนื้อผลหนา เมล็ดกลม รสชาติหวานปานกลาง และมีเสี้ยนไม่มาก กำเนิดในประเทศซาอุดิอาระเบีย
  7. พันธุ์อัมเบอร์ (Amber) เป็นอินทผาลัมสีแดงส้ม ที่มีขนาดผลใหญ่ เนื้อหนา รสหวานและเสี้ยนน้อย ต้นกำเนิด คือประเทศโอมาน ประเทศซาอุดิอาระเบีย และสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรท
  8. พันธุ์ ฮิลาลี่ (Hilali) ผลสีเหลือง ขนาดกลาง อินทผาลัมสายพันธุ์นี้อร่อยมาก

การปลูกอินทผาลัม

การปลูกอินทผาลัม จะได้ผลผลิตเร็วกว่าการปลูกอะโวคาโด ต้นอินทผาลัมจะเริ่มให้ผลครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 3 ปี การปลูกอินทผาลัมเป็นไม้ผลยืนต้นที่มีอายุยืนยาวถึงหลักร้อยปี และในพื้นที่เดียวกัน ควรปลูกพืชล้มลุก พืชหมุนเวียน หลังจากที่เราปลูกอินทผาลัมไปประมาณ 5 ปี จะมีรายได้จากผลผลิตอินทผาลัมไปอีกหลายสิบปี ถึงรุ่นหลานกันเลย  

ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงก่อนทำการปลูกอินทผาลัม

สภาพพื้นที่ที่เหมาะสม

  • ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกอินทผาลัมมากที่สุด คือดินร่วนปนทราย
  • มีระบบระบายน้ำได้ดีและมีอากาศถายเทได้สะดวก
  • ไม่ควรปลูกในพื้นที่ที่เป็นดินเหนียว
  • ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีสารพิษหรือสารเคมีเจือปน
  • อยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพราะอินทผาลัมต้องการน้ำมากเพื่อผลิตผลที่ดี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งและฤดูหนาว ต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ

สภาพอากาศและอุณหภูมิที่เหมาะสม

  • อินทผาลัมต้องการแสงแดดตลอดทั้งวัน และต้องได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง
  • อุณหภูมิที่สามารถปลูกอินทผาลัมได้เริ่มตั้งแต่ 7 ถึง 38 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดคือ 32 องศาเซลเซียส

หมายเหตุ

  • อุณหภูมิที่สูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตของ  อินทผาลัมลดลง
  • อินทผาลัมสามารถทนต่อสภาพอากาศหนาวเย็นได้ในช่วงสั้นๆ เพราะอินทผาลัมจะหยุดการเจริญเติบโตชั่วคราวในสภาวะอุณหภูมิต่ำ

ฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกอินทผาลัม

  • ช่วงต้นฤดูฝน แต่ถ้าสามารถติดตั้งระบบการให้น้ำในสวนได้ ก็สามารถที่จะปลูกอินทผลัมได้ทุกฤดูกาล

การเลือกต้นพันธุ์ที่เหมาะสม

อินทผาลัมเป็นพืชที่ไม่สมบูรณ์เพศ ดอกตัวเมียและดอกตัวผู้แยกอยู่กันคนละต้นกัน การปลูกอินทผาลัมให้ได้ผลผลิตที่ดี จำเป็นต้องปลูกทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมียไว้ในพื้นที่เดียวกัน ต้นอินทผาลัมตัวผู้สายพันธุ์ที่ดี 1 ต้น ต่อตัวเมีย 40 ถึง 50 ต้น

ต้นพันธุ์อินทผาลัม
ต้นอินทผาลัม ต้นเล็ก

วิธีขยายพันธุ์อินทผาลัม

การขยายพันธุ์อินทผาลัมสามารถทำได้ 3 วิธี คือ การเพาะจากเมล็ด การแยกหน่อจากต้นแม่ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

