การปลูกมะม่วง มะม่วงทองดำ คุณค่าทางโภชนาการของมะม่วง

มะม่วงทองดำ

ชื่ออื่นๆ :  มะม่วงทองดำ

ต้นกำเนิด

ชื่อสามัญ :  

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Mangifera Indica

ชื่อวงศ์ : ANACARDIACEAE   

ลักษณะของมะม่วงทองดำ

ต้น  ไม้ยืนต้น มีความสูงประมาณ 10-20 เมตร ลำต้นตรง เรือนยอดกลมทึบ

ใบ ออกเรียงสลับถี่บริเวณปลายยอด เป็นรูปรี ปลายแหลม โคนมน ใบสีเขียวสด ใบดกและหนาแน่น

มะม่วงทองดำ
ต้นมะม่วงทองดำ ใบรี ปลายแหลม สีเขียวสด ใบดกและหนา

ดอก  ออกเป็นช่อที่ปลายยอด สีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม ออกดอกติดผลในช่วงเดือน พฤศจิกายน ถึง ธันวาคม

ผล  เป็นพันธุ์ที่ออกดอกติดผลได้ทุกปี รับประทานได้ทั้งระยะแก่จัดหรือผลสุก ทนทานต่อโรคและแมลงได้ดีปานกลาง ทรงผลรูปไข่ยาว ผลอูม ผิวผลแก่มีสีเขียวเข้ม ผลสุกผิวสีเหลืองอมส้ม เนื้อผลสีส้มเข้ม เนื้อละเอียด รสหวานแหลม เสี้ยนน้อยมาก ให้ผลผลิตในช่วงเดือนมีนาคม ถึง เมษายน เมล็ดลีบ เนื้อเยอะ

ผลมะม่วงทองดำ
ผลมะม่วงทองดำ ผลอูม ผิวผลแก่มีสีเขียวเข้ม

การขยายพันธุ์ของมะม่วงทองดำ

การเพาะเมล็ด, การตอนกิ่ง ทาบกิ่ง, การเสียบยอด

ชื่อมะม่วงทองดำ ถูกตั้งตามลักษณะของสีผลและเนื้อในที่สุก เมื่อผลสุกผิวที่ผลจะเป็นสีเขียวปนเหลืองเล็กน้อยทำให้ดูคล้ำๆหรือดำๆ จึงเรียกว่าทองดำ มีด้วยกัน 2 ชนิดคือ พันธุ์ที่เมื่อสุกจะเป็นสีเหลืองเข้มกับพันธุ์ที่มีสีส้ม รสชาติหวานหอมอร่อย

วิธีการปลูกมะม่วงทองดำ

การขุดหลุมปลูก

การขุดหลุมปลูกทั้งแบบปลูกบนร่องและปลูกในที่ดอน ควรปลูกให้เป็นแถวเป็นแนว เพื่อสะดวกในการดูแลรักษาและการ ปฏิบัติงาน ขุดหลุมปลูกให้มีขนาดกว้าง ยาวและลึก 50-100 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าดินดี ร่วนซุย มีอินทรีย์วัตถุมาก ก็ ขุดหลุมขนาดเล็กได้ ส่วนดินที่ไม่ค่อยดี ให้ขุดหลุมขนาดใหญ่ เพื่อจะได้ปรับปรุงดินในหลุมปลูกให้ดีขึ้น ดินที่ขุดขึ้นมาจากหลุมนั้นให้แยกเป็นสองกอง คือ ดินชั้นบนแยกไว้กองหนึ่ง ดินชั้นล่างอีกกองหนึ่ง ตากดินที่ขุดขึ้นมาสัก 15-20 วัน แล้วผสม ดินทั้งสองกองด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ก้นหลุมก็ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักรองพื้นไว้ด้วย แล้วจึงกลบดินลงไปในหลุมตามเดิม โดยเอา ดินชั้นบนลงไว้ก้นหลุม และดินชั้นล่างกลบทับลงไปทีหลัง ดินที่กลบลงไปจะสูงกว่าปากหลุม ควรปล่อยทิ้งไว้ให้ดินยุบตัวดีเสียก่อน หรือรดน้ำให้ดินยุบตัวดีเสียก่อนจึงลงมือปลูก

ระยะปลูก ระยะปลูกมีหลายระยะด้วยกัน แล้วแต่วัตถุประสงค์ในการปลูก ได้แก่

  1. ระยะปลูกแบบถี่ เช่น 2.5 x 2.5 เมตร, 4 x 4 เมตร หรือมากน้อยกว่านี้ตามความเหมาะสม
  2. ระยะปลูกแบบห่าง เช่น 8 x 8 เมตร, 10 x 10 เมตรหรือมากน้อยกว่านี้ตามความเหมาะสม

วิธีปลูก

การปลูกมะม่วงไม่ว่าจะปลูกด้วยกิ่งตอน กิ่งทาบ หรือต้นที่เพาะเมล็ดก็ตาม ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้รากขาดมาก เพราะจะทำ ให้ต้นชะงักการเติบโตหรือตายได้ ต้นมะม่วงที่ปลูกไว้ในภาชนะนาน ๆ ดินจะจับตัวกันแข็งและรากก็พันกันไปมา เวลานำออกจากภาชนะแล้วให้บิแยกดินก้นภาชนะให้กระจายออกจากกันบ้าง ส่วนรากที่ม้วนไปมาให้พยายามคลี่ออกเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้เจริญเติบโตต่อไปอย่างรวดเร็ว

  1. การปลูกด้วยกิ่งทาบ กิ่งติดตา ให้ปลูกลึกระดับเดียวกับดินในภาชนะปลูกเดิม หรือสูงกว่าเดิมเล็กน้อย แต่ต้องไม่มิดรอยที่ติดตาหรือต่อกิ่งไว้ เพื่อจะได้เห็นว่ากิ่งที่แตกออกมานั้น แตกออกมาจากกิ่งพันธุ์หรือจากต้นตอ ถ้าเป็นกิ่งที่แตกจากต้นตอให้ตัดทิ้งไป
  2. การปลูกด้วยกิ่งตอน ให้ปลูกลึกระดับเดียวกับดินในภาชนะเดิมหรือให้เหลือจุกมะพร้าวที่ใช้ในการตอนโผล่อยู่เล็กน้อย ไม่ควร กลบดินจนมิดจุกมะพร้าว เพราะจะทำให้เน่าได้ง่าย

เมื่อปลูกเสร็จให้ปักไม้เป็นหลักผูกต้นกันลมโยกแล้วรดน้ำให้ชุ่ม ต้นที่นำมาปลูก ถ้าเห็นว่ายังตั้งตัวไม่ดี คือแสดงอาการเหี่ยวเฉาตอนแดดจัด ควรหาทางมะพร้าวมาปักบังแดดให้บ้าง ก็จะช่วยให้ต้นตั้งตัวได้เร็วขึ้น ในระยะที่ต้นยังเ ล็กอยู่นี้ให้หมั่นรดน้ำอยู่เสมอ อย่าให้ดินแห้งได้ การปลูกในฤดูฝนจึงเหมาะที่สุด เพราะจะประหยัดเรื่องการให้น้ำได้มาก และต้นจะตั้งตัวได้เร็ว โดยเฉพาะการปลูกในที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ไม่มีน้ำที่จะให้แก่ต้นมะม่วงได้ทั้งปี ให้ปลูกในระยะต้นฤดูฝน ช่วงแรก ๆ อาจต้องรดน้ำให้บ้าง เมื่อฝนเริ่มตกหนักแล้วก็ไม่ต้องให้น้ำอีก ต้นจะสามารถตั้งตัวได้เต็มที่ก่อนจะหมดฝน และสามารถจะผ่านฤดูแล้งได้โดยไม่ตาย ส่วนที่ที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์จะปลูกตอนไหนก็ได้แล้วแต่ความสะดวก

การดูแลรักษามะม่วงทองดำ

การให้น้ำ

  1. เมื่อเก็บเกี่ยวผลเสร็จแล้ว ควรจะใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีสูตรเสมอกัน และทุกครั้งที่ใส่ปุ๋ยต้องรดน้ำถ้าฝนไม่ตกหรือดินไม่มีความชื้นพอ และควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอกับมะม่วงในช่วงต้องการเร่งการเจริญเติบโตทางลำต้น กิ่งและใบ โดยให้น้ำตั้งแต่เก็บเกี่ยวผลเสร็จไปจนถึงเดือนกันยายน
  2. มะม่วงก่อนออกดอก ต้องไม่ให้น้ำเพราะมะม่วงต้องการพักตัวหรือหยุดการเจริญเติบโตทางลำต้น กิ่งและใบเพื่อสะสมอาหารเตรียมแทงช่อดอก ดังนั้นช่วงอดน้ำให้กับต้นมะม่วงเป็นเวลา 1 เดือน (ต.ค.-ต้นพ.ย.) และอาจใช้วิธีรมควันโดยสุมไฟให้ควันร้อนไล่ความชื้นในดิน หรือวิธีควั่นตามกิ่งไม่ให้น้ำไปถึงยอด
  3. เมื่อมะม่วงเริ่มออกดอกและดอกเริ่มบาน เริ่มให้น้ำโดยให้ทีละน้อยพอหน้าดินเปียก โดยใช้น้ำฉีดล้างช่อดอกก็ได้จนกว่าผสมเกสรติดเป็นผลอ่อนเล็ก ๆ จึงค่อยเพิ่มการให้น้ำขึ้นทีละน้อยแต่ยังไม่ต้องมาก หลังจากนั้น 47 วัน ผลมะม่วงได้วัยขนาดขบเผาะ (นับจากวันที่ดอกบาน) ต้นมะม่วงต้องการน้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอจนกว่าผลมะม่วงอายุได้ 70 วัน นับแต่ดอกบานให้ลดปริมาณการให้น้ำลงทีละน้อย จนกว่าผลอายุ 90 วัน หลังจากดอกบาน (ระยะเก็บเกี่ยวประมาณ 100-115 วัน)

การสังเกตว่าน้ำมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ให้สังเกตที่ขั้วดอกและขั้วผล คือถ้าขั้วแห้งแสดงว่าน้ำน้อย แต่ถ้าขั้วเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลสีเขียวออกเหลืองนวล แสดงว่าน้ำมากเกินไป

การให้ปุ๋ย

  1. ก่อนเก็บเกี่ยวมะม่วง หรือช่วงเก็บเกี่ยวผลอยู่ให้ลำเลียงปุ๋ยหมัก-ปุ๋ยคอก ไปกองไว้รอบ ๆ พุ่มต้น (ยังไม่ต้องรดน้ำ) จนกว่าเก็บเกี่ยวหมดจึงเกลี่ยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกกลบดินเล็กน้อยพร้อมให้น้ำไปด้วยมะม่วง 5 ปีขึ้นไปใช้ต้นละ 2-3 ปี๊บ และใช้ปุ๋ยเสมอกัน เช่น 15-15-15, 17-17-17 ใส่ด้วย โดยดูความสมบูรณ์ของต้นอาจใช้ครึ่งหนึ่งของทรงพุ่ม จากนั้นใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเร่งดอก เช่น 10-20-30, 12-26-32 พ่นมะม่วงในช่วงเดือน ก.ย-ต.ค 1-2 ครั้ง ก่อนฉีดโปแตสเซี่ยมไนเตรท เร่งการออกดอก
  2. เมื่อมะม่วงเริ่มติดผลอ่อน เริ่มให้ปุ๋ยหมัก-ปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15, 17-17-17 อีกครั้งหนึ่งเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของผลอ่อน
  3. เมื่อผลโต ขนาด 2 ใน 3 ของผลโตเต็มที่ ให้ใช้ปุ๋ย ฉีดพ่นทางใบสูตร 10-20-30, 12-22-32 หรือสูตรตัวท้ายสูง เพื่อช่วยให้คุณภาพและรสชาติหวานขึ้น

ประโยชน์ของมะม่วงทองดำ

  • มะม่วงทองดำ เป็นมะม่วงพันธุ์ไทยโบราณ หาทานยาก มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สามารถทานได้ทั้งผลดิบและสุก
  • ผลดิบ เนื้อจะแข็ง กรอบ มีรสชาติหอมมันอมเปรี้ยวนิดๆ ด้วยเนื้อที่แน่น ไม่เละ กินกับน้ำปลาหวานหรือยำได้
  • ผลสุก เนื้อจะสีส้มทองเนื้อละเอียด หวานหอม ไม่หวานจัด
  • อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกาย บำรุงหัวใจ เสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร บำรุงสายตา ลดความเสี่ยงในโรคมะเร็งบางชนิด ลดน้ำหนัก

คุณค่าทางโภชนาการของมะม่วงทองดำ

มะม่วงทองดำดิบ ในปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 105 กิโลแคลอรี ประกอบไปด้วย

  • น้ำ  75 กรัม
  • โปรตีน  0.80 กรัม
  •  ไขมัน  0.40 กรัม
  •  คาร์โบไฮเดรต  24.60  กรัม
  •  เถ้า 0.20 กรัม
  • แคลเซียม   30  มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส  2  มิลลิกรัม
  • เหล็ก  0.30  มิลลิกรัม
  • เบต้า-แคโรทีน  252  ไมโครกรัม
  • วิตามินเอ  21  ไมโครกรัม
  • ไทอะมีน  0.01  มิลลิกรัม
  • ไรโบฟลาวิน  0.12  มิลลิกรัม
  • ไนอะซิน  0.30  มิลลิกรัม
  • วิตามินซี  25  ไมโครกรัม

การแปรรูปของมะม่วงทองดำ

ทำมะม่วงกวน (ส้มลิ้ม)

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : https://thaifcd.anamai.moph.go.th/, วาโย ฟาร์ม, ร้านซีเอ็มพันธุ์ไม้

3 Comments

Add a Comment