ชะลูด สรรพคุณ ชะลูดช่อสั้น เปลือกต้นมีกลิ่นหอมใช้ทำธูปหอม ยาพื้นบ้านภาคอีสาน

ชะลูดช่อสั้น

ชื่ออื่นๆ : ตังตุ่น, ตังตุ่นขาว (อุบลราชธานี)

ต้นกำเนิด : ทวีปเอเชียบริเวณคาบสมุทรอินโดจีน

ชื่อสามัญ :

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alyxia schlechteri H. Lev.

ชื่อพ้อง :  Alyxia bodinieri (H.Lév.) Woodson, Daphne bodinieri H.Lév., Wikstroemia bodinieri

ชื่อวงศ์APOCYNACEAE

ลักษณะของชะลูดช่อสั้น

ต้น  ไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาเนื้อแข็งขนาดเล็ก มีน้ำยางขาว สูงได้ถึง 4 เมตร เปลือกต้นและกิ่งก้านสีเทา มีรูอากาศมาก กิ่งอ่อนมีขนละเอียด กิ่งแก่เกลี้ยง

ต้นชะลูดช่อสั้น
ต้นชะลูดช่อสั้น เปลือกต้นและกิ่งก้านสีเทา มีรูอากาศมาก

ใบ  ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบข้อ ข้อละ 3-4 ใบ ใบหนาแน่นช่วงบนของกิ่ง รูปวงรีแกมขอบขนาน รูปใบหอกกลับ หรือรูปใบหอก กว้าง 1-4 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเป็นคลื่น ผิวใบเรียบเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างหนาเหนียว บริเวณท้องใบมองเห็นเส้นใบข้างไม่ชัดเจน ก้านใบยาว 2-4 มิลลิเมตร เกลี้ยงหรือมีขนนุ่ม

ใบชะลูดช่อสั้น
ใบชะลูดช่อสั้น ผิวใบเรียบเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างหนาเหนียว

ดอก ดอกช่อกระจุก ออกที่ซอกใบ ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร ดอกย่อยหลายดอก ขนาดเล็ก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว โคนหลอดสีเหลืองแกมส้ม มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปวงรีแคบ สีเขียวอมเหลือง ขนาด 2.5 มิลลิเมตร ที่ส่วนปลายกลีบมีขนประปราย

ดอกชะลูดช่อสั้น
ดอกชะลูดช่อสั้น ดอกสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ

ผล ผลสด รูปขอบขนาน คอดเป็นข้อ ๆ ตามเมล็ด 2-3 ข้อ แต่ละข้อยาว 7.5 มิลลิเมตร ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ มี 1-3 เมล็ด พบตามป่าเต็งรัง ป่าโปร่งป่าละเมาะ ที่ระดับความสูง 500-1,500 เมตร ออกดอกและติดผลช่วงเดือน มีนาคมถึงกรกฎาคม

ผลชะลูดช่อสั้น
ผลชะลูดช่อสั้น ผลคอดเป็นข้อ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ

การขยายพันธุ์ของชะลูดช่อสั้น

การปักชำ

ธาตุอาหารหลักที่ชะลูดช่อสั้นต้องการ

ประโยชน์ของชะลูดช่อสั้น

  • เถาและกิ่งก้าน เอามาทุบ ปอกเปลือกดำออกทิ้ง และลอกเอาแต่เนื้อที่หุ้มแก่นแล้วผึ่งลมไว้ให้แห้งเป็นสีขาวมีกลิ่นหอมฉุนมาก
  • เนื้อต้นชะลูดนี้ ต้มเอาน้ำปรุงบุหรี่ให้มีกลิ่นหอมชวนสูบ และทำเป็นผง ปรุงเป็นเครื่องหอมอื่นๆ เช่น ธูปหอม น้ำอบ น้ำปรุง เป็นต้น

สรรพคุณของชะลูดช่อสั้น

ตำรายาไทย

  • เปลือกเถา รสหอมเย็น ขับผายลม แก้ปวดในท้อง
  • ใบและผล แก้ไข้ร้อนใน กระสับกระส่าย แก้สะอึก แก้ดีพิการ แก้คุดทะราด
  • ดอก รสขม แก้พิษไข้เพ้อคลั่ง แก้สะอึก แก้ดีพิการ แก้ลม ราก แก้ลม แก้พิษเสมหะ แก้พิษไข้ เนื้อต้น แก้ลม บำรุงหัวใจ ขับผายลม แก้ปวดมวนท้อง และไซ้ท้อง

ยาพื้นบ้านอีสานใช้

  • ลำต้น ต้มน้ำดื่ม แก้เหน็บชา แก้ตกขาว เข้ายาแก้กระษัยเส้น แก้ปวดเมื่อยจากการทำงานหนัก

 ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี

  • รากและเถา ต้มน้ำดื่ม ช่วยบำรุงหัวใจ

คุณค่าทางโภชนาการของชะลูดช่อสั้น

การแปรรูปชะลูดช่อสั้น

เนื้อต้นทำเป็นผง ปรุงเป็นเครื่องหอม เช่น ธูปหอม น้ำอบ น้ำปรุง เป็นต้น

สามารถติดตามความรู้เเกี่ยวกับการเกษตร เพิ่มเติมได้ที่ เกษตรตำบล.คอม

แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ : ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

One Comment

Add a Comment