บวบเหลี่ยม ไม้เถายาว ผักพื้นบ้าน ธาตุเย็น ผลยาวรี ผิวเป็นเหลี่ยม ดอกสีเหลือง กลิ่นหอมอ่อนๆ

บวบเหลี่ยม ไม้เถาล้มลุก ผักธาตุเย็น ผลยาวรี ผิวเป็นเหลี่ยม

ชื่ออื่นๆ : มะนอยงู, มะนอยข้อง, มะนอยเลี่ยม (ภาคเหนือ-พายัพ), หมักนอย, มะนอย (เชียงใหม่), บวบหวาน (แม่ฮ่องสอน), บวงเหลี่ยม (ไทย), เดเรเนอมู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กะตอรอ (มลายู-ปัตตานี), อ๊อซีกวย (จีน)

ต้นกำเนิด : ประเทศอินเดีย

ชื่อสามัญ : บวบเหลี่ยม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Luffa acutangula Roxb.

ชื่อวงศ์ : Cucurbitaceae

ชื่อภาษาอังกฤษ : Angled Gourd

บวบเหลี่ยม ไม้เถาล้มลุก ผักธาตุเย็นมีสรรพคุณช่วยคลายความาร้อนได้ดี
บวบเหลี่ยม

ลักษณะของบวบเหลี่ยม

  • บวบ เป็นไม้เถายาว โตเร็ว มีอายุประมาณ 1 ปี พืชอายุสั้น บวบมีลำต้นเป็นเหลี่ยมสัน ตามข้อมีมือที่ใช้เกาะเกี่ยวเป็นเส้นยาว
  • ใบบวบ เป็นแบบใบเดี่ยวเรียงสลับกัน แผ่นใบเป็นรูปเหลี่ยมมีราว 5-7 เหลี่ยม ตามขอบใบมีรอยเว้าตื้นๆ ปลายใบค่อนข้างแหลม ส่วนโคนใบเว้าลึกเข้าด้านในจนดูคล้ายกับรูปหัวใจ ก้านใบยาวราว 4-9 ซม. และเป็นเหลี่ยมเหมือนกับลำต้น
  • ดอกบวบ เป็นสีเหลือง ออกดอกตามง่ามใบ ทั้งแบบเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นช่อ โดยมีดอกทั้งตัวเมียและตัวผู้อยู่บนต้นเดียวกัน
  • ผลบวบ เป็นรูปทรงคล้ายกระบอกกลม ยาวราวๆ 20 ซม. ผิวมีเหลี่ยมเป็นเส้นไปตามความยาวของผล นับได้ 10 เหลี่ยมเท่ากันทุกลูก โคนผลเรียวเล็กแล้วค่อยๆ กว้างออก ก่อนที่จะค่อยๆ แคบลงไปอีกครั้งจนไปบรรจบกันที่ปลายผลอย่างสวยงาม

การขยายพันธุ์ของบวบเหลี่ยม

ใช้เมล็ด/หยอดเมล็ดพันธุ์ลงในหลุมซึ่งควรลึกประมาณ 2 – 4 เซนติเมตร หลุมละ 4 – 5 เมล็ดกลบดิน รดน้ำให้ชุ่ม คลุมด้วยฟางเพื่อรักษาความชื้น รดน้ำสม่ำเสมอทุกวัน ประมาณ 10 -15 วัน ต้นบวบน้อยก็จะค่อย ๆ งอกขึ้นมา เมื่อบวบน้อยของเราอายุสักราว 10 – 15 วัน ต้นก็จะโตพอที่เตรียมเลื้อยเหมือนเผ่าพันธุ์บวบที่เลื้อยกันมานานแสนนาน ระยะนี้จึงควรเตรียมค้างไว้ให้เลื้อยได้แล้ว หรือหากปลูกบวบเป็นพืชสวนครัวก็อาจปล่อยให้เลื้อยไปบนรั้วก็ได้ หากแปลงปลูกไม่มีพื้นที่มากพอที่จะทำค้าง แม้จะได้ชือว่าเป็นพืชที่อดทน แทนทั้งฝน ทนทั้งแล้ง แต่บวบก็ชอบความชุ่มชื้น อย่าปล่อยให้บวบต้องกระหายน้ำเป็นอันขาด มิฉะนั้นอาจส่งผลต่อการผลิดอกออกผล เช่น ไม่ติดผลหรือผลเล็ก มีข้อแนะนำว่าควรรดน้ำบวบที่โคนต้น ไม่ควรฉีดพ่นเพราะอาจทำให้มีราที่ใบ หลังจากบวบน้อยกลายเป็นบวบใหญ่ให้ผลลูกแรกก็จะเก็บผลผลิตต่อไปได้อีกเป็นเดือนถึงสองเดือน จากนั้นเถาก็จะโรยราไป

ประโยชน์ของบวบเหลี่ยม

ประโยชน์ทางอาหารผลของบวบที่ยังอ่อนเอ๊าะ นั้นอร่อยมาก มีรสหวานนิดๆ ตามธรรมชาติ จะนำไปทำอาหารอะไรก็อร่อยเยี่ยมยอดทุกเมนู ไม่ว่าจะเป็นผัด ต้ม หรือ แกง อย่างเช่น ต้มจิ้มกับน้ำพริกรสจัด หรือจะผัดกับ ไข่ หมู กุ้ง ส่วนแกงที่นิยมทานกันคือ แกงส้ม แกงเลียง และแกงกับปลาแห้ง

สรรพคุณทางยาของบวบเหลี่ยม

  • ใบ รสจืดเย็น ต้มดื่มขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้ระดูมาผิดปกติ ขับเสมหะ ถอนพิษไข้ ม้ามโต แก้ริดสีดวงทวาร ถอนพิษแมลงกัดต่อย แก้คัน
  • ลูก รสหวานเย็น บำรุงร่างกาย ลดไข้ แก้ร้อนใน ระบายท้องขับปัสสาวะ ขับเสมหะทำให้ชุ่มคอ
  • เนื้อในเมล็ด รสมัน ขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน ขัยนิ่ว รับประทานมากทำให้อาเจียน รับประทานขณะท้องว่างครั้งละ 30-50 เม็ด ติดต่อกัน 2 วัน ขับพยาธิตัวกลม ปริมาณน้อยแก้บิด ขับเสมหะ
  • น้ำมันจากเมล็ด รสมัน ทาแก้โรคผิวหนัง
  • ราก รสจืดเย็น ต้มดื่มแก้บวมน้ำ ระบายท้อ

คุณค่าทางโภชนาการของบวบเหลี่ยม

ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แคลเซียมฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 ไนอาซิน และวิตามินซี ในผลของบวบเหลี่ยม จะมีน้ำ 95.4% และน้ำตาล 3% และมีสารอีลาสทิน elastein ทำให้ถ่าย และ มีสารซาโปนิน saponin

References : www.bedo.or.th

ภาพประกอบ : www.herb-health.com

เรียบเรียงข้อมูลโดย :  เกษตรตำบล.คอม

5 Comments

Add a Comment