วิธีที่1 การเพาะจากเมล็ด
ข้อดีของการเพาะจากเมล็ดคือ

  • ขยายพันธุ์ได้ปริมาณมากและรวดเร็ว
  • มีต้นทุนต่ำกว่าวิธีอื่น

ข้อเสียของการเพาะจากเมล็ดคือ

  • ไม่สามารถทราบเพศของต้นอินทผาลัมได้ ต้องรอจนต้นออกดอก
  • คุณภาพผลอินทผาลัมก็จะไม่เหมือนกับต้นแม่ เนื่องจากการผสมเกสรข้ามต้น คุณภาพของผลอินทผาลัม ขนาดและรสชาติด้อยลง หรืออาจจะใกล้เคียงต้นแม่พันธุ์เดิม

วิธีการเพาะเมล็ดอินทผาลัม

  1. ล้างทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ ให้เยื่อหุ้มเมล็ดหลุดออกให้หมด ผลแบบกินแห้งจะล้างทำความสะอาดได้ยากกว่าเมล็ดแบบกินสด เนื่องจากมีน้ำตาลเกาะอยู่ที่เมล็ดมาก สามารถผสมน้ำยาล้างจานเพื่อให้ทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น อาจจะต้องล้างทำความสะอาดหลายรอบสักหน่อยนะคะเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราที่เมล็ด
  2. นำเมล็ดที่ทำความสะอาดแล้ว แช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 2 ถึง 3 วัน เปลี่ยนน้ำทุก 12 ชั่วโมง หากมีมดเกาะให้ล้างทำความสะอาดเมล็ดใหม่อีกครั้ง
  3. นำกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดมาล้างทำความสะอาด รองก้นกล่องพลาสติกด้วยกระดาษทิชชู่ไว้หนาประมาณ 3 ชั้น พรมน้ำให้ทั่วทั้งแผ่นทิชชู่ให้เปียกแต่ไม่แฉะ ถ้าแฉะเกินไปให้เทน้ำออก
  4. นำเมล็ดที่แช่น้ำแล้วมาจัดเรียงในกล่องพลาสติก แล้วปิดฝาให้สนิท เพื่อไม่ให้อากาศเข้าได้และรักษาความชื้นให้คงที่
  5. นำกล่อง ไปวางไว้ในบริเวณที่มีอากาศร้อนแต่ไม่โดนแสงแดด เช่น ห้องเก็บของ ประมาณ 3 ถึง 5 วัน รากจะเริ่มงอกออกมา เมล็ดอินทผาลัมจะงอกไม่พร้อมกัน ให้ทะยอยนำออกมาเพาะ
  6. เมื่อรากงอกยาวประมาณ 1 นิ้ว ให้นำออกมาเพาะในถุงดำขนาด 4×6 นิ้ว ขึ้นไป
  7. เมล็ดที่ถูกเพาะในถุงดำ เมื่อมีอายุประมาณ 15 ถึง 20 วัน จะเริ่มออกแทงหน่อเล็กๆ ออกมา จากนั้น รอจนกระทั่งมีใบเลี้ยงแตกออกมาประมาณ 3 ใบ จึงนำไปเปลี่ยนถุงขนาดใหญ่ขึ้น
  8. เมื่อต้นกล้ามีใบขนนกประมาณ 3 ถึง 4 ใบ จึงนำไปปลูกลงดิน

วิธีที่ 2 การแยกหน่อจากต้นแม่
ข้อดีของการแยกหน่อคือ

  • ต้นกล้าที่ได้จะมีคุณสมบัติเหมือนต้นแม่พันธุ์ทุกประการ

ข้อเสียของการแยกหน่อคือ

  • ขยายพันธุ์ได้ช้าและน้อยกว่าการเพาะเมล็ด ปริมาณของหน่อพันธุ์ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของอินทผาลัม ด้วยค่ะ
  • ลงทุนสูง ราคาหน่อพันธุ์มีราคาสูงกว่าต้นกล้าที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

หน่ออินทผาลัมจะเกิดขึ้นที่บริเวณซอกใบ ใช้เวลาประมาณ 4 ถึง 6 ปี จึงจะนำไปปลูกได้ อินทผาลัม 1 ต้นจะให้หน่อประมาณ 20 ถึง 30 หน่อ ภายใน 15 ปีแรก โดยเฉลี่ย 3 ถึง 4 หน่อ ต่อปี ที่สามารถแยกหน่อไปปลูกได้ สายพันธุ์อินทผาลัมที่ให้หน่อดี ได้แก่ พันธุ์ซาฮิดี (Zahidi), พันธุ์เบริม (Berim) และพันธุ์ฮายานี่ (Hayani)

