อินทผาลัม
อินทผาลัม หรืออินทผลัม ถือเป็นผลไม้มงคล ซึ่งหมายถึง ผลไม้ของพระอินทร์ เป็นการผสมคำจากภาษาบาลีและสันสกฤตค่ะ หลายคนคงรู้สึกว่า ชื่อแปลกจากภาษาไทยไปบ้าง คำว่า ‘อินฺท’ (inda) ในภาษาบาลีหรือ ‘อินฺทฺร’ (indra) ในภาษาสันสกฤต หมายถึง พระอินทร์ ผสมกับคำว่า ‘ผลมฺ’ (phalam) ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ผลไม้ จึงได้ชื่อว่า ‘อินทผาลัม ผลไม้ของพระอินทร์’ นับว่าอินทผาลัมเป็นผลไม้ที่มีตำนาน มีความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวพันมากกว่าผลไม้อื่นๆ และรสชาติของอินทผาลัมก็หวานหวานฉ่ำตามธรรมชาติ อร่อยตามธรรมชาติ เมื่อนำมาแปรรูป ก็ไม่ต้องปรุงแต่งรสใดๆ และได้รสชาติที่อร่อยลงตัว ที่สำคัญ อร่อยทุกสายพันธุ์
ลักษณะอินทผาลัม
ชื่ออื่นๆ : อินทผาลัม หรือ อินทผลัม
ต้นกำเนิด : ประเทศอิหร่าน อิรัก ปากีสถาน ซาอุดิอาลาเบีย
ชื่อสามัญ : Date palm
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phoenix dactylifera L.
ชื่อวงศ์ : ARECACEAE
ชื่อภาษาอังกฤษ : Dates
ต้น พืชจำพวกหมากหรือปาล์ม สูง 15-18 เมตร ลำต้นสีน้ำตาล มีกาบใบและก้านใบที่หลุดร่วงติดอยู่ตามลำต้น

ใบ ใบประกอบแบบขนนก เรียงตัวเป็นแบบเวียน มีใบย่อยเรียงตรงข้าม รูปแถบถึงรูปใบหอกแคบ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบปลายแหลม ขอบใบเรียบ

ดอก ดอกแยกเพศ ดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ดอกสีเหลืองนวล

ผล ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้ม เนื้อข้างในสีเหลือง รูปทรงกลมรี เนื้อฉ่ำน้ำ เมล็ดแข็งทรงยาวรี ผลมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ออกเป็นช่อ รสหวานฉ่ำ รับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก ออกผลช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม

สายพันธุ์ของอินทผาลัม
- พันธุ์คาลาส (khalas) จัดอันดับความนิยมได้อันดับต้นๆ มีต้นกำเนิดในประเทศซาอุดิอาระเบียสายพันธุ์นี้ นิยมรับประทานผลสุก ผลมีสีเหลือง ลักษณะผลยาว รสชาติหวาน นุ่ม และหอม ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
- พันธุ์โคไนซี่ คูไนซี่ (Khunaizi, Khonaizi) ผลมีสีแดงเข้ม รสหวาน รับประทานผลที่เริ่มสุก จะได้รสชาติที่อร่อยมาก ไม่มีเสี้ยน ผลมีขนาดกลาง พบปลูกมากที่สุดในประเทศโอมาน เป็นพันธุ์ที่ทนร้อน ทนแล้งได้ดีมาก
- พันธุ์บาฮี (Barhi) เป็นอินทผาลัมสายพันธุ์เดียวในโลกที่ผลดิบที่หวาน รับประทานได้อร่อยโดยไม่ต้องรอให้สุก ผลมีสีเหลืองนวล มีขนาดผลตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดปานกลาง
- พันธุ์ฮัมรี่ (Hamri) ผลสีแดงเข้ม เนื้อหนา รสชาติหวานปานกลาง เนื้อนุ่ม และมีกลิ่นหอม ถิ่นกำเนิดคือ ประเทศอียิปต์และประเทศโอมาน
- พันธุ์ฮาโลววี (Halawi/Halawy) เป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลที่รสชาติหวานมาก ผลสีเหลืองอ่อน มีถิ่นกำเนิดมาจาก ดินแดนแห่งอารยะธรรม เมโสโปเตเมีย(ระหว่างซีเรียกับอิรัก)
