กัญชงกับกัญชา ต่างกันอย่างไร

กัญชง(เฮมพ์)

กัญชง (Hemp) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L.subsp. sativa

ลำต้น  มีลำต้นเรียวสูงหรือสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อปล้องจะยาว ลำต้นสูง แตกกิ่งก้านน้อย
ใบ  มีขนาดใหญ่ สีเขียวอ่อน มีประมาณ 7-11 แฉก ใบและช่อดอกตัวเมียมีกลิ่นหอมและดอกจะมียางเหนียวน้อยกว่ากัญชา
ช่อดอก  มียางไม่มาก

กัญชง
กัญชง ลำต้นสูงเรียว แตกกิ่งก้านสาขาน้อย ปล้องหรือข้อยาว

กัญชา

กัญชา (Marijuana) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L.subsp. indica

ลำต้น  เป็นต้นพุ่ม มีความสูงไม่เกิน 2 เมตร ข้อปล้องจะสั้น มีการแตกกิ่งก้านมาก
ใบ  มีลักษณะแคบยาว สีเขียวจัด มี 5-7 แฉก ใบและช่อดอกตัวเมียมีกลิ่นหอมและมียางเหนียวมาก
ช่อดอก  มียางมาก

กัญชา
กัญชา ต้นพุ่ม แตกกิ่งก้านสาขาค่อนข้างมาก ลำต้นเป็นปล้องหรือข้อสั้น

ระยะการปลูก

กัญชง : ปลูกเป็นแถว ระยะห่างระหว่างแถว 15-20 เซนติเมตร เพื่อให้ต้นสูง แตกกิ่งก้านน้อย ให้เส้นใยดี
กัญชา : ปลูกห่างประมาณ 2 เมตร เพื่อให้ลำต้นเตี้ย แตกพุ่ม ไม่สูงชะลูด จะทำให้ออกช่อดอกแน่น เป็นกระจุกดีไม่มีใบมาก

การใช้ประโยชน์

กัญชง :  ในประเทศไทย จะใช้ประโยชน์จากเปลือกของลำต้นโดยนำไปใช้เป็นเส้นใย และแกนที่เหลือจะนำไปผลิตเป็นวัสดุก่อสร้าง เช่น เฮมพ์บล็อค เฮมพ์กรีต เสา หลังคา พาติเคิลบอร์ด และฉนวนกันความร้อน

กัญชา : ในต่างประเทศจะนำมาใช้ประโยชน์ทางยาและเพื่อสันทนาการ แต่ในประเทศไทยกฎหมายประกาศให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้แต่ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัย

สารที่อยู่ในช่อดอกกัญชงและกัญชา

สารที่มีอยู่ในช่อดอกของกัญชงและกัญชา ปริมาณสารเสพติดที่เราเรียกว่า THC (tetrahydrocannabinol) ในกัญชงตามที่กฎหมายกำหนดต้องไม่เกิน 1% ถ้ามีปริมาณ THC เกิน 1% ให้ถือว่าเป็นกัญชาทั้งหมด

THC เป็นสารที่ทำให้เมาหรือเคลิบเคลิ้ม พบได้มากในกัญชา โดยมีประมาณ 1-20% ส่วนกัญชงมีสารชนิดนี้น้อยกว่า 1% ในทางการแพทย์สาร THC มีประโยชน์ช่วยลดอาการปวด ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร รักษาผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด แต่การใช้สารชนิดนี้ในการรักษาก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยปากแห้ง ตาแห้ง หรือการตอบสนองช้าลงได้

ส่วนสาร CBD ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในกัญชงมากกว่ากัญชา คือพบประมาณ 2% แต่ในกัญชามีสารชนิดนี้อยู่น้อยมาก เมื่อเสพสารชนิดนี้เข้าไปจะไม่มีอาการเมาหรือเคลิบเคลิ้มเหมือนกัญชา คุณสมบัติทางการแพทย์ของ CBD มีหลากหลาย ช่วยลดอาการปวด แก้อาการนอนไม่หลับ แก้อาการโรคลมชัก แม้จะใช้ในปริมาณมากก็ไม่มีผลข้างเคียง และสารนี้ยังนิยมนำมาใช้ในเครื่องสำอางและสกินแคร์ต่าง ๆ ด้วย

ทางกฎหมาย-การขออนุญาตปลูกกัญชงและกัญชา

บุคคลทั่วไปยังไม่สามารถการปลูกกัญชง(เฮมพ์)และกัญชาได้ เพราะต้องขออนุญาตปลูกจากกระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

กัญชง : ขออนุญาตภายใต้กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะเฮมพ์ พุทธศักราช 2559

กัญชา : ขออนุญาตภายใต้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พุทธศักราช 2562

คำว่า “ปลดล็อก” ไม่ได้หมายความว่า พืช 2 ชนิดนี้ถูกถอดออกจากรายชื่อยาเสพติดแล้ว แต่หมายถึงการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ภายใต้กรอบกฎหมาย

กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง ระบุชื่อ ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ให้บางส่วนของต้นกัญชาและกัญชงไม่จัดเป็นยาเสพติด

ส่วนต่าง ๆ ของกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกิน 0.2% เมล็ด น้ำมันหรือสารสกัดจากเมล็ด และกากที่เหลือจากการสกัดกัญชง ซึ่งต้องมี THC ไม่เกิน 0.2%

ส่วนต่าง ๆ ของกัญชาที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2% และกากที่เหลือจากการสกัดกัญชา ซึ่งต้องมี THC ไม่เกิน 0.2%

กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวง เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 ให้ขออนุญาตปลูก ผลิต ส่งออก จำหน่าย ครอบครองได้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงเข้ามาปลูกจะสามารถทำได้ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่กฎกระทรวงฉบับนี้บังคับใช้

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://www.hrdi.or.th/Articles/Detail/37
https://thaifarmer.lib.ku.ac.th/news/6035c17fdfcd7d2b53dd529d
https://www.flickr.com

Add a Comment