วิธีการแยกหน่ออินทผาลัมจากต้นแม่

  1. ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการแยกหน่อคือช่วงเริ่มต้นของฤดูร้อน คือช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน
  2. เลือกใช้หน่อที่มีอายุ 3-6 ปี และมีน้ำหนักประมาณไม่เกิน 9 กิโลกรัม เพราะมีอัตราการตายน้อยกว่าหน่อเล็ก หน่ออินทผาลัมมีอยู่ 2 ประเภทคือหน่อที่เกิดด้านบน และ หน่อที่เกิดบริเวณด้านล่างแถบโคนต้น ซึ่งเชื่อกันว่าเจริญเติบโตเร็วกว่าและให้ผลผลิตที่มากกว่า
  3. รดน้ำให้ชุ่มเป็นเวลาหลายวันก่อนทำการแยกหน่อ
  4. ขุดดินรอบหน่อให้มีระยะห่างจากหน่อพอสมควร ใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายสิ่วขนาดใหญ่และคม ตัดแยกหน่อออกจากต้นแม่ โดยให้มีรากเหลือติดอยู่ที่หน่อไม่น้อยกว่า 2 ถึง 3 นิ้ว ไม่ควรตัดรากให้ชิดหน่อจนเกินไปและควรตัดรากให้ขาดในครั้งเดียว เพราะทำให้หน่อเกิดความบอบช้ำได้
  5. จากนั้นรวบใบของหน่อมัดไว้และตัดใบทิ้งบางส่วนเพื่อลดการคายน้ำและสะดวกในการขนย้าย
  6. ทาคอปเปอร์ ซัลเฟต ที่ปลายรากของหน่อและบริเวณที่แยกหน่อออกมาทั้งหน่อและต้นแม่พันธุ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ ที่จะเข้าทำลายทางแผลที่เกิดจากการแยกหน่อ
  7. นำหน่อที่แยกจากต้นแม่แล้ว มาอนุบาลไว้ในเรือนเพาะชำเป็นเวลา 1 ถึง 2 ปี เพื่อเพิ่มอัตราการรอด
  8. ใส่ยากำจัดเชื้อราเดือนละ 2 ครั้ง
  9. เมื่ออนุบาลหน่อพันธุ์ตามกำหนดเวลา และหน่อพันธุ์มีความแข็งแรงสมบูรณ์แล้ว ช่วงเวลาที่เหมาะในการนำหน่อที่อนุบาลไว้จนแข็งแรงแล้วมาปลูกคือช่วงต้นฤดูฝน

การไว้หน่อ

  • ควรไว้หน่อไม่เกิน 6 หน่อ ต่อ 1 ต้น เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งอาหาร ช่วยให้หน่อแข็งแรง และต้นแม่พันธุ์คงคุณภาพและปริมาณของผลผลิตไว้ โดยกำจัดหน่อที่มีขนาดเล็กหรือหน่อที่อยู่ด้านบนออกตั้งแต่หน่อยังมีขนาดเล็กอยู่

วิธีที่3 การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ข้อดีของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อคือ

  • ต้นกล้าที่ได้มีคุณสมบัติเหมือนต้นแม่พันธุ์ทุกประการ ไม่กลายพันธุ์
  • ผลผลิตที่ได้จากต้นกล้าของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีคุณภาพสูงและสม่ำเสมอ
  • สามารถขยายพันธุ์ได้ปริมาณมากและรวดเร็ว
  • เหมาะสำหรับการปลูกในเชิงพาณิชย์

ข้อเสียของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อคือ

  • ลงทุนมากกว่าการปลูกด้วยเมล็ด เนื่องจากการขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยมากนัก จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ
ผลอินทผาลัม(ดิบ)
ผลอินทผาลัม ผลดิบเป็นสีเขียว