- พันธุ์ชิบีบี (shebebi) ผลกลม ขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ สีเหลือง เนื้อผลหนา เมล็ดกลม รสชาติหวานปานกลาง และมีเสี้ยนไม่มาก กำเนิดในประเทศซาอุดิอาระเบีย
- พันธุ์อัมเบอร์ (Amber) เป็นอินทผาลัมสีแดงส้ม ที่มีขนาดผลใหญ่ เนื้อหนา รสหวานและเสี้ยนน้อย ต้นกำเนิด คือประเทศโอมาน ประเทศซาอุดิอาระเบีย และสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรท
- พันธุ์ ฮิลาลี่ (Hilali) ผลสีเหลือง ขนาดกลาง อินทผาลัมสายพันธุ์นี้อร่อยมาก
การปลูกอินทผาลัม
การปลูกอินทผาลัม จะได้ผลผลิตเร็วกว่าการปลูกอะโวคาโด ต้นอินทผาลัมจะเริ่มให้ผลครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 3 ปี การปลูกอินทผาลัมเป็นไม้ผลยืนต้นที่มีอายุยืนยาวถึงหลักร้อยปี และในพื้นที่เดียวกัน ควรปลูกพืชล้มลุก พืชหมุนเวียน หลังจากที่เราปลูกอินทผาลัมไปประมาณ 5 ปี จะมีรายได้จากผลผลิตอินทผาลัมไปอีกหลายสิบปี ถึงรุ่นหลานกันเลย
ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงก่อนทำการปลูกอินทผาลัม
สภาพพื้นที่ที่เหมาะสม
- ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกอินทผาลัมมากที่สุด คือดินร่วนปนทราย
- มีระบบระบายน้ำได้ดีและมีอากาศถายเทได้สะดวก
- ไม่ควรปลูกในพื้นที่ที่เป็นดินเหนียว
- ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีสารพิษหรือสารเคมีเจือปน
- อยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพราะอินทผาลัมต้องการน้ำมากเพื่อผลิตผลที่ดี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งและฤดูหนาว ต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
สภาพอากาศและอุณหภูมิที่เหมาะสม
- อินทผาลัมต้องการแสงแดดตลอดทั้งวัน และต้องได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง
- อุณหภูมิที่สามารถปลูกอินทผาลัมได้เริ่มตั้งแต่ 7 ถึง 38 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดคือ 32 องศาเซลเซียส
หมายเหตุ
- อุณหภูมิที่สูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตของ อินทผาลัมลดลง
- อินทผาลัมสามารถทนต่อสภาพอากาศหนาวเย็นได้ในช่วงสั้นๆ เพราะอินทผาลัมจะหยุดการเจริญเติบโตชั่วคราวในสภาวะอุณหภูมิต่ำ
ฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกอินทผาลัม
- ช่วงต้นฤดูฝน แต่ถ้าสามารถติดตั้งระบบการให้น้ำในสวนได้ ก็สามารถที่จะปลูกอินทผลัมได้ทุกฤดูกาล
การเลือกต้นพันธุ์ที่เหมาะสม
อินทผาลัมเป็นพืชที่ไม่สมบูรณ์เพศ ดอกตัวเมียและดอกตัวผู้แยกอยู่กันคนละต้นกัน การปลูกอินทผาลัมให้ได้ผลผลิตที่ดี จำเป็นต้องปลูกทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมียไว้ในพื้นที่เดียวกัน ต้นอินทผาลัมตัวผู้สายพันธุ์ที่ดี 1 ต้น ต่อตัวเมีย 40 ถึง 50 ต้น

วิธีขยายพันธุ์อินทผาลัม
การขยายพันธุ์อินทผาลัมสามารถทำได้ 3 วิธี คือ การเพาะจากเมล็ด การแยกหน่อจากต้นแม่ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
