กล้วยน้ำว้า พันธุ์กล้วยน้ำว้า การปลูกกล้วยน้ำว้า ให้มีขายทั้งปี

กล้วยน้ำว้า พันธุ์กล้วยน้ำว้า การปลูกกล้วยน้ำว้า ให้มีขายทั้งปี

ชื่อวิทยาศาสตร์:   Musa ABB cv. Kluai ‘Namwa

ชื่อพ้อง: กล้วยน้ำว้าเหลือง กล้วยใต้ กล้วยอ่อง

ชื่อวงศ์:    MUSACEAE

ชื่อสามัญ:    Banana

ชื่ออื่น :  กล้วยมะลิอ่อง (จันทบุรี) กล้วยใต้ (เชียงใหม่, เชียงราย) กล้วยอ่อง (ชัยภูมิ) กล้วยตานีอ่อง (อุบลราชธานี)

     กล้วยน้ำว้า เป็นผลไม้ที่ทุกคนรู้จักดี เพราะปลูกง่ายโตเร็ว เป็นกล้วยพันธุ์หนึ่งที่เกิดจากการผสมระหว่างกล้วยป่าและกล้วยตานี กล้วยน้ำว้าถือได้ว่ารับความนิยมอย่างแพร่หลาย หากนำมาบริโภคจะให้คุณค่าทางอาหารมากกว่ากล้วยไข่และกล้วยหอม จะเห็นได้ว่าแถวชนบทหรือนอกเมืองจะนำกล้วยมาบดให้กับเด็กรับประทาน กล้วยน้ำว้าที่เริ่มสุกไปจนถึงสุกจะมีธาตุเหล็กในปริมาณสูง เป็นตัวช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซีช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณดี มีเบต้าแคโรทีน ไนอาซีนและใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น ทำอาหาร ทำยารักษาโรคได้ กล้วยน้ำหว้าถือได้ว่าเป็นผลไม้ที่มีทั้งประโยชน์และสรรพคุณมากมาย กล้วยน้ำว้าสามารถที่จะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามสีของเนื้อ คือ น้ำว้าแดง น้ำว้าขาว และน้ำว้าเหลือง ไปดูกันค่ะว่า วิธีการปลูกกล้วยน้ำว้า ให้มีขายทั้งปี นั้นมีวิธีการปลูกอย่างไร

กล้วยน้ำหว้า การปลูกกล้วยน้ำหว้า ให้มีขายทั้งปี

วิธีปลูกกล้วยน้ำว้า

ขั้นตอนที่ 1  ก่อนที่จะทำการปลูกน้ำว้า แนะนำให้ดูช่วงฤดู สภาพอากาศ การปลูกน้ำว้า ควรปลูกต้นฤดูฝน จะทำให้ได้ผลผลิตดี มีขายทั้งปี

ขั้นตอนที่ 2 เลือกต้นพันธุ์ที่จะใช้ในการปลูก

ขั้นตอนที่ 3 เตรียมหลุมปลูกขนาด 50x50x50 ซม.

ขั้นตอนที่ 4 นำปุ๋ยคอกประมาณ 5 กิโลกรัม มาผสมกับดิน  และปุ๋ยร็อคฟอสเฟส จำนวน 50 กรัม ทำการผสมเข้าด้วยกันใน แล้วใส่ในหลุมให้สูง ประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม

ขั้นตอนที่ 5 นำถุงที่ใส่กล้าต้นกล้วยน้ำว้าวางลงหลุมโดยระดับของดินในถุงสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย

ขั้นตอนที่ 6 ใช้มีดกรีดถุงจากก้นถุงขึ้นมาถึงปากหลุมทั้ง 2 ด้านแล้วค่อยๆดึงถุงพลาสติกออก

ขั้นตอนที่ 7 กลบดินที่เหลือลงในหลุม กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น คลุมดินบริเวณโคนต้นด้วยฟางข้าว หรือหญ้าแห้ง

ขั้นตอนที่ 8 รถน้ำให้ชุ่ม  รอระยะเวลาใส่ปุ๋ย และเก็บเกี่ยวค่ะ

ขั้นตอนที่ 9 ในระยะเดือนแรกต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และดินต้องชุ่มชื้นเพียงพอ เป็นเดือนที่ต้องเอาใจใส่อย่างมาก หากเป็นการให้น้ำแบบฝอยหรือมินิสปริงเกลอร์ จะทำให้ต้นตั้งตัวได้เร็ว สามารถสร้างใบและลำต้นใหม่ได้ดี โอกาสรอดสูงกว่าการลากสายยางรดน้ำ และเริ่มให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 100-150 กรัม ต่อต้น หลังปลูกได้ 1 เดือน และเดือนที่ 2 ส่วนเดือนที่ 3 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทน

ขั้นตอนที่ 10 เดือนที่ 2 และ 3 ต้นกล้วยจะมีต้นและใบใหม่ทั้งหมด ปัญหาคือหญ้าขึ้นคลุมต้น ต้องถากหญ้าบริเวณโคนต้นออกให้หมด