การดูแลต้นกล้าอินทผาลัม

การให้น้ำ

  • ในฤดูร้อน ให้รดน้ำ 1 ครั้ง ทุกๆวัน
  • ในฤดูหนาว ให้รดน้ำ 1 ครั้ง ทุกๆ 4 วัน
  • ในฤดูฝน ให้รดน้ำตามความเหมาะสม โดยตรวจเช็คสภาพผิวดินลงไป 5 เซนติเมตร

การใส่ปุ๋ย

  • ให้ใส่ปุ๋ยคอกปีละ 1 ครั้ง ในฤดูหนาว รอบๆ โคนต้น จากนั้นพรวนดินให้ปุ๋ยผสมเข้ากันดีกับดินเดิม

การเตรียมต้นกล้า

  • เมื่อต้นกล้าจากการเพาะเมล็ดออกใบขนนก 3 ถึง 4 ใบ หรือต้นกล้าที่แยกหน่อจากต้นแม่พันธุ์ ต้องเป็นหน่อที่เพาะเลี้ยงอนุบาลไว้ในเรือนเพาะชำประมาณ 1 ถึง 2 ปีให้แข็งแรงก่อนจึงจะนำมาลงแปลงปลูกได้

วิธีปลูกอินทผาลัม

  1. ขุดหลุมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ลึกประมาณ 80 เซ็นติเมตร การขุดหลุมขนาดใหญ่และการเตรียมหลุมปลูกที่ดี จะทำให้อินทผาลัมเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
  2. ระยะห่างระหว่างหลุมปลูก 8×8 เมตร หรือ 8×10 เมตร หรือ 10×10 เมตร สำหรับผู้ที่มีพื้นที่น้อยสามารถลดระยะห่างลงได้แต่ไม่ควรต่ำกว่า 7×7 เมตร เพราะเมื่ออินทผาลัมเจริญเติบโตเต็มที่ ทางใบและรากจะขยายกว้างมาก ต้องการแสงแดดอย่างเต็มที่ และอากาศที่ถ่ายเท นอกจากนี้ ยังทำให้การดูแลหลังการปลูก และการเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นไปได้ง่าย
  3. นำดินที่ขุดขึ้นมา 3 ส่วนผสมกับป๋ยคอก 1 ส่วน รองก้นหลุมโดยเหลือพื้นที่ในหลุมปลูกให้มีขนาดเท่าถุงดำหรือกระถางที่เพาะเลี้ยงต้นกล้า หรือ นำดินที่ขุดขึ้นมาตากแดดไว้อย่างน้อย 7 วัน และนำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักมาตากแดดด้วยเช่นกันส่วนผสมของวัสดุปลูกรองก้นหลุม มีอัตราส่วนดังนี้ :
    ดินร่วน 2 ส่วน
    ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เช่น ปุ๋ยใบก้ามปู หรือปุ๋ยละลายช้า 1 ส่วน
    ทราย ขี้เถ้าแกลบ แกลบดิบ เศษถ่านดำ ไดโลไมท์ ร็อคฟอสเฟต เพอร์ไลท์ หรือวัสดุปลูกที่สามารถระบายน้ำได้ดี 1 ส่วน
    อินทรีวัตถุ เช่น ขุยมะพร้าว กาบมะพร้าวสับ หรือเศษใบไม้แห้ง 1 ส่วน ผสมทุกอย่างให้เข้ากัน แล้วใส่ลงในหลุมปลูกตามวิธีเดียวกันข้างต้น
  4. นำต้นกล้าปลูกลงในหลุม กลบดินคืนให้แน่นแล้วรดน้ำให้ชุ่ม