วิธีที่1 การเพาะจากเมล็ด
ข้อดีของการเพาะจากเมล็ดคือ
- ขยายพันธุ์ได้ปริมาณมากและรวดเร็ว
- มีต้นทุนต่ำกว่าวิธีอื่น
ข้อเสียของการเพาะจากเมล็ดคือ
- ไม่สามารถทราบเพศของต้นอินทผาลัมได้ ต้องรอจนต้นออกดอก
- คุณภาพผลอินทผาลัมก็จะไม่เหมือนกับต้นแม่ เนื่องจากการผสมเกสรข้ามต้น คุณภาพของผลอินทผาลัม ขนาดและรสชาติด้อยลง หรืออาจจะใกล้เคียงต้นแม่พันธุ์เดิม
วิธีการเพาะเมล็ดอินทผาลัม
- ล้างทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ ให้เยื่อหุ้มเมล็ดหลุดออกให้หมด ผลแบบกินแห้งจะล้างทำความสะอาดได้ยากกว่าเมล็ดแบบกินสด เนื่องจากมีน้ำตาลเกาะอยู่ที่เมล็ดมาก สามารถผสมน้ำยาล้างจานเพื่อให้ทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น อาจจะต้องล้างทำความสะอาดหลายรอบสักหน่อยนะคะเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราที่เมล็ด
- นำเมล็ดที่ทำความสะอาดแล้ว แช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 2 ถึง 3 วัน เปลี่ยนน้ำทุก 12 ชั่วโมง หากมีมดเกาะให้ล้างทำความสะอาดเมล็ดใหม่อีกครั้ง
- นำกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดมาล้างทำความสะอาด รองก้นกล่องพลาสติกด้วยกระดาษทิชชู่ไว้หนาประมาณ 3 ชั้น พรมน้ำให้ทั่วทั้งแผ่นทิชชู่ให้เปียกแต่ไม่แฉะ ถ้าแฉะเกินไปให้เทน้ำออก
- นำเมล็ดที่แช่น้ำแล้วมาจัดเรียงในกล่องพลาสติก แล้วปิดฝาให้สนิท เพื่อไม่ให้อากาศเข้าได้และรักษาความชื้นให้คงที่
- นำกล่อง ไปวางไว้ในบริเวณที่มีอากาศร้อนแต่ไม่โดนแสงแดด เช่น ห้องเก็บของ ประมาณ 3 ถึง 5 วัน รากจะเริ่มงอกออกมา เมล็ดอินทผาลัมจะงอกไม่พร้อมกัน ให้ทะยอยนำออกมาเพาะ
- เมื่อรากงอกยาวประมาณ 1 นิ้ว ให้นำออกมาเพาะในถุงดำขนาด 4×6 นิ้ว ขึ้นไป
- เมล็ดที่ถูกเพาะในถุงดำ เมื่อมีอายุประมาณ 15 ถึง 20 วัน จะเริ่มออกแทงหน่อเล็กๆ ออกมา จากนั้น รอจนกระทั่งมีใบเลี้ยงแตกออกมาประมาณ 3 ใบ จึงนำไปเปลี่ยนถุงขนาดใหญ่ขึ้น
- เมื่อต้นกล้ามีใบขนนกประมาณ 3 ถึง 4 ใบ จึงนำไปปลูกลงดิน
วิธีที่ 2 การแยกหน่อจากต้นแม่
ข้อดีของการแยกหน่อคือ
- ต้นกล้าที่ได้จะมีคุณสมบัติเหมือนต้นแม่พันธุ์ทุกประการ
ข้อเสียของการแยกหน่อคือ
- ขยายพันธุ์ได้ช้าและน้อยกว่าการเพาะเมล็ด ปริมาณของหน่อพันธุ์ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของอินทผาลัม ด้วยค่ะ
- ลงทุนสูง ราคาหน่อพันธุ์มีราคาสูงกว่าต้นกล้าที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
หน่ออินทผาลัมจะเกิดขึ้นที่บริเวณซอกใบ ใช้เวลาประมาณ 4 ถึง 6 ปี จึงจะนำไปปลูกได้ อินทผาลัม 1 ต้นจะให้หน่อประมาณ 20 ถึง 30 หน่อ ภายใน 15 ปีแรก โดยเฉลี่ย 3 ถึง 4 หน่อ ต่อปี ที่สามารถแยกหน่อไปปลูกได้ สายพันธุ์อินทผาลัมที่ให้หน่อดี ได้แก่ พันธุ์ซาฮิดี (Zahidi), พันธุ์เบริม (Berim) และพันธุ์ฮายานี่ (Hayani)
วิธีการแยกหน่ออินทผาลัมจากต้นแม่
- ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการแยกหน่อคือช่วงเริ่มต้นของฤดูร้อน คือช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน
- เลือกใช้หน่อที่มีอายุ 3-6 ปี และมีน้ำหนักประมาณไม่เกิน 9 กิโลกรัม เพราะมีอัตราการตายน้อยกว่าหน่อเล็ก หน่ออินทผาลัมมีอยู่ 2 ประเภทคือหน่อที่เกิดด้านบน และ หน่อที่เกิดบริเวณด้านล่างแถบโคนต้น ซึ่งเชื่อกันว่าเจริญเติบโตเร็วกว่าและให้ผลผลิตที่มากกว่า
- รดน้ำให้ชุ่มเป็นเวลาหลายวันก่อนทำการแยกหน่อ
- ขุดดินรอบหน่อให้มีระยะห่างจากหน่อพอสมควร ใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายสิ่วขนาดใหญ่และคม ตัดแยกหน่อออกจากต้นแม่ โดยให้มีรากเหลือติดอยู่ที่หน่อไม่น้อยกว่า 2 ถึง 3 นิ้ว ไม่ควรตัดรากให้ชิดหน่อจนเกินไปและควรตัดรากให้ขาดในครั้งเดียว เพราะทำให้หน่อเกิดความบอบช้ำได้
- จากนั้นรวบใบของหน่อมัดไว้และตัดใบทิ้งบางส่วนเพื่อลดการคายน้ำและสะดวกในการขนย้าย
- ทาคอปเปอร์ ซัลเฟต ที่ปลายรากของหน่อและบริเวณที่แยกหน่อออกมาทั้งหน่อและต้นแม่พันธุ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ ที่จะเข้าทำลายทางแผลที่เกิดจากการแยกหน่อ
- นำหน่อที่แยกจากต้นแม่แล้ว มาอนุบาลไว้ในเรือนเพาะชำเป็นเวลา 1 ถึง 2 ปี เพื่อเพิ่มอัตราการรอด
- ใส่ยากำจัดเชื้อราเดือนละ 2 ครั้ง
- เมื่ออนุบาลหน่อพันธุ์ตามกำหนดเวลา และหน่อพันธุ์มีความแข็งแรงสมบูรณ์แล้ว ช่วงเวลาที่เหมาะในการนำหน่อที่อนุบาลไว้จนแข็งแรงแล้วมาปลูกคือช่วงต้นฤดูฝน
การไว้หน่อ
- ควรไว้หน่อไม่เกิน 6 หน่อ ต่อ 1 ต้น เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งอาหาร ช่วยให้หน่อแข็งแรง และต้นแม่พันธุ์คงคุณภาพและปริมาณของผลผลิตไว้ โดยกำจัดหน่อที่มีขนาดเล็กหรือหน่อที่อยู่ด้านบนออกตั้งแต่หน่อยังมีขนาดเล็กอยู่
วิธีที่3 การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ข้อดีของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อคือ
- ต้นกล้าที่ได้มีคุณสมบัติเหมือนต้นแม่พันธุ์ทุกประการ ไม่กลายพันธุ์
- ผลผลิตที่ได้จากต้นกล้าของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีคุณภาพสูงและสม่ำเสมอ
- สามารถขยายพันธุ์ได้ปริมาณมากและรวดเร็ว
- เหมาะสำหรับการปลูกในเชิงพาณิชย์
ข้อเสียของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อคือ
- ลงทุนมากกว่าการปลูกด้วยเมล็ด เนื่องจากการขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยมากนัก จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ

การดูแลต้นกล้าอินทผาลัม
การให้น้ำ
- ในฤดูร้อน ให้รดน้ำ 1 ครั้ง ทุกๆวัน
- ในฤดูหนาว ให้รดน้ำ 1 ครั้ง ทุกๆ 4 วัน
- ในฤดูฝน ให้รดน้ำตามความเหมาะสม โดยตรวจเช็คสภาพผิวดินลงไป 5 เซนติเมตร
การใส่ปุ๋ย
- ให้ใส่ปุ๋ยคอกปีละ 1 ครั้ง ในฤดูหนาว รอบๆ โคนต้น จากนั้นพรวนดินให้ปุ๋ยผสมเข้ากันดีกับดินเดิม
การเตรียมต้นกล้า
