กระดังงา ดอกกระดังงา ไม้ดอกหอมมีประโยชน์สรรพคุณที่หลากหลาย

กระดังงา ดอกกระดังงา ไม้ดอกหอมมีประโยชน์สรรพคุณที่หลากหลาย

ชื่ออื่นๆ :  สะบันงา สะบันงาต้น สะบานงา (ภาคเหนือ), กระดังงาใบใหญ่ (กลาง), กระดังงาใหญ่ กระดังงอ (ยะลา)

ต้นกำเนิด : เอเซียเขตร้อนในแถบของประเทศฟิลิปปินส์และประเทศอินโดนีเซีย

ชื่อสามัญ : กระดังงา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cananga odorata Lam. Hook. f. & Thomson

ชื่อวงศ์ : ANNONACEAE

กระดังงา ประโยชน์และสรรพคุณของกระดังงา
ดอกกระดังงา

ลักษณะของกระดังงา

  • ต้นกระดังงา กระดังงาเป็นไม้ต้นขนาด เล็กถึงขนาดกลาง สูงได้ประมาณ 30 ม. เปลือกสีเทา กิ่งออกหนาแน่นใกล้ยอด กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มกระจาย ใบเดี่ยว เรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 10-20 ซม.
  • ใบกระดังงา ปลายใบแหลมหรือแหลมยาว โคนใบส่วนมากกลม มักเบี้ยว แผ่นใบค่อนข้างบาง มีขนสั้นนุ่มตามเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบ 8-9 เส้นในแต่ละข้าง ตรง เส้นแขนงใบย่อยแบบขั้นบันไดห่างๆ ก้านใบยาว 1-1.5 ซม. มีขนสั้นนุ่ม
  • ดอกกระดังงา ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกสั้นๆ ตามกิ่งหรือซอกใบ มีขนสั้นนุ่ม ก้านช่อยาว 2-3 ซม. ก้านดอกย่อยยาว 2-5 ซม. ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงง่าย ดอกมีกลิ่นหอมแรง กลีบเลี้ยง 3 กลีบ เชื่อมติดกันที่โคน รูปไข่ ปลายแหลม พับงอ ยาวได้ประมาณ 7 มม. มีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน กลีบดอก 6 กลีบ รูปแถบ มีก้านกลีบสั้นๆ กลีบยาวเท่าๆ กัน ยาว 5-7.5 ซม. ปลายกลีบแหลม เส้นกลีบจำนวนมาก มีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาวประมาณ 3 มม. อับเรณูติดด้านข้าง ปลายมีระยางค์เป็นติ่งสั้นๆ ยาวประมาณ 1 มม. รังไข่รูปขอบขนาน เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียรูปถ้วย เป็นชั้นบางๆ เรียงชิดรังไข่ติดจานฐานดอกเป็นรูปหมวก
  • ผลกระดังงา มีผลย่อยรูปขนานแกมรูปไข่ ยาว 1.5-2.3 ซม. เกลี้ยง สุกสีดำ ก้านผลย่อยยาว 1.2-1.8 ซม. เมล็ด 2-12 เมล็ด เรียง 2 แถว สีน้ำตาล ผิวเป็นจุดๆ

การขยายพันธุ์ของกระดังงา

  • การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
  • การขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง

ประโยชน์ของกระดังงา

  • ดอกกระดังงา นำไปกลั่นน้ำหอม ใช้นำไปเป็นส่วนปนะกอบของยาหอม มีฤทธิ์แก้วิงเวียน โดยจัดอยู่ในส่วนประกอบของ เกสรทั้งเจ็ด
  • ใบและเนื้อไม้กระดังงา ต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะ ผลแก่ใช้ผลสีเหลืองอมเขียวเกือบดำ นำมาบดใช้เป็นยา
  • ดอกกระดังงา ทอดกับน้ำมันมะพร้าวทำน้ำมันใส่ผม หรือ นำดอกนำมาลนไฟใช้อบขนมให้มีกลิ่นหอม
  • กระดังงาที่สกัดด้วยเอทานอลมีประสิทธิภาพดีในการยับยั้งการเจริญของ Staphylococcus epidermidis
  • น้ำมันหอมระเหยมีสีเหลืองเรื่อๆ ใช้ในด้านความสวยความงาม ใช้บำรุงผิว บำรุงผมให้ดกดำ ใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง และเป็นส่วนผสมของน้ำหอมต่าง ๆ
  • น้ำมันหอมระเหยใช้ทาแก้ผดผื่น ทานวดแก้แมลงกัดต่อย
  • น้ำมันหอมระเหยใช้ทานวดแก้อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
  • น้ำมันหอมระเหยใช้ปรุงขนม และประกอบอาหาร เช่น ใช้ผสมในการทำขนมปัง ใช้เป็นน้ำมันทอด เป็นต้น
  • น้ำมันหอมระเหย ใช้เป็นสารไล่แมลง
  • เป็นร่มเงาให้ความร่มรื่น
  • เนื้อไม้ และกิ่ง ใช้ทำฟืน ต้นขนาดใหญ่แปรรูปเป็นไม้แผ่นใช้สำหรับการก่อสร้าง

สรรพคุณทางยาของกระดังงา

  • เปลือกต้นกระดังงา ช่วยในการแก้อาการท้องเสีย
  • เปลือกต้นกระดังงา ช่วยขับปัสสาวะ รวมถึงปัสสาวะพิการ ให้รสฝาดเฝื่อน
  • เนื้อไม้กระดังงา ช่วยแก้อาการปัสสาวะพิการ และช่วยขับปัสสาวะ ให้รสขมเฝื่อน
  • ดอกกระดังงา ช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรง
  • ดอกกระดังงา ช่วยบำรุงธาตุ และบำรุงโลหิต ให้รสหอมสุขุม
  • ดอกกระดังงาแก่จัด ใช้แก้ลม แก้แน่นหน้าอก แก้จุกเสียด แก้อ่อนเพลีย
  • ดอกกระดังงาแก่จัด ใช้แก้โรคตา

การแปรรูปของกระดังงา

  • ดอกกระดังงาสามารถนำมาแปรรูปเป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีคุณภาพดี เหมาะสำหรับใช้ปรุงน้ำอบ เครื่องสำอาง

References : www.bedo.or.th

ภาพประกอบclgc.agri.kps.ku.ac.th

เรียบเรียงข้อมูลโดย :  เกษตรตำบล.คอม

2 Comments

Add a Comment