โรคและแมลงศัตรูอินทผาลัม

ขั้นตอนการป้องกันกำจัด โรคและแมลงศัตรูอินทผาลัมโรคอินทผาลัม

โรคใบไหม้

  • สาเหตุ  เกิดจากเชื้อรา Curvularia eragrostidis
  • อาการของโรคใบไหม้  เกิดแผลรูปร่างกลมรีที่มีรอยบุ๋มตรงกลางเนื้อแผลสีน้ำตาล ขอบแผลนูน มีลักษณะฉ่ำน้ำ มีวงสีเหลืองล้อมรอบแผล ความยาวของแผลประมาณ 7 ถึง 8 มิลลิเมตร ในขั้นรุนแรง แผลขยายตัวรวมกันทำให้ใบแห้งม้วนงอ เปราะ และฉีกขาดง่าย ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโต และตายได้

การป้องกันและกำจัด

  • เผาทำลายใบและต้นที่เป็นโรค
  • ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่ไม่มีสารทองแดงเป็นองค์ประกอบ เช่น ไทแรม 75 เปอร์เซ็นต์ WP อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 5 ถึง 7 วัน ในช่วงที่มีการระบาด

โรคยอดเน่า
พบระบาดมากในฤดูฝน โรคนี้สามารถเข้าทำลายต้นอินทผาลัมตั้งแต่ในระยะต้นกล้า และพบมากกับต้นอินทผาลัมที่มีอายุ 1 ถึง 3 ปี

  • สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากเชื้อโรคใด แต่จากการแยกเชื้อพบเชื้อโรคพืชหลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกเชื้อราฟิวซาเรียม (Fusarium spp.) และเชื้อแบคทีเรียพวกเออร์วิเนีย (Erwinia sp.)
  • อาการของโรคยอดเน่า
    เกิดแผลเน่าสีน้ำตาลดำ ขอบแผลฉ่ำน้ำที่บริเวณใกล้ๆ โคนใบยอดที่ยังไม่คลี่ บางครั้งอาการเน่าดำจะเริ่มจากปลายใบย่อยที่ยังไม่คลี่ จากนั้นแผลเน่าดำจะขยายทำให้ใบยอดทั้งใบเน่าแห้งเป็นสีน้ำตาลแดง สามารถดึงหลุดออกมาได้ง่าย

การป้องกันและกำจัด

  • หมั่นกำจัดวัชพืช อย่าให้ปกคลุมบริเวณโคนต้นอินทผาลัม เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงที่จะไปกัดบริเวณส่วนยอด ทำให้เกิดแผลซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายยอดได้ง่ายขึ้น
  • หากพบการระบาดของโรคนี้ ควรตัดส่วนที่เป็นโรคออกให้หมด แล้วใช้สารไทแรม (Thiram) ในอัตรา 130 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซ็บ (Mancozeb) ในอัตรา 150 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบทุกๆ 5 ถึง 7 วัน ราดบริเวณกรวยยอดของต้นที่เป็นโรค

โรคใบจุด

  • สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อรา Graphiola phoenicis แหล่งระบาดเชื้อราของโรคนี้สามารถเกิดได้ทุกภูมิภาคที่มีการปลูกพืชปาล์มตระกูล จากการศึกษาโรคชนิดนี้ในรัฐฟลอริด้า พืชตระกูลปาล์มทุกชนิดมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเชื้อราชนิดนี้ แต่จะเกิดมากที่สุดกับปาล์ม 2 ตระกูล คือ ตระกูล Phoenix canariensis (ปาล์มประดับ Canary lsland) และตระกูล Phoenix dactylifera (อินทผาลัมพันธุ์รับประทานผล)
  • อาการของโรคใบจุด
    สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย คือ จุดสีเหลือง หรือสีน้ำตาล หรือสีดำ ทั้งสองข้างของใบ อาการเริ่มแรกนี้ หากไม่สังเกตอย่างละเอียดแทบมองไม่เห็นเลย เชื้อราจะเริ่มโผล่มาจากเส้นใยของผิวใบ เมื่อเชื้อราชนิดนี้เจริญเติบโตมากขึ้น จะเริ่มปรากฏให้เห็นบริเวณผิวใบที่ได้รับผลกระทบซึ่งมีขนาดเล็กมาก จะเป็นจุดสีดำบนผิวใบ ลักษณะคล้ายอาการของการขาดธาตุโพแทสเซียม เชื้อราจะทะลุใบขึ้นมามีลักษณะเหมือนรูปถ้วย มีเส้นใยเล็กๆ สีเหลือง คล้ายเส้นด้ายโผล่ขึ้นมา เพื่อช่วยกระจายสปอร์ออกไป เมื่อกระจายสปอร์ออกไปแล้วเส้นใยเล็กๆ จะยุบลงเป็นสีดำ และเมื่อโรคได้ระบาดเต็มที่แล้ว ผงจุดที่โผล่ขึ้นมาจะมองเห็นชัดเจน รวมทั้งสามารถสัมผัสได้ด้วยมือ อาการของโรคชนิดนี้เมื่อเกิดแล้วเป็นเพียงแค่บนจุดบนผิวใบเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้น