- เมื่อต้นกล้าจากการเพาะเมล็ดออกใบขนนก 3 ถึง 4 ใบ หรือต้นกล้าที่แยกหน่อจากต้นแม่พันธุ์ ต้องเป็นหน่อที่เพาะเลี้ยงอนุบาลไว้ในเรือนเพาะชำประมาณ 1 ถึง 2 ปีให้แข็งแรงก่อนจึงจะนำมาลงแปลงปลูกได้
วิธีปลูกอินทผาลัม
- ขุดหลุมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ลึกประมาณ 80 เซ็นติเมตร การขุดหลุมขนาดใหญ่และการเตรียมหลุมปลูกที่ดี จะทำให้อินทผาลัมเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
- ระยะห่างระหว่างหลุมปลูก 8×8 เมตร หรือ 8×10 เมตร หรือ 10×10 เมตร สำหรับผู้ที่มีพื้นที่น้อยสามารถลดระยะห่างลงได้แต่ไม่ควรต่ำกว่า 7×7 เมตร เพราะเมื่ออินทผาลัมเจริญเติบโตเต็มที่ ทางใบและรากจะขยายกว้างมาก ต้องการแสงแดดอย่างเต็มที่ และอากาศที่ถ่ายเท นอกจากนี้ ยังทำให้การดูแลหลังการปลูก และการเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นไปได้ง่าย
- นำดินที่ขุดขึ้นมา 3 ส่วนผสมกับป๋ยคอก 1 ส่วน รองก้นหลุมโดยเหลือพื้นที่ในหลุมปลูกให้มีขนาดเท่าถุงดำหรือกระถางที่เพาะเลี้ยงต้นกล้า หรือ นำดินที่ขุดขึ้นมาตากแดดไว้อย่างน้อย 7 วัน และนำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักมาตากแดดด้วยเช่นกันส่วนผสมของวัสดุปลูกรองก้นหลุม มีอัตราส่วนดังนี้ :
ดินร่วน 2 ส่วน
ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เช่น ปุ๋ยใบก้ามปู หรือปุ๋ยละลายช้า 1 ส่วน
ทราย ขี้เถ้าแกลบ แกลบดิบ เศษถ่านดำ ไดโลไมท์ ร็อคฟอสเฟต เพอร์ไลท์ หรือวัสดุปลูกที่สามารถระบายน้ำได้ดี 1 ส่วน
อินทรีวัตถุ เช่น ขุยมะพร้าว กาบมะพร้าวสับ หรือเศษใบไม้แห้ง 1 ส่วน ผสมทุกอย่างให้เข้ากัน แล้วใส่ลงในหลุมปลูกตามวิธีเดียวกันข้างต้น - นำต้นกล้าปลูกลงในหลุม กลบดินคืนให้แน่นแล้วรดน้ำให้ชุ่ม
โรคและแมลงศัตรูอินทผาลัม
ขั้นตอนการป้องกันกำจัด โรคและแมลงศัตรูอินทผาลัมโรคอินทผาลัม
โรคใบไหม้
- สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Curvularia eragrostidis
- อาการของโรคใบไหม้ เกิดแผลรูปร่างกลมรีที่มีรอยบุ๋มตรงกลางเนื้อแผลสีน้ำตาล ขอบแผลนูน มีลักษณะฉ่ำน้ำ มีวงสีเหลืองล้อมรอบแผล ความยาวของแผลประมาณ 7 ถึง 8 มิลลิเมตร ในขั้นรุนแรง แผลขยายตัวรวมกันทำให้ใบแห้งม้วนงอ เปราะ และฉีกขาดง่าย ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโต และตายได้
การป้องกันและกำจัด
- เผาทำลายใบและต้นที่เป็นโรค
- ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่ไม่มีสารทองแดงเป็นองค์ประกอบ เช่น ไทแรม 75 เปอร์เซ็นต์ WP อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 5 ถึง 7 วัน ในช่วงที่มีการระบาด
โรคยอดเน่า
พบระบาดมากในฤดูฝน โรคนี้สามารถเข้าทำลายต้นอินทผาลัมตั้งแต่ในระยะต้นกล้า และพบมากกับต้นอินทผาลัมที่มีอายุ 1 ถึง 3 ปี
- สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากเชื้อโรคใด แต่จากการแยกเชื้อพบเชื้อโรคพืชหลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกเชื้อราฟิวซาเรียม (Fusarium spp.) และเชื้อแบคทีเรียพวกเออร์วิเนีย (Erwinia sp.)
