ในสภาวะปัจจุบันสภาพดินในแปลงปลูกพืชทั่วไปมีความเสื่อมโทรมลงอย่างมาก เนื่องจากเกษตรกรมีการใช้สารเคมี ปราบศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีอย่างหนัก โดยไม่เคยปรับปรุงบำรุงดิน จึงทำให้ประสบปัญหาการระบาดของโรคเชื้อราทางดิน ซึ่งเมื่อพืชเป็นโรคแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ การใช้สารเคมีจึงเป็นการสิ้นเปลืองและไม่คุ้มค่า นอกจากนั้นยังทำให้เกิดปัญหา หลายประการ การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เพื่อป้องกันกำจัดโรคร่วมกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดิน จึงเป็นวิธีการที่มี ประสิทธิภาพมากที่สุดในขณะนี้ เพราะเสียค่าใช้จ่ายน้อย และยังมีความปลอดภัยสูง วิธีการนี้จึงเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งสำหรับเกษตร
เชื้อราไตรโคเดอร์มา
ชื่อสามัญ : Trichoderma
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trichoderma harzianum
ชื่อวงศ์ : Moniliaceae
ลักษณะของเชื้อราไตรโคเดอร์มา
เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.) เป็นเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์หรือเป็นศัตรูต่อเชื้อราโรคพืชหลายชนิด มีสีเขียว เจริญเติบโตได้ดีในดิน บนเศษซากพืช ซากสิ่งมีชีวิต และสามารถเป็นปรสิต (Parasite) โดยการพันรัด เส้นใยเชื้อราสาเหตุโรคพืชแล้วสร้างเอนไซม์ เช่น ไคติเนส (chitinase) เบต้า-1,3 กลูคาเนส (B-1,3glucanase) และเซลลูเลส (cellulose) ย่อยสลายผนังเส้นใยของเชื้อโรคพืช จากนั้นจึงแทงเส้นใยเข้าไปเจริญอยู่ภายในเส้นใยโรคพืช ทำให้สูญเสียความมีชีวิตลง นอกจากนี้ยังมีความสามารถสูงในการแข่งขัน (Competition) กับเชื้อโรคพืชด้านการใช้อาหาร เจริญเติบโตสร้างเส้นใยและสปอร์ได้อย่างรวดเร็ว บางสายพันธุ์สามารถสร้างปฏิชีวนสาร (antibiotics)เพื่อยับยั้งหรือทำลายเส้นใยของเชื้อโรคจนเกิดการเหี่ยวสลาย(lysis)และตายได้
กลไกในการควบคุมเชื้อราโรคพืช
- เจริญแข่งขัน แก่งแย่งอาหาร น้ำ แร่ธาตุ อากาศ และแหล่งที่อยู่กับเชื้อราสาเหตุโรคพืช จึงทำให้เชื้อโรคลดปริมาณ ลงอย่างรวดเร็ว
- เป็นปรสิต สร้างเส้นใยพันรัดและแทงดูดกินน้ำเลี้ยง จากเชื้อราสาเหตุโรคพืช ทำให้เส้นใยสลายลดการขยาย เผ่าพันธุ์ลง
- สร้างสารพิษ น้ำย่อย ไปทำลายเชื้อราโรคพืชทำให้เส้นใย และส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อรา โรคพืชเหี่ยวสลาย และตายในที่สุด
เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคพืช ดังนี้
เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคพืชทางดินได้มากกว่า 10 ชนิด ที่สำคัญได้แก่
- เชื้อราพิเทียม สาเหตุโรคกล้าเน่า เมล็ดเน่า เน่ายุบ และเน่าคอดิน
- เชื้อราไฟทอปธอร่า สาเหตุโรครากเน่าโคนเน่า โรคเลทไบลท์
- เชื้อราสเคลอโรเทียม สาเหตุโรคโคนเน่า โรครากเน่า (ราเมล็ดผักกาดขาว)
- เชื้อราไรช็อคดทเนีย สาเหตุโรคกล้าเน่า โคนเน่าขาว รากเน่า
- เชื้อราฟิวซาเรียม สาเหตุโรคเหี่ยว
การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด
การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด สามารถใช้ได้หลายวิธีตามโอกาสและความสะดวกของเกษตรกร เช่น ใช้เชื้อสดผสมกับรำข้าวละเอียดและปุ๋ยอินทรีย์ในสัดส่วน 1:4:100 โดยน้ำหนักสำหรับใส่หลุมปลูก อัตรา 10-20 กรัม (1-2 ช้อนแกง) คลุกเคล้ากับดินในหลุมปลูกพืช ก่อนการหยอดเมล็ดพืช หรือหว่านลงแปลงปลูก ด้วยอัตรา 50-100 กรัมต่อตารางเมตร หรือใช้ผสมรวมกับวัสดุปลูกสำหรับการเพาะกล้าโดย ใส่ส่วนผสมของเชื้อสด+ปุ๋ยอินทรีย์ ผสมร่วมกับดินหรือวัสดุปลูกอัตรา 1: 4 โดยปริมาตร (20%) นำดินหรือวัสดุปลูกที่ผสมด้วยส่วนผสมของเชื้อสดแล้วใส่กระบะเพาะเมล็ด ถุงหรือกระถางปลูกพืช กรณีของการคลุกเมล็ดพืชก่อนปลูก สามารถใช้เชื้อสดล้วนๆ อัตรา 10 กรัม (1 ช้อนแกง) ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม เติมน้ำ 10 ซีซี และถ้าต้องการเชื้อสดในรูปน้ำสามารถใช้เชื้อสดผสมน้ำในอัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร กรองน้ำเชื้อด้วยผ้าหรือกระชอนตาถี่ จะได้เชื้อชนิดน้ำสำหรับใช้พ่น ราด รดลงดิน หรือพ่นส่วนบนของต้นพืช หรือใช้ปล่อยไปพร้อมระบบการให้น้ำใต้ทรงพุ่มของพืช และใช้แช่ส่วนขยายพันธุ์พืช เช่นเมล็ด หัว เหง้า แง่ง ท่อนพันธุ์ ก็ได้
วิธีการนำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าไปใช้
- การคลุกเมล็ด ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า (เชื้อสด) 1-2 ช้อนแกง (10-20 กรัม) ต่อเมล็ดพืช 1 กก. โดยคลุกเคล้าให้เข้า กันในถุงอาจเติมน้ำเล็กน้อยเพื่อให้สปอร์ของเชื้อราเคลือบติดบนผิวของเมล็ดพืชได้ดียิ่งขึ้น
- การรองก้นหลุมและการหว่าน ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า 1 กก. บวกลำละเอียด 5 กก. บวกปุ๋ยหมัก 40 กก. รองก้นหลุม ปลูกในพืชผัก พืชสวน 10-20 กรัม/ต้น หว่านในแปลงปลูก 50-100 กรัม/ตารางเมตร และในพืชสวนหว่านใต้ทรงพุ่มในอัตรา 3-5 กก./ต้น
- การผสมกับวัสดุปลูก ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า (เชื้อสด)ที่ผสมแล้วกับวัสดุผสม 1 ส่วน กับวัสดุปลูก 4 ส่วน คลุกเคล้า ให้เข้ากันก่อนบรรจุลงในภาชนะเพาะเมล็ด เพาะกล้า
- การผสมน้ำฉีดพ่น ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า (เชื้อสด) 1 กก. ต่อน้ำ 100 ลิตร โดยกวนล้างสปอร์ในน้ำ 20 ลิตรก่อน จากนั้นกรองเอาเฉพาะน้ำสปอร์เทลงถังฉีดพ่นและเติมน้ำจนเต็ม 100 ลิตร ใช้ฉีดพ่นในแปลงกล้าโคนต้นพืช และฉีดพ่นทางใบ
ประโยชน์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มา
- ลดปริมาณของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคพืช โดยเข้าไปขัดขวางหรือทำลายเชื้อที่เป็นสาเหตุโรคพืช เช่น โรครากเน่า โคนเน่า อาการใบด่าง โรคแคงเกอร์
- เพิ่มการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช โดยเพิ่มการสร้างดอก เพิ่มขนาด ความสูง น้ำหนัก ทำให้พืช เจริญเติบโตดี และยังช่วยให้เมล็ดงอกเร็วขึ้นเมื่อคลุกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา ต้นกล้าแข็งแรง
- กระตุ้นให้เกิดความต้านทานโรค พืชมีระบบรากดี แข็งแรง จึงทำให้ต้านทานโรคได้ดี