การป้องกันและกำจัด

  • กำจัดด้วยยาฆ่าเชื้อรา เมธิล, คอปเปอร์ ไฮดรอกไซด์ หรือ คอปเปอร์ อ๊อกซี่คลอไรด์ ฉีดพ่นทางใบ

หนอนหน้าแมว
เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มหนอนร่านชนิดหนึ่ง และมีความสำคัญอย่างมาก สามารถทำให้อินทผาลัมเสียหายอย่างรุนแรงเมื่อเกิดการระบาดขึ้น หนอนหน้าแมวจะกัดทำลายใบจนเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต หนอนหน้าแมวมีระยะไข่ 4 ถึง 5 วัน ระยะหนอน 30 ถึง 40 วัน ระยะดักแด้ 9 ถึง 14 วัน ระยะตัวเต็มวัย 6 ถึง 11 วัน

การป้องกันและกำจัด

  • หมั่นสำรวจต้นอินทผาลัมให้ทั่วพื้นที่เป็นประจำ เพื่อวางแผนการกำจัดไม่ให้แมลงขยายพันธุ์ เพิ่มขึ้น
  • จับแมลงทำลายโดยตรง เช่น จับผีเสื้อในเวลากลางวัน เก็บดักแด้ และถ้าพบหนอนปริมาณน้อยให้ทำกำจัดทำลายโดยตรงทันที
  • สามารถใช้กับดักแสงไฟนีออนสีขาว หรือหลอด Black Light วางเหนืออ่างพลาสติกที่มีน้ำผสมผงซักฟอก โดยให้หลอดไฟอยู่ห่างจากน้ำประมาณ 5 ถึง 10 เซนติเมตร ดักผีเสื้อในช่วงเวลา 18.00 ถึง 19.00 น.
  • เลือกใช้สารเคมีฆ่าแมลงที่มีผลกระทบต่อแมลงที่มีประโยชน์ต่อต้นอินทผาลัมน้อยที่สุด

ด้วงกุหลาบ
เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก สีน้ำตาล ตัวเต็มวัยจะเข้าทำลายในช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น โดยกัดทำลายใบของต้นอินทผาลัมขนาดเล็กที่เพิ่งปลูกใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการบุกเบิกใหม่ ในขั้นรุนแรง ใบจะถูกทำลายจนหมดเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต

การป้องกันและกำจัด

  • ใช้สารฆ่าแมลงประเภทคาร์บาริล (เซฟวิน 85 เปอร์เซ็นต์ WP) ในอัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร คาร์โบซัลแฟน (Posse 20 เปอร์เซ็นต์ EC) ในอัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 ถึง 10 วัน

ด้วงแรด
ตัวเต็มวัยของด้วงชนิดนี้จะเจาะใบอินทผาลัมที่บริเวณโคนทางใบที่ 2 หรือที่ 3 ทะลุเข้าไปถึงยอดอ่อนตรงกลาง หรือทำลายบริเวณยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ทำให้ใบอินทผาลัมที่คลี่แตกใบใหม่ขาดแหว่ง เป็นสามเหลี่ยมคล้ายถูกกรรไกรตัด ถ้าด้วงกัดกินทางใบจะทำให้ทางใบพับ ต้นอินทผาลัมชะงักการเจริญเติบโต และอาจเป็นเหตุให้โรคและแมลงศัตรูชนิดอื่นเข้าทำลายต่อไป

การป้องกันและกำจัด

  • โดยวิธีเขตกรรม คือ การกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ โดยการเผา หรือฝังซากตอหรือลำต้นของอินทผาลัม และเกลี่ยกองซากพืชหรือกองมูลสัตว์ให้กระจายออกโดยมีความหนาไม่เกิน 15 เซนติเมตร
  • ใช้เชื้อราเขียว (Metarhizium anisopliae) สร้างกับดักราเขียวโดยใช้ขุยอินทผาลัมที่หมักแล้ว ผสมกับหัวเชื้อราเขียวเพื่อล่อให้ด้วงแรดมาวางไข่ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อนจะถูกเชื้อราเขียวเข้าทำลายและตายในที่สุด
  • ใช้ทรายหรือสารคาร์บาริล (เซฟวิน 85 เปอร์เซ็นต์WP) ผสมขี้เลื่อยในอัตรา สารฆ่าแมลง 1 ส่วน ต่อ ขี้เลื่อย 33 ส่วน ใส่รอบยอดอ่อน ซอกโคนทางใบเดือนละครั้ง หรืออาจใช้ ลูกเหม็นจำนวน 6 ถึง 8 ลูกต่อต้น ใส่ไว้ในซอกโคนทางใบ
  • กำจัดแหล่งขยายพันธุ์ และกำจัดที่อยู่ของไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ได้แก่ ซากเน่าเปื่อยของลำต้น ตอของต้นปาล์ม ซากชิ้นส่วนของพืชที่เน่าเปื่อย กองปุ๋ยหมัก กองปุ๋ยคอก ซากทะลายอินทผาลัม และกองขยะเป็นต้น ใช้ฮอร์โมนเพศ (ฟีโรโมน) เป็นกับดักล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย

ด้วงมะพร้าว
ด้วงงวงมะพร้าวจะขยายพันธุ์อยู่ภายในคอต้นอินทผาลัม และโคนลำต้น ทำให้ต้นตาย
อาการบ่งชี้ที่แสดงว่าต้นถูกด้วงงวงทำลาย คือ ยอดอ่อนเหี่ยวแห้งใบเหลือง

การป้องกันและกำจัด

  • ป้องกันและกำจัดด้วงแรดอย่าให้เข้าทำลายอินทผาลัม เพราะรอยแผลที่ด้วงแรดเจาะจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้าวางไข่และทำลายจนต้นตายได้
  • หมั่นตรวจสอบด้วงมะพร้าวตามยอดหรือลำต้น
  • ทำความสะอาดลำต้นและตัดใบแห้งแก่ไปกำจัดทิ้ง อาจใช้สารอินทรีย์ชีวภาพราด เช่น EM เพื่อให้ขุยเยื่อย่อยสลายได้ง่าย ไม่เป็นที่วางไข่ด้วงหรือใช้สารเคมี เช่น ฟูราดาน หว่านในช่วงที่มีการระบาด
  • ถ้าพบรอยแผลรอยเจาะและยอดอ่อนที่ยังไม่เหี่ยว ให้ใช้เหล็กยาวปลายเป็นตะขอแทงเข้าไปเกี่ยวเอาตัวหนอนทำลาย และทาบริเวณรอยดังกล่าวด้วยสารทาร์ ซึ่งเป็นส่วนผสมของน้ำมันเครื่อง 1 ลิตร ผสมกับกำมะถันผง 100 กรัม คนให้เข้ากัน เพื่อป้องกันไม่ให้ด้วงงวงเข้าทำลายซ้ำ
    ดูแลทำความสะอาดแปลงอินทผาลัม ถ้าพบมีการทำลายให้ใช้สารฆ่าแมลง เช่น คลอร์ไพริฟอส (ลอร์สแบน 40 เปอร์เซ็นต์ EC) ในอัตรา 80 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ทำลายต้นอินทผาลัมที่มีหนอนด้วงงวงอยู่ หรือทำลายตัวหนอนเพื่อมิให้แพร่พันธุ์ต่อไป
ผลอินทผาลัม(สุก)
ผลอินทผาลัม ผลสุกมีสีเหลืองส้ม