- อาการของโรคยอดเน่า
เกิดแผลเน่าสีน้ำตาลดำ ขอบแผลฉ่ำน้ำที่บริเวณใกล้ๆ โคนใบยอดที่ยังไม่คลี่ บางครั้งอาการเน่าดำจะเริ่มจากปลายใบย่อยที่ยังไม่คลี่ จากนั้นแผลเน่าดำจะขยายทำให้ใบยอดทั้งใบเน่าแห้งเป็นสีน้ำตาลแดง สามารถดึงหลุดออกมาได้ง่าย
การป้องกันและกำจัด
- หมั่นกำจัดวัชพืช อย่าให้ปกคลุมบริเวณโคนต้นอินทผาลัม เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงที่จะไปกัดบริเวณส่วนยอด ทำให้เกิดแผลซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายยอดได้ง่ายขึ้น
- หากพบการระบาดของโรคนี้ ควรตัดส่วนที่เป็นโรคออกให้หมด แล้วใช้สารไทแรม (Thiram) ในอัตรา 130 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซ็บ (Mancozeb) ในอัตรา 150 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบทุกๆ 5 ถึง 7 วัน ราดบริเวณกรวยยอดของต้นที่เป็นโรค
โรคใบจุด
- สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อรา Graphiola phoenicis แหล่งระบาดเชื้อราของโรคนี้สามารถเกิดได้ทุกภูมิภาคที่มีการปลูกพืชปาล์มตระกูล จากการศึกษาโรคชนิดนี้ในรัฐฟลอริด้า พืชตระกูลปาล์มทุกชนิดมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเชื้อราชนิดนี้ แต่จะเกิดมากที่สุดกับปาล์ม 2 ตระกูล คือ ตระกูล Phoenix canariensis (ปาล์มประดับ Canary lsland) และตระกูล Phoenix dactylifera (อินทผาลัมพันธุ์รับประทานผล)
- อาการของโรคใบจุด
สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย คือ จุดสีเหลือง หรือสีน้ำตาล หรือสีดำ ทั้งสองข้างของใบ อาการเริ่มแรกนี้ หากไม่สังเกตอย่างละเอียดแทบมองไม่เห็นเลย เชื้อราจะเริ่มโผล่มาจากเส้นใยของผิวใบ เมื่อเชื้อราชนิดนี้เจริญเติบโตมากขึ้น จะเริ่มปรากฏให้เห็นบริเวณผิวใบที่ได้รับผลกระทบซึ่งมีขนาดเล็กมาก จะเป็นจุดสีดำบนผิวใบ ลักษณะคล้ายอาการของการขาดธาตุโพแทสเซียม เชื้อราจะทะลุใบขึ้นมามีลักษณะเหมือนรูปถ้วย มีเส้นใยเล็กๆ สีเหลือง คล้ายเส้นด้ายโผล่ขึ้นมา เพื่อช่วยกระจายสปอร์ออกไป เมื่อกระจายสปอร์ออกไปแล้วเส้นใยเล็กๆ จะยุบลงเป็นสีดำ และเมื่อโรคได้ระบาดเต็มที่แล้ว ผงจุดที่โผล่ขึ้นมาจะมองเห็นชัดเจน รวมทั้งสามารถสัมผัสได้ด้วยมือ อาการของโรคชนิดนี้เมื่อเกิดแล้วเป็นเพียงแค่บนจุดบนผิวใบเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้น
การป้องกันและกำจัด
- กำจัดด้วยยาฆ่าเชื้อรา เมธิล, คอปเปอร์ ไฮดรอกไซด์ หรือ คอปเปอร์ อ๊อกซี่คลอไรด์ ฉีดพ่นทางใบ
หนอนหน้าแมว
เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มหนอนร่านชนิดหนึ่ง และมีความสำคัญอย่างมาก สามารถทำให้อินทผาลัมเสียหายอย่างรุนแรงเมื่อเกิดการระบาดขึ้น หนอนหน้าแมวจะกัดทำลายใบจนเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต หนอนหน้าแมวมีระยะไข่ 4 ถึง 5 วัน ระยะหนอน 30 ถึง 40 วัน ระยะดักแด้ 9 ถึง 14 วัน ระยะตัวเต็มวัย 6 ถึง 11 วัน
การป้องกันและกำจัด
- หมั่นสำรวจต้นอินทผาลัมให้ทั่วพื้นที่เป็นประจำ เพื่อวางแผนการกำจัดไม่ให้แมลงขยายพันธุ์ เพิ่มขึ้น
- จับแมลงทำลายโดยตรง เช่น จับผีเสื้อในเวลากลางวัน เก็บดักแด้ และถ้าพบหนอนปริมาณน้อยให้ทำกำจัดทำลายโดยตรงทันที
- สามารถใช้กับดักแสงไฟนีออนสีขาว หรือหลอด Black Light วางเหนืออ่างพลาสติกที่มีน้ำผสมผงซักฟอก โดยให้หลอดไฟอยู่ห่างจากน้ำประมาณ 5 ถึง 10 เซนติเมตร ดักผีเสื้อในช่วงเวลา 18.00 ถึง 19.00 น.