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับแร่ธาตุอาหารของพืช เชื้อราไตรโคเดอร์มาจะช่วยละลายธาตุอาหาร เช่น แมงกานีสออกไซด์ สังกะสี ฟอสเฟต ทำให้พืชสามารถดูดไปใช้ได้ง่ายขึ้น
กลไกการทำงานของเชื้อราไตรโคเดอร์มา
- เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถสร้างสปอร์หรือเส้นใยได้จำนวนมากและรวดเร็ว ซึ่งจะสามารถแข่งขันกับเชื้อ โรคที่เป็นสาเหตุของโรคพืชได้
- การเป็นปรสิตต่อเชื้อโรคพืช โดยเข้าไปเบียดเบียน แล้วแทงส่วนของเส้นใยเข้าสู่ภายในเชื้อราที่เป็นสาเหตุ โรคพืช
- การทำลายโดยตรง ด้วยการกินเชื้อราโรคพืชเป็นอาหาร ดังนั้นเชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถสร้างสาร ปฏิชีวนะ เช่น น้ำย่อย หรือเอนไซม์ เพื่อหยุดยั้งหรือไปทำลายเส้นใยของเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคพืชได้
- สร้างสารปฏิชีวนะที่เป็นอันตรายต่อเชื้อโรคพืชชนิดอื่น โดยเชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถชักนำให้พืชผลิตสาร เช่น เอนไซม์หรือโปรตีน ที่ช่วยให้พืชเกิดความต้านทานโรคได้
การผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา
- หุงข้าวให้สุก จากนั้นตักข้าวใส่ถุงพลาสติกใส ถุงละ 150 กรัม หรือประมาณ 2 ทัพพี
- นำหัวเชื้อไตรโคเตอร์มาชนิดผงแห้ง (หาซื้อได้ในร้านขายผลิตภัณฑ์เกษตร) ใส่ลงไปในปริมาณเล็กน้อย แล้วคลุกให้ทั่วกับข้าวในถุง
- รัดปากถุงด้วยยางรัด ให้มีพื้นที่ภายในถุงมากที่สุด จากนั้นใช้เข็มเจาะรูประมาณ 15 รู บริเวณปากถุงที่รัด ยางไว้บริเวณเพื่อระบายอากาศ
- นำไปเก็บไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวกประมาณ 3-7 วัน สังเกตดูจะเห็นเชื้อเดินเต็มถุง ซึ่งจะเป็น สีเขียว เราก็จะได้เชื้อราไตรโคเดอร์มาไว้ใช้
ข้อควรระวังในการผลิต
- ควรหุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าอัตโนมัติเท่านั้น เพราะการใช้หม้อหุงข้าวชนิดที่ใช้แก๊ซ อาจทำให้ข้าวไหม้ หรือการหุงข้าวแบบเช็ดน้ำมักได้ข้าวที่แฉะเกินไป ข้าวที่หุงด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าจะมีลักษณะเป็นไตขาวอยู่บ้าง จัดเป็นลักษณะที่ดี
- ต้องตักข้าวที่หุงแล้วใส่ถุงพลาสติก ขณะที่ข้าวกำลังร้อน เพื่อให้ความร้อนในถุงข้าวทำลายจุลินทรีย์ จากอากาศที่อาจปนเปื้อนอยู่ในถุงข้าว
- การใช้เข็มแทงรอบบริเวณปากถุงที่รัดยางไว้ควรแทงไม่น้อยกว่า 15 จุด / ถุง เพราะถ้าอากาศไม่สามารถ ระบายถ่ายเทได้ดี เชื้อจะเจริญไม่ทั่วทั้งถุง
- อย่าลืมขยำข้าวเมื่อบ่มเชื้อครบ 2 วัน ( หลังใส่เชื้อ ) และกดข้าวให้แผ่แบนราบมากที่สุดอีกครั้งหลังขยำข้าวแล้ว ดึงถุงให้โป่งขึ้นเพื่อมีอากาศในถุงห้ามวางถุงทับซ้อนกัน
- ป้องกันอย่าให้ มด แมลง หรือสัตว์มากัดแทะถุงข้าว
- ถ้าพบเชื้อสีชมพู สีส้ม สีเหลือง หรือสีดำ ในถุงใด้ ให้นำถุงเชื้อดังกล่าวไปทิ้งขยะ หรือทิ้งใส่หลุมชนิดฝังกลบโดยไม่ต้องเปิดปากถุง
ข้อควรระวังในการเก็บรักษาเชื้อราไตรโคเดอร์มา
- ควรเก็บรักษาผงเชื้อราไตรโคเดอร์มา ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด
- ไม่ควรผสมผงเชื้อราไตรโคเดอร์มาร่วมกับสารเคมี หรือปุ๋ยเคมีชนิดต่าง
ข้อควรระวังในการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา
- การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดนี้เป็นเชื้อที่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะเจริญอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่ออยู่ในสภาพอุณหภูมิปกติ โดยสปอร์ของเชื้อซึ่งมีสีเขียวเข้มจะงอกและเจริญกลับเป็นเส้นใยสีขาวใหม่อีกครั้ง เส้นใยดังกล่าวจะอ่อนแอต่อสภาพแวดล้อมภายนอกถุง ดังนั้น ต้องนำเชื้อสดไปใช้ทันที หรือหากผู้ใช้ยังไม่พร้อม ที่จะใช้เชื้อสดทันทีต้องเก็บรักษาเชื้อสดไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิประมาณ 8-10 องศาเซลเซียส และไม่ควรเก็บไว้นาน เกินกว่า 15 วัน
- ควรฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มา ในเวลาแดดอ่อน หรือเวลาเย็น
- ถ้าดินบริเวณที่จะฉีดพ่นแห้งมาก ควรให้น้ำพอให้ดินมีความชื้นเสียก่อน หรือให้น้ำทันทีหลังฉีดพ่นเพื่อให้น้ำพาเชื้อซึมลงดินและความชื้นในดินจะช่วยให้เชื้อเจริญได้ดี
- ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่เหมาะกับการใช้ผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มา ควรเป็นปุ๋ยที่ผ่านกระบวนการหมัก โดยสมบูรณ์แล้ว (เย็นแล้ว) หรือเป็นปุ๋ยที่กองทิ้งไว้จนเก่าแล้ว ไม่ควรใช้ปุ๋ยหมักที่ผสมด้วยปุ๋ยยูเรีย
- ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทุกชนิดคลุกเคล้าหรือผสมร่วมกับเชื้อไตรโคเดอร์มา
- เมื่อผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มากับรำข้าวและปุ๋ยอินทรีย์แล้ว ให้ใช้หว่านทันที ห้ามบรรจุลงใน กระสอบหรือกองทิ้งไว้ เพราะอาจเกิดความร้อนในกองปุ๋ย เป็นอันตรายต่อเชื้อราไตรโคเดอร์มาได้
- ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง เช่น ใช้ก่อนปลูกพืชรุ่นใหม่ทุกครั้ง ในกรณีของการปลูกพืช ผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชไร่ หรือใช้ปีละ 2-3 ครั้ง ในกรณีของไม้ผลยืนต้น (ใช้บ่อยๆ ไม่มี อันตรายต่อพืช)
- ควรใช้เศษหญ้า เศษใบไม้ หรือวัสดุต่าง ๆ คลุมผิวดิน เพื่อรักษาความชื้นในดินไว้ ซึ่งจะช่วยให้ เชื้อราไตรโคเดอร์มาเจริญได้ดี และมีชีวิตอยู่รอดในดินได้นานยิ่งขึ้น
- เชื้อราไตรโคเดอร์มาไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืชที่ปลูกและสภาพแวดล้อม
- ถ้าดินปลูกเป็นกรดจัด ค่า pH ต่ำประมาณ 3.5-4.5 ต้องปรับค่า pH ของดินให้อยู่ระหว่าง 5.5-6.5 ก่อนที่จะใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา
สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม
แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ :
ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดเชียงใหม่, www.sci.ru.ac.th, www.wisdomking.or.th
ภาพประกอบ : www.flickr.com, www.youtube.com
เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราสีเขียว เชื้อราที่มีประโยชน์ วิธีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา