การท่องเที่ยวจังหวัดลำพูน
จังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดไม่ใหญ่ ในภาคเหนือที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไม่ได้เล็กตามพื้นที่ แต่กลับมีความยิ่งใหญ่ และเก่าแก่ที่สุดในดินแดนล้านนา เดิมลำพูนมีชื่อว่า นครหริภุญไชย โดยคาดว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.1200
โดยมีฤาษีวาสุเทพเป็นผู้นำ และได้เกณฑ์พวกละว้า หรือเมงคบุตร โดยล่องเรือลงมาจากต้นแม่น้ำปิง เพื่อสร้างเมืองใหม่ ต่อมาเมื่อสร้างเสร็จได้อัญเชิญพระนางจามเทวี พระธิดาแห่งเมืองละโว้มาปกครองเมืองเป็นพระองค์แรกต่อมานครหริภุญไชยก็ได้มีกษัตริย์ครองเมืองสืบต่อมาอีกหลายพระองค์ยาวนานมากกว่า 600 ปี ก่อนที่จะตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรล้านนา และต่อมาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านานกว่า 200 ปี
จนมาถึงสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้ากาวิละได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าตากสินมหาราชขับไล่พม่าสำเร็จ จนในที่สุดได้ครองเมืองเชียงใหม่ แล้วให้เจ้าคำฟั่น น้องชายครองเมืองลำพูน
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองลำพูนตกต่ำลงจนมีฐานะเป็นเมืองขึ้น มีเจ้าผู้ครองนครสืบต่อกันมา จนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 จึงได้มีการยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนคร และได้ยกฐานะเป็นจังหวัดลำพูนจนถึงปัจจุบัน
ลำพูน ในปัจจุบันมีศักยภาพด้านการการท่องเที่ยวในเชิงศิลปะ และวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก หล่อหลอมมด้วยวัฒนธรรม และประเพณีภาคเหนืออันทรงคุณค่า นอกจากนี้ยังมีอาหารภาคเหนือที่เป็นเอกลักษณ์ น่าลิ้มลอง แหล่งท่องเที่ยวมีทั้งวัดวาอาราม เจดีย์ที่เก่าแก่ ศิลปะล้านนาแท้ อันมีลวดลายอันวิจิตรงดงาม อีกทั้งยังมีงานหัตถกรรมที่สั่งสมกันมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อ เช่น ผ้าไหมยกดอก
คำขวัญจังหวัดลำพูน พระธาตุเด่น พระรอดขลัง ลำใยดัง กระเทียมดี ประเพณีงาม จามเทวี ศรีหริภุญไชย
ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์นกยูงไทยในถิ่นกำเนิด อ.ลี้ จ.ลำพูน
ตามประวัติเล่าว่า เมื่อกว่า 70 ปีมาแล้ว ครูบาศรีวิชัยได้นำนกยูงไทยมาเลี้ยงที่วัดบ้านปาง ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน จนนกยูงไทยได้ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนหลายร้อยตัว และได้ออกหากินตามบริเวณพื้นที่ป่า ท้องไร่ และท้องนา เนื่องจากแหล่งอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติไม่เพียงพอ บางฤดูกาล จึงลงมากินผลผลิตทางการเกษตร นกยูงไทยบางส่วนจึงโดนฆ่าและดักจับ ต่อมา ครูบาศรีวิชัยจึงได้สั่งห้ามล่านกยูงเด็ดขาด เพราะจะถือว่าเป็นบาป
ภายหลังจากครูบาเจ้าศรีวิชัยมรณภาพในปี พ.ศ. 2481 นกยูงไทยที่ท่านได้เลี้ยงไว้ก็ได้ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีกเป็น จำนวนมาก กระจายไปทั่วบริเวณป่าเขาใน อ.ลี้ ในทุกฤดูเก็บเกี่ยวข้าว นกยูงไทยจำนวนมากจะลงมาหากินบริเวณเชิงเขา ซึ่งบางส่วนเป็นพื้นที่เพาะปลูก ถึงแม้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่ทำร้ายนกยูง เพราะเชื่อว่าเป็นนกยูงของครูบาศรีวิชัย แต่การบุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อทำการเกษตร ซึ่งเป็นการทำร้ายนกยูงทางอ้อมยังคงดำเนินอยู่ รวมถึงการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ซึ่งจะส่งผลให้นกยูงไทยลดจำนวนลงและอาจสูญพันธุ์ได้
เมื่อมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและความสำคัญในการอนุรักษ์นกยูงในไทยในถิ่นกำเนิด จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และชาวบ้านในพื้นที่ ทำการศึกษาและจัดทำแผนงานเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์นกยูงไทยให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นในธรรมชาติ วางแผนในการจัดการฟื้นฟูสภาพป่าธรรมชาติ ใน อ.ลี้ จ.ลำพูน ให้มีระบบนิเวศป่าไม้และสัตว์ป่าที่สมบูรณ์ นอกจากนกยูงไทยที่อยู่ในพื้นที่จะได้รับการอนุรักษ์แล้ว สัตว์ป่า พรรณพืช รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอื่นๆ ก็จะได้รับการฟื้นฟู และยังสามารถส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ยั่งยืนและถาวร ใน อ.ลี้ จ.ลำพูน อีกด้วย
วัตถุประสงค์ในการเลี้ยงนกยูง
- เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ องค์อุปถัมภ์ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในโอกาสครบ 30 ปี ในปี 2556 ของการดำเนินงานอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทย
- สืบสานตำนานการอนุรักษ์นกยูงไทยของครูบาศรีวิชัย
- เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์นกยูงไทยในธรรมชาติให้คงอยู่และเพิ่มจำนวนขึ้น
- เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
- เพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกับประชาชนในพื้นที่ในการอนุรักษ์นกยูงไทย ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติใน อ.ลี้ จ.ลำพูน
- เพื่อเป็นแหล่งศึกษาวิจัยนกยูงไทยและสัตว์ป่าพื้นถิ่น
- เพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้คงอยู่และมีความอุดมสมบูรณ์สืบต่อไป
การเดินทาง
การเดินทางไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 เชียงใหม่-ลำพูนผ่าน อำเภอเมืองลำพูน อำเภอป่าซาง อำเภอบ้านโฮ่ง เส้นทางนี้เป็นเส้นทางลัดจากถนนพหลโยธิน จากตัวเมืองลำพูนมาใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง (แล้วแต่การจารจรของแต่ละช่วงเวลา)
สถานที่ตั้ง
บ้านแม่ป้อกใน ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://www.lovethailand.org
https://www.wildlifefund.or.th