- เลือกใช้สารเคมีฆ่าแมลงที่มีผลกระทบต่อแมลงที่มีประโยชน์ต่อต้นอินทผาลัมน้อยที่สุด
ด้วงกุหลาบ
เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก สีน้ำตาล ตัวเต็มวัยจะเข้าทำลายในช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น โดยกัดทำลายใบของต้นอินทผาลัมขนาดเล็กที่เพิ่งปลูกใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการบุกเบิกใหม่ ในขั้นรุนแรง ใบจะถูกทำลายจนหมดเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต
การป้องกันและกำจัด
- ใช้สารฆ่าแมลงประเภทคาร์บาริล (เซฟวิน 85 เปอร์เซ็นต์ WP) ในอัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร คาร์โบซัลแฟน (Posse 20 เปอร์เซ็นต์ EC) ในอัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 ถึง 10 วัน
ด้วงแรด
ตัวเต็มวัยของด้วงชนิดนี้จะเจาะใบอินทผาลัมที่บริเวณโคนทางใบที่ 2 หรือที่ 3 ทะลุเข้าไปถึงยอดอ่อนตรงกลาง หรือทำลายบริเวณยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ทำให้ใบอินทผาลัมที่คลี่แตกใบใหม่ขาดแหว่ง เป็นสามเหลี่ยมคล้ายถูกกรรไกรตัด ถ้าด้วงกัดกินทางใบจะทำให้ทางใบพับ ต้นอินทผาลัมชะงักการเจริญเติบโต และอาจเป็นเหตุให้โรคและแมลงศัตรูชนิดอื่นเข้าทำลายต่อไป
การป้องกันและกำจัด
- โดยวิธีเขตกรรม คือ การกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ โดยการเผา หรือฝังซากตอหรือลำต้นของอินทผาลัม และเกลี่ยกองซากพืชหรือกองมูลสัตว์ให้กระจายออกโดยมีความหนาไม่เกิน 15 เซนติเมตร
- ใช้เชื้อราเขียว (Metarhizium anisopliae) สร้างกับดักราเขียวโดยใช้ขุยอินทผาลัมที่หมักแล้ว ผสมกับหัวเชื้อราเขียวเพื่อล่อให้ด้วงแรดมาวางไข่ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อนจะถูกเชื้อราเขียวเข้าทำลายและตายในที่สุด
- ใช้ทรายหรือสารคาร์บาริล (เซฟวิน 85 เปอร์เซ็นต์WP) ผสมขี้เลื่อยในอัตรา สารฆ่าแมลง 1 ส่วน ต่อ ขี้เลื่อย 33 ส่วน ใส่รอบยอดอ่อน ซอกโคนทางใบเดือนละครั้ง หรืออาจใช้ ลูกเหม็นจำนวน 6 ถึง 8 ลูกต่อต้น ใส่ไว้ในซอกโคนทางใบ
- กำจัดแหล่งขยายพันธุ์ และกำจัดที่อยู่ของไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ได้แก่ ซากเน่าเปื่อยของลำต้น ตอของต้นปาล์ม ซากชิ้นส่วนของพืชที่เน่าเปื่อย กองปุ๋ยหมัก กองปุ๋ยคอก ซากทะลายอินทผาลัม และกองขยะเป็นต้น ใช้ฮอร์โมนเพศ (ฟีโรโมน) เป็นกับดักล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย
ด้วงมะพร้าว
ด้วงงวงมะพร้าวจะขยายพันธุ์อยู่ภายในคอต้นอินทผาลัม และโคนลำต้น ทำให้ต้นตาย
อาการบ่งชี้ที่แสดงว่าต้นถูกด้วงงวงทำลาย คือ ยอดอ่อนเหี่ยวแห้งใบเหลือง
การป้องกันและกำจัด
- ป้องกันและกำจัดด้วงแรดอย่าให้เข้าทำลายอินทผาลัม เพราะรอยแผลที่ด้วงแรดเจาะจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้าวางไข่และทำลายจนต้นตายได้
- หมั่นตรวจสอบด้วงมะพร้าวตามยอดหรือลำต้น
- ทำความสะอาดลำต้นและตัดใบแห้งแก่ไปกำจัดทิ้ง อาจใช้สารอินทรีย์ชีวภาพราด เช่น EM เพื่อให้ขุยเยื่อย่อยสลายได้ง่าย ไม่เป็นที่วางไข่ด้วงหรือใช้สารเคมี เช่น ฟูราดาน หว่านในช่วงที่มีการระบาด
- ถ้าพบรอยแผลรอยเจาะและยอดอ่อนที่ยังไม่เหี่ยว ให้ใช้เหล็กยาวปลายเป็นตะขอแทงเข้าไปเกี่ยวเอาตัวหนอนทำลาย และทาบริเวณรอยดังกล่าวด้วยสารทาร์ ซึ่งเป็นส่วนผสมของน้ำมันเครื่อง 1 ลิตร ผสมกับกำมะถันผง 100 กรัม คนให้เข้ากัน เพื่อป้องกันไม่ให้ด้วงงวงเข้าทำลายซ้ำ
