ดอกขจร
หลายคนอาจจะรู้จักดอกสลิด หรือดอกขจร เพราะหลายพื้นที่นิยมนำมาทำอาหารบริโภคทั้งแบบสดและลวกให้สุก และหลายครัวเรือนก็ทราบดีว่าดอกขจรนั้นมีสรรพคุณทางยาด้วย อาทิ ยอดอ่อน ดอก ลูกอ่อน บำรุงธาตุ บำรุงตับ ปอด แก้เสมหะเป็นพิษ รากทำให้อาเจียนถอนพิษเบื่อเมา ทำให้ปัจจุบันดอกขจรกลายเป็นสินค้าที่มีราคา บางช่วงอาจถึงกิโลกรัมละ 200 บาท ดอกขจรมักพบขึ้นอยู่ในป่าธรรมชาติที่เป็นป่าดิบแล้งและป่าละเมาะทั่วไป เพราะขึ้นง่ายในดินทุกชนิด มีนิสัยชอบแดด เลื้อยไปตามต้นไม้ใหญ่ ส่วนวิธีการปลูกที่ชาวบ้านนิยมกันก็คือการชำกิ่ง โดยเตรียมดินเพาะชำเป็นแกลบเผา 2 ส่วน ดินร่วน 2 ส่วน ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ผสมคลุกเคล้าในเข้ากัน ใส่ถุงแล้วนำกิ่งที่ไม่อ่อนและไม่แก่เกินไปมี 2-3 ข้อ เอาด้านโคนชุบน้ำยากันเชื้อราแล้วปักลงไปถุง รดน้ำให้ชุ่มพักในที่ร่ม เมื่อแตกตากิ่งหรือตายอดยาว 1 คืบ ก็ย้ายไปปลูกในแปลง
วิธีการปลูกขจร
- วิธีการปลูกขจรก็คือ การตอน ใช้ขุยมะพร้าวแช่น้ำไว้ 1 คืน ใส่ถุงพลาสติกมัดหนังยางไว้เพื่อเป็นถุงตอนหลายๆ ถุง เวลาตอนให้กรีดถุงด้านหนึ่งแล้วนำไปหุ้มตรงข้อของเถาขจร มัดให้แน่น ให้ตอนข้อเว้นสองข้อ ประมาณ 20 วันก็ออกราก
- ส่วนการเตรียมดินเพื่อปลูก เริ่มจากไถพรวนแล้วย่อยให้ละเอียด ยกร่องแปลงกว้าง 6-4 เมตร ยาวไม่จำกัด ระยะห่างระหว่างแปลง 80 ซม. ใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร 1 แปลงปลูกได้ 2 แถว แล้วทำซุ้มเข้าหากัน ขุดหลุมลึก 30-50 ซม. ถ้าดินไม่ดีให้ขุดหลุมใหญ่ใส่ปุ๋ยคอกลงไปให้มาก ดินดีใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หลุมละ 1 ช้อนแกง นำกิ่งชำหรือกิ่งตอนที่มีรากแข็งแรงลงปลูก เกลี่ยดินกลบโคนให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม ใน 1 หลุมปลูก 3-4 กิ่ง จะทำให้เจริญเติบโตแผ่กระจาย และยอดจะเลื้อยขึ้นค้างได้อย่างพอเหมาะ รดน้ำวันละครั้ง หรือตามสภาพความชื้นของดิน หลังจากนั้น 1 เดือนขึ้นไปจะเริ่มออกดอก ตัดเถาที่ไม่สมบูรณ์หรือแมลงรบกวนทิ้ง ดูแลอย่าให้แน่นหรือทึบเกินไป
- การทำค้างก็ใช้ไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 นิ้ว ทำเป็นเสาหลัก 2 เสา ปักห่างกัน 2 เมตร สูงจากพื้นดิน 1.50 เมตร ปักตามแนวยาวของแปลง และระหว่างเสาหลักจะใช้ไม้ไผ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 นิ้ว ปักแล้วใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกผูกเป็นขั้นบันได 5-6 ขั้น ให้เป็นทางสำหรับยอดขจรเลื้อยขึ้นไป จะเป็น 1 ซุ้มเว้นทางเดินประมาณ 80 ซม. แล้วทำซุ้มต่อไปตามความต้องการก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้การแตกยอดดี