ขั้นตอนที่ 11 เดือนที่ 4 การเจริญเติบโตเร็วมาก ทั้งความสูงและรอบวงต้นใกล้เคียงปลูกจากหน่อพันธุ์ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดต้นปลูกเริ่มแรก ถ้าสูง 15 เซนติเมตร ขึ้นไป จะโตทันกัน ถือว่าเดือนนี้เป็นเดือนที่ต้นรอดตายทั้งหมด การดูแลทำเช่นเดียวกับการปลูกด้วยหน่อ โดยให้ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 16-16-16 ประมาณ 100-150 กรัม ต่อต้นในเดือนที่ 4 และ 5 ส่วนเดือนที่ 6 ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทนและงดใส่ปุ๋ยจนกว่าจะแทงปลี ถึงจะใส่ปุ๋ยเคมีอีกครั้ง จนกระทั่งหลังเก็บเกี่ยวถึงจะเริ่มให้ปุ๋ยในรอบใหม่

ขั้นตอนที่ 12 ในช่วง 1-6 เดือนหลังปลูกให้ปาดหน่อที่โผล่ออกมาทิ้งไปพอหลังจากอายุ 6 เดือน ให้ไว้หน่อที่ 1 พอหน่อที่ 1 อายุ 3 เดือน ให้ไว้หน่อที่ 2 หลังจากนั้นทุกๆ 3 เดือน ให้ไว้หน่อที่ 3 และ 4, 5 ตาม โดยหน่อที่ขึ้นมาในช่วงที่ไม่ได้กำหนดให้ปาดทิ้งทั้งหมด ปรากฏว่า เมื่อจะไว้หน่อที่ 5 ต้นแม่ก็สามารถเก็บเกี่ยวเครือกล้วยได้แล้ว ฉะนั้นจะกลายว่ากอนั้นมีต้นกล้วย 4 ต้น ที่อายุห่างกัน 3 เดือน โดยมีหน่อที่ 1 ที่อายุห่าง 6 เดือน ดังนั้น เมื่อใช้ระบบนี้ต่อไปหลายๆ ปีจะทำให้กล้วยน้ำว้าในแปลงมีอายุห่าง 3 เดือน” “สาเหตุที่ไว้หน่อทุก 3 เดือน มีเหตุผลว่า ด้วยการออกผลผลิตของกล้วยน้ำว้าในแปลงนั้นจะออกไม่พร้อมกัน ถึงแม้ไว้ใกล้เคียงกัน จะมีการกระจายตัวในการเก็บเกี่ยวประมาณ 3 เดือน โดยจากข้อมูลที่ศึกษาจากการปลูกกล้วยน้ำว้าด้วยหน่อพบว่า จะมีช่วงแรกที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ช่วงกลางๆ จะเก็บได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และช่วงปลายเก็บได้ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ “ทีนี้ถ้าค่อยๆ ปลูกหรือไว้หน่อไป กล้วยที่ออกผลในช่วงปลาย 25 เปอร์เซ็นต์ จะไปรวมกับ 25 เปอร์เซ็นต์ของช่วงแรกในอีกแปลงหนึ่ง จะทำให้ได้ผลผลิตรวมเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นทั้งปีด้วยวิธีการนี้ ทำให้สามารถมีผลผลิตกล้วยน้ำว้าจำหน่ายให้กับพ่อค้าได้ตลอดทั้งปีและสามารถต่อรองราคากับพ่อค้าได้ โดยไม่ต้องถูกกดราคาเพราะจำเป็นต้องตัดขายทั้งแปลง”

ขั้นตอนที่ 13 เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 9 กล้วยจะเริ่มแทงปลี การแทงปลีหรือตกเครือจะเร็วหรือช้ากว่าหน่อพันธุ์ ขึ้นอยู่กับขนาดลำต้นปลูกเริ่มแรกและการดูแลรักษา หากต้นพันธุ์ที่มีขนาดความสูง 15 เซนติเมตรขึ้นไป หรือมีเส้นรอบวงต้นมากกว่า 4 เซนติเมตร การตกเครือใกล้เคียงกับหน่อพันธุ์ ขนาด 1 เมตร หากต้นมีขนาดใหญ่กว่านี้ การตกเครือจะเร็วกว่าหน่อพันธุ์ และหากเล็กกว่านี้การตกเครือจะช้ากว่าหน่อพันธุ์ อายุเครือกล้วยจากการแทงปลีจนกระทั่งเก็บเกี่ยวมีอายุประมาณ 4 เดือน เท่ากับหน่อพันธุ์กล้วยน้ำว้าทั่วไป

กล้วยน้ำว้าทั้งเครือ
กล้วยน้ำว้าทั้งเครือ มีจำนวน 8-10 หวี หวีหนึ่งมี 10-16 ผล

References  : กล้วยน้ำว้า.  “กล้วยน้ำว้า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก:th.wikipedia.org.  [13 พ.ค. 2016]. , เกษตรออร์แกนิคดอทคอม

ภาพประกอบ : www.flickr.com, www.youtube.com

5 Comments

Add a Comment