ดูแลทำความสะอาดแปลงอินทผาลัม ถ้าพบมีการทำลายให้ใช้สารฆ่าแมลง เช่น คลอร์ไพริฟอส (ลอร์สแบน 40 เปอร์เซ็นต์ EC) ในอัตรา 80 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ทำลายต้นอินทผาลัมที่มีหนอนด้วงงวงอยู่ หรือทำลายตัวหนอนเพื่อมิให้แพร่พันธุ์ต่อไป

คุณค่าทางโภชนาการของอินทผาลัม
ใน 100 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 282 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย
- คาร์โบไฮเดรต 75.03 กรัม (เป็นน้ำตาล 63.35 กรัม)
- โปรตีน 2.45 กรัม
- ไขมัน 0.39 กรัม
- นอกจากนี้ยังมีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ สูง โดยเฉพาะโปแทสเซียม (696 มก./100 กรัม)
อินทผลัมเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีน้ำตาลสูง จึงช่วยให้ร่างกายสดชื่นและฟื้นฟูกำลังได้อย่างรวดเร็ว
การรับประทานอินทผลัม วันละ 5 – 10 ผล แทนการรับประทานน้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยวที่มีแต่แป้ง ไขมัน และน้ำตาล จึงน่าจะมีประโยชน์และดีต่อสุขภาพมากกว่า แต่เนื่องจากในผลของอินทผลัมมีโปแทสเซียมสูง จึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือมีความบกพร่องในการขจัดโปแทสเซียมออกจากร่างกาย เช่น ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เบาหวานและภาวะหัวใจล้มเหลว เพื่อป้องกันภาวะการมีโปแทสเซียมมากเกิน (hyperkalemia) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
วิธีกินอินทผาลัมสด กัดผลอินทผลัมตรงกลาง หรือให้กัดตามแนวยาวของผล จะทำให้รสชาติไม่ค่อยฝาด
ประโยชน์ของอินทผาลัม
- มีใยอาหารสูง ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ป้องกันท้องผูก
- ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
- มีสารไฟโตฮอร์โมน (Phytohormones) มีประสิทธิภาพช่วยต่อต้านริ้วรอย
- บำรุงน้ำนมให้คุณแม่หลังคลอด
- มีสารต้านอนุมูลอิสระ
สรรพคุณทางยาของอินทผาลัม
-
ช่วยบำรุงรักษาสายตา ช่วยป้องกันโรคตาบอดแสงหรือภาวะมองเห็นไม่ชัดในเวลากลางคืน
-
ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตสูง และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง
-
ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ป้องกันโรคกระดูกพรุน
-
ช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แก้กระหาย แก้อาการเจ็บคอ ลดเสมหะในลำคอ
-
ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ จากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำและความดันโลหิตต่ำ และป้องกันภาวะหลอดเลือดแข็งตัว
-
ช่วยทำให้กระเพาะอาหารแข็งแรง ป้องกันเยื่อบุในกระเพาะอาหาร ลดความรุนแรงของแผลในกระเพาะอาหาร (จากรายงานการวิจัยในประเทศซาอุดิอาระเบีย)
-
ช่วยฆ่าเชื้อโรค พยาธิและสารพิษที่ตกค้างอยู่ในลำไส้และระบบทางเดินอาหาร (หากรับประทานในขณะท้องว่างยามเช้า)
-
ช่วยป้องกันมะเร็งช่องท้อง (เนื่องจากมีฤทธิ์ช่วยกำจัดสารพิษและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในช่องท้อง)
-
ช่วยบำรุงร่างกาย เพิ่มพละกำลัง ขจัดความเมื่อยล้า และช่วยลดความหนาวเย็นในร่างกาย

การแปรรูปอินทผาลัม
อินทผาลัม หากปล่อยผลสุกให้แห้ง ก็สามารถเก็บไว้ทานได้นาน ส่วนใหญ่นิยมนำมาทำน้ำอินทผาลัม ไซรัปอินทผาลัม เป็นต้น

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : www.klongbangpho.ac.th, www.prd.go.th, https://home.maefahluang.org, http://sysp.eu5.org, https://data.addrun.org, https://pharmacy.mahidol.ac.th
ภาพประกอบ : www.flickr.com
อินทผาลัม การปลูก การขยายพันธุ์ โรคอินทผาลัมและการป้องกัน