การดูแล
สำหรับการให้ปุ๋ยนั้นควรให้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักใส่ที่โคนต้นได้เรื่อยๆ ส่วนปุ๋ยเคมีใช้สูตร 15-15-15 สลับกับ 25-7-7 เดือนละ 2 ครั้ง และหลังการตัดแต่งกิ่ง ซึ่งถ้าดูแลดีดอกก็จะดกและโตมากกว่าปกติ ที่สำคัญต้องตัดแต่งกิ่งที่แก่ออกอยู่เสมอ เพื่อให้แตกยอดใหม่ออกมาเรื่อยๆ ส่วนมากจะตัดแต่งกิ่งช่วยเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เพราะช่วงนี้จะออกดอกน้อย จะตัดอย่างหนักเอาไว้เฉพาะส่วนที่ลำต้นตั้งตรงขึ้นไป และต้องแบ่งแปลงไว้เพื่อให้มีแปลงที่เก็บดอกได้ เพราะช่วงนี้จะขายได้ราคาดี หลังตัดแต่งกิ่ง 2-3 สัปดาห์ก็จะแตกยอดใหม่มีดอกให้เก็บได้เรื่อยๆ หลายปี และยืดอายุต้นขจรได้อีกนาน การตัดนั้นให้ตัดสูงจากพื้นดิน 25 ซม. แต่ละหลุมไม่ควรตัดหมด ให้เหลือไว้ต้นละ 1 หลุม จากนั้นก็รดน้ำให้ปุ๋ยตามปกติ 3-4 เดือน ก็ให้ดอกอีกมาก
การเก็บเกี่ยว
ต้นขจรจะให้ดอกหลังจากย้ายปลูกได้ 30 วัน และจะให้ผลผลิตมากที่สุดช่วงอายุ 8-10 เดือน โดยเฉพาะในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. ผลผลิตจะเริ่มลดลงในเดือน พ.ย.-ธ.ค. เพราะเป็นช่วงฤดูหนาว เมื่อเก็บช่อดอกแล้วนำไปล้างน้ำ 2 ครั้ง ก่อนคัดแยกดอกบานไว้ต่างหาก ดอกตูมจะขายได้ราคากว่าดอกบาน โดยบรรจุถุงละ 1 กก. เพื่อจำหน่ายต่อไป
สรรพคุณทางยาของดอกขจร
- ดอกขจร มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน รักษาหวัดที่เกิดจากการตากลมหรืออากาศเย็น ช่วยบำรุงตับ บำรุงสายตา บำรุงเลือด บำรุงฮอร์โมนของสตรี ช่วยขับเสมหะ และแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
- ราก เป็นเครื่องยาสมุนไพรใช้หยอดรักษาตา อีกทั้งมีสรรพคุณทำให้อาเจียน ถอนพิษเบื่อเมา ดับพิษได้อีก
คุณค่าทางอาหาร
ทั้งยอดอ่อน ผลอ่อน และดอกของขจรสามารถนำมาทำอาหารได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะใช้เป็นผักต้มหรือผักลวกจิ้มน้ำพริก หรือทำเป็นอาหารอื่น ๆ เช่น แกงส้มดอกขจร ยำดอกขจร แกงจืดดอกขจร ข้าวต้มดอกขจร เป็นต้น และส่วนที่มีคุณค่าทางอาหารมากที่สุดคือส่วนยอดอ่อน ทั้งนี้ดอกขจรมีคุณค่าวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม และฟอสฟอรัสสูง
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : http://wpc.ac.th
https://www.flickr.com