คุณค่าทางโภชนาการของอินทผาลัม

ใน 100 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 282 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย

  • คาร์โบไฮเดรต 75.03 กรัม (เป็นน้ำตาล 63.35 กรัม)
  • โปรตีน 2.45 กรัม
  • ไขมัน 0.39 กรัม
  • นอกจากนี้ยังมีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ สูง โดยเฉพาะโปแทสเซียม (696 มก./100 กรัม)

อินทผลัมเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีน้ำตาลสูง จึงช่วยให้ร่างกายสดชื่นและฟื้นฟูกำลังได้อย่างรวดเร็ว

การรับประทานอินทผลัม วันละ 5 – 10 ผล แทนการรับประทานน้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยวที่มีแต่แป้ง ไขมัน และน้ำตาล จึงน่าจะมีประโยชน์และดีต่อสุขภาพมากกว่า แต่เนื่องจากในผลของอินทผลัมมีโปแทสเซียมสูง จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือมีความบกพร่องในการขจัดโปแทสเซียมออกจากร่างกาย เช่น ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เบาหวานและภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อป้องกันภาวะการมีโปแทสเซียมมากเกิน (hyperkalemia) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

วิธีกินอินทผาลัมสด  กัดผลอินทผลัมตรงกลาง หรือให้กัดตามแนวยาวของผล จะทำให้รสชาติไม่ค่อยฝาด 

ประโยชน์ของอินทผาลัม

  1. มีใยอาหารสูง ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ป้องกันท้องผูก
  2.  ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
  3. มีสารไฟโตฮอร์โมน (Phytohormones) มีประสิทธิภาพช่วยต่อต้านริ้วรอย
  4. บำรุงน้ำนมให้คุณแม่หลังคลอด
  5. มีสารต้านอนุมูลอิสระ 

สรรพคุณทางยาของอินทผาลัม

  1. ช่วยบำรุงรักษาสายตา ช่วยป้องกันโรคตาบอดแสงหรือภาวะมองเห็นไม่ชัดในเวลากลางคืน
  2. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตสูง และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง
  3. ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ป้องกันโรคกระดูกพรุน
  4. ช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แก้กระหาย แก้อาการเจ็บคอ ลดเสมหะในลำคอ
  5. ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ จากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำและความดันโลหิตต่ำ และป้องกันภาวะหลอดเลือดแข็งตัว
  6. ช่วยทำให้กระเพาะอาหารแข็งแรง ป้องกันเยื่อบุในกระเพาะอาหาร ลดความรุนแรงของแผลในกระเพาะอาหาร (จากรายงานการวิจัยในประเทศซาอุดิอาระเบีย)
  7. ช่วยฆ่าเชื้อโรค พยาธิและสารพิษที่ตกค้างอยู่ในลำไส้และระบบทางเดินอาหาร (หากรับประทานในขณะท้องว่างยามเช้า)
  8. ช่วยป้องกันมะเร็งช่องท้อง (เนื่องจากมีฤทธิ์ช่วยกำจัดสารพิษและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในช่องท้อง)
  9. ช่วยบำรุงร่างกาย เพิ่มพละกำลัง ขจัดความเมื่อยล้า และช่วยลดความหนาวเย็นในร่างกาย
เมล็ดอินทผาลัม
อินทผาลัมเนื้อด้านในเป็นสีเหลือง มีเมล็ด

การแปรรูปอินทผาลัม

อินทผาลัม หากปล่อยผลสุกให้แห้ง ก็สามารถเก็บไว้ทานได้นาน ส่วนใหญ่นิยมนำมาทำน้ำอินทผาลัม ไซรัปอินทผาลัม เป็นต้น

ผลอินทผาลัม(แห้ง)
ผลอินทผาลัมแบบสุกแห้ง

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.klongbangpho.ac.th, www.prd.go.th, https://home.maefahluang.org, http://sysp.eu5.org, https://data.addrun.org, https://pharmacy.mahidol.ac.th
ภาพประกอบ : www.flickr.com

One Comment

Add a Comment